“ขึ้นคาน” แปลว่าอะไร ทำไมใช้เปรียบถึง “สาวใหญ่” ยังโสด คานอะไร?

อู่ต่อเรือ อู่แห้ง ซ่อมเรือ เรือ ขึ้นคาน

คำว่า “ขึ้นคาน” เป็นภาษาปาก พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า โดยปริยายหมายถึง หญิงโสดที่มีอายุแต่ยังไม่มีสามี ซึ่งมักเข้าใจกันผิดว่า คาน ในที่นี้คือ คาน ของบ้าน แต่จริง ๆ เป็น คาน ของเรือ

เรื่องนี้ ภาษิต จิตรภาษา (สันต์ สุวรรณประทีป) ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทย อดีตคอลัมนิสต์ของนิตยสารศิลปวัฒนธรรม อธิบายเอาไว้ในบทความ “‘ขึ้นคาน’ แปลว่าอะไร” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2551 เอาไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำ โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)


 

การคมนาคมในบ้านเมืองเราแต่ก่อนนี้มีอยู่ 2 ทาง คือ ทางบกกับทางน้ำ

ทางบกก็คือทางเดินเล็ก ๆ ที่ตัดลัดเข้าสวนออกทุ่งไปวัดไปตลาดหรือชุมชนอื่น ๆ ถ้ามีสัมภาระมากก็บรรทุกเกวียน ซึ่งทางไปของเกวียนนี้จึงเรียก “ทางเกวียน” แต่เกวียนก็บรรทุกข้าวของไม่ได้มากเหมือนเรือ

ไอ้เจ้า เรือ ที่ว่านี้ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ต้องลอยอยู่ในน้ำทั้งสิ้น

ไม้ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเรือจะใช้หรือไม่ใช้ก็ตาม ก็ต้องลอยอยู่ในน้ำทั้งนั้น นานเข้าไม่ผุเองก็ต้องเพรียงกิน เมื่อเพรียงกินแล้วก็ต้องซ่อม เมื่อต้องซ่อมแล้ว เรือที่ลอยอยู่ในน้ำจะทำยังไง ก็ต้องเอาขึ้นบก

ถ้าเป็นเรือเล็ก ก็พอจะขอแรงเพื่อนบ้านใกล้เคียงช่วยกันยกลากเข็นขึ้นมาได้ แต่เรือใหญ่ล่ะ อีตรงนี้แหละครับต้องพึ่ง คาน

อู่ต่อเรือ อู่แห้ง ซ่อมเรือ
คานรองรับเรือ

คานนั้นเขาทำเป็นโครง 4 เหลี่ยม ใส่ล้อเข้าตรงเกือบมุม 4 ล้อ เวลาน้ำขึ้น เขาก็เลื่อนเข้าไปรองรับท้องเรือ พอน้ำลด ท้องเรือก็ลดลงไปนั่งบนหลังคาน แล้วก็ลาก-เข็นกันขึ้นฝั่ง พอไม้แห้ง จะพอน จะยา หรือเปลี่ยนแผ่นไม้อะไรก็เอาเข้า

พวกเราเอาความโทรมอีตรงนี้แหละครับ มาเปรียบกับผู้หญิงสาวเทื้อว่า “ขึ้นคาน”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 สิงหาคม 2561