เปิดบันทึกพระราชพงศาวดารฯ ถึงที่มาออกหลวงสุรศักดิ์ “โอรสลับ” ในสมเด็จพระนารายณ์?

สมเด็จพระนารายณ์
สมเด็จพระนารายณ์ ตามจินตนาการของจิตรกรชาวฝรั่งเศส

เรื่อง ออกหลวงสุรศักดิ์ เป็น “โอรสลับ” ในสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) เป็นที่รับกันอย่างกว้างขวางในหมู่ข้าราชสำนักมาตั้งแต่สมัยศรีอยุทธยาตอนปลาย

คำให้การขุนหลวงหาวัด (เดิมเรียกว่า พระราชพงศาวดารแปลจากภาษารามัญ) ซึ่งเข้าใจว่าเรียบเรียงขึ้นจากคำให้การของพระภิกษุสมเด็จพระอุทุมพร (เจ้าฟ้าดอกเดื่อ ครองราชย์ พ.ศ. 2310) หลังจากเสียกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาให้แก่กองทัพพม่าเมื่อ พ.ศ. 2310 กล่าวถึงชาติพระกำเนิดอันลึกสูงส่งของ ออกหลวงสุรศักดิ์ ไว้อย่างพิสดาร ว่า

Advertisement

ครั้นเหตุเมื่อจะมีพระกุมารในครรภพระสนมเอกอันชื่อ พระราชชายาเทวี ชื่อเดิมนั้นชื่อ เจ้าจอมสมบุญ เจ้าจอมสมบุญคนนี้เปนคนโปรดของพระองค์ ครั้นอยู่มาพระองค์จึงทรงพระสุบินนิมิตรฝัน จึงปิดเปนกวดขันมิให้ผู้ใดรู้ แล้วพระองค์รัญจวนป่วนพระทัยยิ่งนัก จึงสั่งให้ไปนิมนตร์พระ [มหา] พรหมผู้เปนอาจารยเข้ามา ครั้นพระมหาพรหมเข้ามา พระองค์จึงแก้นิมิตฝันกับพระมหาพรหม

ส่วนพระมหาพรหมผู้เปนอาจารยจึงว่า อันทรงสุบินนิมิตนี้ดีหนักหนา พระองค์จะได้พระราชโอรสเปนกุมาร แต่กูนี้ไม่ชอบใจอยู่สิ่งหนึ่งว่ามีพระราชโอรสกับพระสนมกำนัลแล้วก็ให้ทำลายเสีย อันนี้กูไม่ชอบใจยิ่งนัก พระองค์มาทำดังนี้ก็เปนบาปกรรมนั้นประการหนึ่ง ถ้าในพระอัครมเหษีและมิได้มีพระราชโอรส มีแต่พระราชโอรสในพระสนมนี้ พระองค์ก็จะทำประการใดที่จะได้สืบสุริยวงศต่อไป ถ้าและพระองค์จะไม่มีพระราชบุตรและพระราชธิดา และสืบไปเบื้องหน้าแลพระองค์ชิวงคต [ทิวงคต – ผู้เขียน] แล้ว และจะได้ผู้ใดมาสืบศรีสุริยวงศต่อไป อันว่าน้ำพระทัยนี้จะให้เสนาและเศ [ร] ษฐีคฤหบดีและพ่อค้า ให้ขึ้นเสวยราช [ย์] สืบสุริยวงศหรือประการใด ถึงจะเปนพระราชโอรสในพระสนมก็ดี ก็ในพระราชโอรสาของพระองค์ที่จะได้สืบสุริยวงศต่อไป อันนี้สุดแต่กุศลจะคู่ควรและไม่ควร ถ้าแล [ะ] พระองค์ไม่ฟังกูว่า ดีร้ายกรุงศรีอยุธยาจะสูญหายจะเปนเมืองโกลำโกลีมั่นคง ถ้าและทำดั่งคำกูว่า กรุงศรีอยุธยาจะได้เปนสุขสุภาพต่อไป

ครั้นพระองค์ได้ฟังพระอาจารยว่าดั่งนั้น พระองค์ก็แสนโสมนัสยินดีในพระทัยยิ่งนัก แต่มาขัดอยู่แต่ที่มีพระบัญชาออกพระวาจาไว้ ก็จำจะยักย้ายถ่ายเทคิดอธิบายแก้ไขตามคำพระอาจารยว่า กล่าวสั่งสอน สุดแต่มิให้เสียที

ครั้นพระอาจารยกลับไปแล้ว จึงให้ไปหาตัวเจ้าพระยาสุรศรี [ออกพระเพทราชา – ผู้เขียน] นั้นเข้ามาอันเจ้าพระยาสุรศรีนั้นเปนบุตรของพระนม แล้วก็เปนครูช้างของพระองค์ ครั้นเจ้าพระยาสุรศรีเข้ามา จึงตรัสเรียกเข้าไปในที่ พระองค์จึงบอกคดีเปนความลับ จึงเอาพระสนมอันชื่อเจ้าจอมสมบุญนั้นมาพิทักษ์รักษาไว้ ครรภนางนั้นทศมาศเข้า จึงประสูติกุมารมีรูปอันงาม ประกอบไปด้วยลักษณราษีอันดี จึงเอาเหตุเข้าไปกราบทูลกับพระองค์ พระนารายณ์จึงประทานของขวัญออกมาทั้งแก้วแหวนเงินทองและผ้าผ่อนแพรพรรณเปนอันมาก ทั้งผู้คนช้างม้าเรือกสวนไร่นาครบครัน อันของขวัญนั้นเกลื่อนกลาดบริบูรณ์…อันพวกพ้องพี่น้องฝ่ายเจ้าพระยาสุรศรีนั้นก็เอาเข้าของมาทำขวัญกับกุมารนั้นทุกหน้า ยังฝ่ายข้างมารดากุมารนั้นก็เอาเงินทองเข้าของมาทำขวัญกับกุมารนั้นก็เปนอันมาก อันเจ้าพระยาสุรศรีนั้นก็ทำด้วยยินดี เจียนจะเปนเศรษฐีในคราวนั้น

ครั้นอายุกุมารได้ 7 ปี พระนารายณ์นั้นจึงให้กุมารนั้นเข้ามาในพระราชฐาน แล้วจึงมีรับสั่งให้เข้าออกพระราชวังอยู่อัตราอย่าให้ขาด แล้วจึงประทานให้ชื่อเจ้าพระยาสุรศักดิ์ อัครราชมนตรีศรีสงคราม อันเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งปวงนั้นจะเปนอย่างลูกหลวงก็หาไม่ จัดเปนขุนนางก็เกินไป อยู่ที่ระวางพระราชวงศพงศา อันที่เฝ้านั้นนั่งหน้าเสนาอำมาตย์ อันเจ้าพระยาสุรศักดิ์นั้นฉลาดเฉลียวคมสันทั้งห้าวหาญชาญชัยใจฉกรรจ์ ทั้งร้ายกาจอาจองดุดันไม่กลัวใคร… [1]

ส่วน คำให้การชาวกรุงเก่า (เดิมเรียกว่า พงษาวดารไทยตามฉบับพม่า) ซึ่งแปลถ่ายมาจากคำให้การขุนหลวงหาวัดอีกทีหนึ่ง กล่าวถึงชาติพระกำเนิดของออกหลวงสุรศักดิ์ไว้แตกต่างไปจากต้นฉบับภาษามอญ ว่า

อยู่มาวัน 1 พระนารายน์ทรงพระสุบินนิมิตรว่า เทวดามาบอกว่านางนักสนมของพระองค์ ซึ่งมีนามว่า นางกุสาวดี มีครรภ์ โอรสที่เกิดกับนางกุสาวดีนั้นมีบุญมาก ดังนี้ ครั้นเวลารุ่งเช้า พระนารายน์ก็มิได้แพร่งพรายให้พระอรรคมเหษีแลขุนนางข้าราชการทั้งปวงรู้ เปนแต่รับสั่งให้มหาดเล็กไปนิมนต์พระอาจารย์พรหมเข้ามายังพระราชวัง แล้วทรงเล่าความฝันให้ฟังจนตลอด พระอาจารย์พรหมจึงถวายพระพรว่า นิมิตรของพระองค์นี้เปนมหามงคลวิเศษนัก พระองค์จะได้พระโอรสมีบุญพระองค์ 1 ซึ่งเกีดแต่นางกุสาวดี พระนารายน์จึงตรัสว่า ไฉนพระผู้เปนเจ้าจึงทำนายดังนี้ โยมได้ตั้งสัตย์ไว้แล้วว่าจะไม่เลี้ยงโอรสที่เกีดแต่นางนักสนม เพราะกลัวว่าจะเปนขบถอย่างพระสีสิงห์

พระอาจารย์พรหมจึงถวายพระพรว่า ซึ่งพระองค์จะทรงตั้งพระไทยอย่างนั้นไม่ควร ผู้ที่จะคิดขบถแล้ว ถึงจะเกีดแต่พระอรรคมเหษีก็คิด ผู้ที่จะไม่คิดขบถแล้วถึงจะเกีดกับผู้ใดก็ไม่คิด เพราะฉนั้นพระองค์อย่าทรงประพฤติเหมือนอย่างแต่ก่อนเลย จะเปนเวรกรรมติดตามไปในภายน่า จงทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงให้ทั่วถึงเถีด จะได้สืบราชตระกูลต่อไป ถ้าพระองค์ไม่ชุบเลี้ยงแล้ว นานไปน่าที่เมืองลพบุรีจะเปนของผู้อื่นเปนแน่ เมื่อพระอาจารย์พรหมถวายพระพรดังนั้น พระนารายน์ก็ทรงยินดี จึงตรัสว่า ทำอย่างไรได้ โยมได้ตั้งสัตย์ไว้แล้ว จำจะต้องรักษาให้มั่นคง แต่จะต้องคิดผ่อนผันด้วยอุบายอย่างอื่น พระพรหมก็ถวายพรลากลับไปยังพระอาราม

พระนารายน์จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์เข้าไปเฝ้าแล้วตรัสว่า บัดนี้นางกุสาวดีสนมของเรามีครรภ์ขึ้น เราได้ตั้งสัตย์ไว้แล้วว่าจะไม่เลี้ยงลูกสนม เจ้าจงเอานางนี้ไปเลี้ยงเปนภรรยา ถ้าลูกในครรภ์นั้นเปนชายเจ้าจงว่าลูกของเจ้า ถ้าเปนหญิงจงส่งมาให้เรา แล้วพระนารายน์ก็ทรงมอบนางกุสาวดีให้เจ้าพระยาสุรสีห์ๆ ก็พาไปเลี้ยงไว้ ครั้นถ้วนกำหนดแล้ว นางกุสาวดีก็คลอดโอรสเปนชาย เจ้าพระยาสุรสีห์ก็นำความกราบบังคมทูลพระนารายน์ พระนารายน์จึงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคค่าเลี้ยงกุมารเปนอันมาก

ครั้นกุมารนั้นอายุได้ 7 ขวบ เจ้าพระยาสุรสีห์ก็พาเข้าเฝ้าพระนารายน์ พระนารายน์ทอดพระเนตรเห็นพระโอรสมีรูปโฉมงดงาม มีลักษณกล้าหาญก็ทรงยินดีเปนอันมาก จึงพระราชทานนามว่า เจ้าพระยาสีห์สูจักร (คือศรีสุรศักดิ์) พระราชทานเครื่องยศอย่างทำนองเจ้า สูงกว่าข้าราชการอื่นๆ ให้มีตำแหน่งเฝ้าใกล้ชิดพระองค์ได้เปนนิตย์ [2]

ส่วน พระราชพงศาวดารฯ ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) กลับให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชาติพระกำเนิดของออกหลวงสุรศักดิ์แตกต่างออกไปจากคำให้การขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า ความว่า

ในขณะนั้นพระเพทราชาจางวางกรมช้างเป็นชาวบ้านพลูหลวงแขวงเมืองสุพรรณบุรี มีบุญญาธิการมาก และกระทำราชการชำนิชำนาญในการศิลปศาสตร์ขี่ช้างแกล้วกล้ายิ่งนัก แล้วก็มีฝีมือในการสงคราม กระทำความชอบมาเป็นหลายหนแล้ว ได้โดยเสด็จงานพระราชสงครามครั้งเมืองเชียงใหม่นั้นด้วย สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาแก่พระเพทราชานั้น แล้วเมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาจากเมืองเชียงใหม่นั้น พระองค์เสด็จทรงสังวาสด้วยราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ และนางนั้นก็ทรงครรภ์ขึ้นมา ทรงพระกรุณาละอายพระทัย จึงพระราชทานนางนั้นให้แก่พระเพทราชา แล้วดำรัสว่า นางลาวนี้มีครรภ์ขึ้นมา เราจะเอาไปเลี้ยงไว้ในพระราชวังก็คิดละอายแก่พระสนมทั้งปวง และท่านจงรับเอาไปเลี้ยงไว้ ณ บ้านเถิด และพระเพทราชาก็รับพระราชทานเอานางนั้นไปเลี้ยงไว้ ณ บ้าน

ครั้นถึงปีขาลจัตวาศก สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระชินราชพระชินสีห์ ณ เมืองพระพิษณุโลก พระเพทราชาก็พาเอานางลาวมีครรภ์นั้นไปตามเสด็จด้วย ถึงตำบลโพธิ์ประทับช้าง พอครรภ์นางนั้นแก่ถ้วนทศมาสได้ฤกษ์ดี นางก็ประสูติบุตรชาย กอปร์ด้วยสิริวรรณลักขณะเป็นอันดี บิดาให้นามบัญญัติชื่อเจ้าเดื่อ ครั้นอยู่มาค่อยรู้ความแล้ว ก็สำคัญเอาพระเพทราชาว่าเป็นบิดา และรักใคร่สนิทติดพันจนวัยวัฒนาขึ้น ก็มีสติปัญญาแกล้วกล้าอาจหาญยิ่งนัก จึงพระเพทราชาก็นำเอานายเดื่อผู้บุตรเลี้ยงเข้าไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก และให้กระทำราชการสนองพระเดชพระคุณ

สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระการุญภาพแก่นายเดื่อมหาดเล็กนั้นเป็นอันมาก มีพระราชดำริจะใคร่ให้ [นาย] เดื่อรู้ตัวว่าเป็นพระเจ้าลูกเธอ และทรงพระกรุณาดำรัสให้เจ้าพนักงานเชิญเอาพระฉายมาตั้ง ก็ทรงส่องพระฉาย แล้วกวักพระหัตถ์ตรัสเรียกนายเดื่อมหาดเล็กเข้าไปใกล้พระองค์ แล้วก็ดำรัสว่าเองจงดูเงากระจกเถิด นายเดื่อมหาดเล็กนั้นก็คลานเข้าไปส่องพระฉายด้วยพระองค์ ก็เห็นเงาเหมือนดังนั้น แล้วก็มีพระราชโองการตรัสถามว่า เองเห็นรูปเรากับรูปของเองนั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง จึงนายเดื่อมหาดเล็กก็กราบทูลพระกรุณาว่า รูปทั้งสองอันปรากฏอยู่ในพระฉายนั้นมีพรรณสัณฐานคล้ายคลึงกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงพระเมตตาการุญภาพแก่นายเดื่อมหาดเล็ก ซึ่งเป็นพระราชบุตรนั้นยิ่งนัก ทรงพระกรุณาดำรัสพระราชทานโอวาทานุสาสน์ และใช้ในกิจการทั้งปวง แล้วพระราชทานเสื้อผ้าข้าวของเงินทองเป็นอันมาก

ส่วนนายเดื่อมหาดเล็กก็รู้ตัวว่าเป็นพระเจ้าลูกเธอ โดยพระราชอุบายในวันอันส่องพระฉายนั้น และบังเกิดทิฐิมานะขึ้นเป็นอันมาก ก็บริโภคโภชนาหารในพระสุพรรณภาชน์อันเหลือเสวยนั้น และเอาพระภูษาทรงซึ่งเจ้าพนักงานตากไว้นั้นมานุ่งห่ม ผู้ใดจะว่ากล่าวก็มิฟัง แต่ทำดังนั้นเป็นหลายครั้ง จึงเจ้าพนักงานทั้งหลายก็เอาเหตุนั้นขึ้นกราบทูลพระกรุณา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังดังนั้น ก็มิได้ถือ ดำรัสว่าอ้ายเดื่อนี้มันบ้าๆ อยู่แล้ว อย่าถือมันเลย มันชอบใจสิ่งของทั้งนั้น จึงบริโภคนุ่งห่มตามทีมันเถิด

จำเดิมแต่นั้นมานายเดื่อจะปรารถนาเอาสิ่งใด ก็ถือเอาสิ่งนั้นทุกประการ และจะได้มีผู้ใดว่ากล่าวนั้นก็หามิได้ ในขณะนั้นช้างพลายส้อมตัวหนึ่งเป็นช้างเพชฌฆาตสำหรับฆ่าคนโทษถึงตาย ร้ายกาจยิ่งนัก ถ้าและตกน้ำมันแล้วถึงหมอช้างผู้ใดที่ดีขับขี่เข้มแข็งก็มิอาจสามารถจะขี่ไปลงน้ำได้ และผูกตรึงไว้ที่โรงนั้น ครั้นอยู่มาวันหนึ่งนายเดื่อมหาดเล็กรู้เหตุดังนั้น ก็ไปยังโรงช้างพลายส้อม และจะขึ้นขี่พลายส้อมเอาไปลงน้ำให้จงได้ หมอควาญช้างทั้งหลายห้ามก็มิฟัง และเข้าแก้เอาจากตะลุง แล้วก็ขึ้นขี่เอาไปลงน้ำได้โดยสะดวก ด้วยบุญญาเป็นมหัศจรรย์ และอานุภาพสรรพเวทมนต์คาถาวิชาคุณ อันภาวนานั้นด้วยดี จะได้เป็นอันตรายนั้นหามิได้

ส่วนพระหลวงขุนหมื่นกรมช้างทั้งหลายก็เอาเหตุนั้นขึ้นกราบทูลพระกรุณา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสทราบเหตุดังนั้น ก็ตกพระทัย จึงดำรัสให้กรมช้างทั้งหลายผูกช้างพังหลายเชือกพร้อมไปโดยเชือกบาศเร่งรีบไปช่วยโดยเร็ว พอนายเดื่อเอาช้างพลายส้อมไปลงน้ำ แล้วกลับขึ้นมาถึงโรงได้โดยปรกติ แล้วผูกไว้ ณ โรงดังเก่า แล้วกรมช้างทั้งหลายก็กลับเอาเหตุมากราบทูลพระกรุณาให้ทราบ พระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสทราบประพฤติเหตุอันนายเดื่อขี่ช้างพลายส้อมได้ ปราศจากภยันตรายดังนั้น ก็ทรงปรีดีโสมนัส จึงดำรัสให้หานายเดื่อมหาดเล็กเข้ามาเฝ้า แล้วก็มีพระราชโองการตรัสว่า ตัวเองขี่ช้างแกล้วกล้าเข้มแข็งนัก เองจงเป็นหลวงสรศักดิ์ไปช่วยราชการบิดาแห่งเองในกรมช้างเถิด จำเดิมแต่นั้นมานายเดื่อก็เป็นหลวงสรศักดิ์ กระทำราชการสนองพระเดชพระคุณข้างกรมช้าง” [3]

เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) ทรงทราบว่า พระสนมนางหนึ่ง (พระราชพงศาวดารฯ ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) ว่า “พระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ คำให้การขุนหลวงหาวัดว่า “พระราชชายาเทวี” (เจ้าจอมสมบุญ) คำให้การชาวกรุงเก่าว่า “นางกุสาวดี”) ตั้งพระครรภ์ จึงมีพระราชดำริกีดกันให้ไกลห่างจากราชบัลลังก์ พระราชพงศาวดารฯ ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) ให้เหตุผลว่า เพราะพระองค์ทรงละอายพระทัยที่ทรงเสพสังวาสกับนางลาว คำให้การชาวกรุงเก่าว่า พระองค์ทรงเกรงว่าพระโอรสองค์นี้จะคิดขบถชิงราชสมบัติอย่างเมื่อคราวพระศรีศิลป์ แต่คำให้การขุนหลวงหาวัดว่า พระองค์ทรงต้องรักษาราชบัลลังก์ไว้ให้กับพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีเท่านั้น

พระราชพงศาวดารฯ ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) จดพระนามเดิมของออกหลวงสุรศักดิ์ไว้ว่า “มะเดื่อ” [4] ส่วนหนังสือปฐมวงศ์ ฉบับ ...กุหลาบ เรียกว่า “ดอกเดื่อ” [5] เนื่องจากพระองค์ประสูติใต้ต้นมะเดื่อในแขวงเมืองพิจิต ขณะพระมารดาติดตามออกพระเพทราชาบิดาบุญธรรมโดยเสด็จสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ยังเมืองพิษณุโลก

จดหมายเหตุเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมัน ประจำคณะทูตของบริษัทอีสต์อินเดียของฮอลันดาที่เดินทางเข้ามาเจริญพระราชไมตรียังราชสำนักสยามใน พ.ศ. 2233 ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับปีประสูติของออกหลวงสุรศักดิ์ว่า เมื่อ พ.ศ. 2233 “พระญาสุรศักดิ์” (Peja Surusak) พระมหาอุปราชมีพระชนม์ 20 พรรษา [6] แสดงว่า พระองค์ประสูติใน พ.ศ. 2213

เรื่อง ออกหลวงสุรศักดิ์ เป็น “โอรสลับ” ของสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) เป็นที่รับรู้กันในหมู่ข้าราชสำนัก เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2231 เหล่าขุนนางต่างเห็นสมควรยกออกหลวงสุรศักดิ์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบแทนพระราชบิดา แต่พระองค์ทรงปฏิเสธยอมรับราชสมบัติ แล้วจึงอัญเชิญออกพระเพทราชาบิดาบุญธรรมขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินศรีอยุทธยาพระองค์ใหม่ คำให้การชาวกรุงเก่า เล่าว่า

”เมื่อพระนารายน์เสด็จสวรรคตแล้ว ขุนนางข้าราชการทั้งปวงเห็นว่า พระนารายน์ไม่มีพระราชโอรสที่จะสืบราชตระกูล จึงปฤกษากันว่า ควรจะยกราชสมบัติให้กับใคร พวกที่รู้ประวัติเจ้าพระยาสีห์สูจักรจึงพูดขึ้นว่า พระราชโอรสของพระนารายน์มีอยู่ คือเจ้าพระยาสีห์สูจักรบุตรนางกุสาวดี ที่พระราชทานไปแก่เจ้าพระยาสุรสีห์ ด้วยพระนารายน์ได้ตั้งสัตย์ไว้ว่าจะไม่เลี้ยงโอรสที่เกีดแต่นางนักสนม ครั้นนางกุสาวดีมีครรภ์ขึ้นจึงแกล้งยักย้ายถ่ายเทไปเสีย เพราะฉนั้นควรจะยกสมบัติให้แก่เจ้าพระยาสีห์สูจักร เมื่อปฤกษาพร้อมกันดังนี้แล้ว จึงเชีญเจ้าพระยาสีห์สูจักรให้ขึ้นครองราชสมบัติ เจ้าพระยาสีห์สูจักรไม่รับ ว่าบิดาของเรายังมีอยู่ ท่านทั้งปวงจงเชีญบิดาของเราขึ้นครองราชสมบัติเถีด ขุนนางข้าราชการทั้งปวงก็เชีญเจ้าพระยาสุรสีห์ขึ้นครองราชสมบัติ เจ้าพระยาสุรสีห์มีพระนามเปน 2 อย่างๆ 1 ว่า สมเด็จพระฐาธาธิบดี [สมเด็จพระธาดาธิบดี – ผู้เขียน] พระนาม 1 ว่า พระราเมศวร…

แลพระราเมศวรนั้นไม่ใคร่พอพระไทยในทางยศศักดิ์ แม้จะเสด็จประพาศที่ใดๆ ก็ไม่มีขบวนแห่แหน ให้แต่คนใกล้ชิดตามเสด็จเล็กน้อยเท่านั้น พอพระไทยแต่ที่จะบำรุงไพร่บ้านพลเมืองให้อยู่เย็นเปนศุขอย่างเดียว จึงทรงตั้งเจ้าพระยาสีห์สูจักรเปนพระมหาอุปราช สำหรับดูแลกิจการบ้านเมืองต่างพระองค์ ในเวลานั้นพระมหาอุปราชถืออาญาสิทธิสำเร็จราชการบ้านเมืองต่างพระองค์พระราเมศวรทั้งสิ้น…” [7]

ครั้นสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 7 เสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2246 พระญาสุรศักดิ์เจ้าวังหน้าจึงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติสืบแทน ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระสุรศักดิ์ [8] พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์เจ้ากรม (จาด) บันทึกได้ถึงเรื่องที่สมเด็จพระสุรศักดิ์ตรัสเล่าภูมิสถานที่ประสูติของพระองค์ว่า

“ลุศักราช 1067 ปีระกาสัปตศก พระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไป ณ เมืองพระพิษณุโลก ถึงที่ประทับโพทับช้าง มีพระโองการตรัสว่า สมเด็จพระนารายเป็นเจ้าเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปตีเมืองล้านช้าง สมเด็จพระมารดาทรงพระครรภ์แก่ เสด็จขึ้นมาส่ง ตั้งจวนใต้ต้นมะเดื่อประสูติกู จึงให้สถาปนาพระวิหาร พระอุโบสถ พระสถูปที่จวนนั้น เสด็จขึ้นไปเมืองพระพิศณุโลกประทับแรมอยู่ 7 เวร เสด็จกลับลงมาพระนคร ฯ” [9]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] คำให้การขุนหลวงหาวัด. (นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2547), น. 33-35.

[2] คำให้การชาวกรุงเก่า. (นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2547), น. 96-97.

[3] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยา และพงศาวดารเหนือ เล่ม 2. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2504), น. 91-94.

[4] เรื่องเดียวกัน, น. 91, 183.

[5] “ปฐมวงศ์ ฉบับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ,” ใน อภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์. สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2545), น. 68.

[6] เอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ เขียน, อัมพร สายสุวรรณ แปล. ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์. (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545), น. 64.

[7] คำให้การชาวกรุงเก่า, น. 110-111.

[8] เดิมนักพงศาวดารไทยนิยมเรียกพระนามของออกหลวงสุรศักดิ์เมื่อครั้งขึ้นครองราชย์แล้วว่า “พระเจ้าเสือ” ตามอย่างพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และ “พระพุทธเจ้าเสือ” ตามอย่างพระราชพงศาวดารสังเขป ฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส อภินิหารบรรพบุรุษ และปฐมวงศ์ ฉบับ ก.ศ.ร.กุหลาบ อันเป็นพระนามตามปากตลาดเรียกกันเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว ซึ่งเป็นการไม่สู้เหมาะสมนักสำหรับใช้เรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินในอดีต ข้าพเจ้าจึงเห็นควรเปลี่ยนมาเรียกเป็น “สมเด็จพระสุรศักดิ์” ตามพระนามเดิมก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งต้องกันกับพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้วที่จดพระนามของพระองค์ว่า “พระภูรษตร์” (Bra Burathat) เข้าใจว่าเพี้ยนมาจากพระนามว่า “พระสุรศักดิ์” สอดคล้องกับพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่เรียกพระองค์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่า “สมเด็จพระสรศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ” แต่เอกสารร่วมสมัยอย่างจดหมายเหตุแกมเฟอร์กลับเรียกพระองค์ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งฝ่ายหน้าว่า “พระญาสุรศักดิ์” (Peja Surusak)

[9] ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก. เล่ม 3. (พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์เจ้ากรม (จาด)), น. 465.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2561