ย้อนรอยเมืองอู่ทอง แหล่งความเจริญในยุคโบราณจากเส้นทางการค้าและศาสนา

ดินแดนประเทศไทยมีชุมชนที่มีความเก่าแก่ไม่น้อยกว่าภูมิภาคอื่นของโลก เป็นสังคมที่มีการรวมกลุ่ม และค่อย ๆ พัฒนาขึ้นเป็นบ้านเมือง เกิดเป็นเมืองโบราณอย่าง อู่ทอง ที่รุ่งเรืองจากการค้าขายและรับศาสนาจากดินแดนภายนอก ก่อนที่จะพัฒนาขึ้นเป็นเมืองสำคัญในภูมิภาคนี้

การพัฒนาขึ้นเป็นบ้านเมืองในดินแดนประเทศไทยเริ่มเมื่อประมาณ 2,500 ปี เกิดจากการติดต่อกับกลุ่มคนจากดินแดนภายนอกที่อยู่ห่างไกลทางด้านตะวันตก และดินแดนใกล้เคียง เช่น จีน เวียดนาม กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย พม่า ฯลฯ สภาพสังคมจึงเริ่มเปลี่ยนจากระดับหมู่บ้านมาเป็นสังคมเมืองที่มีหัวหน้าปกครอง

อู่ทอง

ในระยะนี้บ้านเมืองที่อยู่ใกล้ทะเลมีการติดต่อกับต่างประเทศได้มีการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว กลุ่มคนที่อยู่ในภาคกลางขยายตัวลงสู่ที่ราบลุ่ม สร้างบ้านและเมืองขึ้นตามที่ราบลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ โดยแหล่งที่มีความรุ่งเรืองมากที่สุดคือบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดบ้านเมืองขึ้นอย่างหนาแน่น นอกจากจะเป็นที่ราบเหมาะสมสำหรับทำการเกษตรโดยเฉพาะข้าวที่ใช้เลี้ยงคนจำนวนมากแล้ว ยังเป็นแหล่งติดต่อกับโลกภายนอกทางทะเลได้อย่างสะดวก และในที่สุดก็เกิดเป็นรัฐเล็ก ๆ มีเจ้าขึ้นปกครอง

โดยบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในยุคนี้ ไม่ได้รวมกันเป็นอาณาจักรที่มีราชธานีที่ใดที่หนึ่งเป็นศูนย์กลาง แต่เป็นรัฐเล็ก ๆ รวมกันเป็นกลุ่มลักษณะคล้ายกับสหพันธรัฐ โดยมีเมืองสำคัญที่เป็นศูนย์กลางการติดต่อทั้งภายในและภายนอกเมืองหนึ่ง คือ เมืองอู่ทอง

แผ่นดินเผา อู่ทอง
แผ่นดินเผาภาพภิกษุอุ้มบาตรศิลปกรรมสมัยอมราวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 9-10 พบที่เขาบริเวณเมืองเก่าอู่ทอง

เมืองโบราณอู่ทอง ตั้งอยู่ในเขตอำเภออู่ทองของสุพรรณบุรี  เป็นเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบ ผังเมืองเป็นรูปวงรี ถือเป็นเมืองโบราณที่สำคัญมากของประเทศไทย ผลจากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า พื้นที่บริเวณเมืองอู่ทองมีมนุษย์อยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคหินใหม่ต่อเนื่องถึงยุคโลหะ โดยพบหลักฐานคือเครื่องมือทำจากหินและเครื่องมือที่ทำจากโลหะ เช่น ใบหอกสัมฤทธิ์ ขวานสัมฤทธิ์ แม่พิมพ์ต่างหูทำจากหิน ใช้หล่อโลหะ เดินทางหาอาหารทั่วเขตอู่ทอง เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว

ต่อมาประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว พบหลักฐานโบราณคดีที่ทำให้พบว่า เมืองโบราณอู่ทองมีการติดต่อค้าขายกับชาวตะวันตกนับตั้งแต่พวกอินเดียไปจนถึงกรีกและโรมันในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่ขยายการค้าทางทะเลมายังบ้านเมืองในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีน

โดยพบหลักฐาน เช่น เครื่องถ้วยจีนเคลือบสมัยราชวงศ์ถัง ลูกปัดจากอินเดีย เครื่องถ้วยเปอร์เซีย และเครื่องประดับจากอินเดีย กรีก โรมัน จีน และจากทางตะวันออกกลางหลายชนิด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการติดต่อกับดินแดนภายนอก ทำให้ศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธจากอินเดียที่มากับพ่อค้านักเดินทางเผยแพร่ที่อู่ทองเป็นที่แรกในแผ่นดินไทย

เหรียญโรมัน อู่ทอง
เหรียญโรมันสมัยจักรพรรดิ์ซีซาร์ วิคโตนิรุส อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 9 พบที่เมืองเก่าอู่ทอง

โดยพบหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุแสดงการนับถือศาสนาพุทธมากกว่า คือ พระพุทธรูปเถรวาทอิทธิพลอินเดียในสมัยอมราวดี เช่น พระพุทธรูปดินเผาปางสมาธิ แผ่นดินเผาภาพพระภิกษุอุ้มบาตร ศิลปะอมราวดีที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ผู้รู้ยุคหลัง ๆ จึงได้เรียกยุคนี้ว่าทวารวดีเพราะพบหลักฐานอู่ทองเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดของไทย (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2556) ที่ส่งแบบแผนให้บ้านเมืองอื่น ๆ ทั้งภาคกลางบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในเวลาต่อมา

พระพิมพ์ดินเผา อู่ทอง
พระพิมพ์ดินเผา พระอรหันต์สาวก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 พบที่เมืองเก่าอู่ทอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศรีศักร วัลลิโภดม. กรุงศรีอยุธยาของเรา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548

สุจิตต์ วงษ์เทศ. อู่ทอง ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2556.

โบราณคดีเมืองอู่ทอง. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2545.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม 2563