ดงละคร ชุมชนสมัย “ทวารวดี” ?

เมืองดงละคร ดงละคร
ภาพถ่ายทางอากาศ เมืองดงละคร (ภาพจาก หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครนายก)

ดงละคร ชุมชนสมัย “ทวารวดี” ?

ที่บ้านดงละคร ตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ได้พบแหล่งโบราณคดี ที่มีคูน้ำและคันกำแพงดินล้อมรอบแห่งหนึ่ง ชาวบ้านดงละครเรียกพื้นที่บริเวณแหล่งโบราณคดีนี้ว่า “สันคูเมือง” หรือบางคนเรียกตามนิทานพื้นบ้านที่เล่าต่อๆ กันว่าเป็น “เมืองลับแล” ส่วนนักวิชาการโดยทั่วไป ก็เรียกให้เป็นที่เข้าใจกันง่ายๆ ว่า “เมืองดงละคร”

Advertisement

ลักษณะโดยทั่วๆ ไปของแหล่งโบราณคดี “เมืองดงละคร” ยังมีแนวคูเมือง และกำแพงเมืองสภาพสมบูรณ์ล้อมรอบพื้นที่ เป็นรูปวงรีขนาดยาวประมาณ 700 เมตร และกว้าง 600 เมตร มีทางเข้าสู่พื้นที่ในแนวกำแพงหรือประตูอยู่ 4 แห่ง ที่ 4 ทิศ และชาวบ้านแถบนั้นก็เรียกชื่อว่า ประตูเหนือ ประตูใต้ ประตูตะวันออก และประตูตะวันตก พื้นที่ภายใน “เมืองดงละคร” ปัจจุบันเป็นสวนผลไม้ชนิดต่างๆ มีบ้านเรือน 5-6 หลัง กระจายอยู่ห่างๆ กัน

พระครูศรีมหาโพธุณารักษ์ ได้กล่าวถึงเมืองดงละครไว้ในวารสารโบราณคดี ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 ว่าเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี และสมัยขอม ทั้งท่านยังกล่าวว่า มีนิทานเกี่ยวกับประวัติของเมืองดงละคร ในชุมนุมพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีใจความย่อว่า

“ในสมัยที่เขมร (ขอมโบราณ) ยังครอบครองดินแดนส่วนด้านทิศตะวันออกของประเทศไทยอยู่นั้น กษัตริย์เขมรได้ครองราชสมบัติ ทรงพอพระทัยในการมีพระสนมเป็นผู้ชาย พวกอำมาตย์เสนาบดี จึงแสวงหาชายรูปงามในเมืองเขมรมาถวายอยู่งานตามพระราชอัธยาศัย ถือว่าเป็นความชอบในราชการส่วนหนึ่ง พวกอำมาตย์เสนาบดีจึงแข่งกันหาความชอบที่จะแสวงหาชายรูปงามเข้าไปถวาย จนกระทั่งชายรูปงามในเมืองเขมรหมดตัว

มีอำมาตย์ผู้หนึ่งเสาะแสวงหาชายรูปงามได้ในดินแดนไทยไปถวาย พระนางทรงโปรดปรานมาก แต่ชายรูปงามคนนั้นไม่ต้องการจะเข้าไปอยู่ในพระราชวัง (นครขอม) พระนางเธอจึงทรงเจรจากับไทยขอสร้างเมืองขึ้นในดินแดนไทย ฝ่ายไทยก็ยินยอม พระนางจึงโปรดให้สร้างเมืองขึ้นที่ดงละครและพระราชทานให้พระสนมชาย…”

จะเห็นได้ว่าจากตำนานและนิทานพื้นบ้านสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องความเชื่อว่า “เมืองดงละคร” เป็นเมืองสร้างสมัย “ขอมโบราณ” ซึ่งเป็นชื่อทั่วไปที่ชาวบ้านใช้เรียกสมัยอดีตในประเทศไทย

แต่ถ้าพิจารณาตามวิชาการโบราณคดีแล้ว แหล่งโบราณคดีประเภทที่มีคูน้ำ/คันดินล้อมรอบในประเทศไทย ส่วนใหญ่มักได้พบโบราณวัตถุที่กำหนดอายุจากรูปแบบศิลปะได้ว่า มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 และ เรียกกันว่า “ศิลปะแบบทวารวดี”

ดังนั้น จึงเชื่อกันว่าแหล่งโบราณคดี “เมืองดงละคร” ก็น่าจะเป็นเมืองสมัยทวารวดี

มีงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวพันถึงดงละครชิ้นหนึ่ง คืองานวิจัยเรื่อง “เมืองโบราณบริเวณชายฝั่งทะเลเดิมของที่ราบภาคกลาง ประเทศไทย : การศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและภูมิศาสตร์สัมพันธ์” โดย อาจารย์ทิวา ศุภจรรยา และอาจารย์ ผ่องศรี วนาสิน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เสนอว่า ในช่วงสมัยราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 พื้นที่บริเวณดงละครเป็นเกาะอยู่ในทะเลของอ่าวไทยสมัยนั้น

การศึกษาทางโบราณคดีเพื่อตรวจสอบเรื่องราวของแหล่งโบราณคดีดงละคร โดยการขุดค้นมี 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2515 และครั้งที่ 2 เมื่อระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเมษายน 2529 นี้เอง

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการขุดค้น ส่วนใหญ่ได้แก่เศษภาชนะดินเผา ซึ่งประเภทที่เด่นคือ เศษจากภาชนะแบบที่บริเวณส่วนไหล่ภาชนะหักมุมเป็นสัน ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบที่บริเวณส่วนล่างของภาชนะ และภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายประทับรูปดอกไม้ รูปหงส์ อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ภาชนะทั้ง 2 แบบนี้เป็นแบบเด่น (Diagnostic) และพบเสมอในแหล่งโบราณคดี “สมัยทวารวดี” โบราณวัตถุอื่นๆ ที่พบที่ดงละครได้แก่ ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหิน ตะคันดินเผา ตะกั่วเส้นกลม ทำเป็นห่วงเล็กๆ

ในการขุดค้นครั้งที่ 2 นี้ ยังมีหลักฐานสำคัญประเภทหนึ่งที่ได้พบในระดับบนๆ ของชั้นดินที่อยู่อาศัยสมัยโบราณที่ใน “เมืองดงละคร” คือ เศษภาชนะเคลือบสีฟ้าของเปอร์เซีย ซึ่งมีอายุราวคริสต์ศตวรรษที่ 9-10 หรือราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 เศษภาชนะเคลือบของเปอร์เซียได้เคยพบมากที่ภาคใต้ของไทย เช่น ที่แหลมโพธิ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และเกาะคอเขา อ.คุระบุรี จ.พังงา

นอกจากนี้ยังได้ข้อสังเกตจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีดงละคร ดังนี้

1. ในหลุมขุดค้นจำนวน 3 หลุม ในบริเวณ “เมืองดงละคร” และอีก 1 หลุม นอกเขตกำแพงเมือง ได้พบเศษภาชนะดินเผาและตะคันดินเผาที่หลายชิ้นร่องรอยเขม่าไฟแสดงว่าใช้งาน อันเป็นหลักฐานว่ามีการอยู่อาศัยของคนสมัยโบราณอย่างแน่นอน แต่ไม่พบเศษกระดูกสัตว์อันเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงลักษณะการดำรงชีวิตเลย อย่างไรก็ตาม ได้พบเมล็ดข้าวสารที่ถูกเผาจนเป็นถ่าน ซึ่งอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่าข้าวเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของคนสมัยโบราณที่ดงละคร

2. ชั้นดินของการอยู่อาศัยสมัยโบราณบริเวณ “ในเมืองดงละคร” มีเพียงสมัยเดียว และน่าจะมีระยะเวลาไม่ยาวนานนัก แต่ได้พบว่าบริเวณนอกแนวคูและกำแพง หรือ “นอกเมือง” ร่องรอยการอยู่อาศัยมีต่อมาอีกถึงสมัยหลังๆ ดังได้พบเศษภาชนะเคลือบและพระพิมพ์แบบศิลปะลพบุรีด้วย ที่นอก “เมืองดงละคร”

ข้อสังเกตเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า “ในเมืองดงละคร” ไม่น่าจะเป็นชุมชนใหญ่นัก และอาจจะเป็นพื้นที่มีหน้าที่เฉพาะอย่าง หรือสำหรับคนเฉพาะกลุ่ม โดยไม่ใช่ที่อยู่อาศัยของประชาชนส่วนใหญ่ และไม่น่าจะใช่ศูนย์กลางเกี่ยวกับศาสนา/ความเชื่อ ทั้งนี้เพราะพบศาสนสถานเฉพาะนอก “เมือง” เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เครื่องเคลือบเปอร์เซียที่พบแสดงว่า ชุมชนโบราณดงละครก็น่าจะมีความสำคัญ เครือข่ายการติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายกับต่างประเทศจึงครอบคลุมมาถึงด้วย และเมื่อพิจารณาร่วมกับผลการศึกษาของ อาจารย์ทิวา ศุภจรรยา และอาจารย์ผ่องศรี วนาสิน เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีกับชายฝั่งทะเลเดิมของที่ราบภาคกลาง ซึ่งพบว่าดงละครเคยเป็นเกาะอยู่ในอ่าวไทย จึงเกิดข้อคิดเห็นว่ามีชาวต่างประเทศเข้ามาทางทะเลเพื่อติดต่อค้าขายกับชุมชนโบราณแถบภาคตะวันออกของไทย

โดยดงละครอาจเป็นชุมชนที่มีส่วนร่วมกับระบบติดต่อค้าขายในลักษณะเมืองท่า หรือจุดแวะพักแห่งหนึ่งในตอนบนของอ่าวไทย ช่วงสมัยพุทธศตวรรษที่ 15-16 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชุมชนโบราณแถบภาคตะวันออกของไทยก็เป็นชุมชนที่ระบบการแลกเปลี่ยนค้าขายระยะทางไกลให้ความสำคัญและต้องการติดต่อด้วย

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ผลสรุปเบื้องต้นทางวิชาการที่ได้จากการศึกษาแหล่งโบราณคดีดงละครก็คือ พบว่าแหล่งโบราณคดีนี้ น่าจะเริ่มเกิดราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 (คริสต์ศตวรรษที่ 9-10) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “สมัยทวารวดีตอนปลาย” และเกิดขึ้นมาในลักษณะเป็นชุมชนไม่ใหญ่นัก

อย่างไรก็ตาม ชุมชนโบราณดงละครก็มีความสำคัญระดับใดระดับหนึ่ง และน่าจะมีความสัมพันธ์กับชุมชนร่วมสมัยกันที่มีขนาดใหญ่และมีระดับสำคัญกว่า เช่น ชุมชนโบราณ ที่ อ. โคกปีบ จ. ปราจีนบุรี และเมืองระดับศูนย์กลางอื่นๆ แถบลุ่มแม่น้ำบางปะกง ซึ่งนอกจากจะเป็นชุมชนใหญ่กว่าแล้ว ยังได้พบหลักฐานถึงสมัยเก่าแก่กว่า (คือราวพุทธศตวรรษที่ 13-14) อีกด้วย

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ในขณะนี้สันนิษฐานได้ว่า “เมืองดงละคร” เกิดขึ้นเนื่องจากประชากรส่วนหนึ่งจากชุมชนในผืนแผ่นดินขยายออกมาสร้างชุมชนใหม่ เพื่อร่วมในระบบติดต่อค้าขายทางไกลที่ใช้เส้นทางเดินเรือทะเล

หลักฐานส่วนใหญ่จากแหล่งโบราณคดีดงละครกำลังอยู่ในขั้นการศึกษาวิเคราะห์ และเมื่อเสร็จแล้วคาดว่า จะให้เรื่องราวความเป็นมาของแหล่งโบราณคดีดงละครได้มากกว่านี้ และจะเป็นส่วนเสริมในการศึกษาเรื่องชุมชนโบราณแถบลุ่มน้ำบางปะกงของที่ราบภาคกลางได้เป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ดงละคร ชุมชนสมัยทวารวดี ?” เขียนโดย สุรพล นาถะพินธุ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2529


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มิถุนายน 2565