ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หนึ่งในย่านของอร่อยฝั่งธนบุรีต้องยกให้ ศิริราช-วังหลัง ที่มีของกินคาวหวานสารพัดให้ได้ลิ้มชิมรส แต่ถ้าใครต้องการกิน “อาหารปักษ์ใต้” รสจัดจ้าน ต้องไปที่ย่าน “พรานนก” ซึ่งอยู่เลยศิริราช-วังหลัง ไปนิดเดียวเท่านั้น ที่นั่นเป็นสวรรค์ของคนชื่นชอบอาหารปักษ์ใต้ก็ว่าได้ เพราะมีร้านอร่อยที่เปิดมานานหลายสิบปีอยู่หลายร้าน
ทำไมพรานนกถึงเป็นแหล่งรวมอาหารปักษ์ใต้?
ถนนพรานนก ตัดจากท่าน้ำข้างโรงพยาบาลศิริราชหรือท่าวังหลัง ตรงไปทางตะวันตก เชื่อมถนนจรัญสนิทวงศ์ แม้ทุกวันนี้มองดูจะเป็นถนนสายเล็กๆ แต่ถนนพรานนกมีความสำคัญอย่างยิ่งกับวิถีชีวิตของผู้คน ไม่เพียงชาวบ้านที่อยู่มาแต่เดิม แต่ยังรวมถึง “ชาวใต้” อีกด้วย
เหตุผลก็เพราะเมื่อก่อนรถไฟทุกสายจากภาคใต้จะมาจอดที่สถานีรถไฟธนบุรี หรือ “สถานีรถไฟบางกอกน้อย” โดยยังไม่เข้าสถานีรถไฟหัวลำโพง
ส่วนถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณแยกไฟฉาย ไม่ไกลจากพรานนก ก็มี “สถานีขนส่งสายใต้” ตั้งอยู่ ใครเดินทางไปกลับกรุงเทพมหานคร-จังหวัดทางภาคใต้ ก็ต้องมาขึ้นรถที่นี่
กระทั่งทศวรรษที่ 2530 ขนส่งสายใต้ย้ายไปตั้งอยู่ย่านปิ่นเกล้า เรียกกันให้เข้าใจง่ายว่า “สายใต้ใหม่” ส่วนสถานีขนส่งสายใต้เดิมที่แยกไฟฉาย ก็ถูกเรียกว่า “สายใต้เก่า” ต่อมาสถานีขนส่งสายใต้ย้ายพื้นที่อีกครั้ง คราวนี้ขยับออกไปตั้งอยู่บนถนนบรมราชชนนีจนถึงปัจจุบัน
เพราะฉะนั้น เมื่อชาวใต้ขึ้นมากรุงเทพฯ ไม่ว่าจะทางรถไฟหรือทางรถโดยสารสาธารณะ จุดหมายปลายทางแรกๆ ในการหาที่พักจึงมักอยู่ในย่านจรัญสนิทวงศ์ เพื่อความสะดวกในการเดินทางกลับถิ่นเกิดนั่นเอง
เมื่อชาวใต้ใช้ชีวิตอยู่ย่านนั้นนานเข้าและทวีจำนวนมากขึ้น จึงเกิดเป็นร้าน “อาหารปักษ์ใต้” หลายร้าน จัดเต็มสารพัดเมนูเด็ด ทั้ง สะตอผัดกะปิ คั่วกลิ้ง ผัดเครื่องแกงต่างๆ ใบเหลียงผัดไข่ ปลาทอดขมิ้น แกงส้ม แกงขี้ปลา (แกงไตปลา) ฯลฯ ให้ชาวใต้ได้กินอาหารรสชาติเหมือนอยู่บ้าน
ร้านดังย่าน “พรานนก” ที่เปิดมานานและขึ้นชื่อเรื่องความอร่อยมาจนถึงปัจจุบัน ถูกปากถูกใจชาวใต้และคนที่ชื่นชอบอาหารใต้ มีเช่น ร้านฉวาง (แม่อวย) ร้านรวมใต้ ร้านดาวใต้ ไม่นับร้านอาหารใต้อีกหลายร้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน
ใครอยากชิมเมนูอาหารปักษ์ใต้ ต้องไปลองร้านเด็ดๆ แถวนั้นสักครั้ง
อ่านเพิ่มเติม :
- ชื่อเรียก “คั่วกลิ้ง” มาจากไหน ค้นร่องรอยที่มาและสูตรที่แตกต่าง
- ร้านขายข้าวแกง จุดฝากท้องอิ่มอร่อยของคนไทย มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่?
- “เชลล์ชวนชิม” สัญลักษณ์การันตีความอร่อยของไทย ได้แรงบันดาลใจจาก “มิชลิน สตาร์”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“บ้านเกิดสุนทรภู่ อยู่บริเวณวังหลัง บางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี”. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2546
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 พฤษภาคม 2567