“มอญซ่อนผ้า” ไม่ใช่การละเล่นของมอญ?

รำผีมอญ
พิธีรำผีมอญ ที่ยังคงสืบทอดรูปแบบเดิม ซุกซ่อนสรรพตำรา ทั้งดนตรี นาฏศิลป์ สถาปัตย์ การแต่งกาย และอาหารการกินอย่างโบราณ

“มอญซ่อนผ้า ตุ๊กตาอยู่ข้างหลัง ใครเผลอไม่คอยระวัง ตุ๊กตาอยู่ข้างหลังระวังจะถูกตี…”

เสียงเพลงร้องประกอบการละเล่นของเด็กๆ แว่วเข้าหู ทำให้ย้อนนึกไปถึงวันวาน วันวานที่เคยมีอดีตอันสดใสน่าค้นหาซุกซ่อนอยู่ บางครั้งปะปนอยู่กับซากเศษสิ่งของรกเรื้อใต้ถุนบ้าน ในห่อหรือในหีบผ้า แต่เหตุใดมอญต้องเอาไปซ่อน ซ่อนเพราะความหวงแหนว่าผู้อื่นจะเอาเยี่ยงอย่างไปใช้ หรือซ่อนเพราะเกรงว่าลูกหลานไม่เห็นค่าแล้วอาจทำตกหล่นสูญหายไป มอญจึงต้องซ่อนผ้า

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือเทศกาลปีใหม่แบบไทย เป็นช่วงเทศกาลที่ยิ่งใหญ่สำหรับชาวไทยโดยเฉพาะชาวต่างจังหวัด และยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเมื่อภาครัฐลงทุนประชาสัมพันธ์ออกมาทางสื่อทุกแขนงกระตุ้นเตือนถึงสำนึกความเป็นไทย ทำให้มนุษย์เงินเดือนต่างกระตือรือร้นต้องการย้อนคืนถิ่น ใฝ่หาไออุ่นจากครอบครัว กลับไปหาอดีตเมื่อวันวานครั้งยังเล็ก ชีวิตที่ไม่รีบร้อน มิตรภาพความเอื้ออาทรที่บริสุทธิ์ใจ วิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับวัฒนธรรมประเพณี ร้อยโยงความสัมพันธ์ของชาวบ้านและชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน

เป็นที่ทราบกันดีว่าเทศกาลสงกรานต์นั้นไม่ได้กำเนิดในเมืองไทย หากแต่เรารับเอาคตินั้นมาจากชาวอินเดีย ผ่านมาทางมอญ พร้อมๆ กับการยอมรับนับถือพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากการที่มีหลายๆ ชนชาติแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์ ในฐานะวันขึ้นปีใหม่ เช่นเดียวกันกับไทย

ประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ในราชสำนัก หรือประเพณีหลวง ล้วนถูกพัฒนาขึ้นจากประเพณีราษฎร์ที่มีวัดเป็นศูนย์กลาง ด้วยระยะเริ่มแรกชาวบ้านนั้นรับแบบแผนประเพณีมาจากเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย เปอร์เซีย เขมร และมอญ นำมาผสมผสานจนออกมามีรูปแบบเฉพาะตน ต่อมาเมื่อแบบแผนประเพณีเหล่านี้แพร่เข้าไปยังราชสำนัก ถูกดัดแปลงให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รายละเอียดที่วิจิตรบรรจง เป็นการสร้างความแตกต่างให้เห็นว่าถ้าเป็นประเพณีหลวงแล้วย่อมไม่ธรรมดา

จึงไม่แปลกเลยที่ทั้งพิธีราษฎร์ พิธีหลวง วัฒนธรรมประเพณี แม้แต่การละเล่นพื้นบ้านของไทยจึงไม่ใช่สิ่งที่คนไทยเป็นต้นคิดขึ้นมาทั้งหมด หากแต่คนไทยได้รับแนวคิดเหล่านั้นเข้ามาปรับปรุงแก้ไขให้กลมกลืน เข้ากับอุปนิสัยของคนไทยอย่างแนบเนียน

“เสาผี” หรือเสาเอกในบ้านมอญ จะมีหีบหรือตะกร้าใส่ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าโพกหัว และแหวนผีหัวพลอยแดง

ย้อนไปกล่าวถึงการละเล่น มอญซ่อนผ้า ของเด็กไทยสมัยก่อน (สมัยนี้ก็ยังมีให้เห็น แต่ไม่ได้เกิดจากความเต็มใจที่จะเล่นของเด็ก ทว่าเกิดจากการผลักดันของผู้ใหญ่ ให้เด็กเล่นเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม) กฎกติกาการละเล่นนั้นไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด เพียงมีลานกว้างๆ ผู้เล่นเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิงก็ได้อย่างน้อยสัก 10 คนขึ้นไป หาผ้ามา 1 ผืน นำมาพับและมัดเป็นก้อนกลมๆ คล้ายตุ๊กตา มีชายสำหรับถือ หรือใช้ตุ๊กตาผ้าจริงๆ ก็ได้

เมื่อคนเล่นพร้อมแล้ว ก็เลือกใครคนหนึ่งขึ้นมาสวมบทบาทให้เป็น “มอญ” คนที่เหลือก็นั่งล้อมวงช่วยกันส่งเสียงร้องเพลง “มอญซ่อนผ้า” เนื้อร้องดังได้เกริ่นนำไว้แล้วข้างต้น

ระหว่างที่ร้องเพลง มอญจะถือผ้าที่เป็นอุปกรณ์การเล่นเพียงชิ้นเดียวนั้นวิ่งหรือเดินช้าๆ เวียนด้านหลังคนที่นั่งล้อมวงกันอยู่ จะเวียนซ้ายหรือขวาก็ได้ แต่ต้องเวียนไปทางเดียวกันตลอดการเล่น แล้วเลือกทิ้ง (ซ่อน) ผ้าไว้ที่ข้างหลังคนใดคนหนึ่ง มอญจะรีบเดินเวียนต่อไปเพื่อให้ครบรอบ และหากคนที่ถูกซ่อนผ้าไว้ข้างหลังไม่รู้ตัว เมื่อมอญเวียนมาครบรอบก็หยิบผ้านั้นขึ้นมาไล่ตีก้นคนที่ถูกทิ้งผ้า

คนที่ถูกทิ้งผ้าต้องวิ่งหนีไปรอบๆ จนกว่าจะเวียนกลับมานั่งที่เดิมของตนได้ คนที่เป็นมอญก็จะยังเล่นเป็นมอญต่อไป แต่ถ้าคนที่ถูกทิ้งผ้านั้นรู้ตัว ก่อนที่มอญจะเวียนมาครบรอบ รีบฉวยผ้านั้นไล่ตีมอญไปเรื่อยจนกว่ามอญจะลงไปนั่งแทนที่เดิมของตน และคนผู้นั้นก็จะได้เล่นเป็นมอญแทน

ผู้เขียนพยายามค้นหาเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการละเล่น “มอญซ่อนผ้า” ทั้งสอบถามคนเฒ่าคนแก่ชาวมอญหลายท่าน ล้วนยืนยันตรงกันว่าการละเล่น “มอญซ่อนผ้า” นั้นไม่ใช่การละเล่นของมอญ

คาดว่าเป็นการละเล่นที่คนไทยคิดขึ้นมา ด้วยความที่คนไทยและคนมอญคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คนไทยจึงหยิบยกเอาจุดอ่อนของมอญขึ้นมาล้อเล่น เย้าแหย่กันประสาเพื่อนฝูง เพราะคนมอญนั้นซ่อนผ้าจริงๆ และคนมอญนั้นไม่เล่นตุ๊กตาเด็ดขาด

“มอญซ่อนผ้า” นั้นจะเป็นเพียงบทร้องประกอบการละเล่นของเด็กเท่านั้น หรือผ้าที่ว่านั้นคือผ้าชิ้นเล็กๆ ที่เด็กๆ นำมามัดเป็นรูปตุ๊กตาสำหรับวิ่งไล่ตีกันเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น หรือว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่มอญซ่อนเอาไว้ในห่อผ้านั้นคือศิลปวิทยาการทั้งปวง

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกจากเข้าวัดทำบุญ อาบน้ำผู้ใหญ่แล้ว การรำลึกถึงปู่ย่าตายายผู้ล่วงลับ ด้วยการทำความสะอาดโกศอัฐิ ประพรมน้ำอบ บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน ผ้าแพรหลากสี เป็นสิ่งที่คนมอญไม่เคยลืม

คนมอญนั้นนับถือผีอย่างมาก ซึ่งไม่ได้งมงายอย่างที่หลายท่านเข้าใจ เพราะผีที่คนมอญนับถือมิใช่ผีที่ไร้สกุลรุนชาติ ทว่าเป็นผีซึ่งเกิดจากปู่ย่าตายายของตนเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว

ผีมอญมีด้วยกันหลายสกุล เช่น ผีเต่า ผีไก่ ผีข้าวเหนียว ผีงู เป็นต้น (ตามความเข้าใจของผู้เขียน ที่หาเหตุผลและหลักฐานใดมาอ้างอิงมิได้ เชื่อว่า สกุลผีต่างๆ นั้นเกิดจากปู่ย่าตายายของตนเมื่อก่อนตายเคยชอบกินหรือสั่งเสียเอาไว้ เมื่อปู่ย่าตายายตายจากไป ลูกหลานจึงบำรุงเซ่นไหว้ด้วยอาหารที่ปรุงจากสิ่งที่ปู่ย่าตายายชื่นชอบ)

ผีมอญมีหน้าที่คอยปกปักรักษาดูแลลูกหลาน มีจารีตประเพณีที่ลูกหลานต้องปฏิบัติ หากลูกหลานปรนนิบัติผีได้เหมาะสมครบถ้วนแล้ว รับประกันได้ว่าชีวิตครอบครัวของเขาจะราบรื่น สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข เพราะจารีตประเพณีที่ลูกหลานต้องปฏิบัติต่อครอบครัวและปฏิบัติต่อผีนั้น สามารถเทียบได้กับกฎหมายในปัจจุบันนั่นเอง

บ้านมอญทุกบ้านจะมีเสาหลักหรือเสาเอกของบ้าน ซึ่งก็คือเสาผี อยู่ในเรือนใหญ่ชั้นใน และอยู่ในห้องนอนของเจ้าบ้าน เป็นเสาที่ใช้แขวนหีบหรือห่อผ้าผี ภายในหีบหรือห่อประกอบด้วยผ้านุ่งผ้าห่ม ผ้าโพกหัว และแหวนทองหัวพลอยแดง ๑ วง การเก็บดูแลรักษาผ้าผีต้องกระทำอย่างมิดชิด หมั่นดูแลใส่ใจตรวจตราความเรียบร้อยอยู่เนืองๆ อย่าให้ฉีกขาด แมลงกัดแทะหรือสูญหายไปได้

หากลูกหลานไม่หมั่นดูแล ปล่อยให้ผ้าผีฉีกขาดสูญหาย หรือละเมิดจารีตประเพณีอื่นๆ เช่น ห้ามให้คนนอกผีหรือคนนอกตระกูลมาหลับนอนลักษณะคู่ผัวตัวเมียในเรือนใหญ่ชั้นใน แม้แต่ลูกสาวที่ออกเรือนไปแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นผีอื่น (คนมอญจะถือผีทางฝ่ายชาย โดยถ่ายทอดผ่านลูกชายคนหัวปี) นอกจากนั้นยังห้ามคนตั้งท้องยืนพิงเสาบ้าน ห้ามคนในตระกูลจัดงานเงียบๆ ต้องแจ้งให้ญาติทุกคนในตระกูลมาร่วมงาน และห้ามคนในตระกูลจัดงานเกิน 1 ครั้ง ภายใน 1 ปี เป็นต้น มิเช่นนั้นผีจะลงโทษทำให้คนในบ้านป่วยไข้ไม่สบาย ทำมาหากินไม่ขึ้น จะต้องจัดพิธีรำผีเพื่อเป็นการไถ่โทษ

เมื่อพิเคราะห์ดูจารีตประเพณี กฎข้อห้าม ข้อปฏิบัติต่างๆ ต่อผีแล้ว พบว่ามีแต่ข้อดีที่เตือนสติและให้แง่คิด เป็นครรลองดำเนินชีวิตแก่ลูกหลาน โดยเฉพาะในสังคมสมัยที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ บางครั้งอ้างบาปบุญคุณโทษผู้คนจะกลัวเกรงกันน้อย หากยกเรื่องผีมาขู่ก็ดูจะได้ผลดีกว่า

อย่างเช่นการห้ามคนนอกผีเข้าเรือนชั้นใน ก็เห็นได้ชัดเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ที่สำคัญป้องกันปัญหาเรื่องชู้สาว กรณีการห้ามจัดงานเงียบๆ และห้ามจัดงานเกินปีละครั้ง ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการเน้นส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เพราะกฎที่ห้ามจัดงานเงียบๆ คือต้องบอกแขกเหรื่อให้มาร่วมงานโดยไม่ปิดบัง ญาติพี่น้องต้องมาให้ครบทั้งตระกูล ให้ญาติพี่น้องใส่ใจติดตามข่าวสารซึ่งกันและกัน นอกจากญาติพี่น้องได้พบปะสังสรรค์ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันแล้ว ยังเป็นการประหยัดหากจัดงานเหมือนกันก็จัดร่วมกันได้ ญาติพี่น้องได้มาร่วมงานกันถ้วนหน้า ลูกหลานได้รู้จักกัน ไม่บาดหมางกันและไม่แต่งงานกันเองภายในตระกูล ซึ่งคนมอญถือมากในเรื่องเหล่านี้

แม้การห้ามเรื่องการจัดงานเงียบๆ และให้ญาติพี่น้องทุกคนต้องมาร่วมงาน จะทำได้ยากในยุคสมัยนี้ ด้วยความจำเป็นทางภาระหน้าที่การงานและเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่ในยุคที่คนมอญยังไม่มีนามสกุลใช้ ยังไม่รู้จักเทคโนโลยีและการสื่อสาร การควบคุมดูแลกันเองภายในตระกูล โดยระบบการนับถือผีของมอญนี้นับว่าใช้ได้ผลดี

ในปัจจุบันนี้แม้สังคมทั้งไทยและมอญจะประสบปัญหาเช่นเดียวกันในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ ยุคที่ผู้คนบริโภคข่าวสาร คนรุ่นใหม่รับเอาวัฒนธรรมชาติตะวันตกเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างล้นทะลัก วัฒนธรรมไทยไม่อาจต้านกระแสเหล่านั้นได้ เพลงไทย ดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย การแต่งกายแบบไทย จะหาดูหาชมได้ที่กรมศิลปากรเท่านั้น ซึ่งก็นับว่าสถานการณ์ของไทยยังดีกว่าของมอญ เพราะมอญไม่มีประเทศ ชาวมอญเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองไทย ไม่ว่าจะทำนุบำรุงศิลปศาสตร์เอาไว้ได้ดีเพียงใด ก็เพียงได้ชื่อว่ารักษาวัฒนธรรมพื้นบ้านมอญ อันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย

หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช (2518) ได้กล่าวไว้ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ “…การที่ชาวมอญและชาวไทยอยู่ด้วยกัน และเข้ากันได้เป็นอย่างดีนั้น เนื่องด้วยชาวมอญและชาวไทยมีวัฒนธรรมประเพณีทีคล้ายๆ กัน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นศิลปวัฒนธรรมที่มอญทิ้งไว้ให้นั่นเอง…”

รองศาสตราจารย์ วัฒนา บุรกสิกร (2541) อดีตอาจารย์สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนองานวิจัยเรื่องลักษณะคำไทยที่มาจากภาษามอญ ระบุว่ามีคำไทยที่ยืมมาจากภาษามอญถึง ๖๙๗ คำ

กฎหมายตราสามดวง (2505) ซึ่งเป็นต้นแบบของกฎหมาย และพัฒนามาสู่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในปัจจุบัน กล่าวไว้ในตอนต้นว่ากฎหมายตราสามดวงดังกล่าวมีที่มาจากพระธรรมศาสตร์ของมอญ

กรณีตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นชัดแล้วว่าวัฒนธรรมประเพณีของมอญใกล้เคียงและสัมพันธ์อยู่กับวัฒนธรรมประเพณีไทยจนแยกไม่ออก บางครั้งคนมอญเองก็ลืมเลือนไปว่าสิ่งใดคือของไทย และสิ่งใดเป็นของมอญ ครั้นจะทึกทักเอาเองก็ดูจะโอ้อวดเกินไป แต่สิ่งที่ยังคงมั่นใจได้ว่าสิ่งใดเป็นมอญแท้ อย่างน้อยคงดูได้จากวัฒนธรรมประเพณีมอญที่ยังคงหลงเหลือในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผี เพราะขึ้นชื่อว่าผีแล้วไม่ค่อยมีใครกล้าเปลี่ยนแปลงลักษณะและขั้นตอนมากนัก

ยิ่งเมื่อได้ไปพบเห็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการรำผีในเมืองมอญ (เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า) เข้าแล้ว ทั้งสถาปัตยกรรม (โรงรำผี) ดนตรีปี่พาทย์ อาหารเซ่นผี การแต่งกาย ขั้นตอนประกอบพิธีกรรม และยิ่งภาษาที่ใช้สื่อสารกัน ผู้เขียนพบว่า แม้ตระกูลของผู้เขียนจะอพยพมาจากเมืองมอญเกือบ 200 ปีแล้ว ยังสามารถสื่อสารกันได้ดี แม้สำเนียงและรูปประโยคจะผิดเพี้ยนกันไปบ้าง นั่นย่อมแสดงว่าวัฒนธรรมประเพณีของมอญที่ชาวมอญนำติดตัวเข้ามาด้วยนั้น แผ่นดินไทยยังคงเก็บรักษาไว้ให้เป็นอย่างดี

คนมอญนั้นสั่งนักสั่งหนามาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ทั้งห้ามลูกห้ามหลานเป็นคำขาดว่าไม่ให้เล่นตุ๊กตา (ผู้เขียนเองแม้บัดนี้โตเป็นหนุ่มใหญ่แล้วก็ยังไม่เคยเล่นตุ๊กตาและหุ่นยนต์เลย-ไม่ทราบเหตุผลแต่ก็ยอมทำตามโดยดี) อีกทั้งเรื่องที่ “มอญซ่อนผ้า” ก็เป็นจริงดังที่คนไทยว่า แต่จะด้วยเหตุผลใดนั้นคงไม่สามารถสรุปให้แน่ชัดลงไปได้ สิ่งที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือการซ่อนผ้าผีในหีบเก่าคร่ำคร่า ทว่าแฝงไปด้วยกุศโลบายสอนลูกสอนหลานให้รู้คุณค่าของคน

แต่หากจะกล่าวแบบนามธรรมแล้ว ก็เป็นเพราะมอญได้สูญเสียเอกราชมากว่า 248 ปี จำเป็นต้องเก็บสั่งสมศิลปวิทยาการใส่ผ้าห่อเอาไว้ รอวันที่ฟ้าจะมีหงส์ รอวันให้หงส์คืนรังเหมือนเมื่อบ้านเมืองยังดี เมื่อนั้น “มอญ” จะไม่ “ซ่อนผ้า” อีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หนังสืออ้างอิง :

กรมศิลปากร. กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1. 2505.

กรมศิลปากร. “พงศาวดารพม่ารามัญ,” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 10. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542, หน้า 1-76.

ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ. 20 ปี ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เท็คโปรโมชั่น, 2538.

วัฒนา บุรกสิกร. รายงานการวิจัยเรื่องลักษณะคำไทยที่มาจากภาษามอญ. กรุงเทพฯ : เท็คโปรโมชั่น, 2541.

วิเชียร เกษประทุม. 100 การละเล่นของเด็กไทย. กรุงเทพฯ : เรืองแสงการพิมพ์, 2547.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน 2560