ว่าด้วย “นาค” สัตว์ดิรัจฉานชั้นดีวิเศษ ใน “ติรัจฉานภูมิ” ตามคติไตรภูมิ

พญานาค นาค สัตว์ดิรัจฉาน ตาม คติ ไตรภูมิ
จิตรกรรมพญานาคที่วัดโพธิ์ (ภาพโดย Andrea Kirkby ใน Flickr สิทธิการใช้งาน CC BY-SA 2.0)

ในคติไตรภูมิของไทยนั้น “นาค” จัดอยู่ในกลุ่ม สัตว์ดิรัจฉาน ที่อาศัยอยู่ใน “ติรัจฉานภูมิ” คือ แดนที่อยู่อาศัยของสัตว์ดิรัจฉาน สัตว์ในแดนนี้มีแดนกำเนิด 4 ประการ ได้แก่ เกิดจากไข่ เกิดจากครรภ์ เกิดจากไคล และเกิดเป็นตัวขึ้นเองแล้วโตทันที

สัตว์ดิรัจฉาน ยังหมายรวมทั้ง ครุฑ สิงห์ ช้าง ม้า วัว ควาย เนื้อ (ทราย) เป็ด ไก่ ห่าน และนก ฯลฯ บางชนิดมีเท้า มีสี่เท้าบ้าง มีเท้าจำนวนมากบ้าง ลักษณะโดยทั่วไปคือเป็นสัตว์ที่เดินคว่ำตัวลงกับพื้น

สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายมีความรู้ความระลึกได้อยู่ 3 อย่าง คือ รู้สืบพันธุ์ รู้กินอาหาร และรู้กลัวความตาย ไม่รู้จักบุญหรือบาป โดยหลักการนี้ สัตว์จากติรัจฉานภูมิจึงได้ไปเกิดบนสวรรค์น้อย

อย่างไรก็ตาม นาค จัดเป็นสัตว์ดิรัจฉานชั้นดีวิเศษ ซึ่งกลุ่มนี้ประกอบด้วย เหล่าปลาใหญ่ ราชสีห์ ราชหงส์ ช้างวิเศษ หรือช้างแก้ว 10 ตระกูล และพญาครุฑ เป็นต้น

ตามคติไตรภูมิ หลังเหตุการณ์ไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก จะเกิดแผ่นดินใหม่สีขาวราวแผ่นเงินยวง มีหญ้าแพรกเขียวงามราวแก้วไพฑูรย์ มีสระเต็มไปด้วยบัว 5 ชนิดหลายแห่ง มีไม้ยืนต้นผลิดอกออกผล ส่วนเถาวัลย์ออกดอกสีแดง สีขาว สีเหลือง ดูงามยิ่งนัก สถานที่แห่งนี้คืออาณาบริเวณซึ่งเรียกว่า “นาคพิภพ”

นาคพิภพยังมีปราสาทแก้ว ปราสาทเงิน ปราสาททอง ที่วิจิตรตระการตา

ภายใต้ร่มเงาของเขาหิมพานต์ มีที่ว่างโล่งกว้าง 500 โยชน์ เป็นที่ตั้งของ “เมืองนาคราช” มีแก้ว 7 ประการ มีสระใหญ่ ๆ หลายแห่ง เหล่านี้เป็นที่อยู่ของฝูงนาค

นาคในไตรภูมิมี 2 ชนิด คือ นาคที่นิรมิตตนได้แต่บนบก ไม่สามารถนิรมิตตนในน้ำได้ ชื่อ ถลชะ กับนาคที่นิรมิตตนในน้ำได้ แต่บนบกไม่สามารถนิรมิตได้ ชื่อ ชลชะนาค

ทั้งนี้ นาค ทั้ง 2 ชนิดจะไม่สามารถนิรมิตตนได้ในสถานที่ 5 แห่ง คือ ที่เกิด ที่ตาย ที่นอน ที่สมสู่ และที่ลอกคราบ

ส่วนระยะทางจากพื้นแผ่นดินที่เราอยู่ไปถึงนาคพิภพนั้น ไตรภูมิระบุว่ามีความลึกทั้งสิ้น 8,000 วา

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เก็บความจาก สมุดข่อย : สมุดภาพไตรภูมิ ฉบับหลวง สมัยธนบุรี เรียบเรียงโดย บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธ์ แสงทับ. (2542). โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย. สมุทรปราการ : สตาร์ปริ๊นท์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2567