“หมอบรัดเลย์” ชี้ สยามควรออกกฎหมายห้ามการมีเมียมาก

ภาพถ่าย ชาวสยาม สยาม สามี ภรรยา ลูก ครอบครัว
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพถ่ายหนุ่มสยามกับเมียอีกสามคน

Bangkok Calendar (บางกอกรีคอเดอ) ฉบับที่ 2 ออกโดย หมอบรัดเลย์ (18 กรกฎาคม 234723 มิถุนายน 2416) ในฐานะเจ้าของและบรรณาธิการ เป็นหนังสือรายปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2402-2416 เป็นเวลาถึง 13 ปี หลังจากออก Bangkok Calendar ฉบับสุดท้ายแล้วต่อมาไม่นานท่านก็ถึงแก่กรรม Bangkok Calendar นี้ บันทึกข่าวสังคม และเหตุการณ์สำคัญๆ ไว้มากมายทั้งไทยทั้งฝรั่ง

Bangkok Calendar เป็นภาษาอังกฤษ ไม่มีการแบ่งคอลัมน์ เป็นวารสารเล่มเล็กๆ ขนาดเดียวกับ  บางกอกรีคอเดอ ทุกเล่มจะมีปฏิทินเป็นรายเดือน ในตอนต้นมีประกาศแจ้งเวลาเรือเข้าออก ประกาศแจ้งความและโฆษณา มีบทความเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเพื่อให้ชาวต่างประเทศเข้าใจพื้นฐานความเชื่อของคนไทย มีบทความเกี่ยวกับคริสต์ศาสนา ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีการเกิด-ตาย ประเพณีโกนจุก พระราชพงศาวดาร ราชวงศ์จักรี เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพระราชวงศ์ นางสนมกำนัล และพระโอรสธิดา มีการจารึกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ตอนท้ายเล่มจะมีตัวเลขทางสถิติมากมาย เช่น สถิติเวลาน้ำขึ้นน้ำลง และการวัดน้ำฝน น้ำค้างในอากาศ

Advertisement
หมอบรัดเลย์
หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley)

เนื่องจากวารสารฉบับนี้ เน้นเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยมของคนไทยมาก จะพบว่า หมอบรัดเลย์แสดงความคิดเห็นคัดค้านการมีภรรยามากกว่าหนึ่ง ดังเช่นที่ปรากฏใน Bangkok Calendar ฉบับปี พ.ศ. 2405 ดังนี้

“จากรายพระนามข้างบนนี้ เราจะสังเกตได้เองว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงมีโอรสจากพระราชมารดา 27 พระนาง…พระราชมารดาเหล่านี้ทรงได้รับเงินเลี้ยงชีพจากรัฐบาลด้วยกันทุกองค์…ส่วนพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่สอง (พระปิ่นเกล้าฯ) ทรงมีโอรสจากพระราชมารดา 25 พระนาง…ส่วนบรรดาขุนนางผู้ใหญ่ต่างก็มีภรรยา 30 นางบ้าง 40 นางบ้าง บางทีก็ถึง 50 นาง เราขออ้อนวอนพระผู้เป็นเจ้าให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขเรื่องการมีภรรยามาก (โดยทรงมีพระชายาแต่พระองค์เดียวเพื่อเป็นแบบฉบับ) แลด้วยการออกกฎหมายห้ามการมีภรรยามากโดยทั่วถึงกัน คุณธรรมความดีและความเจริญรุ่งเรืองของกรุงสยามจะแพร่ขยายออกไปไม่ได้ จนกว่าการมีภรรยามากจะถือว่าเป็นความผิดทางอาญา”

จิตรกรรมฝาผนัง ผู้หญิง สาวชาววัง ภายใน อุโบสถ วัดเวฬุราชิณ
สาวชาววัง จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดเวฬุราชิณ

Bangkok Calendar ปีต่อมา (2406) ยังให้ข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติมอีกว่า “พระเจ้าอยู่หัวองค์ที่สองขณะนี้ทรงมีพระชายาอยู่ประมาณหนึ่งร้อยยี่สิบพระนางและมีพระโอรสธิดาสามสิบพระองค์…ขณะนี้ทรงมีพระชนมายุห้าสิบห้าพระชันษา”

Bangkok Calendar ปี 2416 คือปีที่หมอเสียชีวิต ได้บรรยายชีวิตในวังหลวงว่า

“พระโอรสของพระเจ้าแผ่นดินจะประทับอยู่กับพระมารดาในวังหลวงจนเจริญพระชันษา จึงจะย้ายออกไปประทับในวังส่วนพระองค์ซึ่งพระบิดาหรือรัฐบาลจัดหาให้ ท้องพระคลังมหาสมบัติเป็นผู้ออกเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้พระโอรสเหล่านี้ พระมารดาจะเสด็จไปประทับอยู่ด้วยจนกว่าจะสามารถช่วยตัวเองได้ ทรงเติบใหญ่แล้ว พระมารดาจึงจะเสด็จกลับไปประทับในวังหลวงกับพระธิดา และจะมาเยี่ยมพระโอรสสุดแต่โอกาสอันควร

“ส่วนพระธิดาของพระเจ้าแผ่นดินจะอยู่ในวังหลวงกับพระราชบิดา ทรงฐานันดรศักดิ์เช่นนั้นตลอดกาล นอกจากจะทรงมีโอกาสพานพบเจ้าชายที่ทรงฐานันดรเท่าเทียมกัน และได้อภิเสกสมรส แต่การณ์เช่นนี้ย่อมเป็นไปได้ยาก ดังนั้นพระราชธิดาจึงมักจะยอมรับสภาวะการอยู่ในพรหมจรรย์ตลอดชีวิต โอนี่ช่างเป็นการฝืนกฎธรรมชาติ และกฎของพระเจ้าอะไรอย่างนั้น เมื่อพระราชบิดาสวรรคต ทรงมอบราชสมบัติให้แก่รัชทายาท และมอบสิทธิอำนาจในการปกครองวังหลวงพร้อมกันไปด้วย เจ้าหญิงเหล่านี้ก็จะได้รับการอุปถัมภ์อย่างระแวดระวังเช่นนี้แล้วพระมารดาก็จะสามารถออกจากวังหลวงไปประทับอยู่กับพระโอรสได้ เจ้าหญิงที่พระชนมายุเกิน 50 ปีขึ้นไปจะสามารถเสด็จออกไปประทับนอกวังหลวงได้ตามพระประสงค์…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุกัญญา ตรีระวนิช. หมอบรัดเลย์กับการหนังสือพิมพ์แห่งกรุงสยาม. (สำนักพิมพ์มติชน, 2528) หน้า 43-46.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 สิงหาคม 2561