คำว่า “สวัสดี” มาจากไหน? ใช้เมื่อไหร่? ใครเริ่ม สวัสดี?

สวัสดี
สวัสดี คำทักทายที่ใช้กันทั่วไป แลในเทศกาลต่างๆ

สวัสดี เป็นคําที่คนไทยใช้ทักทายกันในชีวิตประจําวันมากที่สุดคําหนึ่ง ยิ่งถึงเทศกาลขึ้นปีใหม่, คริสต์มาส, สงกรานต์ ก็ยิ่งใช้เปลืองมากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่า เพราะคนไทยมักจะทักทายกันด้วยวลีที่ว่า “สวัสดีปีใหม่, สวัสดีวันคริสต์มาส, สวัสดีวันสงกรานต์”

สวัสดีมาจากไหน?

“เมื่อผมเพิ่งแตกเนื้อหนุ่มนั้น คําว่าสวัสดี ยังไม่มีใช้ในภาษาไทย…” พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเล่าไว้ในคอลัมน์ “ซอยสวนพูล” (หนังสือพิมพ์สยาม ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2534)

อ้าว แล้วใครคิดคําว่าสวัสดี ขึ้นมาใช้ล่ะ

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเล่าต่อไปว่า

“พระยาอุปกิตศิลปสาร ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ในภาษาไทย ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหามากมายที่สุดคนหนึ่งได้บัญญัติศัพท์คำว่าสวัสดีนี้ขึ้นสำหรับให้คนไทยได้ใช้ในการทักทายเมื่อพบปะกัน ให้ใช้ได้เป็นคำทักเมื่อแรกพบและคำลาเมื่อจะจากกัน”

จริงหรือที่ว่าพระยาอุปกิตศิลปสารคิดคำนี้ขึ้นใช้ในภาษาไทย

ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ยืนยันไว้ในหนังสือสดุดีบุคคลสำคัญ (สำนักงานส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ พิมพ์เผยแพร่ เมื่อ พ.ศ. 2528) ตอนหนึ่งว่า…

เมื่อ 47 ปีมาแล้ว นิสิตอักษรศาสตร์ปีที่ 1 และ 2 แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับจดหมายลาป่วยของลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 จากอาจารย์ภาษาไทยคนหนึ่ง จดหมายนั้นแจ้งว่า ท่านอาจารย์ผู้นั้นเสียใจจริงๆ ที่ไม่อาจมาสอนในวันสุดท้ายของภาคปลายปีนั้นได้ ทั้งที่ทราบว่าเป็นวันสำคัญที่สุดของปี เพราะถัดมาจากวันนั้นแล้ว มหาวิทยาลัยจะหยุดให้นิสิตดูหนังสือเตรียมตัวสอบไล่ประจำปี

ข้อความในจดหมายที่อาจารย์ลาป่วยต่อลูกศิษย์เขียนมาเป็นข้อๆ ข้อที่ 2 มีใจความอันเป็นประวัติศาสตร์ที่คนไทยปัจจุบันพึงรู้พึงจำเพราะเป็นมรดกวัฒนธรรมทางประเพณีอันทันสมัยแก่คนไทยและชาติไทย ขอคัดมาดังนี้

“คำว่า ‘สวัสดี’ ที่ครูได้มอบไว้แต่ต้น โปรดจงโปรยคำอมฤตนี้ทุกครั้งเถิด จะใช้ ‘สวัสดี’ ห้วนๆ หรือ ‘สวัสดีขอรับ’ หรือ ‘สวัสดีขอรับคุณครู’ หรือจะเหยาะให้หวานว่า ‘สวัสดีขอรับคุณอาจารย์’ ครูเป็นปลื้มใจทั้งนั้น

ถ้าสงเคราะห์ให้ได้รับความปิติยินดีแล้วเมื่อพบครูครั้งแรกไม่ว่าที่ไหนโปรดกล่าวคำนี้ ครูจะปลาบปลื้มเหลือเกิน ยิ่งเป็นที่อื่น เช่น ในกลางถนน บนรถราง ครูปลาบปลื้มเป็นทวีคูณ เพราะจะได้เป็นตัวอย่างแก่สาธารณชนชาวไทยทั่วไป เป็นความจริงนิสิตชายหญิงที่พบครูในที่ต่างๆ และกล่าวคำ ‘สวัสดี’ ทำให้ครูปลาบปลื้มจนต้องไปตรวจดูบัญชีชื่อว่าเป็นใครเสมอ

มีนิสิตหญิงผู้หนึ่ง เธอพบครูและกล่าวว่า ‘สวัสดีค่ะ’ แต่ครูไม่ได้ยิน เธอกล่าวอีกครั้งหนึ่งครูก็ไม่ได้ยิน แต่มีคนอื่นเขาเตือน ครูต้องวิ่งไปขอโทษ กว่าจะทันก็หอบครูจึงขอโทษไว้ก่อน คำอมฤตอันปลาบปลื้มที่สุดของครูนี้ ถ้าครูได้ยินก็จะตอบด้วยความยินดีเสมอ ที่ครูนิ่งไม่ตอบรับเป็นด้วยไม่ได้ยิน เพราะหูตาของครูเข้าเกณฑ์ชราภาพแล้วโปรดให้อภัยครู

ขอจงสอบได้ทุกคนเถิดนิสิตที่รักของครูทั้ง 2 ชั้น

(ลงนาม) พระยาอุปกิตศิลปสาร

ก็สรุปได้ว่า พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เป็นผู้คิดคำว่าสวัสดีขึ้นใช้ทักทายเมื่อพบปะกัน เมื่อแรกราว พ.ศ. 2477-2478 ได้มอบคำนี้ให้นิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ทักทายครูก่อน หลังจากนั้นกรรมการชำระปทานุกรมและกรรมการโปรแกรมวิทยุกระจายเสียก็นำไปใช้ด้วย เป็นเหตุให้คำนี้แพร่หลายไปทั่วประเทศมาจนถึงทุกวันนี้ และคงจะสืบเนื่องต่อไปอีกนานเท่านาน

ถามว่าพระยาอุปกิตศิลปสารคิดค้นเอาคำว่าสวัสดี มาจากไหน?

นายจำนงค์ ทองประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านชำระพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า…

“พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้เก็บคำว่า‘สวัสดิ์’ และ ‘สวัสดี’ ไว้คู่กัน และให้ความหมายไว้ดังนี้ ‘น.ความดี, ความงาม, ความเจริญรุ่งเรือง : คำทักทานหรือพูดขึ้นเมื่อพบหรือจากกัน’ เป็นคำที่มาจากภาษสันสกฤตว่า ‘สุ+อสฺติ’ แล้วแผลง อุ เป็น ว จึงเป็น ‘สฺวฺสฺติ’ ตรงกับภาษาบาลีว่า ‘โสตถิ’ ซึ่งมาจากสุ+อตฺถิ ทั้ง ‘อสฺถิ’ และ ‘อตฺถิ’ ล้วนแปลว่า ‘มี’ ทั้งนั้น สุ เป็นค่าอุปสรรค (prefix) แปลว่า ‘ดี, งาม, ง่าย’ ”

เรื่องคำว่าสวัสดี นี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายไว้อย่างลึกซึ้งว่า

“คำว่าสวัสดีที่ใช้กันในภาษาไทยนั้นเป็นภาษาสันสกฤตเขียนเป็นว่า สฺววฺติ ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาฝรั่ง เพราะฉะนั้นคำนี้ถ้าถอกลับเป็นอักษรโรมันเสียอีกทีหนึ่งเป็นคำว่า Svati ก็มีทางที่จะออกเสียงได้ถูกต้องมากที่สุด

และคำเดียวกันนี้ก็มีอยู่ในภาษาบาลี ซึ่งคนไทยใช้มาในทางศาสนา เพราะภาษาบาลีเป็นภาษาของศาสนาพุทธซึ่งคนไทยนับถือทั่วไป

ในภาษาบาลีนั้น คำว่า สฺวสฺติ ในภาษาสันสกฤตกลายเป็นนคำว่า โสตฺถิ อันเป็นคำที่เราไม่ค่อยจะได้พบเห็นกัน

อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์ถือว่าคำนี้เป็นคำแห่งภาษาอริยกะ อันเป็นภาษาแห่งเผ่าชน ซึ่งฮิตเลอร์เลื่อมใส สนับสนุนส่งเสริมโดยไม่ลืมตา ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองของฮิตเลอร์ คือพรรคชาติสังคมนิยมจึงได้ถือเอาเครื่องหมายสวัสดิกะเป็นเครื่องหมายของพรรค เรียกได้ว่าเป็นมงคลนิมิต

ดูประวัติความเป็นมาของคำว่า สวัสดิกะ หรือคำว่าสวัสดีตลอดจนเครื่องหมายของคำว่าสวัสดีแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าสวัสดีนั้นมีความหมายแตกต่างกันมากมายเหลือเกิน ในบางครั้งสวัสดีก็หมายถึงเห่อเหิม บ้าอำนาจยกตนเป็นใหญ่กว่าผู้อื่น แต่อีกที่หนึ่ง สวัสดีนี้เองกลับกลายเป็นการสำรวมกาย สำรวมอินทรีย์และการละความชั่วได้ทั้งหมด

พูดง่ายๆ ถ้าสวัสดีนั้นใช้ภาษาบาลีว่า โสตฺถิแล้ว ความหมายของคำนี้เป็นไปในดีอย่างที่ได้ว่ามาแล้ว แต่ดูเหมือนว่าถ้าใช้รูปสันสกฤตแล้ว คำนี้ก็ยังแปลความว่ารุ่งโรจน์ ความเจริญ ความสุกสว่างอยู่นั่นเอง แต่ว่าดูเหมือนจะเป็นความเจริญความสุขต่างๆ ที่ได้มาด้วยอำนาจด้วยการใช้อำนาจ และด้วยความก้าวร้าวต่อผู้อื่น

ผมเคยคิดอยู่ในใจหลายปีมาแล้วว่าคำว่าสวัสดี เมื่อเราเอามาใช้ก็น่าจะเอามาใช้ทั้งภาษาสันสกฤตและภาษาบาลี เป็นต้น ว่าผู้ที่กล่าวคําทักจะใช้คําว่าสวัสดี แต่ผู้ที่รับคําทักหรือกําลังจะลาจากไป ก็น่าจะใช้ภาษาบาลีว่า โสตฺถิ อย่างนี้จะเป็นการเพิ่มความร่ำรวยแห่งภาษาขึ้นได้หรือไม่ และจะเป็นการแฝงความหมายอีกเล็กๆ น้อยๆ ที่มีความสําคัญอย่างยิ่งเอาไว้ในคำทักทายของเราด้วยหรือไม่ ?”

เรื่องสวัสดีก็มีอยู่เท่านี้

สวัสดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “สวัสดีมาจากไหน? เมื่อไร ? ใครเริ่ม-สวัสดี?” เขียนโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2535


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 เมษายน 2562