ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
จังหวัด ร้อยเอ็ด มาจากนามเดิมว่า เมืองร้อยเอ็ด หมายถึง เมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้าและเส้นทางคมนาคมทางบกทางน้ำกว้างไกลไปทุกทิศทาง เหมือนมีประตูช่องทางออกไปติดต่อบ้านเมืองต่าง ๆ ได้ร้อยเอ็ดทิศ
ชื่อเมืองนี้ ได้จากชื่อในตำนานอุรังคธาตุ (คำบอกเล่าความเป็นมาของพระธาตุพนม จ. นครพนม) ว่าเมืองร้อยเอ็ดประตู เพราะเป็นเมืองใหญ่มีบริวารถึง 101 เมือง กับประตูเมือง 101 ประตู
ต่อมาได้มีข้อโต้แย้งจากผู้รู้บางท่านว่า “เมืองนี้มีเพียงสิบเอ็ดประตูเท่านั้น เพราะการเขียนตัวเลขสิบเอ็ดของคนอีสานและคนลาวสมัยก่อนนั้นเขียนว่า 101 ซึ่งต่อมาคนไม่เข้าใจการเขียนการอ่านของคนอีสาน จึงอ่านผิดไปเป็นหนึ่งร้อยเอ็ด หรือร้อยเอ็ด ด้วยเหตุนี้เมืองที่ควรจะชื่อว่าเมืองสิบเอ็ดประตูจึงกลายเป็นเมืองร้อยเอ็ดประตูไป”
แต่ข้อโต้แย้งต้องตกไป เพราะต้นฉบับตัวเขียนบนใบลานตำนานอุรังคธาตุไม่ได้เขียนตัวเลข แต่เขียนเป็นตัวอักษร กรมศิลปากรบอกไว้ในเอกสารชื่อบ้านนามเมือง…ร้อยเอ็ด (พิมพ์ พ.ศ. 2552) ว่า
“จากการตรวจสอบของนักภาษาโบราณ กรมศิลปากรไม่พบว่าในตำนานอุรังคธาตุมีการเขียนชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตูด้วยตัวเลข หากแต่เขียนเป็นตัวอักษรทั้งสิ้น”
แล้วอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “ถึงแม้ว่าร่องรอยของประตูเมืองร้อยเอ็ดโบราณจากภาพถ่ายทางอากาศเมื่อ พ.ศ. 2496 จะปรากฏว่า มีช่องทางเข้าออก 11 ประตูก็ตาม แต่จำนวน 11 ประตูก็มิได้เป็นจำนวนที่มากเกินปกติจนเป็นเอกลักษณ์ของเมืองได้ เพราะเมืองโบราณศรีเทพซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ร่วมสมัยและมีการขยายเมืองเช่นเดียวกันนั้น ก็มีการเพิ่มจำนวนช่องทางเข้าออกเป็น 11 ช่องทางตามการขยายของตัวเมืองเช่นกัน”
ร้อยเอ็ดจะตรงกับคำว่า “ทวารวดี” มีคำอธิบายของกรมศิลปากร (เอกสารประกอบนิทรรศการฯ เรื่องชื่อบ้านนามเมือง…ร้อยเอ็ด ผลิตเผยแพร่โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2552) เรื่องความหมายของเมืองร้อยเอ็ดประตู ไว้น่าเชื่อถือ มีความว่า
“ในตำนานอุรังคธาตุ กล่าวว่าเมืองนี้มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น 101 เมือง การใช้จำนวนประตูเมืองมากมายนั้นเป็นความหมายแสดงถึงอำนาจที่แผ่ขยายกว้างไกลออกไปทุกทิศทาง โดยคติดังกล่าวนี้น่าจะมีที่มาจากอินเดีย ดังเช่นชื่อทวารวดี เมื่อแปลตามรูปศัพท์แปลว่าเมืองที่มีประตูเป็นกำแพง (ทวาร-ประตู และ วติ-รั้ว, กำแพง) และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชื่อเมืองร้อยเอ็ดประตู ก็จะให้ความหมายถึงการเป็นเมืองศูนย์กลางที่มีอำนาจจครอบคลุมออกไปทุกสารทิศเช่นเดียวกัน
ชื่อเมือง ‘ร้อยเอ็ดประตู’ เป็นมงคลนามที่ผู้ตั้งต้องการให้หมายถึงว่าเป็น ‘เมืองที่มีอำนาจแผ่ขยายกว้างไกลออกไปทุกทิศทาง’ ซึ่งคงไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีประตูจริง ๆ ถึง 101 ประตู”
หมายเหตุ : เว้นวรรค ย่อหน้า และเน้นตัวหนา โดย กอง บก. ออนไลน์
อ่านเพิ่มเติม :
- ย้อนรอยเมืองอู่ทอง แหล่งความเจริญในยุคโบราณจากเส้นทางการค้าและศาสนา
- เมืองปากสิงห์ (สิงห์ สิงหเสนา) วีรบุรุษเมืองร้อยเอ็ด ผู้ร่วมปราบฮ่อ และ ร.ศ. 112
อ้างอิง :
“หลัง พ.ศ. 2300 แรกตั้ง ‘เมืองร้อยเอ็ด’ บนพื้นที่เก่าเมืองร้อยเอ็ดประตู”. จากหนังสือ “ร้อยเอ็ด มาจากไหน”. โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. สำนักพิมพ์แม่คำผาง. 2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 31 สิงหาคม 2561