ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ห้วยขวาง” เป็นเขตหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ที่เต็มไปด้วยสถานที่สำคัญมากมาย ทั้งสำนักงานของเอกชนและราชการ แหล่งสายมู อย่าง เทวาลัยพระพิฆเนศห้วยขวาง รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยของคนไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีน ทำให้หลายคนขนานนามว่าพื้นที่แห่งนี้เป็น “ไชน่าทาวน์” แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
ชื่อ “ห้วยขวาง” มาจากไหน?
เดิมเขตห้วยขวางอยู่ในพื้นที่การปกครองของ “เขตพญาไท” มาก่อน กระทั่ง พ.ศ. 2516 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งเขตกรุงเทพมหานคร โดยแบ่งให้ “เขตห้วยขวาง” เป็นเขตการปกครองลำดับที่ 24 ของกรุงเทพฯ ประกอบด้วยพื้นที่การปกครอง 2 แขวง ได้แก่ “แขวงห้วยขวาง” และ “แขวงบางกะปิ”
ต่อมาเมื่อมี “พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงพื้นที่เขตพญาไท เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2521” ก็ได้โอนพื้นที่แขวงดินแดงของเขตพญาไทและสามเสนนอกของเขตบางกะปิ ขึ้นกับห้วยขวาง และโอนพื้นที่บางส่วนของแขวงห้วยขวางและแขวงบางกะปิ ไปรวมกับแขวงสามเสนใน แขวงมักกะสัน ของเขตพญาไท มีผลบังคับใช้เมื่อ พ.ศ. 2525
ทำให้เขตห้วยขวาง ประกอบไปด้วย 4 แขวง ได้แก่ แขวงห้วยขวาง แขวงบางกะปิ แขวงดินแดง และแขวงสามเสนนอก
จนเขตห้วยขวางเริ่มกลายมาเป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมสูง ประชากรขยายตัวเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการตั้ง “เขตดินแดง” ขึ้น โดยแบ่งแยกพื้นที่บางส่วนของเขตห้วยขวาง เขตพญาไท และเขตราชเทวี ไปอยู่ในเขตดินแดง มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2537
ปัจจุบันเขตห้วยขวางจึงมีพื้นที่ปกครองอยู่ 3 แขวง ได้แก่ แขวงห้วยขวาง แขวงบางกะปิ และแขวงสามเสนนอก
กลับมาที่คำถามว่าชื่อเขตห้วยขวางมาจากไหน เรื่องนี้สำนักงานเขตห้วยขวางกล่าวไว้ว่า
“ที่มาของชื่อ ‘ห้วยขวาง’ มาจากในอดีตพื้นที่นี้ ในฤดูฝนจะเต็มไปด้วยพื้นน้ำในลักษณะบึงและห้วยเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นที่ลุ่ม การเดินทางภายในพื้นที่ยังต้องการอาศัยการเดินทางด้วยเรือ ก็จะพบว่ามีห้วยน้ำขวางอยู่เสมอ จึงได้ชื่อดังกล่าวมา”
อ่านเพิ่มเติม :
- ไชน่าทาวน์-เยาวราช สมัยกรุงศรีอยุธยา อยู่ตรงไหน? ขายอะไร?
- “เยาวราช” พิพิธภัณฑ์ (มี) ชีวิตจีนโพ้นทะเล
- “จีนฮกเกี้ยน” ตั้งถิ่นฐานที่ไหนใน “อยุธยา” ทำอาชีพอะไร ถึงขั้นได้เป็นขุนนางจีนในราชสำนัก?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กรกฎาคม 2567