ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
นายแพทย์แดน บีช แบรดลีย์ หรือ “หมอบรัดเลย์” (18 กรกฎาคม 2347 – 23 มิถุนายน 2416) ที่เราคุ้นเคย เป็นนายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นนายแพทย์ผู้ริเริ่มบุกเบิกวิทยาการทางการแพทย์หลายอย่างในไทย เช่น การผ่าตัดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก, การปลูกฝี และมีส่วนผลักดันให้สตรีหลังคลอดเลิกอยู่ไฟ ฯลฯ
ทว่าหมอบรัดเลย์ยังเป็นมิชชันนารี ที่เดินทางไกลมาเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์อีกด้วย จึงเป็นไปได้ว่าบางครั้ง หมอบรัดเลย์คงได้พูดคุยกับคนไข้เรื่องของพระผู้เป็นเจ้า และศาสนาคริสต์
ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้ที่ “ประชุมพงศาวดารภาคที่ 31 จดหมายเหตุเรื่องมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศไทย” [ที่หมอบรัดเลย์เรียบเรียงพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษลงใน “หนังสือบางกอกคาเลนดา” ในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ หัวหน้ากองโบราณคดี กรมศิลปากร แปลเป็นภาษาไทย] บันทึกไว้ว่า
“วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2379
เช้าวันนี้ มีผู้หญิงบ้านนอกคนหนึ่ง ชาวเมืองอยุธยา มาหาหมอบรัดเล ในขณะที่หมอบรัดเลพูดกับหญิงนั้นถึงเรื่องสวรรค์และนรก
หล่อนตอบว่าไม่ได้ตั้งใจจะไปที่ไหนทั้งนั้น จนกว่าหล่อนจะได้พูดจาตกลงกับสามีเสียก่อนถ้าสามีจะไปสวรรค์ หล่อนก็จะไปด้วย ถ้าสามีจะไปนรก หล่อนก็จะไปอยู่กับเขายังที่นั้นด้วยเหมือนกัน
การที่หล่อนพูดเช่นนี้ เห็นได้ว่ามีความรักสามีผิดกับคนธรรมดา แลมีความเมตตาปราณีแก่ลูกชายแลลูกสาวทั้ง 2 ซึ่งพามาให้หมอบรัดเลรักษาโรคหูหนวกนั้นเปนอันมาก” [จัดย่อหน้าใหม่ และเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ]
อ่านเพิ่มเติม :
- “หมอบรัดเลย์” ชี้ สยามควรออกกฎหมายห้ามการมีเมียมาก
- วาทกรรมว่าด้วย “ผัวเดียวหลายเมีย” จากหมอบรัดเลย์ ถึงรัชกาลที่ 4
- 13 มกราคม 2380 หมอบรัดเลย์ผ่าตัดใหญ่เป็นครั้งแรกในไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ประชุมพงศาวดารภาคที่ 31 จดหมายเหตุเรื่องมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศไทย พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 30 ธันวาคม 2493
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม 2564