ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ตำนานเมืองร้อยเอ็ด เมืองสิบเอ็ดประตู หรือเมืองร้อยเอ็ดประตู?
“ร้อยเอ็ด” เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประวัติความเป็นมายาวนานนับพันปี ชื่อเมือง “ร้อยเอ็ด” มีการตีความไปต่าง ๆ นานาว่าหมายถึงเมืองสิบเอ็ดประตู หรือหมายถึงเมืองร้อยเอ็ดประตูกันแน่ หนึ่งในบทความที่อธิบายที่มาของชื่อเมืองร้อยเอ็ดไว้คือ “เมืองร้อยเอ็ด (ประตู) หรือ-ทวารวดี แปลภาษาแขกเป็นลาว” โดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 15 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2537 มีเนื้อความดังนี้
ตัวจังหวัดร้อยเอ็ดในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เคยเป็นบ้านเมืองในสมัยโบราณมาก่อน ร่องรอยของคูน้ำคันดินกำแพงเมืองยังเหลือให้เห็นอยู่บ้างเป็นบางตอน
โบราณวัตถุที่มีคนพบที่เมืองนี้ ทำให้ทราบว่า ร้อยเอ็ด เป็นบ้านเมืองโบราณที่มีมาก่อนตั้งแต่สมัยทวารวดี คือมีอายุมากกว่า 1,000 ปีมาแล้ว จึงนับว่าเป็นบ้านเมืองสมัยโบราณรุ่นเก่าที่น่าสนใจเมืองหนึ่งในภาคอีสาน
ร้อยเอ็ด : เมืองอะไร? มีประตูนับร้อย
บทความนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะอธิบายความหมายชื่อของจังหวัด ร้อยเอ็ด ซึ่งเคยมีคนสงสัยและให้ความเห็นไปต่าง ๆ นานา โดยทั่วไปเข้าใจกันตามเรื่องที่เป็นตำนานพื้นบ้านว่า ชื่อร้อยเอ็ดนั้นเป็นชื่อโบราณของเมืองเก่าที่ตั้งตัวจังหวัด โดยมีชื่อเต็มว่า เมืองร้อยเอ็ดประตู เพราะเมืองโบราณที่มีร่องรอยให้เห็นอยู่บ้างนั้นมีประตูเมืองจำนวน 101 ประตู
ความสงสัยจึงได้มีขึ้นเกี่ยวกับชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตูอีกต่อไปว่า เมืองอะไรจึงจะมีประตูมากมายเช่นนี้ถึง 101 ประตู ซึ่งเป็นไปไม่ได้ จึงได้มีการอธิบายจากผู้รู้บางท่านว่า ความจริงเมืองนี้มีเพียง 11 ประตูเท่านั้น แต่เนื่องจากการเขียนตัวเลขของคนอีสานและคนลาวแต่ก่อนที่เขียนว่า 101 นั้น ต้องอ่านว่า 10,1 คือสิบหนึ่งหรือสิบเอ็ด หาใช่อ่านว่าหนึ่งร้อยหนึ่งหรือหนึ่งร้อยเอ็ดไม่ แต่ต่อมาภายหลังคนไม่เข้าใจการเขียนการอ่านของคนในสมัยโบราณ จึงอ่านผิดไปเป็นหนึ่งร้อยเอ็ดหรือร้อยเอ็ด ด้วยเหตุนี้เมืองที่ควรจะชื่อว่า “เมืองสิบเอ็ดประตู” จึงกลายเป็น “เมืองร้อยเอ็ดประตู” ไป
อันที่จริง คูกำแพงเมืองร้อยเอ็ดโบราณที่เห็นอยู่นี้ ก็ไม่เคยมีใครไปนับเป็นหลักฐานว่ามี 11 ประตู หรือ 101 ประตูกันแน่ เนื่องจากความเก่าแก่ของคูเมืองกำแพงเมืองย่อมลบเลือนหายไปบ้าง จนหาประตูไม่เจอว่ามีช่องอยู่ตรงที่ใดกันแน่ และชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตูเท่าที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเอกสารโบราณ ก็ไม่เคยที่จะเขียนเป็นตัวเลขว่า “เมือง 101 ประตู” แต่จะเขียนเป็นตัวอักษรว่า “เมืองร้อยเอ็ดประตู หรือเมืองร้อยเอ็จประตู” ทั้งสิ้น
และเมื่อพิจารณาเรื่องหลักเหตุผลว่าคำเรียกหรือชื่อเรียกย่อมมีขึ้นก่อนแล้ว จึงจะเขียนลายลักษณ์อักษรให้อ่านออกเสียงเหมือนคำหรือชื่อที่เรียกนั้นภายหลัง ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ว่าชื่อเมืองร้อยเอ็ดเป็นการเรียกผิด เนื่องจากการอ่านที่ผิดไปจากสิบเอ็ดมาเป็นร้อยเอ็ด
ดังนั้น เมืองนี้แต่เดิมนั้นจึงมีชื่อว่า เมืองร้อยเอ็ดประตูจริง ๆ ส่วนจะมีจำนวนประตูถึง 101 ช่องอย่างไรนั้น ผู้เขียนจะได้กล่าวต่อไป
ร้อยเอ็ด : เขียนเป็นจำนวนตัวเลข บางทีก็มิได้มาจากการนับ
มีสำนวนคำไทยอยู่หลายคำที่จะขอยกเป็นตัวอย่าง ที่มีการกล่าวถึงจำนวน แต่พอนับเข้าจริง ๆ ก็ไม่ได้จำนวนอย่างที่กล่าว เช่น
ช่างสิบหมู่ นับจริง ๆ ก็มิได้มีจำนวนช่างเพียง 10 ประเภท แต่มีมากกว่านั้น
เพลงไทยสิบสองภาษา ก็มิได้หมายความว่า จะมีคนต่างภาษาในสมัยโบราณที่เข้ามาเป็นที่รู้จักของคนไทย จำนวน 12 ภาษา เพราะนับจริง ๆ แล้วมีมากกว่านั้น
พระเจ้าห้าร้อยชาติ ก็มิได้หมายความว่า จำนวนพระชาติที่พระพุทธองค์ทรงถือกำเนิดมาก่อนจะสำเร็จพระสมโพธิญาณจะมี 500 พระชาติจริง ๆ
ไอ้โจรห้าร้อย ที่เผาโรงเรียน จะมีสักกี่คนก็ไม่รู้ แต่เรียกห้าร้อยไว้ก่อน
ฯลฯ
ที่ยกมากล่าวข้างต้น เป็นตัวอย่างสำนวนภาษาไทยประเภทหนึ่ง ที่นำจำนวนตัวเลขมาใช้ แต่มิใช่เพื่อบอกปริมาณเพื่อการแจงนับได้ แต่เป็นตัวเลขที่ให้ความหมายในเชิงคุณภาพ
เช่นเดียวกับชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตู ตำนานของเมืองร้อยเอ็ดได้ให้ความหมายอย่างชัดเจนในเรื่องราวว่า เมืองร้อยเอ็ดประตูนั้นเป็นเมืองที่มีอำนาจเจริญรุ่งเรืองมาก มีเมืองขึ้นถึงร้อยเอ็ดหัวเมือง ประตูเมืองทั้งร้อยเอ็ดช่องนั้น คือทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างเมืองร้อยเอ็ดกับเมืองบริวารทั้งร้อยเอ็ดหัวเมืองนั้น
ลองนึกให้เป็นภาพแผนที่ ก็จะมีเมืองร้อยเอ็ดอยู่ตรงกลาง มีประตูโดยรอบร้อยเอ็ดช่อง มีเส้นทางออกจากประตูทั้งร้อยเอ็ดไปสู่เมืองบริวารที่อยู่โดยรอบทั้งร้อยเอ็ดหัวเมือง ภาพนี้ก็จะให้ความหมายของอำนาจที่แผ่ขยายออกไปจากศูนย์กลาง หรือเข้ามาสู่ความเจริญรุ่งเรืองที่ศูนย์กลางจากบริวารที่อยู่โดยรอบทั้งร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ
เมืองอะไร? มีประตูนับพัน
จดหมายเหตุของจีนกล่าวถึงรัฐรัฐหนึ่งในช่วงเวลาประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 อยู่ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ชื่อว่า ทวารวดี แม้ว่าขณะนี้ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับที่ตั้งแน่นอนว่าอยู่ที่ใดแน่ แต่ในพุทธศตวรรษที่ 19 ชื่อนี้ได้ปรากฏเป็นชื่อเต็มของกรุงศรีอยุธยา คือ กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ชื่อชื่อนี้รับมาจากเรื่องมหาภารตะของอินเดีย ซึ่งตามเรื่องกล่าวว่า เมืองทวารวดีเป็นเมืองของพระกฤษณะ ผู้เป็นพระนารายณ์อวตาร
ทวารวดี เป็นการเขียนอย่างภาษาบาลี ถ้าเขียนอย่างสันสกฤตเขียนว่า ทวารวติ ซึ่งมีคำแปลที่ชัดเจนเป็นอย่างเดียว ดังนี้
ทวาร = ช่อง, ประตู
วดี, วติ = รั้ว, กำแพง
ดังนั้น คำว่า ทวารวดี เมื่อแปลตามรูปศัพท์จึงแปลว่า เมืองที่มีประตูเป็นกำแพง ซึ่งหากจะคิดโดยซื่อว่ามีความหมายตามรูปศัพท์จริงๆ เมืองเมืองนี้ก็จะมีหน้าตาประหลาด เพราะมีประตูเป็นจำนวนมากมายอาจจะนับจำนวนได้ถึงพันประตูก็คงจะได้
ที่แท้ก็นับไม่ได้เหมือนกัน
การถือความหมายตามรูปศัพท์ของชื่อทวารวดีคงจะไม่ถูก แต่หากพิจารณาเทียบกับชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตู จะให้ความหมายถึงการเป็นเมืองศูนย์กลางที่มีอำนาจครอบคลุมออกไปโดยรอบสารพัดทิศเช่นเดียวกัน
ตำนานเมืองร้อยเอ็ดประตูอยู่ในหนังสืออุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) รวบรวมจารไว้ในคัมภีร์ใบลานโดย พระยาศรีไชยชมพู ในโอกาสเฉลิมฉลองการได้ราชสมบัติอาณาจักรลาวล้านช้างของพระเจ้าสุริยวงศา เมื่อ จ.ศ. 1000 หรือ พ.ศ. 2181 (ที่จริงได้ราชสมบัติก่อนหน้านี้ 5 ปีแล้ว)
เรื่องเมืองร้อยเอ็ดประตูจะมีเนื้อหาที่เป็นปรัมปราคติกล่าวถึงการสร้างเมือง และเรื่องราวของกรุงศรีอยุธยากับเมืองร้อยเอ็ดประตูคู่กันโดยตลอด อย่างน้อยพระยาศรีไชยชมพูผู้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้จะต้องคุ้นเคยกับชื่อเต็มของกรุงศรีอยุธยา จึงได้นำความหมายของชื่อตอนหน้ากรุงศรีอยุธยา คือ ทวารวดี มาดัดแปลงให้เป็นภาษาพื้นเมืองว่า ร้อยเอ็ดประตู
ดังนั้น ชื่อเมืองทวารวดีกับเมืองร้อยเอ็ดประตู จึงมีความหมายอย่างเดียวกัน ที่เหมือนกับจะบอกชาวโลกว่า ศูนย์กลางของจักรวาลอยู่ที่นี่
และมีความหมายบางส่วนคล้ายกับสำนวนฝรั่งที่ว่า “ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม” ฉะนั้น
แถมท้าย
ถึงตอนนี้ ใคร่ขอแถมท้ายอีกเล็กน้อยถึงเรื่องที่คนลาวมักจะบัญญัติศัพท์ใหม่ด้วยภาษาพื้นเมืองของตนเอง ไม่ชอบนำภาษาแขกมาใช้ เช่น คำว่าทวารวดีดัดแปลงเป็นร้อยเอ็ดประตูดังกล่าวแล้ว ในการเขียนตำนานได้พบว่ามีการแปลศัพท์ภาษาแขกเป็นภาษาพื้นเมืองด้วยเหมือนกัน เช่นในตำนานเมืองทรายฟองตอนหนึ่งกล่าวถึงเมืองเชียงแสน (อ. เชียงแสน จ. เชียงราย) ว่าเป็นเมืองที่มีกำแพงสามชั้น เป็นต้น
ตามข้อเท็จจริง เมืองเชียงแสนมีกำแพงชั้นเดียว เหตุที่เป็นเช่นนี้ผู้เขียนเข้าใจว่า คนเขียนตำนานเมืองทรายฟองไม่เคยเห็นเมืองเชียงแสน แต่คงจะอ่านพบจากเอกสารเก่าเล่มใดเล่มหนึ่งที่กล่าวว่า เมืองเชียงแสนมี “ตรีบูร” จึงแปลคำนี้เป็นภาษาพื้นเมืองว่า “กำแพงสามชั้น”
เหมือนกับที่นักวิชาการของไทยเข้าใจว่า “ตรีบูร” ของเมืองสุโขทัย อยุธยา และเชียงใหม่ ในเอกสารโบราณนั้นแปลว่า “กำแพงสามชั้น” ทั้ง ๆ ที่เมืองสองเมืองจากที่กล่าวมานี้ มิได้มีกำแพงสามชั้น รวมทั้งไม่มีเอกสารโบราณฉบับใดที่กล่าวว่าเมืองทั้งสามตามชื่อที่กล่าวนี้มีกำแพงสามชั้นเป็นภาษาไทยเลย
เรื่องความหมายของคำว่าตรีบูร ไมเคิล ไรท์ ได้เคยเขียนไว้ในศิลปวัฒนธรรมแล้ว และผู้เขียนก็ได้อธิบายอย่างค่อนข้างละเอียดแล้วในวารสารสมาคมภาษาและหนังสือเช่นกัน ซึ่งขอสรุปอย่างรวบรัดในที่นี้ว่า คำว่า “ตรี” คำนี้ มิได้มาจากภาษาแขกบาลีที่แปลว่าสาม แต่มาจากภาษาแขกทมิฬ ที่มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “ศรี” คือความดีงามนั่นเอง
ดังนั้น ที่ตำนานเมืองทรายฟองกล่าวว่าเมืองเชียงแสนมีกำแพงสามชั้น ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงมีเพียงชั้นเดียวนั้น เป็นเพราะการแปลภาษาแขกเป็นภาษาลาวผิด
หมายเหตุ : เว้นวรรค ย่อหน้า และเน้นคำ โดย กอง บก. ออนไลน์
อ่านเพิ่มเติม :
- ชื่อจังหวัด “ร้อยเอ็ด” มาจากไหน? ทำไมถึงไม่เป็น “สิบเอ็ด”??
- เมืองปากสิงห์ (สิงห์ สิงหเสนา) วีรบุรุษเมืองร้อยเอ็ด ผู้ร่วมปราบฮ่อ และ ร.ศ. 112
- “พระครูเอกุตตรสตาธิคุณ” ราชทินนามเอกลักษณ์ของพระสงฆ์จังหวัดร้อยเอ็ด
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 15 ฉบับที่ 7 พฤษภาคม 2537 หน้า 168-171.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มีนาคม 2566