เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ถูกพระราชบิดา “เนรเทศ” แต่กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อ “แคนาดา” ได้อย่างไร

เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุคแห่งเคนต์
เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุคแห่งเคนต์ (ค.ศ. 1767-1820) วาดโดย William Beechey เมื่อ 1818 ไฟล์ public domain

เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุคแห่งเคนต์ ถูกพระราชบิดาเนรเทศ แต่กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อแคนาดาได้อย่างไร

คนส่วนใหญ่รู้จักเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุคแห่งเคนต์ (Prince Edward Augustus, Duke of Kent and Strathearn / 1767-1820) ว่าเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย นอกเหนือจากนั้นแล้ว ชีวประวัติของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดมีเรื่องน่าสนใจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความชอบส่วนพระองค์ ความรัก และที่สำคัญคือความเชื่อมโยงกับแคนาดาในยุคต้น

เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุคแห่งเคนต์ ประสูติเมื่อ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1767 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ของพระเจ้าจอร์จที่ 3 (1738-1820) ทรงรับการศึกษาด้านการทหารในเยอรมนีเมื่อ ค.ศ. 1785 กระทั่งใน ค.ศ. 1789 ได้รับแต่งตั้งตำแหน่งทางการทหารเทียบเท่ายศพันเอกในหน่วยปืนคาบศิลา (Royal Fusiliers) แห่งกองทัพบริติช นักประวัติศาสตร์หลายท่านบอกตรงกันว่า ภายหลังจากได้รับแต่งตั้งไม่นาน พระราชบิดาก็ส่งตัวไปปฏิบัติหน้าที่ในยิบรอลตาร์ (Gibraltar) เมื่อ ค.ศ. 1790

พระเจ้าจอร์จที่ 3

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ แหล่งข้อมูลหลายแห่งอธิบายไว้แตกต่างกัน แบ่งได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งอธิบายใกล้เคียงกันว่า สืบเนื่องมาจากพฤติกรรมในวัยเยาว์ที่ขาดดุลยพินิจของพระองค์ กับอีกกลุ่มที่ระบุสาเหตุแบบชัดเจนเลยว่าเป็นคำสั่งส่งตัวซึ่งเสมือนการ “เนรเทศ” (exile) จากเหตุที่พระองค์เสด็จนิวัติกลับโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ

Nathan Tidridge ครูและนักเขียนหนังสือประวัติของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด อธิบายเพิ่มเติมว่า หลังจากถูก “ส่งตัว” ออกจากบ้านเกิดไปในวัย 24 ปี พระองค์มักปฏิบัติหน้าที่โดยมี “คนรัก” อีกรายคอยเคียงข้าง เธอคือ Julie de St. Laurent ใน ค.ศ. 1791 เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ย้ายที่พำนักมาอยู่ที่ควิเบก (Quebec) ในแคนาดา ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่การใช้ชีวิตของพระองค์ส่งอิทธิพลต่อแคนาดามาจนถึงวันนี้

ทั้งนี้ ชีวประวัติของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด มีทั้งมุมการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ต่าง ๆ และเรื่องราวชีวิตส่วนตัวโดยเฉพาะด้านความประพฤติซึ่งมักมีเรื่องซุบซิบนินทาเกี่ยวกับ “คนรัก” หลายราย อาทิ เช่นความสัมพันธ์กับ Julie de St. Laurent ซึ่งเดิมทีเธอเป็นที่รู้จักในนาม “Madame de Saint-Laurent” เป็นภรรยาของนายทหารฝรั่งเศส ก่อนจะตามเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดมาที่แคนาดาใน ค.ศ. 1791

เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดสมรสกับเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่ง Saxe-Coburg-Saalfeld (ภายหลังเป็นวิกตอเรียแห่ง Leiningen และดัชเชสแห่ง Kent and Strathearn) ใน ค.ศ. 1818

แค่เพียง 2 ปีหลังการสมรส เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดสิ้นพระชนม์ แต่ในช่วง 2 ปีนั้น พระภรรยาของพระองค์ให้กำเนิดพระธิดา ซึ่งภายหลังได้ครองราชย์เป็นควีนวิกตอเรีย ดังที่ทราบกันว่า หลักฐานที่ควีนวิกตอเรียพูดถึงพระราชบิดามีน้อยมาก นักประวัติศาสตร์บางส่วนยังมองว่า การจากไปของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดส่งผลต่อการใช้ชีวิตในวัยเด็กของควีนวิกตอเรียอยู่บ้าง

เมื่อค้นหาหลักฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดแล้วพบว่า พระองค์ไม่เพียงแต่เป็นนายทหารระดับบัญชาการและผู้ปกครองอาณานิคมแล้ว พระองค์โปรดการอ่านหนังสือ จากที่พบเห็นในเอกสารโต้ตอบกับดยุคแห่งแห่งคลาเรนซ์ (พี่ชายของพระองค์) เพื่อขอหนังสือจำนวนหนึ่ง ขณะที่คอลเลกชันหนังสือของพระองค์ก็เคยถูกนำมาประมูลขายด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่งที่อาจช่วยให้เห็นภาพบทบาทของพระองค์คือ เรื่องราวที่เกิดในแคนาดา สำหรับชาวแคนาดาแล้ว พวกเขาคุ้นเคยกับชื่อเกาะเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด (Prince Edward Island – P.E.I.) ในอาณาเขตของแคนาดาเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ในข้อเท็จจริงแล้วพระองค์ไม่เคยเสด็จไปที่เกาะแห่งนี้แต่อย่างใด

เดิมทีแล้วเกาะแห่งนี้ ชนพื้นเมือง Mi’kmaq เรียกว่า Epekwitk หมายถึง “ลอยอยู่บนผิวน้ำ” เมื่อมาถึงยุคการปกครองโดยฝรั่งเศส เรียกเกาะแห่งนี้ว่า Île-Saint-Jean กระทั่งอังกฤษเข้าครอบครองดินแดนใน ค.ศ. 1763 ก็เปลี่ยนชื่อเกาะมาเป็น “เซนต์จอห์นส ไอส์แลนด์” (St. John’s Island) ซึ่งตามความคิดเห็นของศาสตราจารย์ เอ็ด แม็กโดนัลด์ (Ed MacDonald) จากมหาวิทยาลัย UPEI มองว่า ชื่อนี้ทำให้เกิดความสับสนกับเกาะ “St. John” และ “St. John’s”

ช่วงทศวรรษ 1780s รัฐบาลที่กำกับดูแลการบริหารของเกาะพยายามเปลี่ยนชื่อเป็น “นิวไอร์แลนด์” (New Ireland) แต่ถูกอังกฤษปฏิเสธและเสนอชื่อเรียกใหม่ให้เลือกอีกหลายรายชื่อ ซึ่งฝั่งแคนาดาก็ไม่ได้เลือกมาใช้ เกาะแห่งนี้เลยใช้ชื่อเก่าเรียกกันมาจนถึงทศวรรษ 1790s เมื่อชาวแคนาดาเริ่มได้ยินเกี่ยวกับพระราชโอรสของกษัตริย์อังกฤษทรงมีพระราชหฤทัยสนใจพัฒนาสวัสดิการในพื้นที่

ช่วงเวลานั้นถือว่าเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พำนักในแคนาดามาเกือบ 9 ปีแล้ว และเคยประจำการในกองทัพอังกฤษที่อยู่ในควิเบกและพื้นที่อื่น ศาสตราจารย์ เอ็ด แม็กโดนัลด์ ระบุว่า พระองค์ทรงแนะนำให้เพิ่มการป้องกันมากขึ้น และเขาเชื่อว่า การที่แคนาดาใช้ชื่อพระองค์เป็นชื่อเกาะ ในแง่หนึ่งก็อาจสะท้อนมุมมองเชิงบวกของชาวแคนาดาที่มีต่อเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดได้

เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุคแห่งเคนต์

ทั้งนี้ หลายพื้นที่ในแคนาดาก็มีชื่อเรียกตามชื่อเชื้อพระวงศ์ในอังกฤษอย่างเช่น จอร์จทาวน์ (Georgetown) และชาร์ล็อตต์ทาวน์ (Charlottetown) ศาสตราจารย์ เอ็ด แม็กโดนัลด์ ชี้ว่า ล้วนตั้งตามพระราชบิดาและพระมารดาของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ส่วน “วิกตอเรียปาร์ก” (Victoria Park) ก็ตั้งตามพระนามของควีนวิกตอเรีย

สำหรับเหตุผลที่พระองค์ไม่เคยเสด็จฯ ไปที่เกาะแห่งนี้ Nathan Tidridge ผู้ศึกษาประวัติเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดอธิบายไว้ว่า โดยปกติแล้ว เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเสด็จฯ ทางเรือบ่อยครั้งมาก แต่ไม่เคยได้มาเยือนเกาะนี้เพราะแผนการที่พระองค์จะเสด็จไปเยือนเกาะถูกยกเลิกเนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุตกม้า

แม้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจะมีอิทธิพลต่อพื้นที่แคนาดามาก ในระดับที่ Nathan Tidridge อธิบายว่า คำว่า “แคนาเดียน” (Canadian) ก็พบว่า เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดเป็นผู้ใช้คำนี้แบบที่ปรากฏบนหลักฐานบันทึกเป็นคนแรกในความหมายแบบที่รวมผู้อาศัยทั้งชาวฝรั่งเศสและอังกฤษ จากเดิมที่เคยใช้สื่อถึงผู้อาศัยชาวฝรั่งเศสแค่ฝ่ายเดียว

จากหลักฐานแล้ว เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดยังทรงนิพนธ์ถึงการรวมอาณานิคมเข้าเป็นสมาพันธ์ (confederation) ก่อนหน้าเหตุการณ์การประชุมที่ชาร์ล็อตต์ทาวน์เพื่อหารือเรื่องการรวมตัวกันหลายสิบปี

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนชื่อเกาะที่เกิดขึ้นนั้น ฝ่ายชนพื้นเมือง Mi’kmaq อ้างว่าพวกเขาไม่เคยมีใครมาปรึกษาหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อ

แถลงการณ์จากกลุ่มชนพื้นเมือง Mi’kmaq บนเกาะ ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม “The Mi’kmaq Confederacy of P.E.I.” ระบุว่า อำนาจในการเปลี่ยนชื่อเกาะ Epekwitk ซึ่งเป็นชื่อที่ Mi’kmaq ใช้กันมาหลายพันปีแสดงให้เห็นถึงแนวคิดแบบยุคสมัยอาณานิคม แต่ในปัจจุบัน ประเด็นที่น่ากังวลสำหรับกลุ่มพวกเขาคือเรื่องการรับรู้สิทธิและกรรมสิทธิ์ของกลุ่ม Mi’kmaq ที่มีมาแต่เดิม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Cawthorne, Nigel. Sex Lives of the Kings & Queens of England. London : Carlton Books. 2016.

Gillen, Mollie. “The Library of the Duke of Kent”. History Today. Online. Published in History Today Volume 19 Issue 10 October 1969. Access 11 MAY 2021. <https://www.historytoday.com/archive/library-duke-kent>

Sinclair, Jesara. “How Prince Edward, who never set foot on P.E.I., ended up with an Island named after him”. CBC. Online. 2 NOV 2017. Access 11 MAY 2021. <https://www.cbc.ca/news/canada/prince-edward-island/pei-prince-edward-250-1.4382116>

Tidridge, Nathan. PRINCE EDWARD, DUKE OF KENT. Toronto : Dundurn Press, 2013.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤษภาคม 2564