เผยแพร่ |
---|
แบบแผนธรรมเนียม “พระราชพิธีราชาภิเษก” แต่ละสมัยบ่งบอกถึงความสำคัญและรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ได้มากมาย ของชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่ยังเป็นข้อสังเกตว่าเกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธีราชาภิเษกสมัยกรุงเก่าหรือไม่ อย่างไร มีชื่อของ “หนังราชสีห์” ที่ว่ากันว่า พระเจ้าเอกทัศ ตรัสให้ทหารรักษาพระองค์รักษาไว้ให้ดีเมื่อครั้งพม่าล้อมกรุง
ในบรรดาการศึกษาสืบค้นข้อมูลรายละเอียดเชิงประวัติศาสตร์ไทยแต่ละยุคสมัย ข้อมูลเรื่องแบบแผนลักษณะการราชาภิเษกและพระราชพิธีราชาภิเษกตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ จากการราชประเพณีในราชสำนักนั้น สามารถบ่งชี้ความหมายของพระราชกรณียกิจและคติความเชื่อต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ได้
บุหลง ศรีกนก นักวิชาการอิสระ เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่สืบค้นข้อมูลราชประเพณีสมัยอยุธยาตอนปลายในกรณีศึกษาพระราชพิธีราชาภิเษก พบว่า ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี ได้โปรดให้เจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี พระยาราชสงคราม และพระยาอุไทยมนตรี ร่วมกันสอบค้นตำรา และสอบถามผู้รู้แบบแผนธรรมเนียมครั้งกรุงเก่า เพื่อศึกษาเป็นแบบอย่างการพระราชพิธีราชาภิเษก และโปรดให้สร้างเครื่องขัตติยราชูปโภคทุกหมวดหมู่ไว้ให้ครบถ้วน
ผู้ศึกษาสืบค้นระบุว่า มีการเลือกแบบแผนการพระราชพิธีราชาภิเษกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร มาเป็นแบบอย่างการราชาภิเษกสมโภช รวมทั้งได้มีการเรียบเรียงตำราปัญจราชาภิเษก หรือลักษณะราชาภิเษก 5 ประการ
เมื่อนำแบบแผนของการพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร กับการพระราชพิธีราชาภิเษกสมโภชสมัยรัตนโกสินทร์ ในครั้งรัชกาลที่ 1 มาเปรียบเทียบกัน จึงพบว่า ได้มีการนำพระราชพิธีราชาภิเษกสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวงมาเป็นแบบอย่าง และเพิ่มเติมส่วนที่ขาดหายให้ครบสมบูรณ์
ประการสำคัญคือ โปรดให้สร้างเครื่องมงคลราชูปโภคทั้งปวง ซึ่งสูญหายไปเมื่อครั้งกรุงเก่าขึ้นมาใหม่จนครบตามราชประเพณีโบราณ บางส่วนมีโปรดให้สร้างเพิ่มเติมในสมัยรัตนโกสินทร์
ข้อสังเกตคือ โปรดให้สร้างสิ่งที่เป็นพระบรมราชานุสรณ์แห่งพระวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้รักษาไว้ และเชิญตั้งในการพระราชพิธีราชาภิเษกสืบเนื่องกันต่อมาจนเสียกรุง อันได้แก่ พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง, พระแสงดาบคาบค่าย, พระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย พระมาลาเบี่ยง
ในบรรดาสิ่งสำคัญยังมี “หนังราชสีห์” ที่ยังคงเป็นปริศนาว่าเกี่ยวเนื่องกับ พระราชพิธีราชาภิเษก ครั้งกรุงศรีอยุธยาหรือไม่ อย่างไร
สำหรับที่มาของหนังราชสีห์นี้ ผู้ศึกษาอ้างอิง “คำให้การ” จาก “เฒ่าษา” อายุ 85 ปี นำมาทูลเกล้าฯ ถวายในสมัยรัชกาลที่ 2 อ้างว่า สามีเป็นขุนหมื่นในกรมรักษาพระองค์ เมื่อพม่าล้อมกรุงเอาไฟเผา ได้เข้าไปอยู่ในพระราชวัง ตามเสด็จสมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ (ในคำให้การว่า ธินั่งสุรามริน) หรือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ
ถึงประตูได้ส่งหนังราชสีห์ห่อกระดาษหลายชั้น ทรงตรัสว่าให้เก็บหนังราชสีห์ไว้ให้ดีอย่าให้พม่าเอาไปได้
เฒ่าษา ผู้เป็นภรรยาได้เก็บรักษาไว้ ต่อมาจนถึงจุลศักราช 1175 (ในรัชกาลที่ 2) ได้เอาหนังราชสีห์มาที่เรือนนายฤทธิณรงค์ และพบกับบิดานายฤทธิณรงค์ เห็นว่าเป็นของประหลาด อาจเป็นของต้องพระราชประสงค์ จึงให้นายฤทธิณรงค์ดำเนินการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
บุหลง ศรีกนก อ้างอิงว่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า เข้าใจว่า เมื่อถามคำให้การแล้ว จะไม่ทรงเชื่อว่าเป็นหนังราชสีห์ แต่ทรงเห็นว่ามีความประหลาดในพระราชพงศาวดารแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ มีแขกหรือฝรั่งชื่อ อะลังกะปูนี นำสิงโตเข้ามาถวาย หนังราชสีห์ที่มีในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศเห็นจะเป็นหนังสิงโตตัวนั้น
ในสมัยรัชกาลที่ 4 เจ้าพระยารวิวงศมหาโกษาธิบดีได้ติดต่อนักปราชญ์ฝรั่งเศสให้ส่งราชสีห์เข้ามา เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย นักปราชญ์ฝรั่งเศสได้ราชสีห์มาแล้วถอดเนื้อกระดูกออก ประกอบยารักษาไม่ให้ผุพัง ใส่สำลีขึ้นรูปให้เหมือนราชสีห์เป็นๆ และมีหนังราชสีห์อีกผืนมาทูลเกล้าฯ ถวาย โดยรูปสตัฟฟ์ราชสีห์ นี้พบว่า โปรดให้ตั้งประดับในท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคมในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์
สมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อมีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชใน พ.ศ. 2454 มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ตั้งแต่งพระที่นั่งภัทรบิฐในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ลาดหนังไกรสรราชสีห์ทั้งผืน หันหน้าไปทางตะวันออก ห้อยมือและเท้าซ้ายลงข้างเก็จรองพระบาท ทอดกระดานพิงพระนารายณ์ทรงครุฑบนหนังไกรสรราชสีห์
พระที่นั่งภัทรบิฐที่ปูหนังไกรสรราชสีห์ ผู้สืบค้นสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นราชสีห์สตัฟฟ์ทั้งตัว ที่ได้มาในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยที่กองราชูปโภคของสำนักพระราชวังก็มีเก็บหนังราชสีห์อยู่จนทุกวันนี้
เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับหนังราชสีห์เหล่านี้ และหนังราชสีห์ตามคำให้การที่ พระเจ้าเอกทัศ โปรดให้เก็บรักษาให้ดีเมื่อครั้งเสียกรุงนั้น บุหลง ศรีกนก แสดงความคิดเห็นว่า หนังราชสีห์น่าจะมีความสำคัญเนื่องในพระมหากษัตริย์ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องในการพระราชพิธีราชาภิเษก
เชื่อมโยงกับการ พระราชพิธีราชาภิเษก สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5 (พระเจ้าปราสาททอง) ตามพระราชพงศาวดารพรรณนาว่า “…แต่งตั้งสุวรรณบัลลังก์รัตนราชาอาสน์ลาดด้วยหนังราชสีห์ มีมหาเศวตฉัตร…” ซึ่งบ่งชี้ว่าหนังราชสีห์น่าจะใช้ปูลาดพระที่นั่งบนมหาปราสาทในพระราชพิธีราชาภิเษกมาแล้ว จึงมีแนวโน้มทำให้พระเจ้าเอกทัศทรงมีรับสั่งให้รักษาไว้ให้ดี
อ่านเพิ่มเติม :
- องค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เรียงความหมาย-ขั้นตอน-องค์ประกอบสำคัญ
- ทำไมรัชกาลที่ 6 “น้ำตาไหลอาบหน้า” ขณะสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก?
- ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จากอิทธิพลอินเดียถึงไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
บุหลง ศรีกนก. “ราชประเพณีสมัยอยุธยาตอนปลาย : กรณีศึกษาพระราชพิธีราชาภิเษก”. ยุคอวสาน กรุงศรีฯ ไม่เคยเสื่อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2561