“ทวารวดี” ริมฝั่งทะเลโบราณ ที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เคยเป็นทะเลมาก่อน

ที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เคยเป็นทะเลมาก่อน : ศิลปะ “ทวารวดี” รอบอ่าวไทยโบราณ

หลักฐานด้านโบราณคดีและศิลปกรรมที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 12 (พ.ศ. 1100) ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 15 (พ.ศ. 1400) อันปรากฏในที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางของไทย ล้วนมีตำแหน่งที่พบสอดคล้องกับชายฝั่งทะเลเดิม ที่กินเว้าเข้าไปในแผ่นดินปัจจุบันมาก

กล่าวคือ ที่ราบส่วนใหญ่ของภาคกลางตั้งแต่ตอนล่างของจังหวัดนครสวรรค์ลงมาจนถึงปากอ่าวไทยนั้นเคยเป็นทะเลมาก่อนเมื่อราว 3,000 ถึง 1,500 ปีมาแล้ว การศึกษาของนักวิชาการได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนว่า ชุมชนโบราณสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-15) ยังมีที่ตั้งรอบ ๆ ชายขอบทะเลนี้อยู่ [1] (รูปที่ 1) ลำน้ำที่ไหลจากที่สูงทางภาคเหนือลงสู่ปากอ่าวจะเปลี่ยนแปลงทางเดินและพัดพาดินตะกอนมาทับถมสม่ำเสมอ

อ่าวไทย สมัยโบราณ ทวารวดี
รูปที่ 1 แผนที่แสดงร่องรอยของอ่าวไทยสมัยโบราณที่กินลึกขึ้นไปทางเหนือจนถึงแถบจังหวัดลพบุรี (ส่วนที่ลุ่มต่ำเดิมมีขึ้นไปจนถึงจังหวัดนครสวรรค์) ตำแหน่งของชุมชนโบราณที่พบหลักฐานเก่าแก่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 เช่น เมืองนครปฐมโบราณ เมืองอู่ทอง เมืองดงละคร และเมืองศรีมโหสถจะตั้งอยู่ขอบรอบทะเลโบราณนี้เพราะพื้นที่ตรงกลางยังไม่สามารถใช้อยู่อาศัยได้ เมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียมแสดงภาวะน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554 ขอบของแนวน้ำหลากกับขอบทะเลเท่านั้นครอบคลุมพื้นที่เดียวกันชัดเจน (ภาพปรับปรุงจาก ผ่องศรี วนาสิน และ ทิวา ศุภจรรยา. เมืองโบราณบริเวณชายฝั่งทะเลเดิมของที่ราบภาคกลางประเทศไทย การศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและภูมิศาสตร์สัมพันธ์ (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2524.) และสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)

เมืองโบราณที่ปรากฏงานศิลปกรรมสมัยทวารวดีจึงกระจายตัวอยู่ตามลานตะพักลำน้ำ (Terrace) ที่สูงขึ้นไปจากที่ลุ่มทะเลเก่าในราว 3.5-4 เมตรจากระดับน้ำทะเลปัจจุบัน ตรงกลางนั้นเป็นแอ่งที่ราบอันกินอาณาบริเวณกว้างขวาง ตั้งแต่แถบอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง เรื่อยลงมาจน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร บางส่วนของจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา จรดปากอ่าวไทยทั้งหมด เพราะใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยไม่ได้

แต่ชุมชนโบราณเหล่านี้จะเกาะตัวกันอยู่ตามซีกตะวันออก คือ ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก และซีกตะวันตก คือ ลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน จึงสังเกตได้ว่า แหล่งที่พบศิลปกรรมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 ที่สำคัญคือโบราณสถานที่เป็นสถูปเจดีย์ในศิลปะทวารวดีนั้น พบอยู่ตามชุมชนโบราณบนขอบชายฝั่ง เช่น องค์พระปฐมเจดีย์ พระประโทนเจดีย์ เจดีย์จุลประโทน โบราณสถานวัดพระเมรุที่เมืองนครปฐม สถูปโบราณที่เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี [2] หรือกลุ่มโบราณสถานจำนวนมากที่เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี

แต่จะไม่พบโบราณสถานที่อายุเก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 18-19 อยู่ภายในที่ราบลุ่มทะเลเดิมนี้ ส่วนประติมากรรมพวกพระพุทธรูป-ธรรมจักร แบบทวารวดี มีที่พบในชุมชนโบราณมากมาย เช่น กลุ่มพระพุทธรูปศิลาขาวนั่งห้อยพระบาทจากวัดพระเมรุ นครปฐม ธรรมจักรศิลาขุดค้นพบจากโบราณสถานหมายเลข 11 เมืองอู่ทอง [3] (รูปที่ 2) บ้างถูกเคลื่อนย้ายไปยังแหล่งอื่นในสมัยหลังแล้วจึงค่อนข้างยากในการสันนิษฐานที่มาดั้งเดิม [4]

หลักฐาน ทาง โบราณคดี และ ศิลปกรรม สมัย ทวารวดี
รูปที่ 2 บรรดาหลักฐานทางโบราณคดีและศิลปกรรมสมัยทวารวดีที่พบบนชุมชนแนวของชายฝั่งเดิมที่กลายมาเป็นลานตะพักเก่าสูงจากระดับน้ำหลากในปัจจุบัน นั่นคือคนในอดีตสามารถเลือกภูมิประเทศอยู่อาศัยให้พ้นจากพื้นที่ลุ่มต่ำมีปัญหาน้ำหลากท่วมได้ ก พระประโทนเจดีย์ เป็นสถูปสมัยทวารวดีขนาดใหญ่กลางเมืองนครปฐมโบราณ, ข พระพุทธรูปศิลาขาวนั่งห้อยพระบาทสมัยทวารวดี พบที่วัดพระเมรุทางใต้ของพระปฐมเจดีย์, ค ปูนปั้นรูปบุคคลสวมหมวกแหลมซึ่งน่าจะเป็นชาวตะวันออกกลางพบที่เมืองนครปฐม คือหลักฐานยืนยันว่า เมืองนครปฐมเดิมตั้งอยู่ใกล้ทะเลสามารถติดต่อกับชาวต่างชาติสะดวกมาก่อน, ง โบราณสถานหมายเลข 18 วัดโขลง เป็นสถูปขนาดใหญ่สมัยทวารวดีตั้งอยู่ใจกลางเมืองคูบัว ราชบุรี, จ โบราณสถานหมายเลข 2 เมืองอู่ทอง สุพรรณบุรี

แหล่งที่พบศิลปะทวารวดีจึงเป็นตัวบ่งชี้ว่า คนในสมัยนั้นเลือกสรรที่ตั้งชุมชนเพื่อสอดคล้องกับธรรมชาติขณะนั้นอย่างไรด้วย นอกจากนั้น นักวิชาการยังได้พบว่าแบบแผนของการตั้งถิ่นฐานชุมชนโบราณสมัยทวารวดีมีตำแหน่งอยู่บนลำน้ำสายรองที่เชื่อมต่อกับลำน้ำสายหลัก เนื่องจากการตั้งใกล้กับลำน้ำใหญ่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำหลากซึ่งมีเป็นประจำ ตัวอย่างเช่น เมืองโบราณอู่ตะเภา จังหวัดชัยนาท ที่อยู่ริมคลองอู่ตะเภาในเขตตำบลหางน้ำสาคร ซึ่งเป็นลำน้ำสายเล็กที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกทีหนึ่ง บางแห่งได้พบแนวคันดินที่ช่วยบังคับน้ำไม่ให้ท่วมท้นในเขตชุมชนอีกด้วย [6]

จะเห็นได้ว่ามนุษย์เมื่อตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงราว 1,000 กว่าปีมาแล้วในวัฒนธรรมทวารวดีของที่ราบลุ่มภาคกลางได้มีวิธีการจัดการแบบแผนการตั้งถิ่นฐาน เพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามสภาพภูมิประเทศ คือเรื่องที่ลุ่มต่ำและน้ำท่วมหลากอย่างเป็นระบบเดียวกัน ดังนั้น หลักฐานโบราณคดีและงานศิลปกรรมที่อยู่ร่วมสมัยจึงตกค้างอยู่บนตำแหน่งที่ตั้งชุมชนที่มีความเหมาะสมสำหรับตั้งเป็นชุมชนอย่างแท้จริง และที่สำคัญคือน้อยครั้งมาก (ตั้งแต่อดีตจนถึงในปัจจุบัน) ที่จะเกิดน้ำท่วมในชุมชนโบราณดังกล่าวได้ [7]

ต่อมาการเปลี่ยนแปลงทางด้านธรณีวิทยาคือการทับถมของตะกอนดินจากลำน้ำที่ท่วมเอ่อเป็นประจำมีผลให้แผ่นดินยกตัวสูงขึ้น ในชั้นแรกคงเป็นเพียง “ทะเลตม” คือพื้นที่ลุ่มแฉะเต็มไปด้วยโคลนเลนไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย [8]

จนกระทั่งล่วงเข้าสู่ราวหลังพุทธศตวรรษที่ 17-18 ลงมาเล็กน้อยจึงเริ่มพบว่ามีสภาพที่ใช้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอย่างเป็นหลักแหล่งได้ และอ่าวไทยได้ร่นลงมาอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงปัจจุบันแล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ผ่องศรี วนาสิน และ ทิวา ศุภจรรยา. เมืองโบราณบริเวณชายฝั่งทะเลเดิมของที่ราบภาคกลางประเทศไทย การศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและภูมิศาสตร์สัมพันธ์ (กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2524), น. 29-36.

[2] ดู ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547), น. 110-129.

[3] ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2542), น. 158.

[4] มีกลุ่มพระพุทธรูปสมัยทวารวดีจำนวนหนึ่ง ที่ถูกค้นพบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น พระพุทธรูปศิลานั่งห้อยพระบาท ที่วัดหน้าพระเมรุ หรือภาพพุทธประวัติ ตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ จากวัดรัตนชัย (ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) เชื่อว่าเป็นการเคลื่อนย้ายจากแหล่งสมัยทวารวดีเข้ามาภายหลังแล้ว

[5] ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. น. 121.

[6] กรมศิลปากร. โบราณคดีเมืองอู่ตะเภา (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2534), น. 40.

[7] มีกรณีของคาบสมุทรภาคใต้ที่ชุมชนโบราณตั้งอยู่บนแนวสันทรายชายทะเลเก่า เช่น เมืองโบราณไชยาและนครศรีธรรมราช โดยมีลำน้ำธรรมชาติไหลผ่านเพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเล จึงเห็นได้ว่า ตามแหล่งโบราณสถานสำคัญของภาคใต้จะไม่ประสบปัญหาน้ำท่วม เว้นเสียแต่ชุมชนใหม่ที่เข้าไปตั้งยังที่ลุ่มต่ำสองฟากฝั่งสันทราย ก็จะมีแต่ปัญหาน้ำหลากตามธรรมชาติตลอดเวลา ดู ทิวา ศุภจรรยา. “ความสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์ และที่ตั้งชุมชนโบราณในจังหวัดภาคใต้,” ใน รายงานการสัมมนาเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดีศรีวิชัย. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเณศ, 2525), น. 130.

[8] สุจิตต์ วงษ์เทศ. ชื่อบ้านนามเมือง เมืองพระประแดง นครเขื่อนขันธ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ. (สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์แจกในเทศกาลสงกรานต์ 13 เมษายน 2550), น. 9.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “โบราณคดี-ประวัติศาสตร์ศิลปะ ความรู้จากอดีตอธิบายเรื่องน้ำท่วมได้อย่างไร?” เขียนโดย ประภัสสร์ ชูวิเชียร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กันยายน 2564