ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
สมัยรัชกาลที่ 5 ความขัดแย้งระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เกิดขึ้นเมื่อ “ข้าหลวงพิเศษ” ใช้วิธีการจัดเก็บภาษีตามระบบกรุงเทพฯ ที่ส่งผลกระทบกับประชาชน และผลประโยชน์ของบุคคลชั้นสูงพื้นเมือง จนเกิดการปะทะกันขึ้นใน พ.ศ. 2432 โดยมี “พญาผาบ” เป็นผู้นำ
การเก็บภาษีอากรตาม “ระบบกรุงเทพฯ” ในยุคที่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต เป็นข้าหลวงพิเศษผู้มีอำนาจเต็ม สร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎรพื้นเมือง เดิมการเก็บภาษีพืชผลจะเก็บภาษีจากจำนวนผลผลิต และเก็บภาษีเมื่อมีการซื้อขายเกิดขึ้น แต่ระบบภาษีใหม่เปลี่ยนเป็นเก็บตามจำนวนต้นที่ปลูกและเก็บปีละครั้ง โดยไม่คำนึงว่าต้นใดให้ผลหรือไม่
ทำให้มูลค่าภาษีที่ต้องประมูลสูงขึ้นกว่าเดิมจำนวนมาก เช่น น้อยวงศ์ผู้ประมูลภาษีได้ต้องจ่ายเงินค่าภาษีให้รัฐถึง 41,000 รูปี จากที่เจ้าภาษีคนก่อนเคยประมูลเพียง 25,000 รูปี เจ้าภาษีจึงต้องเก็บภาษีอย่างเข้มงวดกว่าเดิม จนถึงขั้นทารุณกรรมราษฎร และจับกุมผู้ไม่มีเงินเสียภาษีอากร
อ่านเพิ่มเติม : ทำไม “เงินรูปีอินเดีย” จึงนิยมใช้ในล้านนา และเป็นเงินสกุลสำคัญของเศรษฐกิจ
ผู้นำที่ชาวบ้านพื้นเมืองเรียกว่า “พญาผาบ” หรือ “พระยาปราบสงคราม” ชื่อเดิม หนานเตชะ ชาวไทยเขิน บ้านสันป่าสัก เมืองเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือ ต. หนองจ๊อม อ. สันทราย จ. เชียงใหม่) อดีตแม่ทัพเมืองเชียงใหม่ ที่เคยนำทัพรบชนะไทใหญ่ในรัฐฉาน เป็นผู้มีอิทธิพลผลประโยชน์เหนือพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงจากเชียงใหม่จรดลำพูน ทนเห็นความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้
เมื่อพญาผาบรู้ว่าราษฎรเขตแขวงจ๊อม (ต. หนองจ๊อม) ถูกเจ้าภาษีทารุณกรรมจำขื่อมือขื่อเท้า ก็ส่งลูกน้องของตนไปถอดขื่อคาราษฎรที่ถูกจับกุม และใช้กำลังขับไล่พวกเจ้าภาษีออกจากหมู่บ้านแขวงจ๊อม บรรดาเจ้าภาษีนายอากรโกรธแค้น ขู่จะนำทหารจากในเมืองเชียงใหม่ออกปราบปราม
ราษฎรพื้นเมืองจำนวนประมาณ 2,000 คน เข้าพึ่งบารมี “พญาผาบ” เกิดการก่อตัวเป็นกองกำลังอย่างเป็นระบบยิ่งขึ้น ตั้งแต่ การสะสมอาวุธ, เสบียงอาหาร, วางเวรยาม และชุมนุมพล ที่บริเวณวัดฟ้ามุ่ย หมู่บ้านแขวงจ๊อม มีครูบาเจ้าอาวาสวัดฟ้ามุ่ย เป็นประธานทำของขลังบำรุงขวัญกำลังใจสู้ศึก
ผู้เข้าร่วมเป็นกองกำลังของพญาผาบ นอกจากชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากการเก็บภาษีแล้ว ยังมีพวกผู้นำท้องถิ่นระดับแคว้น (กำนัน) แก่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) หลายคนร่วมด้วย เพราะผู้นำระดับท้องถิ่นเหล่านี้ ล้วนเคยมีอำนาจและผลประโยชน์ในท้องถิ่นอย่างมาก แต่ต้องสูญเสียไปเพราะการเปลี่ยนแปลงตาม “ระบบกรุงเทพฯ”
กองกำลังของพญาผาบไม่ได้มุ่งเพียงต้านทหารที่เจ้าภาษีขู่ส่งมา ยังรุกคืบมุ่งบุกนครเชียงใหม่ เพื่อสังหารข้าราชการไทยและพ่อค้า เจ้าภาษีนายอากร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ด้วยความคับแค้นใจของผู้นำท้องถิ่นที่มีต่อ “ผู้ปกครองจากฝ่ายใต้” และเจ้าภาษีนายอากรคนจีนที่ทำตนเป็นเครื่องมือขูดรีดของ “ฝ่ายใต้”
ข่าวกองกำลังพลของพญาผาบแพร่ถึงภายในนครเชียงใหม่ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ออกคำสั่งเป็นทางการให้พญาผาบมอบตัวภายในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2432 ขณะเดียวกันก็ทรงส่งคนปลอมเป็นพระสงฆ์ มาเกลี้ยกล่อมให้พญาผาบยอมจำนน แต่ความแตกเสียก่อน
พญาผาบวางแผนบุกเข้านครเชียงใหม่ ช่วงวันที่ 18-20 กันยายน พ.ศ. 2432 โดยจะไปตั้งทัพที่วัดเกต แต่กองกำลังชาวบ้านที่นัดหมายมาไม่พร้อมเพรียงกัน วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2432 ทางการก็ส่งทหารเข้าปราบปราม จับกุมผู้ร่วมมือกับพญาผาบจำนวนมาก พิจารณาโทษประหารชีวิตระดับหัวหน้า 12 คน ส่วนระดับรองอีก 15 คน ที่เหลือถูกจำคุกตลอดชีวิต และถูกภาคทัณฑ์
แต่พญาผาบและครอบครัวหลบหนีไปได้โดยการสนับสนุนของเจ้าฟ้าแห่งเมืองเชียงตุง ทำให้สถานการณ์ยิ่งบานปลาย ด้วยอังกฤษที่กำลังแผ่อิทธิพลในเมืองเชียงตุง มีส่วนรู้เห็นเป็นใจการต่อต้านอำนาจ “กรุงเทพฯ” ด้วยรองกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่นิ่งเฉย เมื่อทางการไทยขอให้ช่วยติดต่อขอตัวพญาผาบ ทั้งยังพยายามบิดเบือนข่าวเกี่ยวกับพญาผาบให้ไทยสับสน
ขณะที่พญาผาบนำกองกำลังเข้ายึดเมืองฝางอย่างง่ายดาย โดยมีเงื่อนงำว่า พระยามหิทธิวงษา เจ้าเมืองฝางอาจมีส่วนรู้เห็น เพราะแทนที่จะอยู่ประจำเมืองขณะเกิดปัญหา กลับออกตรวจราชการเมืองด่าน ปล่อยให้หนานอินต๊ะข้ออาจารย์พญาผาบดูแลเมืองฝางแทน ทำให้พญาผาบยึดเมืองฝางอย่างง่ายดาย
ก่อนบุกเข้านครเชียงใหม่อีกครั้งในวันที่ 16 มีนาคม 2433 พญาผาบปล่อยข่าวลือเป็นระลอกๆ สร้างความหวาดผวาแก่ผู้คนไม่น้อย แต่กองกำลังของพญาผาบปะทะกับกองทัพฝ่ายรัฐบาลที่ผานกกิ่ว แขวงเมืองพร้าว และเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ลูกชายพญาผาบเสียชีวิต 2 คน ตัวพญาผาบหนีรอดไปอยู่เมืองเชียงตุงจนสิ้นอายุขัย
สถานการณ์ตึงเครียดในนครเชียงใหม่จึงยุติลงอย่างไม่สามารถจับกุมผู้นำทั้งที่อยู่เบื้องหน้า คือ พญาผาบ และเจ้านายฝ่ายเหนือที่อยู่เบื้องหลัง แต่เนื่องจากไม่มีหลักฐานชัดเจน ผู้รับเคราะห์ครั้งนี้จึงตกแก่ผู้นำระดับท้องถิ่น และราษฎรผู้ยากจนในหมู่บ้านที่ร่วมมือกับพญาผาบ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นชาวนา จึงเรียกว่า “กบฏชาวนา”
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
สมโชติ อ๋องสกุล. “การต่อสู้ระหว่างเจ้าถึงกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพ หนึ่งศตวรรษแห่งความขัดแย้งระหว่างกรุงเทพฯ กับล้านนา” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2531.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤษภาคม 2567