คำว่า “โอ” ย่อมาจาก “โอเค” แล้ว “โอเค” ย่อมาจากอะไร?

ทหาร สงครามโลกครั้งที่ 2 สงคราม
ทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ภาพจาก “บันทึกภาพประวัติศาสตร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2”, สนพ.มติชน สิงหาคม 2552 )

หลายปีมานี้ิ หลายพูดว่า “โอ” แทน “โอเค” ที่หมายถึงตกลง กันมากขึ้นเรื่อยๆ และคุ้นเคยกับศัพท์ใหม่ที่ย่อมาจากศัพท์ที่ยาวกว่า แล้วถ้าเราลองเดินตามหลัง “โอเค” ไปก็จะพบว่า “โอเค” (ที่คนไทยใช้กัน) นั้น มีบางท่านให้ความเห็นว่าย่อมาจาก “โอเค ซิกาแร็ต” เมื่อหลายสิบปีก่อนอีกทีหนึ่ง

ผูู้ใหญ่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนหนึ่ง อธิบายตรงกันว่า เคยใช้คำว่า “โอเค ซิกาแร็ต” ในความหมายเดียวกัน “โอเค” ที่คนรุ่นหลังๆ ใช้ ต่อมาก็พูดสั้นแค่ “โอเค” และถ้ายังพูดว่า “โอเค ซิกาแร็ต” ก็จะดูเป็นคนแก่ คนโบราณ ไปทันที

ในที่นี้ เป็นคำบอกเล่าที่มาจากประสบการณ์ของผู้ใหญ่ แต่จะฟันธงว่า “โอเค” ที่คนไทยพูดกัน มีต้นตอมาจากคำเต็มว่า “โอเค ซิกาแร็ต” โดยตรงก็คงไม่อาจยืนยันเช่นนั้น เพราะในตะวันตกก็มีใช้คำว่า “โอเค” กันมาก่อนหน้านี้แล้ว

ส่วน “โอเค ซิกาแร็ต” มาจากไหน ซิกาแร็ตหรือบุหรี่ มาเกี่ยวอะไรกับการตกลงโอเคด้วย ?!?

นักเขียนอาวุโส 2 ท่าน เคยเขียนเรื่อง “โอเค ซิกาแร็ต” ไว้ต่างกรรม ต่างวาระกัน มาดูว่าอ่านแล้วท่าน(ผู้อ่าน)จะโอเคหรือเปล่า

ท่านแรก ภาษิต จิตรภาษา เขียนไว้ในคอลัมน์ “พจนานุกรมนิรุตติศาสตร์” (ศิลปวัฒนธรรม, พฤษภาคม 2529) ว่า โอเค ซิกาแร็ต เป็นคำศัพท์ที่มาจากภาษาอังกฤษ คือ โอเค (Okay) ที่แปลว่าตกลง กับ ซิกาแร็ต (cigarette) ที่แปลว่าบุหรี่

แต่ “โอเค ซิกาแร็ต” เป็นคำ (ยืม) ในภาษาไทย ไปพูดให้ฝรั่ง รับรองว่าไม่ “โอเค ซิกาแร็ต” แน่นอน

ภาษิต จิตรภาษา อธิบายว่า คำนี้เกิดขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และแน่นอนว่าเกิดขึ้นในเมืองไทย ซึ่งในเวลานั้นฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม ได้นำเรือรบเข้ามาจอดยังท่าเรือคลองเตย ปล่อยทหารขึ้นเที่ยว แต่ก็มีทหารบางพวกต้องอยู่ประจำเรือ ประจำท่า ออกไปเที่ยวใช้เงินไม่ได้

พ่อค้าหัวใส หรือที่ถูกคือ พ่อเล้าหัวแหลม ก็นำหญิงบริการเดลิเวอรี่ถึงที่ โดยหาเช่าเรือแจวจากคลองพระโขนง แจวไปหาลูกค้าต่างชาติที่ท่าเรือ ถ้าถูกใจสาวๆ คนไหน พ่อเล้าก็จะแจ้งราคา แต่แทนที่จะคิดเป็นจำนวนเงิน กลับคิดเป็นบุหรี่ (เพราะหลังสงคราม บุหรี่หายาก สามารถขายราคาแพงเอากำไรได้อีกทอด) พ่อเล้าจะหยิบซองบุหรี่มาชี้ให้ดู อีกมือก็ชูนิ้วขึ้นตามราคาที่ต้องการ

ลูกค้าฝรั่งก็จะตอบกลับมาว่า “โอเค ซิกาแร็ต-ตกลง บุหรี่ก็บุหรี่”

ต่อมาพ่อค้าแม่ค้าที่ค้าขายในย่านคลองเตย พระโขนงก็เริ่มขายของแลก “บุหรี่” กันบ้าง คำว่า “โอเค ซิกาแร็ต” ไม่นานก็มีคนใช้กันแพร่หลายทั่วไป คนหนึ่งที่พูดติดปากคือ นายไฉน กลิ่นขาว [นักอ่านข่าววิทยุ ประเภทข่าวชาวบ้าน] ที่เอามาใช้ในรายการทาง ปชส. 7 บ่อยๆ

อีกท่านหนึ่งคือ อาจินต์ ปัญจพรรค์ เขียนไว้ในคอลัมน์ “วาบความคิด” (มติชนสุดสัปดาห์, 2 พฤษภาคม 2543) ถึงที่มาของวลี “โอเค ซิกาแร็ต” ว่า มาจากการค้าขายของพ่อค้าเด็กกับทหารอเมริกัน

ทำไมต้องเป็นทหารอเมริกัน เพราะทหารอเมริกันเป็นทหารเศรษฐีมียุทโธปกรณ์

อเมริกาส่งทหารไปรบที่ไหน นอกจากอาวุธในการรบเพียบแล้ว สิ่งของเพื่อความสุขในชีวิตประจำวันยังพร้อมอีกด้วย หลังอาหารทุกมื้อทหารทุกคนจะได้รับแจก “เครื่องบริโภคหลังอาหาร” ที่บรรจุไว้ในกล่องโลหะแบนๆ ทาสีเขียวเข้ม ที่เรียกว่า “Ration” หรือ “ปั่นส่วน” 1 ชุด ประกอบด้วย

“ผงกาแฟ 1 ซองกระดาษใย สําหรับแช่น้ำร้อนชงได้เลย, มีน้ำตาลก้อน 1 ซอง-4 ก้อน, ครีม 1 ซอง, มีช็อกโกแลต 1 ซอง-4 ก้อน, บุหรี่อเมริกัน 4 มวน, ไม้ขีดก้านกระดาษใช้แผงกระดาษแข็งพับหุ้ม 1 แผง นี่คือเครื่องบริโภคหลังอาหารของทหารอเมริกัน”

แต่คราวนี้คนที่มาแลกของเป็นพ่อค้าเด็กๆ ที่เอากล้วยหอมมาดักรอทหารอเมริกัน มือก็ชูกล้วยหอมอวดทหาร ปากก็ร้องชวนว่า “โอเค, ซิกาแร็ต” เพื่อขอแลกกล้วยหอม กับบุหรี่ หรือแท่งช็อกโกแลต

สรุปว่า “โอเค ซิกาแร็ต” มีที่มาจากการใช้ “บุหรี่” เป็น “สื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า และบริการ” ในอดีต แต่ด้วยวิวัฒนาการ ทางภาษา ผู้ใหญ่บางคนเล่าว่า นานวันเข้า ที่คนไทยพูด “โอเค ซิกาแร็ต” ก็พูดเหลือแค่ “โอเค” (แต่ในตะวันตกปรากฏการใช้คำว่า โอเค แยกกันมาก่อนแล้ว ยังไม่พบข้อมูลยืนยันชัดเจนแบบฟันธงได้ว่า “โอเค” ที่คนไทยพูดกัน ย่อมาจาก “โอเค ซิกาแร็ต” ดังที่เกริ่นตอนต้น)

“โอเค” ที่คนไทยพูดกันนั้น จะมาจาก “โอเค ซิกาแร็ต” หรือรับอิทธิพลโดยตรงจากภาษาตะวันตกที่พูด “โอเค” เดี่ยวๆ กันมาอยู่แล้ว คงต้องศึกษากันเพิ่มเติม ขณะที่คนปัจจุบันพูดสั้นๆ ว่า “โอ” เท่านั้น ส่วนในอนาคตจะพูดให้สั้นกว่านี้อย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป 

หมายเหตุ อนึ่ง คำว่า โอเค ในบริบทสากลนั้น O.K. เริ่มปรากฏแบบทางการในวงกว้างครั้งแรกใน พ.ศ. 2382 โดยหนังสือพิมพ์อเมริกันที่ต้องการย่อคำว่า “Oll Korrect ” (ซึ่งตั้งใจให้เป็นมุกตลก เป็นคำล้อจากคำที่เขียนอย่างถูกต้องว่า All Correct ที่แปลว่า ถูกต้องทั้งหมด) ให้สั้นลง ต่อมาในปี 2383 Martin Van Buren ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาสมัยที่ 2 เนื่องจากเขามีถิ่นกำเนิดใน Kinderhook เมือง New York เขาจึงมีชื่อเล่นว่า OK (Old Kinderhook) จึงปรากฏคำว่า OK ในแคมเปญหาเสียง ประชาชนที่ชื่นชมเขาก็จัดตั้งสมาคม O.K. Clubs ขึ้นมา หลังจากนั้นคำว่า OK จึงเริ่มถูกใช้มากขึ้นในวงกว้าง แต่ในรายละเอียดพัฒนาการนั้น คำว่า “โอเค” มีผู้ศึกษาจริงจัง เขียนเป็นหนังสือกัน สามารถติดตามหามาดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้อีกทาง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 เมษายน 2563