องค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เรียงความหมาย-ขั้นตอน-องค์ประกอบสำคัญ

ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ (ภาพจาก หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระราชพิธีสำคัญของทุกประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ด้วยพิธีนี้เป็นการเฉลิมพระเกียรติยศว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยบริบูรณ์ และเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ และราชอาณาจักร

ตามโบราณราชประเพณีของสยาม แม้พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงครองราชย์ต่อจากพระมหากษัตริย์ในพระบรมโกศโดยทันที แต่การออกพระปรมาภิไธยจะยังไม่เรียกขานว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” หากแต่จะออกพระปรมาภิไธยว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

ในระหว่างที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คำสั่งของกษัตริย์พระองค์ใหม่ใช้ว่า “พระราชโองการ” ก็ยังไม่เรียกว่า “พระบรมราชโองการ” หรือทรงเศวตฉัตรก็ยังเป็นเพียงฉัตร 7 ชั้นหรือ “พระสัปตปฎลเศวตฉัตร” จะทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายฉัตร 9 ชั้น หรือ “พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร” ต่อเมื่อทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระบรมราชอิสริยยศจึงเต็มบริบูรณ์ตามโบราณขัตติยราชประเพณี

ความหมายของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณด้านตะวันออก (ภาพจาก จุลทัศน์ พยาฆรานนท์. เรียบเรียง. หมู่พระมหามณเฑียร. กรุงเทพฯ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักพระราชวัง, 2554)

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วยคำ พระราชพิธี+บรม+ราช+อภิเษก มีคำสำคัญของพระราชพิธีนี้คือคำ “อภิเษก” หมายถึง “รดน้ำ” ดังปรากฏในอักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2416 ให้ความหมายคือ “อะภิเศก แปลว่า รดน้ำลงยิ่ง”

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายของคำ “อภิเษก” คือ “แต่งตั้งโดยการรดน้ำ เช่น พิธีขึ้นเสวยราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน”

ดังนั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงหมายถึงพระราชพิธีในการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

สำหรับพิธีราชาภิเษกอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระมหากษัตริย์มี 5 ประการ มีการกล่าวถึงในคัมภีร์ปัญจราชาภิเษก สันนิษฐานว่าเขียนโดยพระพิมลธรรมหรือต่อมาคือสมเด็จพระพนรัตน์แห่งสำนักวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2328 ดังนี้

1.อินทราภิเษก คือ ราชาภิเษกสำหรับผู้มีอำนาจการเมือง เศรษฐกิจ และบุญญาธิการ ดุจดังราชาธิราช ประกอบด้วยลักษณะ 3 ประการ คือ พระอินทร์นำเครื่องราชกกุธภัณฑ์มาถวาย ราชรถมาจรดฝ่าพระบาท และมีฉัตรทิพย์มากางกั้น

2. โภคาภิเษก คือ ราชาภิเษกสำหรับผู้ที่สืบเชื้อสายตระกูลพราหมณ์ เป็นตระกูลมหาเศรษฐี ยังเป็นผู้รู้จักในราชธรรมตราชูธรรม และทศกุศล อันจะเป็นประโยชน์ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร

3. ปราบดาภิเษก คือ ราชาภิเษกสำหรับผู้อยู่ในตระกูลกษัตริย์ขัตติยราช มีฤทธิ์อำนาจและความสามารถในการสู้รบชนะข้าศึกศัตรูได้ครอบครองบ้านเมืองและทรัพย์สมบัติทั้งหลายกษัตริย์ขัตติยราช ขัตติยะนักรบ ปราบปรามอริราชศัตรูขึ้นเสวยราชย์

4. ราชาภิเษก คือ ราชาภิเษกด้วยการสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดาของพระราชบิดาและพระราชมารดาผู้ทรงครองราชสมบัติทรงพระชราแล้ว

5. อุภิเษก คือ ราชาภิเษกด้วยการอภิเษกสมรส หาหญิงที่มีตระกูลเสมอกันมาทำการอภิเษกสมรสกับพระราชโอรส ซึ่งหญิงนั้นอาจจะมีเชื้อสายกษัตริย์ในแว่นแคว้นอื่นๆ ที่มีวงศ์ตระกูลดีซึ่งเป็นสวัสดิชาติ

แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในพระราชพิธี

ภาพมุมสูงสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ในเมืองสุพรรณที่ใช้ทำน้ำสรงมุรธาภิเษกและน้ำอภิเษก (ภาพจาก มติชนรายวัน หน้า 18 วันที่ 4 เมษายน 2562)

ความหมายของมุรธาภิเษก

มุรธาภิเษก หมายถึงการรดน้ำอันศักดิ์สิทธิ์เหนือศีรษะ และหมายถึงน้ำพระพุทธมนต์และเทพมนตร์ สำหรับถวายพระมหากษัตริย์เพื่อสรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่นๆ

น้ำสรงพระมุรธาภิเษกมาจากไหน?

ในการเตรียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เจ้าพนักงานพลีกรรมจะตักน้ำจากแหล่งน้ำที่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ในขั้นตอนของการสรงพระมุรธาภิเษก ที่มณฑปพระกระยาสนาน และการถวายน้ำอภิเษกบริเวณพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

สำหรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพระราชพิธีได้มาจากแหล่งน้ำสำคัญ จากสระ 4 แห่งที่เมืองสุพรรณบุรี คือ สระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา

ความสำคัญของสระดังกล่าวปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชาธิบายดังนี้

“น้ำซึ่งใช้ในสหัสธารานั้นใช้น้ำสี่สระคือ น้ำสระแก้ว สระเกศ สระคา สระยมนา รวมกัน น้ำสี่สระนี้ เป็นน้ำสำหรับบรมราชาภิเษกมาแต่ครั้งพระร่วงกรุงสุโขทัยมีลัทธิถือกันว่าน้ำสี่สระนี้ ถ้าผู้ใดเอาไปกินอาบเป็นเสนียดจัญไรมักให้เปื่อยพัง และมีอันตรายต่างๆ ที่ว่านี้ตามคำกล่าวไว้แต่โบราณผู้ที่มีความยำเกรงต่อพระเจ้าแผ่นดินอยู่ ก็ไม่มีผู้ใดที่จะคิดอ่านทดลอง ได้ทราบคำเล่าบอกว่ามีผู้ที่ฟุ้งๆ วุ่นวายได้ทดลองก็บังเกิดอันตรายต่างๆ เพราะผู้นั้นมีจิตใจไม่สู้สุจริตอยู่แล้ว”

พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 1-4 เพิ่มน้ำจากแม่น้ำสำคัญของประเทศอีก 5 สายที่สมมติว่าคือ “เบญจสุทธิคงคา” ซึ่งมาจากแม่น้ำบางปะกง ตักน้ำที่บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก, แม่น้ำป่าสัก ตักน้ำที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี, แม่น้ำเจ้าพระยา ตักน้ำที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง, แม่น้ำราชบุรี ตักน้ำที่ตำบลดาวดึงส์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม และแม่น้ำเพชรบุรี ตักน้ำที่ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี

บ่อน้ำปราสาทสระกำแพงน้อย จ.ศรีสะเกษ (ภาพจากมติชนรายวัน หน้า 18 วันที่ 4 เมษายน 2562)

ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 ใช้น้ำสรงพระมุรธาภิเษกจากแหล่งน้ำดังที่กล่าวมาเพื่อทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในปี พ.ศ.2411 และเมื่อทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ในปี 2416 จึงมีการนำน้ำจากปัญจมหานทีในอินเดียได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะมาจากเขาไกรลาสที่สถิตของพระอิศวร ซึ่งได้จากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอินเดียเมื่อปี พ.ศ.2415 มาเจือในน้ำที่ใช้สรงพระมุรธาภิเษกด้วย

ในยุครัชกาลที่ 6 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกปี พ.ศ.2453 ยังคงใช้น้ำสรงพระมุรธาภิเษก จากแหล่งเดียวกับรัชกาลที่ 5 แต่เมื่อครั้งประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชปี 2454 ได้เพิ่มน้ำจากแหล่งสำคัญ แล้วนำไปเข้าพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระมหาเจดียสถานสำคัญ 7 แห่ง ได้แก่ สระบุรี นครปฐม สุโขทัย นครศรีธรรมราช พิษณุโลก ลำพูน และนครพนม และวัดสำคัญในมณฑลต่างๆ 10 มณฑล

ต่อมาในรัชกาลที่ 7 ทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์เพิ่มจากที่ทำในรัชกาลที่ 6 อีกหนึ่งแห่งคือ วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่

สำหรับสมัยรัชกาลที่ 9 ทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ 18 แห่งเท่ากับสมัยรัชกาลที่ 7 แต่เปลี่ยนสถานที่จากเดิม 2 แห่งคือ เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ และพระธาตุช่อแฮ เป็นบึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด และพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน หลังจากนั้น เจ้าพนักงานจะเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นมาตั้งภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนกระทั่งวันงานพระราชพิธีจึงเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์มาทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์เสกน้ำ ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์อีกครั้งหนึ่ง

ขั้นตอนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

หมู่พระมหามณเฑียร (ภาพจาก หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ผ่านมานั้น มีการปรับเปลี่ยน โดยพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาลย่อมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับเปลี่ยนบางอย่างตามพระราชนิยม

การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ม.ร.ว. แสงสูรย์ ลดาวัลย์ ได้เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ถึงขั้นตอนของพิธีที่อาจแบ่งแยกออกไปได้เป็น 5 ตอน ดังนี้

1.ขั้นเตรียมพิธี มีการทำพิธีตักน้ำและตั้งพิธีเสกน้ำสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก กับทำพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำรัชกาล

2. พิธีเบื้องต้น มีการเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งน้ำวงด้าย จุดเทียนชัย และเจริญพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

3. พิธีบรมราชาภิเษก มีพิธีสรงพระมุรธาภิเษก แล้วประทับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์รับน้ำอภิเษก ประทับพระที่นั่งภัทรบิฐรับถวายสิริราชสมบัติและเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์

4. พิธีเบื้องปลาย มีการเสด็จออกมหาสมาคม สถาปนาสมเด็จพระราชินี แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทำพิธีประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภกในพระบวรพุทธศาสนา ถวายบังคมพระบรมศพ พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี และเสด็จเฉลิมพระราชมณเฑียร

5. เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยกระบวนพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคและชลมารค

ส่วนขั้นตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีรายละเอียดใน ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดังนี้

“เลขาธิการพระราชวัง รับพระราชโองการเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า โดยที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ตามคำกราบทูลเชิญของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา กราบบังคมทูลในนามของปวงชนชาวไทยนั้น

ทรงพระราชดำริว่า เป็นโอกาสอันควรที่จะได้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามพระราชประเพณี เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ และราชอาณาจักร ให้เป็นที่ชื่นชมยินดีของประชาชนผู้มีความหวังตั้งใจอยู่ทั่วกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น ดังนี้

วันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงค์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงค์ จากนั้น เสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

ส่วนการเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีขึ้นในช่วงการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ปลายปีพุทธศักราช ๒๕๖๒

จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน สำนักพระราชวัง

1 มกราคม พุทธศักราช 2562”

เครื่องประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เครื่องราชูปโภค พระแสงตรี พระแสงจักร พระแสงดาบ พระแสงธนู วาลวิชนี และฉลองพระบาท (ภาพจาก หนังสือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

“…เชิญเสดจ์พระราชดำเนินมาขึ้นบนพระที่นั่งภัทธปิฐ มีพระมหาเสวตรฉัตรเจดชั้น เสดจ์นั่งเหนือแผ่นทองที่เขียนเปนรูปราชสีห์อันมีมหันตเดช ผันพระภักตร์สู่ทิศอิสาน

พระมหาราชครูโหราจารย อ่านพระเวทสรรเสริญไกรลาศ

แล้วถวายพระสุพรรณบัตรเบญจราชกุกกุภัณฑ์คือ พระมหามงกุฎ พระแสงขรรค์

ธารพระกร พัดวาลวิชนี ฉลองพระบาท แล้วถวายพระแสงอัษฎาวุธแลเครื่องราโชประโภค…”

(พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน. นฤมล ธีรวัฒน์ ชำระ)

เครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ใช้ในงานบรมราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ล้วนแต่เป็นของที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 แทนเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศที่สูญสิ้นไปเมื่อคราวเสียงกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจำแนกเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศบนพระแท่นมณฑลบรมราชาภิเษกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 5 เป็นหมวดหมู่ดังนี้

หมวดพระเจ้า พระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธบุษยรัตน์ฯ พระแก้วเรือนทอง พระแก้วเชียงแสน พระชัยประจำรัชกาลที่ 1-4 พระชัยพิธี พระชัยหลังช้าง พระนิรันตราย และคัมภีร์พระธรรม

หมวดพระราชสิริ พระสุพรรณบัฏ ดวงพระชันษา และพระราชลัญจกร

พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำแผ่นดินรัชกาลที่ 9

หมวดเครื่องพระมุรธาภิเษก ครอบพระกริ่ง พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ พระมหาสังข์ทอง พระมหาสังข์นาก พระมหาสังข์เงิน พระมหาสังข์(รัชกาลที่ 3) พระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่ พระเต้าเบญจคัพย์รอง (รัชกาลที่ 4) พระเต้าเบญจคัพย์ห้าห้อง (รัชกาลที่ 4) พระเต้าปทุมนิมิตทอง นาก เงิน และสัมฤทธิ์ พระเต้าห้ากษัตริย์ พระเต้าบัวหยกเขียว พระเต้าบัวแดง พระเต้าจารึกอักษร พระเต้าศิลายอดเกี้ยว พระเต้าบังกสี พระเต้าเทวบิฐ พระเต้าไกรลาส พระเต้านพเคราะห์ และครอบพระมุรธาภิเษก

พระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่ (ภาพจาก บุษยา ไกรกฤกษ์, คุณหญิง. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์อมรินทร์การพิมพ์, 2528.)

หมวดเครื่องต้น พระมหามงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี ฉลองพระบาท พระภูษารัตกัมพล พระมหาสังวาล พระนพ พระสังวาลพราหมณ์ พระธำมรงค์ พระมาลาเพชร พระแส้หางช้างเผือก และ พระแส้จามรี

พระแสงขรรค์ชัยศรี

หมวดเครื่องพิชัยสงคราม หีบเครื่องพระพิชัยสงคราม หีบเครื่องพระมนต์พิเศษ พระมาลาเบี่ยง ฉลองพระองค์เกราะเหล็ก ฉลองพระองค์เกราะนวม และเครื่องทรงลงยันต์ราชะเจ็ดสี

หมวดพระแสง พระแสงดาบเชลย พระแสงจักร พระแสงตรีศูล พระแสงธนู พระแสงดาบเขน พระแสงหอกชัย พระแสงปืนคาบชุดข้ามแม่น้ำสะโตง พระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย พระแสงดาบคาบค่าย พระแสงดาบใจเพชร พระแสงเวียด พระแสงทวน พระแสงง้าว พระแสงปืนคาบศิลาเคยทรง พระแสงขอตีช้างล้ม พระแสงขอคร่ำด้ามไม้เท้า พระแสงชนักต้น และพระแสงศร

พระแสงดาบต่างๆ จากบนลงล่าง พระแสงดาบคาบค่าย พระแสงขรรค์ชัยศรี พระแสงดาบใจเพชร พระแสงดาบเวียด

หมวดเครื่องสูง พระเศวตฉัตร พระเสมาธิปัตย์ พระฉัตรชัย พระเกาวพ่าห์ ธงชัยกระบี่ธุช และธงชัยครุฑพ่าห์

หมวดเครื่องราชูปโภค ได้แก่ พานพระขันหมาก พระสุพรรณศรีบัวแฉก พระเต้าพระสุธารส และพระสุพรรณราช

เครื่องประกอบฯ ดังกล่าวจะนำไปตั้งไว้บนพระแท่นมณฑลในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

ถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์แล้ว ก็เสด็จไปประทับ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ เพื่อทรงรับการถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ต่อไปซึ่งมีอยู่หลายรายการ แต่ที่นับว่าสำคัญที่สุดคือ เครื่องเบญราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร พัดหรือแส้ และฉลองพระบาท

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์อันเป็นมงคล

เครื่องราชกกุธภัณฑ์

“ฝูงเป็นท้าวเป็นพระยาเบื้องตะวันออกตะวันตก หัวนอนตีนนอน ต่างคนต่างมีใจใคร่รัก
เอามกุฎ ขันชัยศรี เศวตรฉัตรมายัดยัญอภิเษกให้เป็นท้าวเป็นพระยา”

(จารึกหลักที่ 5 วัดป่ามะม่วง ภาษาไทยหลักที่ 1 และภาษาเขมร พ.ศ. 1904)

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชอิสริยยศ 5 สิ่งมาแต่โบราณของพระมหากษัตริย์ คือ พระมหามงกุฎ พระภูษาผ้ารัตกัมพล พระขรรค์ พระเศวตฉัตรและฉลองพระบาททองประดับแก้ว ล้วนมีความหมายอันเป็นมงคล ซึ่งในคัมภีร์โลกบัญญัติอธิบายไว้ดังนี้

1. พระมหามงกุฎ หมายถึง ยอดวิมานของพระอินทร์

2. พระขรรค์ หมายถึง พระปัญญาอันจะตัดมลทินถ้อยความไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้เห็นแจ้งทั่วทั้งโลกธาตุ

3. พระภูษาผ้ารัตกัมพล หมายถึง เขาคันธมาทน์อันประดับเขาพระสุเมรุราช เพราะองค์พระมหากัตริย์นั้นเปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุราช พระเนตรข้างขวาเสมือนพระอาทิตย์ พระเนตรข้างซ้ายเสมือนพระจันทร์ ทั้งพระอาทิตย์และพระจันทร์ล้วนส่องโลก ดุจพระทัยของพระองค์ในอันที่จะตัดทุกข์ภัย ในอันที่จะให้แจ้งในพระอุเบกขาบริญัติ คือให้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งพระธรรมวินัยธรรมที่จะสั่งสอนราษฎรนั่นเอง

4. พระเศวตฉัตร เดิมแต่โบราณมา พระมหากัตริย์ทรงประดับด้วยพระเศวตฉัตรเพียงหกชั้น อันหมายถึงสวรรค์ฉกามาพจรทั้งหก และเมื่อเพิ่มพระเศวตฉัตรเป็นเก้าชั้นน่าจะหมายรวมถึงสวรรค์ชั้นพรหมโลกด้วย

5. ฉลองพระบาท หมายถึง แผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุราช และเป็นที่อาศัยแก่พสกนิกรทั้งหลายทั่วขอบขัณฑสีมาและแผ่นดินนี้จะรุ่งเรืองอำนาจด้วยพระเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์

เมื่อเพิ่มธารพระกรเข้ามในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ความหมายอาจจะเป็นไปในการที่ทรงใช้ทศพิธราชธรรมดุจธารพระกรที่นำทางให้เกิดความสุขความเจริญรุ่งเรืองแก่ปวงประชาและราชอาณาจักร

(ข้อมูลจาก ณัฏฐภัทร จันทวิช. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. กรมศิลปากร, 2530.)


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 17 เมษายน 2562