สืบหาบรรพบุรุษต้นราชวงศ์จักรี ฤๅสืบเชื้อสายมอญ หรือ ราชวงศ์พระร่วง?

ภาพเขียน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต้นราชวงศ์จักรี อาจารย์พิชัย นิรันต์ อาคารรัฐสภา
ภาพเขียนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระนครและพระบรมมหาราชวังขึ้นทางฟากตรงข้ามกับกรุงธนบุรี เขียนโดย อาจารย์พิชัย นิรันต์ ปัจจุบันภาพนี้อยู่ที่อาคารรัฐสภา

ตามรอยสืบหาบรรพบุรุษ ต้นราชวงศ์จักรี

ตามขนบธรรมเนียมประเพณีราชสำนักสยามแต่โบราณจะไม่นิยมกล่าวถึงพระราชประวัติก่อนการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าแผ่นดินแต่ละพระองค์ไว้เป็นหลักฐานอ้างอิง ส่วนใหญ่มักปกปิดเป็นความลับ หรืออย่างดีก็แค่เพียงกล่าวไว้เป็นนัย ๆ พอเป็นที่รับรู้กันแต่วงใน ส่งผลให้พระราชประวัติของพระเจ้าแผ่นดินสยามแต่ละพระองค์มีความลึกลับและมืดมนอนธการยิ่งนัก

แต่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ .. 2394-2411) นับเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์แรกที่ทรงยอมเปิดเผยถึงประวัติบรรพบุรุษ ต้นราชวงศ์จักรี ไว้ในพระราชหัตถเลขาสำหรับพระราชทานแก่เซอร์จอห์น เบาริง (Sir John Bowring) ราชทูตอังกฤษที่เดินทางเข้ามายังประเทศสยาม เพื่อขอแก้สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างสยามกับอังกฤษ เมื่อ .. 2398

โดยเซอร์จอห์น เบาริง ได้นำพระราชหัตถเลขาฉบับดังกล่าวมาตีพิมพ์ลงในหนังสือเรื่องราชอาณาจักรและราษฎรสยาม (The Kingdom and People of Siam) ของตน ความว่า

“กล่าวกันว่า ต้นตระกูลทางฝ่ายท่านบิดาของเราเป็นชาวเมืองหันสวัตตี… อันเป็นเมืองหลวงของพะโค ที่สังฆราชปัลเลอกัวซ์ได้เขียนเลียนเสียงไปอย่างผิด ๆ หรือออกเสียงชื่อภาษาสันสกฤตว่า ‘หงสาวดี’ ในสมัยนั้นกษัตริย์ที่ปกครองเมืองพะโคมีพระนามในภาษามอญว่า Jamna ti cho[1] และเรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่า ‘ดุษฎีสาวิชัย’… คนในตระกูลเป็นเจ้าหน้าที่ของบ้านเมือง รับราชการเป็นทหารของกษัตริย์ผู้ทำสงครามชนะอยุธยาเมื่อประมาณคริสต์ศักราช 1552/.. 2095 แล้วตั้งให้กษัตริย์ชาวสยามผู้ปกครองสยามตอนเหนือที่เป็นพันธมิตรของพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินของสยามทั้งหมดที่อยุธยา มีพระนามว่า ‘พระมหาธรรมราชาธิราช’ได้นำพระราชบุตรของพระเจ้ากรุงสยาม… ไปเป็นตัวประกันที่เมืองพะโค

พระเจ้ากรุงสยามในขณะนั้นทรงยินยอมจะเป็นเมืองขึ้นของพะโค พระโอรสที่ได้ติดตาม… มีพระนามว่า พระนเรศร… ผู้ประทับหรือเสด็จอยู่ในเมืองพะโคตลอดพระชนม์ชีพหรือตลอดรัชกาลของกษัตริย์มอญผู้พิชิต[2] เมื่อกษัตริย์ได้เสด็จสวรรคต พระนเรศรทรงพบเห็นบ้านเมืองพะโคตกอยู่ในความยุ่งยากที่จะเลือกผู้สืบทอดราชสมบัตินานถึงครึ่งเดือน จึงทรงชักชวนบรรดาครัวมอญที่จงรักภักดีต่อพระองค์ให้ติดตามมา ทรงหนีกลับมาสู่แผ่นดินเกิดของพระองค์ในสยามด้วยเหตุนั้น และทรงประกาศตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกรุงหงสาวดีอีกต่อไป ในตอนนี้คนในตระกูลที่รับราชการเป็นทหารของพระเจ้ากรุงหงสาวดีได้ติดตามมากับสมเด็จพระนเรศรด้วย แล้วตั้งหลักแหล่งอยู่ในอยุธยา ในพื้นที่ที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นได้พระราชทานให้

หลังจากรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศร… เรื่องราวของตระกูลนี้ได้ขาดหายไปจากการรับรู้ของพวกเรา จนกระทั่งถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายู[3]… ทรงปกครองอยุธยาและละโว้ เมื่อประมาณคริสต์ศักราช 1656-82/.. 2199-2225 ในรัชสมัยของกษัตริย์พระองค์นี้ สองพี่น้องผู้เป็นอภิชาตบุตรที่ได้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลดังกล่าว เป็นที่โปรดปรานที่สุดของพระเจ้าแผ่นดิน จึงได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้คนผู้พี่เป็นที่ ‘เจ้าพระยาคลัง'[4] เป็นใหญ่ในเรื่องการต่างประเทศ ผู้ต้อนรับคณะทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางมายังสยามในช่วงเวลานั้น

และโปรดเกล้าฯ ให้น้องชายของท่านเจ้าพระยาพระคลังชื่อว่า ปาล[5] ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะทูตสยามไปเยือนฝรั่งเศส เพื่อตอบแทนมิตรภาพของรัฐบาลฝรั่งเศส แต่ว่าเรือได้แตกที่แหลมกู๊ดโฮป ที่ซึ่งราชทูตและคณะติดค้างอยู่เป็นเวลานานพอสมควร และต่อมาภายหลังได้เดินทางต่อไปจนถึงฝรั่งเศส ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาลฝรั่งเศสขณะนั้น และได้เดินทางกลับสู่ประเทศสยาม พอดีกับผู้เป็นพี่ได้ถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระนารายูจึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเขา (นายปาล) เป็นหัวหน้าคณะทูตในที่ทำการของท่านผู้เป็นพี่ชาย คือ ‘เจ้าพระยาคลัง’ เสนาบดีการต่างประเทศ

กล่าวกันว่าบุพการีของพวกเราสืบสายเลือดต่อลงมาจากท่านผู้เป็นอภิชาตบุตรนี้เอง แต่ว่าที่ทำการและงานราชการของพวกเขามิได้สืบทอดกันในชั่วอายุคนอยู่ 2-3 รัชสมัยของกษัตริย์สยามที่ครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระนารายู จนกระทั่งถึงแผ่นดินของพระภูมินทราชาธิราช[6]… ผู้ได้ปกครองแผ่นดินสยามตั้งแต่คริสต์ศักราช 1706-32/.. 2249-75 ในสมัยนั้น ต้นตระกูลผู้เป็นบิดา[7] ของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรก[8] และเป็นปู่ของพระราชบิดา[9] ในพระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบัน (ตัวข้าพเจ้า)[10] กับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อน (พระเชษฐาผู้ทรงล่วงไปแล้วของข้าพเจ้า)[11] แห่งสยาม เป็นอภิชาตบุตรของตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากเสนาบดีต่างประเทศที่ได้กล่าวมาแล้ว

ท่านได้ย้ายหลักแหล่งจากอยุธยามาเพื่อความสุขของชีวิต และตั้งบ้านเรือนที่ ‘สะกุตรัง’ (Sakutrang) เป็นท่าเรือบนลำน้ำสายเล็กอันเป็นสาขาของแม่น้ำใหญ่ ตรงรอยต่อของราชอาณาจักรสยามตอนเหนือกับตอนใต้ ที่ประมาณละติจูด 13 องศา 15 ลิปดา 30 พิลิปดา เหนือขึ้นไปเล็กน้อย กับลองติจูดที่ 90 องศา 90 ลิปดาตะวันออก ท่านผู้เป็นอภิชาตบุตรคนดังกล่าวได้ถือกำเนิดขึ้นที่นั่น และได้กลายเป็นผู้มีความชำนาญและมีความรู้ความสามารถในทางราชการ

ท่านได้ออกจาก ‘สะเกตรัง’ (Saketrang) ไปยังอยุธยา ที่ซึ่งได้รับคำแนะนำให้เข้ารับราชการและได้สมรสกับธิดารูปงามของครอบครัวคหบดีจีนที่ร่ำรวยที่สุดในย่านที่อยู่อาศัยของชาวจีน ภายในกำแพงเมืองตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอยุธยา และได้กลายเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดิน… และได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาลักษณ์ทำหน้าที่ออกหนังสือโต้ตอบสื่อสารถึงเมืองปากเหนือ (คือทุกเมืองหรือแคว้นในภาคเหนือ ทั้งที่เป็นอิสระและเป็นเมืองขึ้นของสยาม) และเป็นผู้รักษาพระราชลัญจกร เฉพาะในประการหลัง ทำให้มีราชทินนามเป็น ‘พระอักษรสุนทรเสมียนตรา'”[12]

พระราชพงศาวดารแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอนสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งเมืองหงสาวดี โดย หลวงพิศณุกรรม (เล็ก) พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสถึงเรื่องบรรพบุรุษ ต้นราชวงศ์จักรี ว่าสืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางมอญเมืองหงสาวดี (พะโค) ซึ่งตามเสด็จสมเด็จพระนเรศ (ครองราชย์ .. 2133-2148) เข้ามารับราชการอยู่ยังกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระองค์ที่ 1 (ขุนพิเรนทรเทพ ครองราชย์ .. 2112-2133)

เมื่อนำเค้าโครงเรื่องขุนนางมอญผู้เป็นบรรพบุรุษ ต้นราชวงศ์จักรี มาสอบกับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาแล้ว เข้าใจว่าเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งระหว่างพระญาเกียรติและพระญาพระราม พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ซึ่งเป็นต้นแบบพิมพ์เขียวของพระราชพงศาวดารฯ ฉบับความพิสดาร ซึ่งสอบชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อคราวพระญาเกียรติกับพระญาพระรามตัดสินใจอพยพหนีราชภัยจากพระเจ้าหงสาวดีเซงพยูงาซีเชง (พระเจ้านันดาบาเยง ครองราชย์ .. 2124-42) โดยเสด็จสมเด็จพระนเรศเข้ามารับราชการอยู่ยังพระนครศรีอยุทธยา หลังจากที่พระองค์ทรงประกาศอิสรภาพตัดขาดทางพระราชไมตรีกับกรุงหงสาวดีเมื่อ .. 2127 ว่า

“ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าเสด็จยกพยุหแสนยากรไปถึงเมืองแครง วันพฤหัสบดี ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ขณะนั้นรู้ข่าวไปถึงซักแซกยอถ่างเจ้าเมืองแครงให้ปลัดเมืองออกมาทูลว่า ขอเชิญเสด็จพักพลอยู่แต่นอกเมืองแครงก่อน สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าก็ให้พักพลอยู่ใกล้พระอารามพระมหาเถรคันฉ่อง แล้วตรัสให้ข่าวขึ้นไปถึงพระเจ้าหงสาวดีว่า ยกทัพมาถึงเมืองแล้ว พระเจ้าหงสาวดีทราบดังนั้นก็มีความยินดีว่า ครั้งนี้จะสมคิดแล้ว จึงให้จัดกองทัพหมื่นหนึ่งออกไปซุ่มไว้ต่อทางพระนเรศวรจะขึ้นมานั้นไกลเมืองหงสาวดีวันหนึ่ง แล้วตรัสให้พญาเกียรติพญารามลงไปรับ ถ้าพระนเรศวรยกล่วงขึ้นมาแล้ว เราจะยกทัพหลวงออกตีหน้า ให้พญาเกียรติพญารามเอากองทัพทั้งนี้ตีกระหนาบหลัง จับเอาตัวพระนเรศวรประหารชีวิตเสียให้จงได้ เมืองหงสาวดีจึงจะเป็นอิสรภาพไพศาลกว่าพระนครทั้งปวง

พญารามพญาเกียรติกราบถวายบังคมลายกไปถึงเมืองแครง ก็ทูลสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าว่า พระเจ้าหงสาวดีให้ข้าพระพุทธิเจ้าทั้งสองนี้มารับเสด็จขึ้นไป ทูลเท่าดังนั้นแล้ว ก็ถวายบังคมลาไปนมัสการพระมหาเถรคันฉ่องผู้เป็นอาจารย์ แจ้งความซึ่งพระเจ้าหงสาวดีคิดทำการทั้งปวงนั้นให้พระมหาเถรคันฉ่องฟังทุกประการ พระมหาเถรคันฉ่องแจ้งดังนั้นมีใจกรุณาแก่สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า เพื่อว่าหาความผิดมิได้ อนึ่งด้วยพระราชกฤษดาอภินิหารบารมีสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าจะได้บำรุงพระบวรพุทธศาสนาอาณาประชาราษฎร์ให้ถาวรวัฒนาการสืบไป

ครั้นเพลาค่ำก็พาพญารามพญาเกียรติเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า แล้วถวายพระพรว่าพญารามพญาเกียรตินี้เป็นสานุศิษย์รูป มาบอกว่า พระเจ้าหงสาวดีคิดประทุษร้ายต่อพระองค์ สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าแจ้งดังนั้นก็ตรัสถามพญารามพญาเกียรติว่า เหตุผลประการใดพระเจ้าหงสาวดีจึงคิดจะทำร้ายเรา พญารามพญาเกียรติก็กราบทูลตามความซึ่งพระเจ้าหงสาวดีคิดแล้วสั่งนั้นถวายทุกประการ สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าได้ทรงทราบก็น้อยพระทัย คิดอาฆาตแก่พระเจ้าหงสาวดี จึงตรัสแก่พระมหาเถรคันฉ่องว่า ซึ่งพระองค์เมตตาบอกเหตุการณ์แก่ข้าพเจ้า ทั้งนี้พระคุณนั้นหาที่สุดมิได้ อันพระองค์จะอยู่ในเมืองมอญนี้ พระเจ้าหงสาวดีแจ้ง อันตรายก็จะมีเป็นมั่นคง ข้าพเจ้าจะนำพระองค์กับพญาเกียรติ พญารามแลญาติโยมทั้งปวงลงไปอยู่ กรุงพระมหานครศรีอยุธยา จะได้ปฏิการสนองคุณพระองค์ แลปลูกเลี้ยงพญาเกียรติพญารามโดยกตเวทิธรรมประเวณี พระมหาเถรคันฉ่องแลพญาเกียรติ พญารามก็พร้อมด้วยพระราชบริหาร

สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าก็ตรัสแก่มุขมาตยาโยธาหาญทั้งปวงว่า เราหาความผิดมิได้ ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีคิดร้ายต่อเราก่อนนั้น อันแผ่นดินพระมหานครกับแผ่นดินหงสาวดี ขาดจากทางพระราชไมตรีกัน เพราะเป็นอกุศลกรรมนิยมสำหรับที่จะให้สมณพราหมณาอาณาประชาราษฎรได้ความเดือดร้อนแล้ว พระหัตถ์ก็ทรงสุวรรณภิงคารหลั่งอุธกธาราลงเหนือพื้นพสุธาดล จึงออกพระโอษฐ์ตรัสประกาศแก่เทพเจ้าทั้งหลายอันมีมหิทธิฤทธิแลทิพจักษุทิพโสต ซึ่งสถิตทุกทิศานุทิศ จงเป็นทิพพยาน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีมิได้ตั้งอยู่ในคลองสุจริตมิตรภาพขัตติยประเพณีเสียสามัคคีรสธรรม ประพฤติพาลทุจริตคิดจะทำภยันตรายแก่เรา ตั้งแต่วันนี้ไปกรุงเทพพระมหานครศรีอยุธยากับเมืองหงสาวดีมิได้เป็นสุวรรณปัถพีดุจแต่ก่อน ขาดกันแต่วันนี้ไปตราบเท่ากัลปาวสาน

ครั้นพระราชบริหารประกาศเป็นฉินทภาคอุภัยนัคราเสร็จแล้ว ก็มีพระราชโองการตรัสสั่งท้าวพญามุขมนตรีทั้งปวงว่า เราจะยกกลับหลังไปพระนคร จะพาพระมหาเถรคันฉ่องแลญาติโยมกับพญาพระรามกับพญาเกียรติไปแล้ว จะตีกวาดครอบครัวรามัญหัวเมืองรายทางไปด้วย

ครั้น วันศุกร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 6 เพลา 11 ทุ่ม ให้เอาพระคชาธารเข้าเทียบเกย ทอดพระเนตรเห็นพระสารีริกบรมธาตุเสด็จปาฏิหาริย์แต่ประจิมทิศผ่านพระคชาธารไปโดยบุรพทิศ จึงเสด็จพยุหยาตราทัพออกจากเมืองแครง พระมหาเถรคันฉ่องพญาพระรามพญาเกียรติแลญาติโยมก็มาโดยเสด็จ ฝ่ายนายทัพนายกองทั้งปวงก็แยกย้ายกันตีครัวต้อนครัวรายทางมาได้ประมาณหมื่นเศษ ครั้นถึงฝั่งแม่น้ำสโตงก็ให้เที่ยวเก็บเรือหาไม้ผูกพ่วงแพเร่งข้ามครอบครัวรี้พลช้างม้าทั้งปวง ถึงฟากสิ้นแล้วก็ให้เผาเรือทำลายเสีย

สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าก็เสด็จยกมาโดยทางเมืองกาญจนบุรี ครั้นถึงพระนครศรีอยุธยา ก็กราบทูลสุรายเรื่องยุบลคดีทั้งปวงถวายให้ทราบทุกประการ สมเด็จพระราชบิดาแจ้งดังนั้น ตรัสว่า เรามิได้มีสิ่งผิด พระเจ้าหงสาวดีมิได้ตั้งอยู่ในคลองธรรม เสียสัตยานุสัตย์ ประพฤติพาลทุจริตอิจฉาจารเป็นวิสมโลภต่อเราฉะนี้ ก็เพราะผลวิบากแห่งสัตว์เป็นสำหรับกระลียุค ตั้งแต่นี้ไปมอญกับไทยจะเป็นปรปักษ์แก่กัน สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าก็กราบทูลว่า ถึงมาตรว่าพระเจ้าหงสาวดีจะยกพยุหแสนยากรมาสักเท่าใดๆ ก็ดีมิได้เกรง ข้าพเจ้ามีแต่ชีวิตจะสนองพระคุณมิให้เคืองฝ่าพระบาท

สมเด็จพระราชบิดากับสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าตรัสดำริการกันเสร็จแล้ว จึงโปรดให้พระมหาเถรคันฉ่องอยู่วัดพระมหาธาตุ พระราชทานสัปทนกันชิงคานหามคนหามจันหันนิตยภัตร เครื่องสมณบริขารต่างๆ ฝ่ายพญาเกียรติพญาพระรามนั้น ก็พระราชทานเจียดทอง เต้าน้ำทอง กระบี่บั้งทอง เงินตรา เสื้อผ้าพรรณนุ่งห่มแลเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก แลครอบครัวมอญซึ่งกวาดลงมานั้น ก็พระราชทานให้พญาพระรามพญาเกียรติควบคุมว่ากล่าวด้วย แลพญาพระรามพญาเกียรตินั้นให้อยู่ตำบลบ้านหลังวัดนก แล้วสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าก็กราบถวายบังคมลากลับมายังเมืองพระพิษณุโลก…”[13]

ภาพพิมพ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดย เป.แบร์ทร็องด์ (P.Bertrand) จิตรกรชาวฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในราว พ.ศ.๒๒๓๐ จะสังเกตเห็นพระราชนิยมเปอร์เซียที่ปรากฏในฉลองพะรองค์ เช่น ผ้าโพกพระเศียร

แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมิได้ทรงกล่าวไว้ในพระราชหัตถเลขาว่า ขุนนางมอญท่านใดระหว่างพระญาเกียรติกับพระญาพระรามที่เป็นบรรพบุรุษ ต้นราชวงศ์จักรี แต่หม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในหนังสือเรื่อง ประวัติโกษาปานและบันทึกการเดินทางไปฝรั่งเศส โดยอ้างอิงมาจากสมุดจดบันทึกประจำวันของบรรพบุรุษที่ตกทอดมาถึงตัวท่านว่า (จัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

“พวกสกุลชุมสายสืบเชื้อสายมาจากพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรพบุรุษคนแรก คือ พระยาเกียรติ แม่ทัพมอญ ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมารับราชการอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ลูกหลานคนหนึ่งของพระยาเกียรติได้แต่งงานกับเจ้าแม่ดุสิต สตรีผู้สูงศักดิ์แห่งราชสำนัก เจ้าแม่ดุสิตเคยเป็นแม่เลี้ยงและแม่นมของสมเด็จพระนารายณ์มาก่อน

ทั้งนี้ เพราะพระราชมารดาของพระองค์เองสิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระนารายณ์มีพระชันษาได้เพียง 7 เดือน เจ้าแม่ดุสิตจึงถวายการเลี้ยงดูพระองค์มาพร้อมกับบุตรของนางเอง สมเด็จพระนารายณ์ทรงเรียกนางว่า เจ้าแม่ดุสิต ชื่อจริงของนาง คือ บัว เดิมอาศัยอยู่ใกล้วัดดุสิต ตรงคลองข้าวสาร จึงได้เรียกกันมาว่า เจ้าแม่ดุสิต”

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า นอกจากพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมุดจดบันทึกประจำวันของบรรพบุรุษของหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย จะอาศัยข้อมูลจากการบอกเล่าภายในราชสำนักทำนองพงศาวดารกระซิบแล้ว สันนิษฐานว่า ข้อมูลบางเรื่องอ้างอิงมาจากหนังสือเรื่อง ปฐมวงศ์ ฉบับของ ...กุหลาบ สันนิษฐานว่าเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนฯ ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพระประวัติของเจ้าแม่วัดดุสิตว่า

“เริ่มความในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระศรีสรรเพชญ บรมราชาธิราชปราสาททอง ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ 25 พระองค์ ในกรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุทธยา ปรากฏเป็นข้อต้น พระเจ้าปราสาททองมีพระราชโอรสกับพระราชเทพีพระองค์หนึ่ง เป็นพระราชกุมารทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมาร ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นพระราชบิดา จึ่งพระราชทานพระนมนางองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นหม่อมเจ้าหญิงในราชนิกูลพระเจ้าแผ่นดิน พระราชทานให้เป็นพระนมของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมาร เป็นพระนมเอกนั้น ไว้ทรงอภิบาลทะนุบำรุงเจ้าฟ้านารายณ์มาแต่ทรงพระเยาว์จนทรงพระเจริญ เป็นทั้งพระพี่เลี้ยงแลพระนมด้วย พระราชชนนีของพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านารายณ์ราชกุมารนั้น ทิวงคตแต่เมื่อประสูติได้เก้าวัน เพราะเหตุนั้นสมเด็จพระนารายณ์จึ่งได้ทรงรักใคร่นับถือเหมือนพระราชมารดา

ครั้นเมื่อสมเด็จเจ้าฟ้านารายณ์ได้เสด็จขึ้นเถลิงสิริราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินในที่ 28 พระองค์ ในกรุงศรีอยุทธยา ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระบรมราชา รามาธิบดีศรีสรรเพชญ พระนารายณ์เป็นเจ้าๆ จึ่งทรงตั้งหม่อมเจ้าพระนมนางขึ้นเป็นพระองค์เจ้า แล้วทรงสร้างวังมีตำหนักตึกที่ริมวัดดุสิดาราม นอกกำแพงพระนคร ถวายพระองค์เจ้าพระนมนางให้เสด็จประทับเป็นที่สำราญพระทัย ครั้งนั้นคนเรียกว่า เจ้าแม่วัดดุสิต ตามที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเรียกว่า เจ้าแม่วัดดุสิตๆ มีบุตรมาแต่เดิมนั้น 2 คนเป็นชาย คนใหญ่ชื่อคุณเหล็ก คนที่ 2 ชื่อคุณปาล

ครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคุณเหล็กให้เป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดีที่พระคลัง เสนาบดีผู้ว่าราชการในกรมท่า แล้วได้ว่าที่สมุหพระกระลาโหมด้วย เมื่อเจ้าพระยาโกษาเหล็กถึงแก่อสัญกรรมแล้ว พระเจ้าแผ่นดินจึ่งโปรดฯ ตั้งคุณปาลผู้น้องเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดีที่พระคลัง ท่านเจ้าพระยาโกษาทั้ง 2 นั้นเป็นเชื้อสายสืบเนื่องมาจากราชนิกูล เจ้าพระยาโกษาปาลถึงแก่อสัญกรรมในแผ่นดินพระนารายณ์จวนจะสวรรคตอยู่แล้ว”[14]

ข้าพเจ้าเข้าใจว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส คงทรงพระนิพนธ์หนังสือเรื่อง ปฐมวงศ์ตามรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการพระราชนิพนธ์เรื่องบรรพบุรุษ ต้นราชวงศ์จักรี เพื่อพระราชทานแก่เซอร์จอห์น เบาริง

สมุดจดบันทึกประจำวันของบรรพบุรุษของหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย จดพระนามเดิมของเจ้าแม่วัดดุสิตไว้ว่า หม่อมเจ้าบัว แต่หนังสือเรื่อง อิศรางกูร พิมพ์ในงานฌาปนกิจ หม่อมหลวงปุย อิศรางกูร เมื่อ .. 2517 ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า

“เจ้าแม่วัดดุสิตจะมีนามว่ากระไรแน่นั้น หลักฐานกล่าวไว้ไม่ตรงกัน บางแห่งกล่าวว่าชื่อ หม่อมเจ้าหญิงบัวมีเชื้อสายพระร่วงสุโขทัย บางหลักฐานก็กล่าวว่าชื่อหม่อมเจ้าหญิงอำไพ ราชธิดาของสมเด็จพระเอกาทศรถ”[15]

ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ขุนนางชาวกรีกที่มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ

หนังสือเรื่องอิศรางกูรได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า เจ้าแม่วัดดุสิตทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 1 (พระราเมศวร ครองราชย์ .. 2148-53) สอดคล้องกับหนังสือเรื่อง ปฐมวงศ์ ฉบับของ ...กุหลาบ ที่ว่า เจ้าแม่วัดดุสิตทรงเป็น “หม่อมเจ้าหญิงในราชนิกูลพระเจ้าแผ่นดิน” อันเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 3 พระเจ้าปราสาททอง (พระองค์ศรีธรรมราชาธิราช ครองราชย์ 2172-99) เจ้าแม่วัดดุสิตได้วิวาหมงคลกับลูกหลานคนหนึ่งของพระยาเกียรติขุนนางมอญ โดยบันทึกต้องสงสัยอย่างพงศาวดารไทย จดหมายเหตุเจ้าแม่วัดดุสิต ในสมัยกรุงศรีอยุทธยา ระบุว่า “พระเจ้าแม่วัดดุสิต” หรือ “หม่อมเจ้าบัว” ทรงอภิเษกสมรสกับ “หม่อมเจ้าอำไพ”[16] ซึ่งไม่ทราบว่าพระองค์ทรงเป็นพระราชวงศ์สายใด

ต่อมาเจ้าแม่วัดดุสิตได้ถวายตัวเป็น พระนมเอก ในสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) สอดคล้องกับข้อเท็จจริงจากหนังสือเรื่อง โครงกระดูกในตู้ ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งคัดมาจากหนังสือเรื่อง ราชินิกุลบางช้าง ซึ่งพิมพ์แจกในงานฉลองพระราชสมภพครบ 200 ปี ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ความว่า

“แรกเริ่มเดิมที ท่าน (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) เกิดมาในตระกูลขุนนางในกรุงศรีอยุธยา ตระกูลของท่านเป็นตระกูลขุนนางสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน นับแต่เจ้าพระยาโกศาปาน นักรบและนักการทูต ผู้มีชื่อเสียงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าพระยาโกศาปานเป็นบุตรเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ เจ้าแม่วัดดุสิตมีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าในราชวงศ์พระมหาธรรมราชา ซึ่งสืบเชื้อสายมาแต่ราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย”[17]

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า หนังสือเรื่อง ราชินิกุลบางช้าง อิศรางกูร และโครงกระดูกในตู้ ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกว่า เจ้าแม่วัดดุสิตทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์สุโขทัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระองค์ที่ 1 (ขุนพิเรนทรเทพ) โดยพระบิดาของพระองค์ทรงเป็นพระราชวงศ์พระร่วงเมืองสุโขทัย

สำหรับข้าพเจ้าเห็นว่า ข้อเท็จจริงเรื่องเจ้าแม่วัดดุสิตทรงสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัยนั้นดูมีเงื่อนเค้าความจริงอยู่บ้าง ไม่ว่าพระองค์จะทรงเป็นพระธิดาในพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 1 (พระราเมศวร) หรือเจ้าราชนิกุลในพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 3 (พระเจ้าปราสาททอง) เพราะแท้ที่จริงพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 3 (พระเจ้าปราสาททอง) ทรงเป็น “โอรสลับ” ของสมเด็จพระนเรศ อันประสูติแต่ “นางอิน” หญิงชาวบ้าน

ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ เจ้าแม่วัดดุสิตจึงนับเนื่องอยู่ในราชวงศ์สุโขทัยของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระองค์ที่ 1 ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์พระร่วงเมืองสุโขทัยอีกทีหนึ่ง แม้ว่าหนังสือเรื่อง อิศรางกูร จะให้ข้อมูลสำคัญว่า เจ้าแม่วัดดุสิตทรงเป็นพระธิดาในพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 1 (พระราเมศวร) แต่ก็เป็นเพียงคำบอกเล่าสืบต่อกันมาภายในวงศ์ตระกูลเยี่ยงนิทานปรัมปรา หาได้มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันถึงความถูกต้องในเรื่องนี้

ข้าพเจ้าจึงทำได้แค่เพียงตั้งสมมุติฐานว่า เจ้าแม่วัดดุสิตอาจเป็นพระราชนัดดาหรือพระธิดา อันประสูติแต่พระสนมของพระเจ้าแผ่นดินศรีอยุทธยาองค์ใดองค์หนึ่งในสมัยศรีอยุทธยาตอนต้น (.. 2112-2310) จึงมีพระอิสริยศักดิ์เป็นเพียง “หม่อมเจ้า” เท่านั้น แม้ข้าพเจ้าจะยังไม่อาจสืบหาความจริงในเรื่องนี้ได้ แต่ด้วยความที่เจ้าแม่วัดดุสิตทรงเป็นเจ้าราชนิกุลชั้นปลายแถว ก็ไม่น่าแปลกอะไรที่พระองค์จะทรงวิวาหมงคลกับลูกหลานของพระญาเกียรติขุนนางเชื้อสายมอญ

พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ระบุว่า เมื่อพระราชเทวีสิ้นพระชนม์หลังจากมีพระประสูติกาลพระนารายณ์ราชกุมารแล้ว พระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 3 (พระเจ้าปราสาททอง) ก็โปรดให้เจ้าแม่วัดดุสิตเป็น “พระนมเอก”คอยอภิบาลเลี้ยงดูพระนารายณ์ราชกุมารตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา แต่พึงสังเกตว่า สมุดจดบันทึกประจำวันของบรรพบุรุษของหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า เจ้าแม่วัดดุสิตทรงเป็น “แม่เลี้ยง” และ “พระนม” ของสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์)

(บน) พิธีพระราชทานเพลิงศพเจ้าแม่วัดดุสิต
(ล่างซ้าย) วิไชยเยนทร์
(ล่างขวา) ซากตำหนักสมเด็จพระสังฆราชเมืองลพบุรี วัดราชา สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ถนนพระยากำจัดฯ กำลังรอการบูรณะเร่งด่วน (ถ่ายโดย สมพงษ์ นิติกุล)

ข้าพเจ้ารู้สึกติดใจในเรื่องที่เจ้าแม่วัดดุสิตทรงเป็น “แม่เลี้ยง” ของสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) ซึ่งพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) กล่าวถึงเรื่องที่พระองค์ตรัสเรียกเจ้าแม่วัดดุสิตว่า “พระมารดา” ไว้ในเหตุการณ์เมื่อคราวออกหลวงสรศักดิ์ (เดื่อ) ซึ่งเป็น
โอรสลับ” ของสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) อันประสูติแต่เจ้าหญิงเชียงใหม่ ลุแก่โทษะชกปากออกญาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) อัครมหาเสนาบดีสมุนายกจนฟันหัก ขณะกำลังนั่งว่าราชการในพระราชวังเมืองลพบุรี แล้วหลบหนีลงมายังพระนครศรีอยุทธยา เพื่อทูลเชิญเจ้าแม่วัดดุสิตเสด็จขึ้นไปช่วยทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้กับตน พระราชพงศาวดารฯ ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) บันทึกว่า

“ฝ่ายหลวงสรศักดิ์ ครั้นเห็นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์สึกเอาภิกษุสามเณรออกมากระทำราชการเป็นอันมาก ให้ร้อนในพระพุทธศาสนาดังนั้น ก็เอาเหตุนั้นขึ้นกราบทูลพระกรุณา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสทรงทราบเหตุดังนั้น ก็มิได้เอาโทษแก่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และมิได้ตรัสเป็นประการใด และหลวงสรศักดิ์จึงคิดว่าอ้ายฝรั่งคนนี้มันโปรดปรานยิ่งนัก จะกระทำผิดสักเท่าใด ๆ ทรงพระกรุณามิได้เอาโทษ และกูจะทำโทษมันเองสักครั้งหนึ่ง จึงเข้าไปคอยเจ้าพระยาวิชาเยนทร์อยู่ที่เคยนั่งว่าราชการในพระราชวังนั้น ครั้นเช้าเจ้าพระยาสมุหนายกฝรั่งเข้าไปในพระราชวัง แล้วก็นั่งว่าราชการในที่นั้น และหลวงสรศักดิ์เห็นได้ทีก็เข้าชกเอาปากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ฟันหักสองซี่ แล้วก็หนีออกไปยังบ้าน และลงเรือเร็วรีบล่องลงไปยังกรุงเทพมหานคร

ส่วนเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เมื่อหลวงสรศักดิ์ชกเอานั้นล้มลงอยู่ ครั้นได้สติแล็วก็ลุกขึ้นและบ้วนฟันออกเสียแล้ว ก็เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีโลหิตไหลออกจากปากพลางกราบทูลว่า อาชญาเป็นล้นเกล้าฯ บัดนี้หลวงสรศักดิ์ชกเอาปากข้าพระพุทธเจ้าฟันหักสองซี่ ข้าพระพุทธเจ้าสิ้นสมปฤๅดีล้มสลบลงอยู่ปิ้มประหนึ่งจะถึงแก่สิ้นชีวิต ข้าพระพุทธเจ้าได้ความเจ็บอาย แก่ข้าราชการทั้งหลายเป็นอันมาก ขอทรงพระกรุณาโปรดลงพระราชอาญาแก่หลวงสรศักดิ์จงหนัก แล้วข้าพระพุทธเจ้าจึงจะสิ้นความเจ็บอาย

สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธแก่หลวงสรศักดิ์ จึงดำรัสแก่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ว่า ท่านทะเลาะวิวาทกับมันหรือประการใด จึงเจ้าพระยาวิชาเยนทร์กราบทูลพระกรุณาว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะได้ทะเลาะวิวาททุ่มเถียงกับหลวงสรสักดิ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นหามิได้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังดังนั้น ก็ยิ่งทรงพระพิโรธนัก จึงดำรัสสั่งตำรวจให้ไปเอาตัวหลวงสรศักดิ์เข้ามา ขุนหมื่นตำรวจรับพระราชโองการแล้วก็รีบออกไปเอาตัวหลวงสรศักดิ์ บ้าน ครั้นไม่ได้ตัวแล้ว ก็กลับเข้ามากราบทูลพระกรุณาให้ทราบ จึงมีพระราชดำรัสให้ตำรวจทั้งหลายไปเที่ยวหาตัวหลวงสรศักดิ์มาให้จงได้ แล้วมีพระราชโองการตรัสแก่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ว่า ท่านจงยับยั้งอยู่ เราจะหาตัวมันมาให้ได้ก่อน

และเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เข้ามาเฝ้าขณะใด ก็กราบทูลกล่าวโทษหลวงสรศักดิ์เพิ่มเติมขึ้นทุกครั้ง จึงสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระวิจารณ์ในคดีนั้น และทรงพระราชดำริระลึกถึงถ้อยคำอันหลวงสรศักดิ์กราบทูลกล่าวโทษเจ้าพระยาวิชาเยนทร์แต่ครั้งก่อนนั้น ก็เห็นว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์กระทำผิดจริง จึงดำรัสว่าอ้ายเดื่อมันเห็นโทษท่านทำผิด จึงชกให้ได้ทุกข์เวทนา และเราจะมีโขนโรงใหญ่ทำขวัญให้แก่ท่าน ส่วนเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ก็มิได้เต็มใจโดยพระราชดำรัสนั้น และกราบทูลพระกรุณาขอแต่ให้ทำโทษหลวงสรศักดิ์ถ่ายเดียว

ฝ่ายหลวงสรศักดิ์ก็ไปเฝ้าเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นมารดาเจ้าพระยาโกษาเหล็ก เจ้าพระยาโกษาปาน และเป็นพระนมผู้ใหญ่ของสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวนั้น และถวายบังคมแล้ว ก็กราบทูลแถลงการณ์อันเจ้าพระยาวิชาเยนทร์กระทำให้ร้อนในพระพุทธศาสนาเหมือนดังนั้น และได้กราบทูลพระกรุณา แล้วก็มิได้เอาโทษ ข้าพระพุทธเจ้ามีความโทมนัสถึงพระพุทธศาสนา อันเจ้าพระยาวิชาเยนทร์จะทำพระพุทธศาสนาให้พินาศเสื่อมสูญดังนั้น จึงชกเอาปากเจ้าพระยาสมุหนายก แล้วหนีลงมา และบัดนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธจะลงพระราชอาญาแก่ข้าพระพุทธเจ้า ขอจงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมอัญเชิญเสด็จขึ้นไปขอพระราชทานโทษข้าพระพุทธเจ้าครั้งหนึ่งเถิด

จึงเจ้าแม่ผู้เฒ่าได้ทรงฟังดังนั้น ก็เห็นโทษอันเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ทำผิด จึงเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งขึ้นไปยังเมืองลพบุรี และเสด็จถึงฉนวนน้ำประจำที่ ก็พาหลวงสรศักดิ์ขึ้นไปยังพระราชวัง และให้ยับยั้งอยู่นอกลับแลก่อน แล้วก็เสด็จเข้าข้างใน และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสทอดพระเนตรเห็นแล้ว ก็กระทำปัจจุคมนาการเชิญเสด็จให้สถิตร่วมราชอาสน์ และยกพระหัตถ์อัญชลีแล้ว ก็ดำรัสถามว่า พระมารดาขึ้นมาด้วยธุระสิ่งใด จึงเจ้าแม่ผู้เฒ่ากราบทูลโดยเหตุทั้งปวงนั้นให้ทราบสิ้นทุกประการ

สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสทราบเหตุดังนั้นแล้ว ก็มีพระราชโองการให้หาหลวงสรศักดิ์มาเฝ้า แล้วก็ดำรัสบริภาษเป็นอันมาก และเจ้าแม่ผู้เฒ่ากราบทูลขอพระราชทานโทษ ก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานให้ แล้วตรัสบอกประพฤติเหตุทั้งปวงอันหลวงสรศักดิ์ทำแก่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์นั้น ให้แก่เจ้าแม่ผู้เฒ่าฟังทราบทุกประการ แล้วดำรัสให้ยับยั้งอยู่ พระราชวังสองสามวัน และทรงปฏิบัติด้วยเคารพเป็นอันดี แล้วก็อัญเชิญเสด็จกลับลงไปยังกรุงเทพมหานคร”[18]

เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติใน .. 2199 ก็โปรดให้สถาปนาพระอิสริยยศหม่อมเจ้าหญิงบัว (บางแห่งว่า หม่อมเจ้าหญิงอำไพ) พระนมเอกขึ้นเป็น “พระองค์เจ้าบัว” แล้วมีรับสั่งให้สร้างพระตำหนักตึกที่ริมวัดดุสิตารามทางฝั่งตะวันออกนอกกำแพงพระนครตรงคลองข้าวสาร เพื่อถวายให้เป็นที่ประทับสำราญพระทัย คนทั่วไปจึงนิยมเรียกพระองค์ว่า “เจ้าแม่วัดดุสิต” ตามคำตรัสเรียกของสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์)

ต้นราชวงศ์จักรี
คณะทูตสยามคราวเดินทางไปราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๙ (ค.ศ. ๑๖๘๖) จากซ้ายไปขวา ราชทูตออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน), ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต และออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต

แม้การที่สมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) ตรัสเรียกเจ้าแม่วัดดุสิตว่า “พระมารดา” จะดูเป็นเรื่องปรกติในสังคมไทยที่มักเรียก “แม่นม” ของตนว่า “แม่” ด้วยเช่นกัน ดังพบหลักฐานสนับสนุนเรื่องนี้ในจดหมายเหตุเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันประจำคณะทูตของบริษัทอิสต์อินเดียของฮอลันดาที่เมืองปัตตาเวียเดินทางเข้ามาเจริญพระราชไมตรียังราชสำนักสยามใน .. 2233 กล่าวว่า

“…ชาวสยามเรียกแม่นมของตนว่า แม่ ด้วยเหมือนกัน และผู้ที่ได้ร่วมนมกันก็นับถือกันเหมือนอย่างพี่น้อง…”[19]

พระราชพงศาวดารฯ ฉบับความพิสดาร ระบุว่า เจ้าแม่วัดดุสิตทรงมีบุตร 2 คนด้วยกัน คือ ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) และออกญาโกษาธิบดี (ปาน) จดหมายเหตุอังกฤษอย่างรายงานเรื่องการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่ล่วงมาแล้วในกรุงสยามและการขับไล่ฝรั่งเศสออกนอกประเทศ เรียกออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ว่า “หม่อมปาน” (Manpai)[20] เช่นเดียวกับ “หม่อมแก้ว” พระโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) อันประสูติแต่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์พระสนมเอก ซึ่งเป็นน้องสาวของออกพระเพทราชา เจ้ากรมคชบาล แสดงว่า พระอิสริยศักดิ์ “หม่อม” ในสมัยศรีอยุทธยามีฐานะเทียบเท่า “หม่อมเจ้า” ในปัจจุบัน ส่วน “หม่อมราชวงศ์” และ “หม่อมหลวง” เพิ่งบัญญัติขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมานี้เอง

ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า “หม่อมปาน” อาจมิได้เป็นเพียงแต่บุตรลูกหลานขุนนางมอญธรรมดาสามัญ แต่ท่านอาจเป็นถึงพระโอรสของพระเจ้าแผ่นดินศรีอยุทธยาองค์ใดองค์หนึ่ง จึงสันนิษฐานว่า เจ้าแม่วัดดุสิตอาจเคยถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 3 (พระเจ้าปราสาททอง) มาก่อน ด้วยเหตุนี้ ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) และออกญาโกษาธิบดี (ปาน) อาจเป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 3 (พระเจ้าปราสาททอง) ด้วยก็เป็นได้ ท่านทั้งสองจึงนับเนื่องอยู่ในราชสกุลวงศ์กษัตริย์ศรีอยุทธยา

เจ้าแม่วัดดุสิตประทับอยู่ที่พระตำหนักข้างวัดดุสิตารามตราบจนกระทั่งถึงแก่พิราลัยในราวเดือนเมษายน .. 2232 ก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) ประมาณ 3 เดือน ดังจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์กล่าวพาดพิงถึงเรื่องการพิราลัยของเจ้าแม่วัดดุสิตพระมารดาของออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ไว้ในต้นรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 7 (ออกพระเพทราชา) เมื่อ .. 2233 ว่า

“วันที่ 12 มิถุนายน [.. 2233-ผู้เขียน] เวลา 16 นาฬิกา มีงานศพมารดาของพระยาพระคลังผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีของประเทศสยาม และเป็นผู้ว่าการต่างประเทศด้วย… งานศพนี้เป็นแต่ศพแม่นมพระคลังเท่านั้น ด้วยว่ามารดาของท่านได้สิ้นชีวิต และได้ทำศพเสร็จไปเมื่อราว 15 เดือนมานี้…”[21]

ต้นราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก “นายทองด้วง”

ส่วนจดหมายบาทหลวงโบด (Braud) ที่มีไปถึงคณะอำนวยการยังประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนสิงหาคม .. 2243 ได้ให้ข้อมูลสำคัญว่า ออกญาโกษาธิบดี (ปาน) มีบุตรธิดารวม 4 คน โดยบุตรคนโตเป็นผู้หญิง ส่วนอีก 3 คนที่เหลือเป็นผู้ชาย[22] หนังสือเรื่อง อภินิหารบรรพบุรุษ ระบุว่า “ขุนทอง” (สมุดจดบันทึกประจำวันของบรรพบุรุษของหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ว่า “คุณทอง”) เป็นบุตรชายคนโตของออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ได้ถวายตัวเข้ารับราชการในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระญาสุรศักดิ์[23] ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 7 (ออกพระเพทราชา) โดยมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอัษฎาเรืองเดช จางวางกรมพระตำรวจ ส่วนออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ผู้บิดาได้ถึงแก่อสัญกรรมในเดือนมิถุนายน .. 2243[24]

ครั้นพระญาสุรศักดิ์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระสุรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ ครองราชย์ .. 2246-51) แล้ว ความที่พระยาอัษฎาเรืองเดช (ขุนทอง) มีฐานะเป็นเจ้าราชนิกุลและข้าหลวงเดิม จึงโปรดพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาวรวงศาธิราช เสนาบดีพระคลัง (สมุดจดบันทึกประจำวันของบรรพบุรุษของหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย ระบุว่า ก่อนหน้านี้ท่านขุนทองมีตำแหน่งเป็นพระยากลาโหม ภายหลังจึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาวรวงศาธิราช เสนาบดีการต่างประเทศ)

เจ้าพระยาวรวงศาธิราช (ขุนทอง) มีบุตรชายคนโตนามว่า “ทองคำ” ถวายตัวเข้ารับราชการเป็นพระนายจมื่นมหาสนิท หัวหมื่นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในแผ่นดินสมเด็จพระสุรศักดิ์ (พระเจ้าเสือ)

ต่อมา พระนายจมื่นมหาสนิท (ทองคำ) อพยพครอบครัวย้ายไปทำราชการอยู่ที่บ้านสะแกกรัง แขวงเมืองอุทัยธานี ระหว่างที่พระนายจมื่นมหาสนิท (ทองคำ) รับราชการอยู่ที่แขวงเมืองอุทัยธานี ภริยาของท่านได้ให้กำเนิดบุตรชายคนโตนามว่า “ทองดี”

ครั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 4 (พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ครองราชย์ .. 2251-75) ด้วยเหตุที่พระนายจมื่นมหาสนิท (ทองคำ) เป็นเจ้าราชนิกุลและข้าหลวงเดิม จึงโปรดให้แต่งตั้งเป็นพระยาราชนิกูล ปลัดทูลฉลองในกรมมหาดไทย พระยาราชนิกูล (ทองคำ) จึงอพยพย้ายครอบครัวกลับมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลป่าตองใกล้กับวัดบรมพุทธาวาศน์ (วัดกระเบื้องเคลือบ) อันเป็นนิวาสสถานเดิมของสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 7 (ออกพระเพทราชา)

เมื่อท่านทองดีมีอายุสมควรแก่การเข้ารับราชการแล้ว พระยาราชนิกูล (ทองคำ) นำบุตรชายเข้าถวายตัวให้รับราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 5 สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ (เจ้าฟ้าเพชร ครองราชย์ .. 2275-2301) โดยให้มาช่วยเหลืองานของตนอยู่ที่กรมมหาดไทย ภายหลังท่านทองดีได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหลวงพินิจอักษร เสมียนตราในกรมมหาดไทย

เมื่อหลวงพินิจอักษร (ทองดี) อายุครบ 20 ปี พระยาราชนิกูล (ทองคำ) จึงทำการอุปสมบทหลวงพินิจอักษร (ทองดี) บุตรชายเป็นพระภิกษุตามประเพณีนิยม เมื่อลาสิกขาแล้ว พระยาราชนิกูล (ทองคำ) ได้สู่ขอ “คุณดาวเรือง” หลานสาวของเจ้าพระยาอภัยราชา อัครมหาเสนาบดีสมุหนายก ให้วิวาหมงคลกับหลวงพินิจอักษร (ทองดี) แล้วท่านทั้งสองก็ย้ายมาอยู่ยังนิวาสสถานของตระกูลคุณดาวเรือง ภายในกำแพงพระนครเหนือป้อมเพชร

อยู่มา หลวงพินิจอักษร (ทองดี) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอักษรสุนทรสาสน์ เจ้ากรมเสมียนตราในกรมมหาดไทย มีหน้าที่ร่างพระราชสาสน์ต่าง ๆ ของพระเจ้าแผ่นดิน และออกสารตราสั่งการไปยังหัวเมืองเหนือ รวมถึงเก็บรักษาพระราชลัญจกรอันเป็นตราประจำแผ่นดิน

ก่อนหน้ากรุงพระมหานครศรีอยุทธยาจะเสียให้แก่กองทัพพม่าใน .. 2310 เพียงไม่นาน พระอักษรสุนทรสาสน์ (ทองดี) ได้อพยพหนีภัยสงครามขึ้นไปรับราชการอยู่กับเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ซึ่งตั้งตนเป็นเจ้าก๊กพิษณุโลก โดยพระอักษรสุนทร (ทองดี) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาจักรี อัครมหาเสนาบดีสมุหนายกเมืองพิษณุโลก

ต่อมา .. 2311 เจ้าพิษณุโลก (เรือง) ทำสงครามมีชัยชนะเหนือพระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 6 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน ครองราชย์ .. 2310-25) ก็มีใจกำเริบ จึงประกาศตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินรับราชโองการอยู่ได้ 7 วัน ก็ประชวรเป็นวัณโรคขึ้นในคอถึงแก่พิราลัย

ส่วนเจ้าพระยาจักรี (ทองดี) ซึ่งมิได้มีความมักใหญ่ใฝ่สูง ได้แอบอาศัยอยู่ เมืองพิษณุโลก จนกระทั่งเมืองพิษณุโลกเสียให้แก่เจ้าพระฝาง (เรือน) เจ้าก๊กเมืองสวางคบุรี ต่อมาไม่นาน เจ้าพระยาจักรี (ทองดี) ก็ล้มป่วยด้วยพิษไข้จนถึงแก่อสัญกรรมในเมืองพิษณุโลกนั้นเอง

เจ้าพระยาจักรี (ทองดี) ผู้นี้ คือ “สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก” หรือ “สมเด็จพระชนกาธิบดี” ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์ ราชวงศ์จักรี

อันประวัติบรรพบุรุษต้นพระราชวงศ์จักรีนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงมีการบอกเล่าสืบต่อกันมาภายในราชสกุล ซึ่งเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางภายในราชสำนักสยาม ดังปรากฏว่า พระพนรัตน์ (แก้ว) วัดพระเชตุพนฯ ได้ทำการชำระแต่งเติมเรื่องราวของออกญาโกษาธิบดี (ปาน) บรรพบุรุษ ต้นราชวงศ์จักรี ลงในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) ไว้อย่างพิสดารและมีเนื้อเรื่องยืดยาวเป็นพิเศษ

ปัจจุบันนักพงศาวดารทราบแล้วว่า ข้อมูลเกี่ยวกับออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) ส่วนใหญ่เป็นเท็จ ทั้งนี้อาจเกิดจากความไม่รู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในอดีตของตัวผู้ชำระพระราชพงศาวดาร กอปรกับการขาดแคลนเอกสารชั้นต้นในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำให้ท่านจำต้องอาศัยข้อมูลจากคำบอกเล่าในรูปแบบพงศาวดารกระซิบเป็นหลักในการสอบชำระ ส่งผลให้ข้อมูลเกี่ยวกับออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) ปราศจากซึ่งความจริงในทางประวัติศาสตร์

จนกระทั่งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้อาราธนาสมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส รจนาประวัติบรรพบุรุษ ต้นราชวงศ์จักรี ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นมาฉบับหนึ่ง คือ หนังสือเรื่อง ปฐมวงศ์ ฉบับของ ...กุหลาบ สันนิษฐานว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงอาศัยข้อมูลจากหนังสือเรื่อง ปฐมวงศ์ นี้ในการเรียบเรียงประวัติบรรพบุรุษต้นวงศ์ของพระองค์ สำหรับพระราชทานให้แก่เซอร์จอห์น เบาริง นั่นเอง

แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า บรรพบุรุษของพระองค์เป็นเพียง เสนาบดีต่างประเทศ คือเสนาบดีคลัง แต่สำหรับข้าพเจ้ากลับเห็นว่า ออกญาโกษาธิบดี (ปาน) อาจมีชาติกำเนิดที่สูงส่งกว่าเป็นเพียงบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต (หม่อมเจ้าบัว) อันเกิดกับลูกหลานคนหนึ่งของพระญาเกียรติขุนนางเชื้อสายมอญ แต่ท่านอาจมีชาติกำเนิดเป็นถึง “พระโอรส” ในพระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 3 (พระเจ้าปราสาททอง) ซึ่งพระองค์ทรงเป็น “โอรสลับ” ของสมเด็จพระนเรศ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ความลับเรื่องนี้น่าจะเป็นที่รับรู้กันภายในราชสำนักสยามเป็นอย่างดี

ทฤษฎีเรื่องออกญาโกษาธิบดี (ปาน) เป็น “พระราชนัดดา” ในสมเด็จพระนเรศของข้าพเจ้านั้นไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝันเลื่อนลอยไปเสียทีเดียว เพราะหลังจากเจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ยกทัพกลับจากปราบขบถเมืองจำปาศักดิ์เมื่อ .. 2320 (หนังสือเรื่องปฐมวงศ์ ฉบับที่ 2 ว่า .. 2322) พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 6 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระราชดำริว่า

เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ทำความชอบต่อแผ่นดินมามาก แต่ยศศักดิ์ยังหาสมกับความชอบไม่ จึงโปรดพระราชทานนามบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหิมา ทุกนัคราระอาเดช นเรศรราชสุริยวงศ์ องค์อัครบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก”[25]

พระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต้นราชวงศ์จักรี
หอพระธาตุมณเฑียรเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัฐิสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒ และสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระพันปีหลวงในรัชกาลที่ ๓ (ภาพจาก สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง เล่ม ๒. สำนักราชเลขาธิการ, ๒๕๓๑.)

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามรัชกาลปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีเสียใหม่ ในหนังสือเรื่อง กำหนดพระนามสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร มหินทรายุทธยา ทั้ง 4 รัชกาล แลพระนามกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แลพระนามกรมพระราชโอรสธิดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 รัชกาล จดพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนาถ นเรศวรราชวิวัฒนวงศ์ ประถมพงศ์ธิราชรามาธิบดินทร์ สยามวิชิตินทรวโรดม บรมนาถบพิตร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์”[26]

การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้รับพระราชทานสร้อยนามบรรดาศักดิ์ว่า นเรศรราชสุริยวงศ์ และได้รับการถวายสร้อยพระนามว่า นเรศวรราชวิวัฒนวงศ์ ย่อมเป็นการแสดงว่า พระองค์ทรงเป็นพระราชวงศ์ในสมเด็จพระนเรศ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดีในราชสำนักสยามยุคนั้นว่า พระองค์ทรงสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระนเรศกษัตริย์สมัยศรีอยุทธยา

หากออกญาโกษาธิบดี (ปาน) เป็น “พระราชนัดดา” ในสมเด็จพระนเรศจริงตามที่ข้าพเจ้าตั้งข้อสันนิษฐานไว้ ราชวงศ์จักรีก็อาจจะสืบสาวสายสัมพันธ์ทางเครือญาติย้อนกลับไปจนถึงราชวงศ์พระร่วงเมืองสุโขทัยเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ ราชวงศ์จักรี จึงนับเป็นพระราชวงศ์ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] สำหรับพระเจ้ากรุงหงสาวดีพระนามว่า Jamna ti cho ในภาษามอญอ่านว่า จอมแนยะห์เทห์จอห์ แปลว่า ผู้ชนะสิบทิศ อันหมายถึงพระเจ้าหงสาวดีเซงพยูมยาเชง (พระเจ้าบาเยงนอง ครองราชย์ .. 2094-2124)

[2] ความจริงพระเจ้าหงสาวดีเซงพยูมยาเชง (พระเจ้าบาเยงนอง) ทรงเป็นกษัตริย์พม่าผู้เสวยราชสมบัติในกรุงหงสาวดี (พะโค) ของมอญ พระองค์นับเนื่องอยู่ในราชวงศ์ตองอู แต่ราชสำนักสยามสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงว่า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์มอญ

[3] สมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์ ครองราชย์ .. 2199-2231)

[4] ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) สมุหพระกลาโหมและพระคลัง

[5] ออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) ราชทูตสยามผู้เดินทางไปเจริญพระราชไมตรียังราชสำนักฝรั่งเศสใน .. 2229 ภายหลังได้รับการแต่งตั้งจากออกพระเพทราชาผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปลายรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) เป็นออกญาโกษาธิบดี (ปาน) เมื่อ .. 2231

[6] พระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร พระองค์ที่ 4 พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (เจ้าฟ้าเพชร ครองราชย์ .. 2251-75)

[7] สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก หรือสมเด็จพระชนกาธิบดี (ทองดี) ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

[8] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ครองราชย์ .. 2325-52)

[9] พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ครองราชย์ .. 2352-67)

[10] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

[11] พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ .. 2367-94)

[12] เซอร์จอห์น เบาริ่ง. ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม เล่ม 1. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2547), . 87-89.

[13] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) เล่ม 1, (กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา, 2504), . 169-176.

[14] อภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2545), . 67-68.

[15] ปรามินทร์ เครือทอง. ปริศนาเจ้าแม่วัดดุสิต ต้นราชวงศ์จักรี เจ้า หรือ สามัญชน, ใน ศิลปวัฒนธรรม, (เมษายน 2548), . 84.

[16] ส. พลายน้อย. สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย. (กรุงเทพฯ : บำรุงสาส์น, 2535), . 6. และ พลับพลึง มูลศิลป์. ความสัมพันธ์ไทยฝรั่งเศส สมัยอยุธยา. (กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2523), . 110.

[17] ม... คึกฤทธิ์ ปราโมช. โครงกระดูกในตู้. (กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า 2000, 2548), . 21.

[18] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยา และพงศาวดารเหนือ เล่ม 2, (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2504), . 97-101.

[19] เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ เขียน, อัมพร สายสุวรรณ แปล. ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545), . 29.

[20] แม้นมาส ชวลิต แปล. รายงานเรื่องการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่ล่วงมาแล้วในกรุงสยาม และการขับไล่ฝรั่งเศสออกนอกประเทศ, ใน การปฏิวัติปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548), . 47.

[21] เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ เขียน, อัมพร สายสุวรรณ แปล. ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์. . 29.

[22] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 36 เล่ม 21, (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2511), . 163.

[23] เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ เขียน, อัมพร สายสุวรรณ แปล. ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์. . 51.

[24] ขจร สุขพานิช. ออกญาวิไชเยนทร์ และการต่างประเทศในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์. (พระนคร : ก้าวหน้า, 2506), . 111.

[25] พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548), . 218.

[26] อภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์, . 173.


บรรณานุกรม :

แกมป์เฟอร์, เอนเยลเบิร์ต. ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์. แปลโดย อัมพร สายสุวรรณ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545.

ขจร สุขพานิช. ออกญาวิไชเยนทร์ และการต่างประเทศในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์. พระนคร : ก้าวหน้า, 2506.

คึกฤทธิ์ ปราโมช, ... โครงกระดูกในตู้. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า 2000, 2548.

เบาริง, จอห์น, เซอร์. ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม เล่ม 1. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547.

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 36 เล่ม 21. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2511.

ปรามินทร์ เครือทอง. ปริศนาเจ้าแม่วัดดุสิต ต้นราชวงศ์จักรี เจ้า หรือ สามัญชน. ใน ศิลปวัฒนธรรม, (เมษายน 2548).

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) เล่ม 1, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2504.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยา และพงศาวดารเหนือ เล่ม 2, กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2504.

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548.

พลับพลึง มูลศิลป์. ความสัมพันธ์ไทยฝรั่งเศส สมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2523.

แม้นมาส ชวลิต แปล. รายงานเรื่องการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่ล่วงมาแล้วในกรุงสยาม และการขับไล่ฝรั่งเศสออกนอกประเทศ, ใน การปฏิวัติปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548.

. พลายน้อย. สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : บำรุงสาส์น, 2535.

อภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ตามรอยสืบหาบรรพบุรุษต้นราชวงศ์จักรี” เขียนโดย สุทธิศักดิ์ ระบอบ สุขสุวานนท์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2552


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ตุลาคม 2562