ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เถิน เป็นหนึ่งใน 13 อำเภอของจังหวัดลำปาง หากมองแผนที่ยุคปัจจุบันจะพบว่าอำเภอเถินตั้งอยู่ทางใต้ของตัวเมืองลำปางเชื่อมต่อเขตปกครองมากมาย ทั้งอำเภอร่วมจังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดตาก และจังหวัดลำพูน จัดเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในฐานะชุมทางเส้นทางสำคัญไปยังหัวเมืองอื่น ๆ และถือเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของอาณาจักรล้านนา
ตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนบริเวณนี้พัฒนาเป็นเมืองได้ กล่าวคือจากตัวเมืองเถินลัดเลาะตามแม่น้ำวังมุ่งสู่ทิศเหนือจะเดินทางไปถึงเมืองลำปาง ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือมีเส้นทางข้ามช่องเขาผ่าน ลำน้ำลี้ สามารถติดต่อชุมชนในเมืองลำพูนและเชียงใหม่ได้ ส่วนเส้นทางการค้าโบราณจากเมืองเถินที่ติดต่อกับสุโขทัยผ่าน ลำน้ำแม่มอก ทางทิศใต้ และมีลำน้ำอีกหนึ่งสายที่ใช้เป็นเส้นทางไปเมืองแพร่ ชื่อ ห้วยแม่ปะ
การเป็นชุมทางการคมนาคมสมัยโบราณมีส่วนให้เมืองเถินกลายเป็นเมืองสำคัญทั้งแง่ยุทธศาสตร์และการติดต่อค้าขายกับหัวเมืองทั้งหลายในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปิง วัง และยม ซึ่งตัวเมืองเถินตั้งอยู่บนฝั่งลำน้ำวังที่ไหลลงมาจากเมืองลำปาง ซึ่งจะไปบรรจบกับลำน้ำปิงในเขตอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก
เมืองเถินปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีเผยบริเวณที่เป็นคูน้ำคันดินล้อมรอบอันเป็นลักษณะของ “เวียง” อยู่ถึงสามแห่ง ได้แก่ เวียงเถิน อยู่ศูนย์กลาง เวียงป้อมและเวียงเป็ง บ่งบอกความเป็นเมืองสำคัญ เพราะเมืองใหญ่ในล้านนาทั้งเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และเชียงแสน มักมีเวียงบริวารอยู่ใกล้ ๆ เสมอ
ชาวเมืองเถินมีเชื้อสายลำปาง หรือลาวลำปาง ที่ผสมกับคนพม่า จึงมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมพม่าอยู่ ปัจจัยหนึ่งเกิดจากล้านนาถูกพม่าปกครองอยู่เป็นเวลานาน แต่ชุมชนระดับหมู่บ้านที่เมืองเถินนั้นเชื่อว่ามีก่อนสมัยสุโขทัยในพุทธศตวรรษที่ 19 พอถึงสมัยอยุธยาจึงกลายเป็นหน้าด่านของล้านนาอย่างเต็มตัวจากการถูกใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพในห้วงสงครามอยู่เสมอ
ในด้านเศรษฐกิจ เมืองเถินเติบโตจากที่ตั้งระหว่างอาณาจักรการค้าทางบกที่สำคัญคือ ล้านนา และสุโขทัย บริเวณนี้จึงเป็นจุดแลกเปลี่ยนไหลเวียนสินค้าที่สำคัญล้านนา ในยุคสมัยหนึ่งเมืองเถินเป็นที่รู้จักจากสินค้ามีชื่อเสียงที่เรียกว่า แก้วโป่งข่าม ซึ่งเชื่อว่าเป็นหินแก้วผลึกศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนในท้องถิ่นมักขุดมาขายเพื่อเจียระไนเป็นหัวแหวน ความนิยมในหินธรรมชาติที่มีลักษณะเป็นแก้วผลึกนี้ปรากฏตั้งแต่สมัยล้านนา เห็นได้จากวัฒนธรรมการสร้างพระพุทธรูปรูปจากแก้วผลึก เช่น พระแก้วมรกต พระแก้วขาว เป็นต้น
เมืองเถินได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรที่เข้ามายึดครองล้านนาอย่าง อยุธยา และพม่า ช่วงศึกสงครามระหว่างอยุธยากับพม่าหรือสงครามที่เกี่ยวข้องกับล้านนา บริเวณเมืองเถินจะเป็นเส้นทางเดินทัพหลัก ในยุคสมัยที่เกิดสงครามต่อเนื่อง เช่น สงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 ประชาชนที่เดือดร้อนจากภัยสงครามในเมืองจึงมักอพยพหนีไปอยู่ตามป่าเขา ปล่อยให้เมืองเถินเป็นเมืองร้างอยู่ระยะเวลาหนึ่ง
พ.ศ. 2310 เจ้านายเชื้อเจ้าเจ็ดตน มีเจ้ากาวิละเป็นผู้นำสวามิภักดิ์พระเจ้าตากสินมหาราช ระดมพลที่เมืองเถิน ทยอยตีหัวเมืองล้านนาใต้อำนาจพม่าจากใต้ขึ้นเหนือไปถึงเชียงใหม่ สถาปนาล้านนาภายใต้อำนาจกรุงธนบุรีแทนที่พม่า สมัยกรุงเทพฯ แผ่นดินรัชกาลที่ 1 หลังสถาปนาพระเจ้ากาวิละเป็นพระเจ้าเชียงใหม่จึงกวาดต้อนผู้คนที่เคยเทครัวครั้งหนีภัยสงครามให้กลับมาอยู่อาศัยบริเวณเมืองเถินทำให้กลับมาเป็นหัวเมืองชุมทางที่พลุกพล่านอีกครั้ง
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศรีศักร วัลลิโภดม. (2545). ล้านนาประเทศ. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กรกฎาคม 2562