ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2561 |
---|---|
ผู้เขียน | พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ |
เผยแพร่ |
การสลายตัวของ “รัฐทวารวดี” เป็นเรื่องที่สร้างความฉงนสงสัยและถือเป็นคำถามใหญ่สำหรับนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเสมอมา ต่อประเด็นนี้นั้น มีข้อสันนิษฐานอยู่ 2 แนวคิดหลักๆ คือ แนวคิดแรก รัฐทวารวดี ต้องล่มสลายไปเพราะการรุกรานของอาณาจักรพุกาม ซึ่งถือเป็นแนวคิดเก่า (ดำรงราชานุภาพ, 2510) และไม่ได้รับการยอมรับแล้วในปัจจุบัน ส่วนแนวคิดที่ 2 เชื่อว่าเป็นผลมาจากการรุกรานของกัมพูชา (เขมร) ซึ่งแนวคิดหลังนี้ได้รับความเชื่อถือมากในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี หลังจากการสลายตัวของรัฐทวารวดีแล้ว ไม่มีใครทราบว่าประชากรในรัฐทวารวดีที่พูดภาษามอญโบราณนั้นหนีไปไหน มีนักวิชาการบางคนสันนิษฐานว่า บางส่วนอาจหนีไปในเขตเมืองมอญของพม่าเช่นที่หงสาวดี ในขณะที่บางส่วนอาจอพยพหนีขึ้นไปอยู่บนภูเขาในเขตรอยต่อระหว่างภาคกลางกับอีสาน
ธิดา สาระยา นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ทวารวดี ได้ตั้งสมมติฐานว่า เป็นไปได้ว่า ชาวทวารวดีอาจเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการเข้ามาของวัฒนธรรมต่างแบบ คนต่างถิ่น ซึ่งในบรรดากลุ่มคนพวกนี้ บ้างก็สามารถประสมกลมกลืน บ้างก็ต้อง “ล่าถอย” อยู่เฉพาะกลุ่มของตนเอง จนกลายเป็นคนส่วนน้อยที่หลงเหลืออยู่ดังพวกชาวเนียะกุร ซึ่งได้ถอยร่นไปอยู่บริเวณป่าเขาในแถบจังหวัดเพชรบูรณ์ ชัยภูมิ และนครราชสีมา ซึ่งถือเป็น “ทำเลที่เป็นแผ่นดินไม่มีเจ้าของ” (no man’s land) (ธิดา สาระยา, 2532 : 177-179) ซึ่งในเบื้องต้นนี้ ขอสันนิษฐานว่าสาเหตุของการ “ล่าถอย” ของชาวเนียะกุรเกิดจากการเข้ามาของอาณาจักรกัมพูชา
ถึงแม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่เดิมชาวญัฮกุรจะเป็นประชากรในรัฐทวารวดี หรืออย่างน้อยก็มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับกลุ่มคนที่พูดมอญโบราณสมัยทวารวดี แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีการสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ที่ชาวญัฮกุรอยู่อาศัยอย่างจริงจัง และเก็บข้อมูลประเภทนิทานตำนานท้องถิ่นเพื่อหาความเชื่อมโยงดังกล่าว ที่สำคัญจากข้อสันนิษฐานของธิดาข้างต้นนั้น ทำให้เกิดคำถามว่า ชาวเนียะกุรหรือชาวญัฮกุรนั้นเป็นกลุ่มคนที่ล่าถอยไปอยู่ตามป่าเขาเข้าไปในแผ่นดินที่ไม่มีเจ้าของจริงหรือไม่ ดังนั้น บทความนี้จึงมีเป้าหมายหลักเพื่อพิสูจน์ข้อสมมติฐานข้างต้นของ ธิดา สาระยา และเชื่อมโยงสู่ความเข้าใจถึงการเสื่อมถอยอำนาจของรัฐทวารวดี
รัฐทวารวดีล่มสลายลง เพราะพุกาม หรือกัมพูชา?
ในที่นี้ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอถึงสาเหตุของการสลายตัวของรัฐทวารวดีเสียก่อน เท่าที่มีหลักฐาน ณ ขณะนี้ มีความเป็นไปได้อย่างสูงว่ารัฐทวารวดีคงสลายตัวจากปัญหาสงครามกับอาณาจักรกัมพูชา มากกว่าอาณาจักรพุกาม อย่างไรก็ดีอาจมีสาเหตุอื่นอีกที่เป็นปัจจัยต่อความอ่อนแอของรัฐทวารวดี เช่น รูปแบบรัฐของทวารวดีที่เป็นแบบสหพันธรัฐ หรือนครรัฐ จึงรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ในขณะที่กัมพูชาเป็นรัฐแบบรวมศูนย์ นอกจากนี้ยังอาจมีปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย
เหตุผลที่ทำให้นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีหลายคนค่อนข้างมั่นใจว่า การรุกรานของอาณาจักรกัมพูชาเป็นสาเหตุสำคัญต่อการล่มสลายของรัฐทวารวดีนั้น เป็นผลมาจากการค้นพบศิลาจารึกหลักหนึ่งมีชื่อว่า “จารึกโอเสม็ช” (O Smach) (K. 1198 หรือ Ka. 3225) พบที่เสียมเรียบ เมื่อราว ค.ศ. 1994 โดยใช้อักษรเขมรโบราณ ภาษาเขมรและสันสกฤต
ด้านภาษาเขมรได้รับการแปลแล้ว แต่ด้านภาษาสันสกฤตมีการแปลเฉพาะบางส่วนเท่านั้น โดยส่วนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเมืองลวปุระหรือลพบุรี จะอยู่ในส่วนที่เป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งมีนักวิชาการหลายคนได้ศึกษาไว้แล้ว (เช่น Pou, 2001 : 240-260; Giffiths, 2006; Lowman, 2011; Wongsathit, Katshima and Khotkanok, 2017; U-tain Wongsathit et al. 2017; ศานติ ภักดีคำ, 2556; กังวล คัชชิมา, 2557)
จารึกหลักนี้ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1557 ในรัชสมัยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 (หรือสุริยวรมันที่ 1 ครองราชย์ พ.ศ. 1545-93) โดยผู้อุปถัมภ์การทำจารึกนี้มีชื่อว่า “พระกัมสเตงอัญศรีลักษมีปติวรมัน” ซึ่งเป็นทั้งเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงและแม่ทัพคนสนิทของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 ด้วย อีกทั้งพระองค์ยังสั่งให้สถาปนาศิวลึงค์ทองคำขึ้นยังพื้นโลก ถอดถอนพระพุทธรูปออกพร้อมทั้งกัลปนาสิ่งของและข้าทาส
แต่ที่สำคัญ พระกัมสเตงอัญศรีลักษมีปติวรมันยังได้รับพระราชบัญชาให้ยกกองทัพมายึดครองเมืองลวปุระ (ลพบุรี) ใน พ.ศ. 1554 จากนั้นได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองชาว “รามัญ” (Ramanya) แห่งตะวันตก ความว่า “ในตอนแรกกองทัพได้รับมอบหมายจากกษัตริย์ให้ไปเป็นผู้ปกครองชาวรามัญ (ramanya) กลุ่มชนผู้ซึ่งพบได้ในทิศตะวันตก” (บรรทัดที่ 23)
ชาวรามัญที่ว่านี้คงจะเป็นชาวมอญ ซึ่งคำว่า “มอญ” นี้แผลงมาจากคำว่า “มัญ” นั่นเอง อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องระวังในเรื่องชื่อเรียกทางชาติพันธุ์นี้คือ ทั้งรามัญและมอญในอดีตอาจไม่ได้เป็นดังเช่นมอญปัจจุบันที่เรารู้จักกัน เพราะในรัฐๆ หนึ่งย่อมมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่างเชื้อสายและวัฒนธรรมอยู่ร่วมกัน เช่น เขมร ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่สามารถเรียกรัฐทวารวดีว่ารัฐมอญตามแนวคิดเชื้อชาตินิยมได้นั่นเอง
หลังจากที่พ่ายแพ้ต่อกองทัพของกัมพูชาแล้ว ในบรรทัดที่ 24 ของจารึกได้บันทึกว่า “ทหารฝ่ายยุทธการณ์, ซึ่งได้ปราบพวกชาวรามัญด้วยการใช้กำลังทหารและความชาญฉลาดด้านยุทธวิธี ซึ่งเป็นไปตามความปรารถนาของเจ้านายของพวกเขา [คือกษัตริย์], ซึ่ง [รามัญ] ถูกเก็บภาษีเป็นจำนวนมาก” (อ้างตาม Lowman, 2011 : 57-58)
จากข้อความในจารึกที่ระบุว่าชาวรามัญเป็นกลุ่มคนที่อยู่ทางทิศตะวันตกที่หมายถึงคนในเมืองละโว้แล้ว อาจหมายรวมไปถึงเมืองต่างๆ ในกลุ่มเครือข่ายของรัฐทวารวดีที่คงใช้ภาษามอญเป็นภาษาหลักในการสื่อสารกัน ดังนั้น คนในรัฐทวารวดีก็อาจจะเรียกได้ว่า “ชาวรามัญ” ซึ่งยังเป็นชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนมอญทั้งในเขตพม่าและไทยยังคงใช้เรียกตนเองอยู่ควบคู่ไปกับคำว่า “มอญ”
นอกจากนี้ ในจารึกหลักเดียวกัน บรรทัดที่ 37 ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า “ด้วยความชั่วร้ายแห่งกลียุค, ลวปุระ (Lavabur) ได้กลายเป็นป่า, ความงดงามของเมืองได้มลายไป, ความรุ่งเรืองทั้งหมดของเมืองได้ถูกทำลาย, อุดมไปด้วยสัตว์ป่า เช่น เสือ, ดูเลวร้ายราวกับพื้นที่เผาศพในป่าช้า” (อ้างตาม Lowman, 2011 : 58)
ในโศลกถัดมาได้กล่าวว่า “กษัตริย์ทรงบัญชาให้ศรีลักษมีปติวรมันไปฟื้นฟูเมืองทางทิศตะวันตก ซึ่งถูกทิ้งร้างและรกชัฏ–สูญหายอย่างสมบูรณ์เป็นเวลายาวนานระหว่างกลียุค, พื้นที่อยู่อาศัยถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้–อย่างที่เมืองนี้เคยเป็นมาก่อน, จงทำให้เมืองนี้กลับมาสมบูรณ์และเจริญรุ่งเรืองดังเก่า” (อ้างตาม Lowman, 2011 : 58)
สรุปสั้นๆ จากข้อความข้างต้นคือ เมืองละโว้เคยเป็นเมืองที่รุ่งเรืองมาก่อน แต่ผลจาก “กลียุค” จึงทำให้กลายเป็นป่ารกชัฏเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ อย่างไรก็ดี “กลียุค” ที่ว่านี้คืออะไร แต่คงไม่ได้หมายถึงสงครามที่ก่อโดยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 เพราะผู้จารึกคงไม่มองว่าสงครามครั้งนี้เป็นกลียุคเป็นแน่ ดังนั้น ถ้าพิจารณาจากจารึกบรรทัดที่ 24 จะพบว่าหลังการเข้ายึดเมืองละโว้แล้ว ประชาชนต้องเสียภาษีอย่างหนัก ซึ่งตรงนี้เองน่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็น “กลียุค” และคงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนอพยพหนีไปจากเมือง
อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าพิจารณาด้วยคือการก่อกบฏ ดร. กังวล คัชชิมา ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึก ได้สรุปบางส่วนของจารึกหลักนี้ไว้ด้วยว่า คนในตระกูลโวร่วมกับตระกูลตำปางได้พยายามตั้งตนเป็นศัตรูกับพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 พระองค์จึงได้สั่งให้ริบเอาที่ดินและสุขาวาสซึ่งเป็นของตาญตริ ผู้อยู่ในตระกูลโว แล้วพระราชทานให้แก่พระกัมสเตงอัญศรีลักษมีปติวรมันแทน พร้อมทั้งสั่งให้ตั้งศิวลึงค์ที่ปราสาทแทนที่พระพุทธรูปอีกด้วย (กังวล คัชชิมา, 2557 : 4) ดังนั้นกลียุคที่เกิดขึ้นนี้จึงอาจหมายถึงการก่อกบฏได้เช่นกัน
นับจาก พ.ศ. 1554 อำนาจของอาณาจักรกัมพูชาได้สถาปนาอย่างมั่นคงแม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องกบฏและการหนีหายไปของประชากรเนื่องจากต้องจ่ายภาษีอย่างหนัก ประมาณ 10 ปีให้หลัง คือ นับจาก พ.ศ. 1568 ดูเหมือนนโยบายทางศาสนาของกัมพูชาที่มีต่อเมืองละโว้นั้นจะยอมให้มีการนับถือศาสนาทั้งพุทธและพราหมณ์ได้
จารึกศาลสูง ภาษาเขมร (หลักที่ 1) (K. 410) จารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1568 ได้ระบุว่า ใน พ.ศ.1565 “พระบาทกัมรเตงกำตวนอัญศรีสุริยวรรมเทวะ” หรือพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 ได้มีพระบัณฑูรตรัสให้พระนิยมให้ไปแจ้งแก่ “ดาบส” และ “พระภิกษุมหายาน” หรือผู้ที่ “บวชเป็นสถวิระ” คือภิกษุในนิกายสถวิรวาทของฝ่ายหินยาน ว่าให้ถวาย “ตบะ” แก่พระเจ้าสูรยวรมัน ถ้าใครก็ตามไปรบกวนนักบวชเหล่านี้จะจับขึ้นศาลและมีโทษอย่างหนัก (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2556ข)
เป็นไปได้ว่า หลังจาก พ.ศ. 1554 ผลจากความพยายามในการสถาปนาลัทธิไศวนิกายโดยถอดถอนพระพุทธศาสนาออกไปนั้น ทำให้เกิดกลียุค เพราะศาสนาย่อมสัมพันธ์กับทั้งความเชื่อและอำนาจของกลุ่มตระกูลดั้งเดิมของละโว้ ดังนั้น เพื่อเป็นการประสานรอยร้าวดังกล่าว การยอมให้ศาสนาทุกศาสนาและทุกนิกายยังคงสามารถปฏิบัติต่อไปได้ย่อมทำให้เมืองละโว้ “กลับมาสมบูรณ์และเจริญรุ่งเรืองดังเก่า”
จริงๆ แล้วประเด็นนี้น่าศึกษาต่อคือการรุกเข้ามาของอาณาจักรกัมพูชาในเขตรัฐทวารวดีนับตั้งแต่สมัยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 นั้น ได้ส่งผลทำให้ในสมัยนี้เกิดการสร้างพระพุทธรูปและนับถือศาสนาพุทธในอาณาจักรกัมพูชาเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร
ความจริงแล้ว ความพยายามในการจัดการกับชาวรามัญสมัยพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 นี้ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกของอาณาจักรกัมพูชา หากมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว เท่าที่พบหลักฐาน เป็นไปได้ว่าคงเริ่มต้นมาตั้งแต่ในสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมัน (ครองราชย์ พ.ศ. 1487-1511) ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ เอียน นาแธเนียล โลวแมน (Ian Nathaniel Lowman) ที่เสนอต่อมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้อ้างว่าในจารึกปราสาทเบงเวียน ประเทศกัมพูชา (K. 872) ที่ทำขึ้นใน พ.ศ. 1489 ว่า
“ธนูของพระองค์ได้ยิงไปทั้งทางซ้ายและขวาดั่งเช่นพระรามองค์ก่อน, พระองค์ได้พิชิตในสงครามกับชาวรามัญ ชาวจามปา เป็นต้น, เปี่ยมด้วยพละกำลังดั่งปีศาจ” (อ้างตาม Lowman, 2011 : 57)
ถ้ายึดเอาอาณาจักรกัมพูชาเป็นศูนย์กลาง “ทางซ้ายและขวา” ที่ปรากฏในจารึกนี้ ถ้าเรียงตามลำดับ ย่อมหมายถึงทิศตะวันตกและตะวันออก ซึ่งหมายถึงดินแดนของพวกชาวรามัญและชาวจามปา โดยศูนย์กลางของชาวรามัญนี้คงอยู่ที่เมืองละโว้นี่เอง
หลักฐานที่บ่งชี้อำนาจของพระเจ้าราเชนทรวรมันได้นี้มีอยู่ 2 แห่ง คือ ปราสาทก่อด้วยอิฐ ปรางค์แขกที่เมืองลพบุรีจะสร้างขึ้นในสมัยนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการที่นักวิชาการหลายคนได้กำหนดอายุโบราณสถานแห่งนี้ให้มีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 15 และปราสาทเมืองแขกที่อำเภอสูงเนิน นครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กันกับเมืองเสมาอันเป็นเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี
อย่างไรก็ดี ปรางค์แขกนั้นเป็นปราสาทที่มีลักษณะความเป็นพื้นถิ่น คือมีสถาปัตยกรรมทวารวดีเข้าไปผสม และนักวิชาการบางท่านเชื่อว่าอาจสร้างในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ตกราวรัชกาลพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 ดังนั้น อายุสมัยของปรางค์แขกจึงยังไม่ยุติ (เช่น สฤษดิ์พงษ์ ขุนทรง, 2548 : 20-27)
โลวแมนให้ความเห็นว่า นับตั้งแต่สมัยเมืองพระนคร อาณาจักรกัมพูชามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มชาวรามัญหรือมอญเป็นอย่างมาก ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 จารึกที่พบที่ตาพระยาหลักหนึ่งได้กล่าวถึง “ถนนรามัญ” (phlu rmman) ซึ่งเริ่มต้นจากเมืองพระนครไปสู่อาณาเขตของรามัญซึ่งนั่นหมายความว่าอาณาจักรกัมพูชานั้นรับรู้ถึงสิ่งที่เรียกว่าเป็นอาณาเขตของพวกรามัญว่าอยู่ทางทิศตะวันตกของอาณาจักรตนเอง และเชื่อได้ด้วยว่ากัมพูชารู้สึกว่าพวกรามัญอาจจะกลายเป็นภัยทางการเมืองได้ไม่ต่างจากพวกจามปา
ถ้าสรุปสั้นๆ ณ ตรงนี้ก็คือ อาณาจักรกัมพูชาคือสาเหตุหลักที่ทำให้ “รัฐทวารวดี” ที่มีชาวรามัญหรือมอญเป็นประชากรหลักต้องล่มสลายลง แต่ชะตากรรมของชาวรามัญจะเป็นเช่นไรนั้น ยังคงเป็นปริศนา เป็นไปได้ว่าบางส่วนอาจจะอยู่ในเมืองต่อไปและค่อยๆ หันมาใช้ภาษาเขมรแทน ในขณะที่บางส่วนอาจอพยพลี้ภัยไปตามที่ต่างๆ ซึ่งอาจเป็นไปตามข้อสันนิษฐานของ ดร. ธิดาสาระยาที่เชื่อว่าคนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งอพยพไปตามพื้นที่ป่าเขาแถบเพชรบูรณ์ชัยภูมิและนครราชสีมา
ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจตามมาคือ แล้วในพื้นที่ที่เชื่อว่าชาวรามัญอพยพไปนี้มีหลักฐานใดบ้างที่บ่งบอกร่องรอยบ้าง และชาวญัฮกุรที่สืบทอดภาษามอญโบราณนี้อาศัยในเขตป่าเขานี้ตั้งแต่เมื่อใด
อ่านเพิ่มเติม :
- ค้นรากชายฝั่งทะเลทวารวดี พันกว่าปีมาแล้วบนเส้นทางกรุงเทพฯ-สมุทรสาคร
- “ทวารวดี” ริมฝั่งทะเลโบราณ ที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เคยเป็นทะเลมาก่อน
- ผ่าตำนานการแย่งปราสาทระหว่างชาวญัฮกุร กับ เขมร สัมพันธ์กับทวารวดีหรือไม่ อย่างไร?
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สงครามแย่งปราสาทในตำนานชาวญัฮกุร (เนียะกุร) และข้อสันนิษฐานการสลายตัวของรัฐทวารวดี” เขียนโดย ผศ. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2561
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2563