ทำไม “เงินรูปีอินเดีย” จึงนิยมใช้ในล้านนา และเป็นเงินสกุลสำคัญของเศรษฐกิจ

ล้านนา ตลาด
การค้าขายที่ถนนท่าแพสมัยก่อนที่จะมีตลาดวโรรสและตลาดต้นลำไย ซ้ายมือเป็นรั้วคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

เงินรูปีอินเดีย เป็นสกุลเงินสำคัญที่ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันใน ล้านนา (เชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, ลำปาง, แพร่, น่าน,แม่ฮ่องสอน, พะเยา) ซึ่งมีทรัพยากรสำคัญคือป่าไม้ มีการติดต่อค้าขายกับพม่า, สยาม, จีน ฯลฯ

ทำไมอินเดียที่อยู่ห่างออกไป กลับส่งเงินของตัวเองมาใช้ใน ล้านนา หรือสยามที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่เงินพดด้วง, เงินบาทกลับไม่เป็นที่นิยม “อะไร, ทำไม, อย่างไร” และอีกสารพัดคำถามเกี่ยวกับเงินรูปีใน ล้านนา มีบทความหนึ่งเขียนอธิบายไว้เป็นอย่างดีคือ “เงินรูปีอินเดีย ในประวัติศาสตร์ล้านนา” เขียนโดย อภิรัฐ คำวัง ตีพิมพ์ในวารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2556) มหาวิทยาลัยนเรศวร ขออนุญาตคัดย่อมาเพียงบางส่วนดังนี้ (เพิ่มเติมหัวข้อย่อยเพื่อความสะดวกในการอ่านโดย กอง บก. ออนไลน์)


 

เมื่อรัฐบาลทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ พ.ศ. 2398 ทำให้รัฐบาลอังกฤษเข้ามาตั้งสถานทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ พ.ศ. 2399 จากนั้นมีการตกลงกันระหว่างรัฐบาลสยามกับอังกฤษ เรื่องการใช้เงินตราในการแลกเปลี่ยนสินค้าโดยอนุญาตให้ใช้เงินรูปีอินเดีย เงินแท่ง เงินบาท เป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้าระหว่างพ่อค้าอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษกับพ่อค้าล้านนา

ด้วยเหตุนี้ เงินรูปีอินเดีย จึงแพร่สะพัดในล้านนา เพราะมากับการค้าที่เชื่อมพม่ากับอนุทวีปอินเดีย และส่งผลให้คนในบังคับอังกฤษทั้งพ่อค้าและชาวพม่า ชาวไทยใหญ่ ชาวอินเดียต่างเดินทางเข้ามาค้าขายในล้านนามากยิ่งขึ้น แม้ว่ากำหนดให้ใช้เงินบาทด้วยก็ตาม แต่กลับไม่เป็นที่นิยม เพราะศูนย์กลางการค้าอยู่ที่เมืองมะละแหม่ง เงินรูปีอินเดียจึงมีค่ามากกว่า

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น เช่น การตั้งสถานกงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่ พ.ศ. 2427, การเปิดเสรีการค้าระหว่างพรมแดนพม่าของอังกฤษกับสยามที่แม่สอด พ.ศ. 2430, การเข้ามาทำป่าไม้ในล้านนา โดยบริษัทบริติชบอร์เนียว พ.ศ. 2407 และบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า พ.ศ. 2432 ฯลฯ

ทำให้เงินรูปีอินเดียจากพม่าแพร่สะพัดในล้านนาสูงถึง 61,581 ปอนด์ ระหว่าง พ.ศ. 2441-2446 และเพิ่มขึ้นเป็น 147,719 ปอนด์ ใน พ.ศ. 2457

เหตุใดเงินสกุลท้องถิ่นไม่แพร่หลายเท่า “เงินรูปีอินเดีย”?

ล้านนามีเงินตราที่ใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน ทั้งเงินตราท้องถิ่น และจากดินแดนต่างๆ เงินตราที่ล้านนาผลิตขึ้นเอง เช่น เงินเจียง เงินท้อกของล้านนา เฉพาะเงินท้อก ประกอบด้วยเงินท้อกลำปาง (เงินท้อกวงตีนม้า), เงินท้อกเชียงใหม่, เงินท้อกน่าน ฯลฯ นอกจากนี้ก็มีเงินตราต่างอาณาจักร เช่น เงินพดด้วงจากสยาม (มีใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย), เงินดอกไม้จากพม่า, เงินไซซีจากจีน ฯลฯ

ครั้นเมื่อล้านนาตกเป็นประเทศราชของพม่า และสยามนั้นจึงได้รับเงินตราจากอาณาจักรต่างๆ คู่กับเงินท้องถิ่น กระทั่ง พ.ศ. 2369 เมื่อพม่าพ่ายต่อสงครามกับอังกฤษครั้งแรก จึงเริ่มมี เงินรูปีอินเดีย ของอังกฤษเข้ามาสู่ล้านนา ซึ่งเป็นผลมาจากการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างล้านนา พม่า และอังกฤษ

แต่สำหรับเงินพดด้วงสยาม กลับไม่แพร่หลายเข้าไปในล้านนามากนัก ด้วยสยามเองก็ปัญหาเรื่องการใช้เงินหมุนเวียน อันมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายในและภายนอก กล่าวคือปัจจัยภายใน เป็นปัญหาการปลอมแปลงเงินตรา ส่วนปัจจัยภายนอก มาจากการเปิดเสรีทางการค้าจากการทำสนธิสัญญากับนานาประเทศ

ในสมัยรัชกาลที่ 4 (ก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริง) มีการใช้ “หมาย” แทนเงิน “พดด้วง” เพื่อแก้ปัญหาการปลอมแปลงเงินตรา หมายทำจากกระดาษปอนด์ขาว พิมพ์ลวดลายด้วยหมึก และพิมพ์ตัวอักษรบอกราคา 12 ภาษา (ภาษาไทย, จีน, ลาติน, อังกฤษ, ฮินดู, มลายู, เขมร, พม่า, รามัญ, ลาว, บาลี, สันสกฤต) จะเห็นได้ว่า 3 ใน 12 ภาษา เป็นภาษาที่มาจากอนุทวีปอินเดีย (ภาษาบาลี, สันสกฤต, ฮินดู) สะท้อนให้เห็นว่าคนอินเดียและเงินรูปีอินเดียมีอิทธิพลอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจสยามในขณะนั้น

ภายหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงแล้ว ทำให้มี “เงินเหรียญนอก” หรือเงินตราต่างประเทศจำนวนมากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของสยาม ทำให้ต้องมีประกาศยอมรับการใช้เงินตราต่างประเทศเป็นครั้งแรก พ.ศ. 2399 โดยมีความสำคัญตอนหนึ่งว่า

…อย่าให้ท่านทั้งหลายทั้งปวงตื่นกันเล่าภาผิดๆ ถูกๆ ไป ให้ซื้อขายกันด้วยเงินเหรียญตามคำประกาศเก่าคือ 3 เหรียญนกเป็นเงิน 5 บาท เงินรูเปียเมืองอินเดียนั้น 7 รูเปียเป็นเงิน 10 ตำลึง เงินเหรียญวิลันดาขนาดใหญ่ 13 เหรียญเป็นเงิน 5 ตำลึง ยั่งยืนอย่างก่อนนั้น จะเห็นได้ว่า อัตราแลกดังกล่าวนี้ เมื่อ พ.ศ. 2399 ค่า เงิน 10 ตำลึง เท่ากับ 7 รูปีอินเดีย

และ พ.ศ. 2407 ได้มีประกาศพิกัดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศครั้งที่สอง โดยมีความสำคัญตอนหนึ่งว่า

…เพราะลูกค้านอกประเทศเอาเงินเหรียญต่างๆ เป็นเงินเหรียญวิลันดาบ้าง เงินเหรียญรูเปียบ้าง มาซื้อของเห็นผิดสัณฐานผิดตราไปไม่เข้าใจน้ำหนัก แลราคาจึงไม่รับ ถ้าเป็นดังนี้จะประกาศให้รู้ได้ว่าเงินเหรียญวิลันดานั้นขนาดใหญ่ย่อมกว่าเงินเหรียญนกอยู่หน่อยหนึ่ง…เงินเหรียญนก 48 เหรียญเป็นเงินชั่ง 1 เงินเหรียญวิลันดาขนาดใหญ่ (ชนิดราคา 2 1/2 กิลเดอร์) 52 เหรียญเป็นเงินชั่ง 1 เงินรูเปียเมืองอินเดีย…112 รูเปียเท่ากับ 48 เหรียญนก หรือเงินไทยชั่ง 1 ให้ราษฎรรู้พิกัดนี้แล้วรับซื้อขายกับชาวต่างประเทศด้วยเงินเหรียญตามประกาศก่อนแลบัดนี้เทอญ…

จากข้อความนี้จะเห็นได้ว่า อัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว นี้ 1 ชั่ง หรือ 20 ตำลึง เท่ากับ 112 รูปีอินเดีย ดังนั้น 1 ตำลึง เท่ากับ 5.6 รูปีอินเดีย ซึ่งค่าของเงินรูปีอินเดียแข็งค่าขึ้นจากปีแรกที่มีประกาศ (พ.ศ. 2399)

เมืองระแหง แหล่งแลกเงินรูปีอินเดีย

กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2432 เริ่มนำ “บัตรธนาคาร” หรือ “แบงก์โน้ต” ของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศออกมาใช้เป็นครั้งแรก รัฐบาลสยามอนุญาตให้ใช้ในพระราชอาณาจักร จากนั้น พ.ศ. 2445 จึงได้ออกเงินกระดาษหรือธนบัตรใช้เป็นครั้งแรก และตั้งกรมธนบัตร จนกระทั่ง พ.ศ. 2447 ได้ประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วง

จากข้อมูลข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่า เมื่อรัฐบาลสยามผลิตเงินตราใช้หมุนเวียนได้ไม่สอดคล้องกับอุปสงค์ การเปิดเสรีทางการค้าจึงผลักดันให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของสยามอย่างมาก ฉะนั้น จึงมิต้องกล่าวถึงเงินท้อกของล้านนาเลย ย่อมมีไม่เพียงพอที่จะใช้ภายในเช่นกัน ชาวล้านนายอมรับเงินตราต่างประเทศโดยเฉพาะ เงินรูปีอินเดีย มากกว่าชาวสยาม ขณะที่ชาวสยามยังลังเลต่อเรื่องพิกัดและอัตราแลกเปลี่ยน

ผู้ศึกษา [อภิรัฐ คำวัง] เห็นว่าการยอมรับและใช้เงินรูปีอินเดียของชาวล้านนาเป็นผลสืบเนื่องมาจากการค้าขายกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จากพม่าอยู่อย่างเนืองๆ ชาวล้านนาได้รับเงินรูปีอินเดีย ซึ่งถือว่ามีน้ำหนักเงินดีมาใช้จนแพร่หลายการยอมรับเงินรูปีอินเดียในล้านนา มีมาก่อนที่รัฐบาลสยามจะทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกว่าทศวรรษ ชาวล้านนาคุ้นเคยกับการใช้เงินตราที่เป็นโลหะเงินมากกว่า ซึ่งขณะนั้นยังไม่คุ้นกับการใช้เงินกระดาษที่เริ่มใช้กันแล้วในสยาม

เงินรูปีอินเดีย เข้าไปมีบทบาทมากกว่าเงินของล้านนาและสยาม จนกลายเป็นเงินตราต่างประเทศที่เป็นเงินหมุนเวียนควบคู่กับเงินท้อกของท้องถิ่น ขณะที่เงินพดด้วงและหมายของรัฐบาลสยามกลับไม่เป็นที่นิยมในล้านนา จากบันทึกการเดินทางของชาวเบลเยี่ยม ปิแอร์ โอร์ต ซึ่งเดินทางจากกรุงเทพมหานครสู่เมืองเชียงใหม่ ในบันทึกของวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2440 ความตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “…ข้าพเจ้าแลกเงินเหรียญเป็นเงินรูปีพ้นจากเมืองระแหงไปแล้วเงินบาทไม่ค่อยมีคนรับ”

จากข้อความดังกล่าวพอจะทำให้เห็นได้ว่า (1) ก่อนจะถึงเมืองเชียงใหม่ จำต้องมีเงินรูปีอินเดียติดตัวไปให้มาก (2) จุดแลกเปลี่ยนเงินตราอยู่ที่ เมืองระแหง (จังหวัดตาก) โดยไม่แลกเงินรูปีอินเดียในกรุงเทพมหานคร อาจจะมีคนแจ้งให้ทราบว่าแลกเงินที่ไหนจึงจะเหมาะสม (3) เงินรูปีอินเดียเป็นที่ยอมรับสำหรับการซื้อขายและว่าจ้างในล้านนามาก (4) เมืองระแหงเป็นชุมทางใหญ่ หรือมีความสำคัญในทางเศรษฐกิจมาก (ไปรษณีย์ก็ต้องผ่านเมืองระแหงเช่นกัน)

ดังนั้น ชาวต่างประเทศสามารถหาแลกเงินรูปีอินเดียได้เป็นจำนวนมากที่เมืองระแหง ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมของการเดินทางระหว่างล้านนา สยาม และพม่า มาโดยตลอดเส้นทางการคมนาคมขนส่งหลักในสมัยนั่นคือ เรือ แพใช้เส้นทางที่เรียกกันว่าล่องแม่ปิง )

ในบันทึกเดียวกันนี้ วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2440 ปิแอร์ โอร์ต บันทึกว่า หน่วยเงินตราที่ใช้ในเมืองเชียงใหม่คือเงินรูปีอินเดีย มีอัตราแลกเปลี่ยนทางการ 5 บาท เท่ากับ 7 รูปีอินเดีย โดยเงินเดือนของข้าราชการและเสมียนจ่ายเป็นเงินรูปีอินเดีย ส่วนเงินบาท (ซึ่งเป็นเงินเหรียญ) ใช้ได้ทั่วไป แต่มีค่าเท่ากับ 1 รูปีอินเดีย และ 48 อัฐทองแดงแลกได้ 1 รูปีอินเดีย นอกจากนี้ ในบันทึกยังอีกว่า “ผู้คนจึงไม่นิยมเงินสยาม (บาท, สลึง)”

จากรายงาน British Consular Report, Chiengmai 1897-1914 เป็นการรายงานอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างเงินรูปี อินเดียกับเงินบาทที่เมืองเชียงใหม่ระหว่าง พ.ศ.2440-2457 โดย 1 รูปีอินเดีย ต่ำสุดแลกได้ 0.95 บาท สูงสุดแลกได้ 1.28 บาท ในบางช่วงเงินรูปีอินเดียแข็งค่ากว่าเงินบาท

เงินบาท VS เงินรูปีอินเดีย

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ทำให้รัฐบาลสยามพยายามให้เงินบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจล้านนามากที่สุด เมื่อ พ.ศ. 2446 รัฐบาลสยามได้กำหนดให้บริษัทป่าไม้จ่ายเงินค่าภาคหลวงป่าไม้ และภาษีต่างๆ ด้วยเงินบาท (เนื่องจากการกำหนดเป็นเงินรูปีอินเดียตั้งแต่เริ่มต้น) และเริ่มจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็นเงินบาท ทำให้ พ.ศ. 2448 เงินบาทในเมืองลำปางมีใช้ควบคู่กับเงินรูปีอินเดีย แต่ในเมืองเชียงใหม่เงินรูปีอินเดียยังคงแพร่สะพัดมาก ขณะที่เมืองยวม เมืองขุนยวม เมืองแม่ฮ่องสอน เมืองปายยังไม่มีเงินบาทใช้ข้าราชการที่ได้เงินบาทต้องแลกเป็นรูปีอินเดียก่อน จึงจะใช้จ่ายได้

นอกจากนี้ กงสุลอังกฤษยังรายงานไว้ว่า “เงินรูปีซึ่งไม่กี่ปีมานี้ เป็นเหรียญเงินที่ใช้กันในภาคเหนือ ขณะนี้ถูกแทนที่ด้วยเงินบาทอย่างรวดเร็ว” กระทั่ง พ.ศ. 2450 เงินรูปีอินเดียในล้านนาตะวันออก (เมืองแพร่ เมืองน่าน) ลดลงมากและมีมูลค่าเท่ากับ 4 ของเงินบาท ขณะที่ทางล้านนาตะวันตก (เมืองเชียงใหม่ เมืองลำปาง) และเมืองที่ใกล้พม่ายังใช้เงินรูปีอินเดียควบคู่กับเงินบาท

และจากบันทึกฉบับหนึ่งของพระยาอนุบาลพายัพกิจ เมืองแม่ฮ่องสอน พ.ศ. 2463 ค.ศ.1920 บันทึกไว้ว่า อัตราแลกเปลี่ยน รูปีอินเดีย ขึ้นลงทุกเดือน ช่วงต้นเดือนค่าเงินรูปีอินเดียจะแข็งค่าขึ้น 1 รูปีอินเดีย เท่ากับ 1 บาท แลกได้ 1 บาท หรือ 1.50 บาท โดยปกติ 1 รูปีอินเดีย เท่ากับ 75-80 สตางค์ แต่ช่วงปลายเดือนค่าเงินรูปีอินเดียจะอ่อนค่าลง 1 รูปีอินเดีย เท่ากับ 75 สตางค์ ข้าราชการในเมืองแม่ฮ่องสอนเมื่อได้รับเงินเดือนเป็นเงินบาทแล้วต้องนำมาแลกเป็นเงินรูปีอินเดียกับพ่อค้า เนื่องจากต้องใช้เงินรูปีอินเดียสำหรับจับจ่ายใช้สอยในตลาด และเมืองแม่ฮ่องสอนไม่ใช้เงินบาท

การที่เงินรูปีอินเดียแพร่สะพัดในล้านนา ทำให้รัฐบาลสยามเกิดความหนักใจและพยายามจะลดความสำคัญของเงินรูปีอินเดียลงด้วยการเริ่มนำเงินบาทเข้ามาใช้ในระบบเศรษฐกิจ พ.ศ. 2441 ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้มีสาเหตุมาจาก 2 ปัญหา คือปริมาณเงินตรามีไม่เพียงพอ และตัวเงินตรามีน้ำหนักมากไม่สะดวกต่อการขนส่ง

จนกระทั่ง การค้าขายในเส้นทางระหว่างเมืองเชียงใหม่กับกรุงเทพมหานครเริ่มคึกคักขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2459 มีการขยายเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพมหานครมาถึงเมืองลำปาง และขยายมาจนถึงเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2464 (สมัยรัชกาลที่ 6) ทำให้การคมนาคมขนส่งเริ่มเปลี่ยนจากทางน้ำมาเป็นทางบกแทน

ขณะเดียวกันเส้นทางส่งไม้สักออกจากเส้นทางแม่น้ำสาละวินสู่พม่า ก็เปลี่ยนเป็นเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาสู่สยาม ทำให้การค้าขายในเส้นทางล้านนากับเมืองมะละแหม่งถูกลดบทบาทลง และเส้นทางการค้าจากเชียงใหม่สู่กรุงเทพมหานครได้รับการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น สินค้าจากกรุงเทพมหานครซึ่งนำเข้ามาจากเยอรมนีและญี่ปุ่นเข้าไปแทนที่สินค้าจากอังกฤษเพราะมีราคาต่ำกว่า ส่งผลให้ค่าเงินรูปีอินเดียลดต่ำลง เหลือเพียง 1 รูปีอินเดีย แลกได้ 0.625 บาท เงินบาทสามารถแทรกเข้าไปใช้หมุนเวียนในล้านนาได้มากขึ้นและกลายเป็นที่นิยมใช้

และผลจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองภายในสยาม พ.ศ. 2475 ต่อมารัฐบาลสยามยกเลิกมณฑลพายัพ พ.ศ. 2476 จัดระบบหน่วยปกครองใหม่เป็นระดับจังหวัดและอำเภอ ในช่วงเวลาต่อเนื่องกันนั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484-88) ส่งผลกระทบต่อชาวต่างประเทศที่อาศัยและค้าขายในล้านนา โดยเฉพาะชาวตะวันตก เป็นเหตุให้ทั้งบริษัทบริติชบอร์เนียว และบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า จำต้องทิ้งกิจการค้าไม้ ส่งผลชัดเจนให้ “เงินรูปีอินเดีย” ในล้านนานหมดบทบาทลง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562