ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัจจุบันหากพูดถึงการรีวิวหรือรางวัลการันตีอาหารสุดเลิศรส คงไม่พ้น “มิชลิน สตาร์” หรือ “มิชลิน ไกด์” สัญลักษณ์ยางสีขาวที่ตระเวนไปมอบเครื่องยืนยันความอร่อยให้ร้านอาหารที่คู่ควร ไม่เพียงแค่มอบขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าของกิจการร้านอาหารมากมาย และกระตุ้นธุรกิจอาหารให้คึกคัก “มิชลิน สตาร์” ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด “เชลล์ชวนชิม” ตำนานสัญลักษณ์การันตีความอร่อยของวงการอาหารเมืองไทย
ตำนานเชลล์ชวนชิม
“เชลล์ชวนชิม” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2504 จากการสนับสนุนของ บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย และ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เนื่องจากขณะนั้น มิชลิน (ฝรั่งเศส) กำลังสนับสนุนโครงการแนะนำอาหารในเส้นทางทวีปยุโรป ผู้บริหารฝั่งไทยจึงเริ่มปรึกษาบุคคลที่ชื่นชอบ “อาหาร” อย่าง ม.ร.ว.ถนัดศรี
หลังจากหารือกันได้ไม่นาน ม.ร.ว.ถนัดศรี เห็นว่าโครงการดังกล่าวเหมาะกับประเทศไทยอย่างมาก เพราะคนไทยชื่นชอบการกินเป็นที่สุด จึงริเริ่มก่อตั้งช่องทางแนะนำอาหารผ่านเชลล์ชวนชิม โดยมี ม.ร.ว.ถนัดศรี เป็นผู้ดำเนินการ
เชลล์ชวนชิม ปรากฏตัวต่อสายตาผู้อ่านเป็นครั้งแรกในรูปแบบคอลัมน์แนะนำอาหารรสชาติเด็ดในนิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2504 โดย ม.ร.ว.ถนัดศรี ใช้นามปากกาว่า “ถนัดศอ” ซึ่งร้านแรก ๆ ที่ได้รับการแนะนำคือ “ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นสมองหมู” ย่านแพร่งภูธร ส่วนอีกร้านเป็นร้านขายข้าวแกงทั่วไป หรือร้าน “ข้าวแกงลุงเคลื่อน” ที่อยู่ไม่ไกลกันนัก
สัญลักษณ์เชลล์ชวนชิม
สัญลักษณ์ของเชลล์ชวนชิมยุคแรก หากสังเกตดูแล้วจะเป็น “รูปหอยเชลล์เคียงคู่กับเปลวไฟ” มีที่มาจากการสนับสนุนการใช้แก๊สหุงต้มในประเทศไทย เนื่องจากคนไทยสมัยก่อนยังกลัวการใช้แก๊สหุงต้ม เพราะเกรงว่าจะระเบิดหรือได้รับอันตราย เชลล์ชวนชิมจึงตัดสินใจใช้รูปดังกล่าว พร้อมให้ความรู้การใช้แก๊สอย่างปลอดภัยควบคู่ไปด้วย
ก่อนที่ พ.ศ. 2525 จะเปลี่ยนมาเป็น “รูปชามกังไสลายผักกาด” สะท้อนให้เห็นถึงความเก่าแก่สูงค่าและกินดีกินเป็น ตามที่เห็นอย่างในปัจจุบัน
คอลัมน์เชลล์ชวนชิมได้รับความนิยมอย่างมาก และหลังจากเขียนลงในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์เป็นระยะเวลานาน ก็ย้ายไปลงที่นิตยสารฟ้าเมืองไทย ก่อนลงหลักปักฐานที่มติชนสุดสัปดาห์ตั้งแต่ปี 2531
ถึงแม้ว่าจะมีการโยกย้ายไปมาอยู่หลายครั้ง แต่กระแสตอบรับของผู้อ่านก็ยังเหนียวแน่นไม่มีเสื่อมคลาย และเครื่องการันตีรูปชามกังไสลายผักกาดนั้นก็ทำให้ร้านอาหารไร้ชื่อ กลับกลายมาโด่งดัง และสร้างรายได้ให้กับพ่อค้าแม่ขายเป็นอย่างมาก เช่น ห่านพะโล้ท่าดินแดง (ได้รับตราเมื่อ พ.ศ. 2511) ขาหมูตรอกซุงบางรัก (ได้รับตราเมื่อ พ.ศ. 2528)
นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้ามากมาย เช่น มาบุญครอง ยังนำเชลล์ชวนชิมมาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาเดินห้างของตนเองอีกด้วย
“เชลล์ชวนชิม” ยังแพร่สะพัดไปไกลในวงการวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษนับจากก่อตั้ง ม.ร.ว. ถนัดศรี ได้มอบเครื่องหมายการันตีความอร่อยให้ร้านอาหารต่าง ๆ ทั่วประเทศไปแล้วกว่า 2,000-3,000 ร้าน จนเรียกได้ว่า ม.ร.ว.ถนัดศรี คือภาพจำของเชลล์ชวนชิมไปเลยก็ว่าได้
อ่านเพิ่มเติม :
- ม.ร.ว.ถนัดศรี เผยรสชาติ-ข้อกำหนดอาหารในวัง และเหตุถูกแซวเป็น พระยาโบราณทำลายราชประเพณี
- “ซาแต๊ปึ่ง” ถึง “ข้าวพระรามลงสรง” และความทรงจำจาก ม.ร.ว.ถนัดศรี สมัยเป็นนร.ขาสั้น
- ไก่ย่างไม้มะดัน ห้วยทับทัน ศรีสะเกษ เริ่มต้นที่สถานีรถไฟ ทำสืบทอดมาเกือบ 80 ปี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อาสา คำภา. รสไทย(ไม่)แท้. กรุงเทพฯ: มติชน, 2565.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2566