ความลุ่มหลง-จุดอ่อนของควีนวิกตอเรีย กับข้อสังเกตทอดทิ้งประชาชนจากเรื่องส่วนตัว

เจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเคนต์ (ควีนวิกตอเรียในภายหลัง) ภาพเขียนสมัยศตวรรษที่ 19 (ภาพจาก via Wikimedia Commons)

…เมื่อ 40 ปีมาแล้วที่ประเทศอังกฤษ ผู้เขียนอ่านพบข้อมูลบางอย่างที่เหลือเชื่อเกี่ยวกับบุคลิก 2 ลักษณะของควีนวิกตอเรีย พระราชินีอังกฤษ ด้านหนึ่งเป็นความชิงชังเอาจริงเอาจังกับชีวิต อีกด้านหนึ่งเป็นความปวกเปียกอ่อนแอ

ภาพพจน์ที่เปิดเผยของพระนางคือความแข็งแกร่งของราชบัลลังก์และสถานะอันมั่นคงหนักแน่นในสายตาคนทั่วไป แต่ในมุมมองอันซ่อนเร้นแล้วพระนางกลับเป็นผู้ผิดหวังในชีวิตหลบหน้าสังคม ท้อแท้และสิ้นหวัง เกิดจากการประชดปัญหาชีวิตที่ทรงประสบ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพ และประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินจนสังคมตั้งข้อสังเกตว่าพระนางทรงกําลังทอดทิ้งประชาชนด้วยเรื่องส่วนตัว ถึงวันนี้วันที่ครบรอบ 150 ปี (เมื่อปี 2555) การจากไปของบุรุษผู้เป็นต้นเหตุของความอ่อนแอและความหม่นหมองของประวัติศาสตร์อังกฤษ ก็มีนักวิชาการออกมาเปิดเผยใหม่ว่า ผลสะท้อนนี้เกือบทําให้ชาวอังกฤษและอาณานิคมทั่วโลกที่อังกฤษเคยปกครองหมตศรัทธาในตัวพระนาง และควีนก็ไม่ทรงสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้เลยจนสิ้นรัชกาล

ความอ่อนแอของควีนดูเหมือนจะถูกลบเลือนเสียหมดด้วยพลังอํานาจของรัฐบาลอังกฤษโพ้นทะเล ที่แผ่ปกคลุมไปทั่วซีกโลกตะวันออก ความเกรียงไกรของกองทัพอังกฤษและแสนยานุภาพทางทะเล ตลอดจนบทบาทอันออกหน้าออกตาของบรรดานายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ไม่เพียงแต่ปกครองชาวอังกฤษเท่านั้น แต่ยังดูแลอาณานิคมกว่าครึ่งโลก

มีอาทิ Lord Palmerston, Mr. Gladstone, Mr.Disraeli หรือข้าหลวงใหญ่อังกฤษในอินเดีย พม่า และ มลายู มีอาทิ Sir James Brooke, Sir Stamford Raffles, Lord Dalhousie, Lord Dufferin หรือราชทูตอังกฤษผู้โด่งดัง อาทิ John Crawfurd, Henry Burney, Sir John Bowring, Lord Elgin, Sir Harry Parkes ล้วนมีอิทธิพลเพียงพอที่จะบดบังพระนามของมหาราชแห่งอินเดียและจักรพรรดิจีนจนเทียบกันไม่ติด อานิสงส์นี้ช่วยส่งเสริมให้กิตติศัพท์ของพระราชินีอังกฤษ หรือควีนวิกตอเรียผู้บังคับบัญชาสูงสุดผงาดขึ้นไปเป็นจุดสุดยอดของความน่าเกรงขาม มากด้วยบุญบารมี และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสําเร็จจากภายนอก ซึ่งชาวสยามอย่างเราท่านก็ไม่เคยมีข้อกังขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ

เจ้าชายอัลเบิร์ตบุรุษข้างหลังราชบัลลังก์อังกฤษ

การก้าวขึ้นสู่บัลลังก์อำนาจของควีนนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นเหตุบังเอิญมากกว่าเป็นไปตามกติกาในภาวะปกติ เพราะเจ้าหญิงวิกตอเรียไม่เคยเป็นตัวเลือกหรือแม้แต่ตัวสำรองในฐานะพระยุพราชสายตรง เธอมิได้มีพระราชบิดาเป็นกษัตริย์ แต่แล้วโชคชะตาก็พลิกผันให้ราชสำนักจำเป็นต้องยัดเยียดตำแหน่งให้ สำหรับเด็กผู้หญิงขี้อาย บอบบางและไร้เดียงสาต่อโลกแล้ว มันมิใช่เรื่องง่ายเลย

เจ้าหญิงวิกตอเรีย พระชนมายุยังไม่ครบ 17 พรรษา แถมยังกำพร้าพระราชบิดาก็ได้รับการวางตัวทั้งที่ขาดความพร้อมในทุกๆ ด้านให้เป็นองค์มกุฎราชกุมารี ด้วยเหตุผลที่กษัตริย์อังกฤษองค์ก่อนคือ พระเจ้าวิลเลียมที่ 4 ไม่มีพระราชโอรสสืบสันตติวงศ์ ดังนั้นตำแหน่งพระยุพราชจึงจำเป็นต้องตกเป็นของพระภาคิไนย หรือพระโอรสธิดาของสมเด็จพระอนุชาของกษัตริย์ แต่เนื่องจากพระอนุชาเสด็จทิวงคตไปเสียก่อน ตำแหน่งเจ้ากรรมจึงตกมาถึงเจ้าหญิงวิกตอเรียผู้เป็นพระภาคิไนย (หลาน) ของกษัตริย์อย่างไม่คาดฝัน เจ้าหญิงจะไม่ทรงทราบล่วงหน้าเลยว่าตำแหน่งนี้มีความสำคัญเพียงใดต่อชีวิตของเธอในอนาคต

จนกระทั่งคืนวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1837 พระเจ้าวิลเลียมที่ 4 เสด็จสวรรคต เจ้าหญิงก็ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นกลางดึก เพื่ออัญเชิญมาคารวะพระบรมศพทั้งที่ยังอยู่ในชุดนอน มันเป็นธรรมเนียมของราชวงศ์อังกฤษที่จะต้องสถาปนากษัตริย์องค์ใหม่ต่อไปทันทีทันใด เพื่อป้องกันการแย่งชิงราชบัลลังก์

ท่ามกลางบรรยากาศครึ่งหลับครึ่งตื่นนั้นพระประยูรญาติชั้นผู้ใหญ่และขุนนางในวัยชราภาพหลายท่านทรุดตัวคุกเข่าลงกับพื้นแล้วเปล่งเสียงประกาศก้องพร้อมกันว่า “The King is Dead Long Live The King” จากนั้นบรรดาผู้สูงอายุในที่นั้นก็เรียงแถวกันเข้ามาจุมพิตพระหัตถ์เจ้าหญิงน้อยอย่างนอบน้อม โดยที่เจ้าหญิงยังไม่ค่อยแน่ใจด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้น

ด้วยความอ่อนเปลี้ยเพลียแรง เจ้าหญิงโซเซกลับมาซบพระอุระของพระมารดา พร้อมกับทรงกันแสงฟูมฟายด้วยความตื่นตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วจึงถามคำถามด้วยสีหน้างุนงงว่า “หนูเป็นพระราชินีแล้วหรือหม่อมแม่!?” [12]

การเสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์องค์ใหม่ในฐานะ “พระราชินีอังกฤษ” ปกครองอาณานิคมมากกว่าครึ่งโลกจึงเป็นพระชะตาฟ้าลิขิตอย่างแท้จริง และพรหมลิขิตที่จะติดตามมาให้สวรรค์ส่งเจ้าชายผู้ปรีชาสามารถองค์หนึ่งมาเป็นคู่บุญบารมีในช่วงเปลี่ยนแผ่นดินอันกะทันหันและฉุกละหุกนี้ โดย 2 ปีก่อนหน้านั้นที่งานแข่งม้าประจำปี ณ เมืองแอสคอต (Ascot) เจ้าหญิงได้ทรงออกงานเป็นครั้งแรก และมีโอกาสรู้จักเจ้าชายหนุ่มจากเยอรมนี ผู้มีพระนามว่าอัลเบิร์ต (Prince Albert) แห่งเมืองแซ็กซ์โคเบิร์ก-โกธา (Saxe Coburg-Gotha) พระชนมายุไล่เลี่ยกันคือ 15 พรรษา

การพบปะครั้งนั้นจะกลายเป็น Puppy Love ให้ทั้ง 2 พระองค์ติดต่อกันทางจดหมายเรื่อยมา และพัฒนาไปเป็นรักแรกพบ ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ทั้งในราชสำนักอังกฤษและเยอรมัน เพราะนอกจากจะเข้ากันได้เป็นอย่างดีแล้ว ทั้ง 2 พระองค์ยังมีชาติตระกูลคู่ควรกัน และเป็นพระญาติห่างๆ กันอีกต่างหาก [11]

หลังจากเจ้าหญิงวิกตอเรียเสวยราชย์เป็นควีนแล้ว ราชสำนักอังกฤษซึ่งรู้การภายในดีก็ได้ดำเนินการสู่ขอเจ้าชายอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเป็นจารีตที่พระราชินีจะต้องเป็นฝ่ายขอฝ่ายชายแต่งงานในฐานะที่สูงศักดิ์กว่า และฝ่ายชายจะเป็นผู้ขอฝ่ายหญิงไม่ได้ตามธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป วันอภิเษกสมรสมีขึ้นในอีก 3 ปีต่อมาคือปี ค.ศ. 1840 [8]

ความหลงใหลในตัวเจ้าชายถูกบันทึกไว้ในจดหมายของควีนลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1840 ทรงมีถึงพระเจ้าลีโอโปลด์แห่งเบลเยียมผู้เป็นพระราชปิตุลาของควีนและพ่อสื่อคนสำคัญในการเลือกคู่ครั้งนี้

“หลานไม่คิดว่าในโลกนี้จะมีใครที่มีความสุขยิ่งไปกว่าหลานหรือสุขเท่าหลาน อัลเบิร์ตเป็นเทวดา เพียงแต่ได้อยู่ใกล้ชิดเธอก็มั่นใจพอแล้ว และเพียงพอแล้วที่จะให้หลานบูชาเธอ” [8]

การที่เจ้าชายอัลเบิร์ตเป็นผู้มีวุฒิภาวะสูง เป็นคนสุขุมรอบคอบ มีความสามารถพิเศษในการจูงใจคนและวางตัวเหมาะสมกับสถานการณ์ เป็นแรงเกื้อหนุนการดำรงอยู่ของควีน ผู้อ่อนประสบการณ์ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ควีนทรงสามารถปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นภรรยาที่ดี และมารดาอันประเสริฐของพระราชโอรสธิดาถึง 9 พระองค์ ในระยะ 9 ปีแรกของการสร้างครอบครัว ขณะที่พระสวามีผู้ถนัดในทางรัฐประศาสนศาสตร์ก็มีโอกาสได้แสดงฝีมือทำตัวเป็นประโยชน์ต่อภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของควีนให้ดำเนินต่อไปได้โดยไม่ขาดตอน และอย่างมีประสิทธิภาพ [11]

นักวิชาการสายตรงให้เครดิตต่อปรากฏการณ์พิเศษในราชสำนักอังกฤษ ตลอดทศวรรษแรกในรัชกาลนี้กับการดำรงอยู่ของเจ้าชายอัลเบิร์ตมากกว่าบุญวาสนาของพระราชินีอังกฤษ โดยวิเคราะห์ว่าเจ้าชายอัลเบิร์ตคู่ควรกับตำแหน่งพระราชาในทางปฏิบัติมากกว่าตำแหน่งพระสวามีในทางทฤษฎีของพระราชินีผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น [13]

ผลงานของเจ้าชายอัลเบิร์ต ช่วยเชิดหน้าชูตารัฐบาลอังกฤษ

อาจกล่าวได้ว่านับจากก้าวแรกที่เจ้าชายอัลเบิร์ตเข้ามามีบทบาทในราชสำนักอังกฤษ เขาก็ได้เข้ามากอบกู้สถานการณ์และแก้ไขปัญหาขาดความพร้อมและด้อยประสบการณ์ของควีนผู้ทรงพระเยาว์ ช่วยให้งานของราชสำนักเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่ลำบากนัก และเติมเต็มภาพลักษณ์ของราชบัลลังก์ที่ขาดพระราชาให้ดูหนักแน่นยิ่งขึ้น [11]

ผู้สันทัดกรณีลงความเห็นว่า การดำรงอยู่ของเจ้าชายอัลเบิร์ตแม้จะเป็นคนคอยบอกบทอยู่ข้างหลังแต่ก็มีประโยชน์อย่างมากต่อการประสานงานของรัฐบาลและติดต่อกับโลกภายนอก อังกฤษมีภาพพจน์ของพระราชาเป็นผู้นำประเทศมาช้านานจนคิดไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีผู้ชายปกครอง การที่เจ้าชายอัลเบิร์ตวางตัวเป็นคนกลางที่น่านับถือและสามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้โดยไม่ต้องพะวงกับข้อโต้แย้งของควีนผู้ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ควีนจึงมิได้มีฐานะเป็นผู้กำหนดนโยบายใดๆ ทั้งสิ้นกับคณะรัฐบาลที่มีแต่บุรุษเพศผู้สูงวัยและคงแก่เรียน สร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นระหว่างราชสำนักกับฝ่ายรัฐบาลที่ล้วนเป็นคนหัวเก่าสายอนุรักษนิยม [12]

เจ้าชายอัลเบิร์ตสามารถแสดงบทผู้จัดการราชสำนักและเป็นกันชนให้กับนายกรัฐมนตรีในเรื่องสำคัญๆ ที่ต้องอาศัยคำชี้ขาดของพระราชินีเท่านั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นรัชกาลและส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และที่ควีนต้องเป็นคนตัดสินใจล้วนแล้วแต่มีเจ้าชายอัลเบิร์ตอยู่เบื้องหลังคำชี้ขาดทั้งสิ้น อาทิ

ชนะสงครามไครเมีย (ค.ศ. 1853-56)

เป็นสงครามใหญ่ภายในทวีปยุโรป ระหว่างประเทศมหาอำนาจ ภายหลังสงครามนโปเลียน (ค.ศ.1803-15) สิ้นสุดลง เป็นสงครามที่ทำลายความเชื่อมั่นของกลุ่มมหาอำนาจยุโรป (Concert of Europe) สาเหตุจากความขัดแย้งทางการเมืองและการกีดกันศาสนา (อิสลาม – กรีกออร์โธด๊อกซ์) ของตุรกีและรัสเซีย ทำให้รัสเซียส่งกองทัพขนาดมหึมาเข้าโจมตีตุรกี

การที่ตุรกีถูกประทุษร้ายโดยรัสเซีย ซึ่งเป็นมหาอำนาจที่ใหญ่กว่าและมีกำลังมากกว่าจึงดูเหมือนผู้ใหญ่รังแกเด็ก ยิ่งทำให้สถานการณ์บานปลายเพราะประเทศมหาอำนาจอื่นๆ มองว่าหากรัสเซียชนะจะทำให้อิทธิพลของรัสเซียเพิ่มมากขึ้นในคาบสมุทรบอลข่าน และไม่เป็นผลดีต่อฐานอำนาจเดิมภายในยุโรป ดังนั้นเมื่อตุรกีขอความช่วยเหลือจากชาติที่เป็นกลางเพื่อขัดขวางการแผ่อิทธิพลของรัสเซีย และเพื่อรักษาดุลอำนาจในยุโรปไว้ อังกฤษและฝรั่งเศสจำเป็นต้องเข้ามาก้าวก่ายโดยอยู่ข้างตุรกีเพื่อยับยั้งรัสเซีย

แต่การที่อังกฤษเคยเป็นศัตรูของฝรั่งเศสมาก่อนทำให้ทั้ง 2 ชาตินี้เข้าหน้ากันไม่ค่อยติดนัก พระเจ้ายอร์จที่ 3 ทรงรบชนะนโปเลียนที่ 1 ในสงครามวอเตอร์ลู ควีนวิกตอเรียซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้ายอร์จที่ 3 จึงทรงลังเลที่จะร่วมมือกับนโปเลียนที่ 3 ในการยับยั้งรัสเซีย แต่ด้วยการแทรกแซงของเจ้าชายอัลเบิร์ตผู้เป็นคนนอกย่อมเข้าใจสถานการณ์ดีช่วยให้ความตึงเครียดบรรเทาลง ทั้ง 2 ประเทศเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมที่จะต้องร่วมมือกันขัดขวางรัสเซียในยามนี้

เจ้าชายอัลเบิร์ตได้ไกล่เกลี่ยและเป็นผู้ประสานงานกับนโปเลียนที่ 3 ในการรบที่คาบสมุทรบอลข่าน ช่วยให้สถานการณ์พัฒนาไปในทางที่ดี กองทัพผสมอังกฤษ-ฝรั่งเศสบดขยี้ศัตรูและสามารถขับรัสเซียออกไปจากคาบสมุทรบอลข่านสำเร็จ ชัยชนะของฝรั่งเศสได้แจ้งเกิดให้ นโปเลียนที่ 3 กลายเป็นวีรบุรุษสงครามไครเมีย ช่วยรักษาดุลอำนาจในยุโรปไว้โดยมีอังกฤษ-ฝรั่งเศสเป็นแกนนำ และฝรั่งเศสได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสงบศึกที่ปารีส (Treaty of Paris 1856)

และด้วยกุศโลบายของเจ้าชายอัลเบิร์ตโดยการเชื้อเชิญนโปเลียนที่ 3 ให้เสด็จมาเยือนอังกฤษระหว่างวันที่ 16-21 เมษายน ค.ศ. 1855 และสามารถเกลี้ยกล่อมให้ควีนตอบแทนไมตรีจิตด้วยการเสด็จฯ ไปเยือนฝรั่งเศสในอีก 6 เดือนต่อมา นโยบายของเจ้าชายอัลเบิร์ตเป็นเสมือนกาวใจที่สมานรอยร้าวทำให้มิตรภาพนี้ยั่งยืนต่อไปอีกนานจนถึงรัชกาลของพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 7 และรัชกาลพระเจ้ายอร์จที่ 5 หรืออีก 60 ปีต่อมา เมื่ออังกฤษ-ฝรั่งเศสกอดคอกันร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 โดยอยู่ฝ่ายเดียวกัน

นโปเลียนที่ 3 ตรัสไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1856 ว่าหากปราศจากเจ้าชายอัลเบิร์ตแล้วมิตรภาพครั้งใหม่และปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่นี้จะไม่มีวันอุบัติขึ้น [11]

เจ้าภาพงานมหกรรมโลก

ในยามสงบเจ้าชายอัลเบิร์ตก็เป็นหัวเรือใหญ่สร้างภาพลักษณ์ให้คนทั้งโลกจดจำอังกฤษ ท่านเป็นต้นคิดในการจัดงาน “นิทรรศการครั้งใหญ่” หรือ The Great Exhibition ในปี ค.ศ. 1851 ณ กรุงลอนดอนเพื่อนำสินค้าและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ออกแสดง ทั้งงานฝีมือและสินค้าประเภทอุตสาหกรรมโดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก และประสบความสำเร็จอย่างสูงมีผู้เข้าชมงานมากเป็นประวัติการณ์ถึง 6,000,000 คน

จุดเริ่มต้นของงานนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการที่เจ้าชายอัลเบิร์ตคิดว่ากระแสแห่งสงครามและการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนบนภาคพื้นยุโรปเบาบางลงภายหลังปี ค.ศ. 1849 โดยมีจุดเปลี่ยนเมื่อเจ้าชายหลุยส์นโปเลียนแห่งฝรั่งเศสลงสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี (แต่ต่อมาอีก 2 ปีท่านก็ก่อการปฏิวัติแล้วสถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 – ผู้เขียน) หลังจากนี้ยุโรปก็เข้าสู่ยุคแห่งความสงบสุขและสันติภาพ

ในบรรยากาศเช่นนี้เจ้าชายอัลเบิร์ตคิดว่าน่าจะมีงานใหญ่เกิดขึ้นในยุโรปเพื่อฉลองสันติภาพ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งอังกฤษเป็นผู้นำ งานนี้จะช่วยให้ชาวยุโรปลืมเรื่องร้ายๆ ของสงครามและการประหัตประหารกันลงบ้างชั่วคราว แล้วหันมามองพัฒนาการต่างๆ ว่าเป็นสิ่งดีๆ และเคยเกิดขึ้นในยุโรปเช่นกัน [11]

งานนิทรรศการครั้งใหญ่เป็นตำนานแห่งความสำเร็จของชาวอังกฤษ เป็นแม่แบบของการจัดงานมหกรรมโลกในปัจจุบัน เป็นฝีมือและผลงานของเจ้าชายอัลเบิร์ตที่คนโดยมากลืมไปหมดแล้ว

ยับยั้งสงครามกับสหรัฐ

เจ้าชายอัลเบิร์ตอีกเช่นกันที่ยับยั้งมิให้อังกฤษประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1861 และรอดพ้นจากความหายนะหากตัดสินใจเข้าสู่สงครามนี้ ท่านเป็นผู้คลี่คลายปมปัญหาอันเป็นชนวนไปสู่สงคราม ช่วยให้รัฐบาลอังกฤษรอดตัวไปได้อีกงานหนึ่ง

เรื่องมีอยู่ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้เกิดความต้องการแรงงานทาสอย่างมากในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐ ซึ่งมีแหล่งเพาะปลูกขนาดใหญ่ แรงงานทาสช่วยให้มีผลผลิตน้ำตาล ชา กาแฟ ข้าวสาลี และฝ้ายปริมาณมหาศาลส่งไปยังเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ของอังกฤษ การพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นแรกๆ ช่วยเพิ่มความต้องการสินค้าเหล่านี้ ทำให้ทาสและแรงงานติดที่ดินมีความจำเป็นมากในสหรัฐ

ต่อมาก็เกิดการต่อต้านการมีทาสด้วยเหตุผลด้านศีลธรรมโดยเฉพาะความคิดเรื่องสิทธิของมนุษย์ สหพันธรัฐทางภาคเหนือของอเมริกาประกาศให้การซื้อขายทาสเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ความขัดแย้งนี้กระทบต่อแหล่งเกษตรกรรมขนาดใหญ่ของสมาพันธรัฐทางภาคใต้ซึ่งต้องการทาสไว้ทำงาน พากันเชื่อว่าฝ่ายเหนือขัดผลประโยชน์ของตนผลักดันให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในสหรัฐ (War of Secession 1861-65) สงครามครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการป้อนวัตถุดิบ จำพวกฝ้ายดิบ น้ำตาล และใบยาสูบไปยังอังกฤษ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตและแปรรูปเพื่อการส่งออกไปทั่วโลก กดดันให้รัฐบาลอังกฤษและพ่อค้าคนกลางในอังกฤษเห็นใจรัฐฝ่ายใต้ และถือหางชาวอเมริกันภาคใต้ให้ต่อต้านชาวอเมริกันภาคเหนือ

เหตุการณ์หลายครั้งที่เรือสินค้าและนักการทูตอังกฤษถูกกองกำลังฝ่ายเหนือยึดไว้เป็นเชลยกระทบกระเทือนความสัมพันธ์กับอังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสหพันธรัฐฝ่ายเหนือก็อ้างหลักฐานว่าอังกฤษช่วยเหลือรัฐฝ่ายใต้อย่างลับๆ เช่น ช่วยซื้อสินค้า ช่วยอุดหนุนฝ่ายใต้ด้วยเสบียงอาหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ และช่วยต่อเรือรบให้รัฐฝ่ายใต้ ส่งเสริมให้สงครามยืดเยื้อออกไปอีกถึง 2 ปี ทำให้บรรยากาศตึงเครียดและเรือของอังกฤษก็เกือบจะปะทะกับเรืออเมริกันฝ่ายเหนือหลายครั้ง แต่รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศก็พยายามหลีกเลี่ยงมิให้สงครามบานปลายออกไปเป็นสงครามระหว่างประเทศ [11]

เจ้าชายอัลเบิร์ตเสนอตัวเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยให้รัฐบาลอังกฤษและอเมริกันยอมความกันในปี ค.ศ. 1861 ก่อนที่การเผชิญหน้ากันระหว่างอังกฤษและสหรัฐจะระเบิดขึ้นโดยอังกฤษยอมเป็นฝ่ายขออภัยจากการละเมิดความเป็นกลางโดยช่วยเหลือสมาพันธรัฐฝ่ายใต้จริง และในขั้นตอนสุดท้ายอังกฤษยอมเสียค่าทำขวัญชดเชยให้แก่สหพันธรัฐฝ่ายเหนือเป็นเงินจำนวนถึง 15,500,000 ดอลลาร์ [9]

บทบาทของเจ้าชายอัลเบิร์ตที่ตัดสินใจแทนควีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ภาพพจน์ของท่านข่มรัศมีควีนและบดบังผลงานของควีนในฐานะผู้นำเงาได้อย่างแนบเนียน และแทนที่เจ้าชายอัลเบิร์ตจะเป็นเงาของควีน แต่ควีนกลับเป็นเงาติดตามตัวเจ้าชายอัลเบิร์ตทุกฝีก้าวในสมัยที่อังกฤษรุ่งเรืองถึงขีดสุด

การจากไปของเจ้าชายอัลเบิร์ต เขย่าราชบัลลังก์อังกฤษ

ในระยะที่ปัญหาความขัดแย้งของอังกฤษและสหรัฐเริ่มคลี่คลายลงประมาณเดือนธันวาคม ค.ศ. 1861เจ้าชายอัลเบิร์ตก็ล้มป่วยลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ ทรงมีไข้ขึ้นสูงติดต่อกันหลายวัน ในระยะนี้ควีนดูเป็นกังวลอย่างมากจนไม่อาจสู้หน้าคนป่วยได้ ปล่อยให้เจ้าหญิงอลิสพระราชธิดาองค์โปรดคอยพยาบาลอยู่ใกล้ๆ แทน

เช้าตรู่ของวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1861 ควีนทรงรุดไปยังห้องบรรทม ณ ที่นั้นหมอหลวงหลายคนเฝ้าอยู่ข้างพระแท่นด้วยสีหน้าไม่สู้ดีนัก ในเวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าชายอัลเบิร์ตก็จากไปโดยปราศจากคำอำลา หมอหลวงสรุปสาเหตุของการสิ้นพระชนม์ว่าเกิดจากไข้ไทฟอยด์ และหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันด้วยพระชนมายุเพียง 42 พรรษา

นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าอาการประชวรเป็นผลมาจากการทรงงานหนัก 2 อย่าง ได้แก่ 1. ความเครียดเรื่องสงครามกับสหรัฐ และความขัดแย้งทางความคิดกับรัฐบาลอังกฤษที่ต้องการตอบโต้พวกสหพันธรัฐฝ่ายเหนือด้วยกำลัง และ 2. การทุ่มเทเวลาให้กับงานมหกรรมโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเกิดจากการรณรงค์ของเจ้าชายอัลเบิร์ตอีกครั้งภายหลังความสำเร็จในการจัดงานครั้งแรกปี ค.ศ. 1851 งานครั้งใหม่ซึ่งคาดว่าจะจัดในปี ค.ศ. 1862 (และได้จัดจริง) ส่งผลให้เจ้าชายอัลเบิร์ตล้มป่วยลงเพราะหักโหมมากเกินไป [11]

การที่เจ้าชายอัลเบิร์ตจากไปอย่างกะทันหันทำให้ควีนวิกตอเรียเสียศูนย์และทำใจไม่ได้ เป็นที่ทราบกันภายในว่าควีนทรงหลงพระสวามียิ่งนัก ทรงมั่นพระทัยในความรักและปรารถนาจะครองรักกันไปอีกนาน ทรงเชื่ออยู่เสมอว่าเจ้าชายอัลเบิร์ตจะมีพระชนม์ยืนยาว เพราะยังหนุ่มแน่นและแข็งแรง ความผิดหวังและอกหักก่อนเวลาอันควรผลักดันให้ควีนกลายเป็นคนเงียบขรึม เก็บเนื้อเก็บตัว และไม่ทรงแย้มพระสรวลอีกเลย

ความกระทบกระเทือนทางจิตใจมีผลโดยตรงต่อการบริหารราชการแผ่นดินเนื่องจากควีนทรงขาดประสบการณ์โดยสิ้นเชิงเพราะการปลีกพระองค์ออกจากพระราชกรณียกิจต่างๆ มานานนับ 10 ปี ในระหว่างการเลี้ยงดูพระราชโอรสธิดาถึง 9 พระองค์ ความทุกข์ระทมยิ่งทำให้ทรงปลีกวิเวกจากโลกภายนอกมากยิ่งขึ้น โดยมีท่าทีว่าไม่ทรงต้องการพบหน้าผู้คนอีก สถานการณ์เช่นนี้ย่อมสั่นสะเทือนสถานภาพของราชบัลลังก์อย่างไม่ต้องสงสัย [12]

นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า “ตั้งแต่อัลเบิร์ตสิ้นพระชนม์ พระราชินีก็เก็บพระองค์อยู่แต่ในวัง ราษฎรไม่ได้เฝ้าแหนเป็นเวลาหลายปี เพราะแทบไม่เสด็จลงมาประทับที่ลอนดอนเลยอย่างใกล้เมืองหลวงที่สุดก็ประทับที่วังวินด์เซอร์ ไม่ก็ประทับที่วังบนเกาะไอร์ออฟไวท์ หรือไม่ก็ที่วังในสก๊อตแลนด์ สร้างความลำบากใจให้แก่เสนาบดีและคณะรัฐบาลเป็นอันมากที่ต้องเดินทางไปเข้าเฝ้าเป็นระยะทางไกล

วันโลกสลายของพระราชินีคือวันที่พระสวามีสิ้นพระชนม์ พระราชินีแต่งพระองค์ดำมืดไปทั้งพระองค์จนสิ้นรัชกาล ทรงพระมาลาแม่หม้าย มีผ้าดำหรือขาวคลุมพระเศียร ทรงเลิกกีฬาทุกชนิด เลิกกระทำพระองค์อย่างเดิม ไม่มีการสนุกสนาน ทรงเลิกพระสรวล อย่างที่ดีที่สุดก็เพียงแย้มพระโอษฐ์เพียงเล็กน้อย ไม่ทรงยอมพบใครนอกจากพระราชโอรสธิดา พระญาติสนิทบางพระองค์ เลขานุการของเจ้าชาย นางพระกำนัลและข้าราชสำนัก หรืออย่างดีก็เสนาบดีที่มีธุระสำคัญต้องเข้าเฝ้า นอกจากนั้นแล้วไม่เสด็จออกให้ใครได้เห็นเลย งานไม่ว่าจะเป็นราชพิธีก็ดี รัฐพิธีก็ดี ไม่เสด็จเกือบทั้งสิ้น โปรดให้พระยุพราชทรงกระทำหน้าที่แทนพระองค์ จนกระทั่งเมื่อเสด็จรถไฟพระที่นั่งจากพระราชวังวินด์เซอร์ไปออสบ้อร์น ทางสถานีได้รับคำสั่งให้ต้อนคนไปเสียให้หมดเวลารถไฟพระที่นั่งผ่าน” [8]

ภายหลังที่เจ้าชายอัลเบิร์ตจากไป ควีนก็ไม่ทรงฉายพระรูปกับใครทั้งนั้น ยกเว้นในงานพิธีเสกสมรสของพระราชโอรสธิดา เช่น ในงานของเจ้าฟ้าหญิงอลิส

“ภายหลังพระราชพิธี พระราชินีทรงยอมประทับถ่ายภาพร่วมกับคู่สมรสด้วย เป็นภาพสมรสที่ออกจะแปลกประหลาดอยู่สักหน่อย ทุกพระองค์ทรงสีดำอย่างทุกข์หนัก มีพระราชินี พระราชโอรสธิดาที่เจริญพระชันษาแล้ว เจ้าบ่าวเจ้าสาวและรูปปั้นหินอ่อนครึ่งพระองค์ของเจ้าชายอัลเบิร์ต มีดอกกุหลาบผูกเป็นพวงรอบพระองค์ ซ้ำพระราชินียังทรงถือพระรูปเจ้าชายไว้ให้เห็นอีกด้วย ใครที่ได้เห็นภาพถ่ายนั้นอดไม่ได้ที่จะสมเพชพระราชินีในการที่ต้องพระประสงค์ให้เจ้าชายเข้ามาร่วมอยู่ในภาพถ่ายด้วยทั้งๆ ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ทั้งๆ ที่สมเพชแต่ก็อดขันอย่างเศร้าๆ ไม่ได้

พระราชินีได้มีพระราชเสาวนีย์มิให้มีการเปลี่ยนแปลงห้องส่วนพระองค์ของเจ้าชายเลย หนังสือต่างๆ ที่โต๊ะทรงพระอักษร ปากกาที่หลุดจากพระหัตถ์ในตอนเช้ามืดวันนั้น เศษกระดาษและฉลองพระองค์ที่ทรงใช้ เคยอยู่อย่างไรก็ให้เก็บไว้อย่างนั้นตลอดเวลาที่พระราชินีทรงมีพระชนม์อยู่” [8]

ความคลั่งไคล้ในองค์พระสวามีของควีน ถึงกับมีเรื่องเล่ากันภายในว่า ควีนทรงจินตนาการว่ายังทรงมีเจ้าชายอัลเบิร์ตอยู่ใกล้ๆ และทุกคนก็ต้องเชื่อเช่นนั้นด้วย ทรงมีบัญชาให้มหาดเล็กปฏิบัติอยู่งานต่อเจ้าชายอัลเบิร์ตเหมือนกับว่ายังมีพระชนมชีพอยู่ทุกวัน เช่น

“พอได้เวลาที่เคยบรรทมตื่น ก็ต้องนำเหยือกน้ำร้อนเข้ามาในห้อง จัดมีดโกน สบู่และผ้าเช็ดพระพักตร์วางไว้ เปิดพระบัญชร ไขม่านแล้วก็หยิบเครื่องทรงคือฉลองพระองค์และสนับเพลาที่เคยทรงในเวลากลางวันเตรียมไว้บนพระแท่น พร้อมด้วยถุงพระบาทรองพระบาท ครั้นกลางคืนก็เข้ามาเก็บของ ปิดพระบัญชร ปิดม่าน เก็บเครื่องทรงกลางวัน หยิบเครื่องทรงสำหรับบรรทม ฉลองพระองค์คลุมวางไว้บนพระแท่น รองพระบาทแตะมาเตรียมไว้บนพรมหน้าพระแท่น พระราชินีมักเสด็จเข้าทรงตรวจตราห้องเจ้าชายเสมอ บางเวลาก็ทรงปัดกวาดเอง ครั้นมหาดเล็กคนเก่าของเจ้าชายคือริดชาดส์ที่อยู่มาตั้งแต่ต้นครบเกษียณอายุ ต้องออกจากราชการ ก็ต้องมีคนอื่นมาทำหน้าที่นี้แทนอยู่จนสิ้นรัชกาลคืออีก 40 ปีภายหลังที่เจ้าชายสิ้นพระชนม์แล้ว

เมื่อพระราชินีจะทรงลงพระปรมาภิไธยในหนังสือราชการที่สำคัญ ก็มักจะหันไปถามรูปปั้นครึ่งองค์ของเจ้าชาย (องค์เดียวกับที่ถ่ายรูปในวันเสกสมรสของเจ้าฟ้าหญิงอลิส) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้พระองค์ว่า ‘ทรงเห็นด้วยไหมยอดรัก?’ ก่อนแล้วจึงจะยอมลงพระปรมาภิไธย” [8]

“การสูญเสียอัลเบิร์ตไปเหมือนแล่เนื้อออกจากกระดูกของฉัน”

ปลายปี ค.ศ. 2011 ผู้เขียนเดินทางไปยังประเทศอังกฤษและได้ค้นพบนิตยสาร History magazine นำเสนอบทวิเคราะห์เหตุการณ์ภายในราชสำนักในโอกาสครบรอบ 150 ปีวันสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายอัลเบิร์ต ทว่าภายใต้หัวข้อที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับจุดประสงค์ของวาระพิเศษนั้น แต่กลับตั้งข้อสังเกตไปที่ Victoria’s Obsession หรือความลุ่มหลงของควีนวิกตอเรียเป็นสำคัญ [13]

เมื่ออ่านจบก็พบคำอธิบายที่สอดคล้องกับข้อมูลในหนังสือเก่าที่เคยมีเมื่อหลายสิบปีก่อน ทำให้น่าเชื่อว่ารัชสมัยของควีนวิกตอเรียเคยมีบุรุษผู้หนึ่งแฝงอยู่เบื้องหลังบัลลังก์อันแข็งแกร่งนั้น ซึ่งผิดแผกไปจากภาพพจน์ภายนอกที่มองเห็นกัน แต่ภายในกลับรุมเร้าอยู่ด้วยจุดอ่อนอันเปราะบางและสิ้นหวัง

นักวิชาการสายตรงชี้แจงสถานการณ์ที่แท้จริงของพระราชินีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดที่อังกฤษเคยมีว่า

“เมื่อข่าวการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายอัลเบิร์ตถูกประกาศออกไป คนทั้งประเทศก็ตกอยู่ในภาวะตกตะลึง แต่คนโดยมากแล้วไม่รู้ถึงผลสะท้อนที่จะมีต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะต่อพระราชินี ผู้ที่หัวใจแตกสลายตามไปด้วย

การไว้ทุกข์เกิดขึ้นทันทีและไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้า ราษฎรทุกหมู่เหล่า ทั้งเด็กผู้ใหญ่ต่างใส่ชุดดำไว้อาลัยพ่อของแผ่นดิน มันเป็นความสูญเสียของคนทั้งประเทศ สำหรับคนอังกฤษแล้วเจ้าชายอัลเบิร์ตเปรียบเสมือนพระราชาที่อังกฤษเคยมีและรอคอยที่จะมี

การจากไปของเจ้าชายอัลเบิร์ตพลิกผันชะตาชีวิตของควีนให้ตกต่ำลงสู่ก้นเหวของความทุกข์ระทมขมขื่น และแปรเปลี่ยนจิตวิญญาณของพระนางไปสุดขั้วจากที่เคยเป็นมา ตลอด 20 ปีของการใช้ชีวิตคู่ ควีนและพระสวามีช่วยกันกอบกู้ราชบัลลังก์อันเอียงเอนให้มั่นคงอีกครั้ง บุคลิกลักษณะส่วนตัวแบบติดดินของเจ้าชายอัลเบิร์ตทำให้ราษฎรเข้าใจราชวงศ์ดีขึ้น ภาพของท่านกำลังแจกของขวัญวันคริสต์มาสแก่พระราชโอรสธิดา และภาพเจ้าชายอัลเบิร์ตหยอกล้อกับพระราชินีแบบไม่มีพิธีรีตองทำลายกำแพงชนชั้นและความเจ้ายศเจ้าอย่างของชาวราชสำนักที่ราษฎรเอื้อมไม่ถึงมาก่อน

เมื่ออาการช็อคจากข่าวการสิ้นพระชนม์บรรเทาลงคำถามที่ติดตามมาคือควีนจะทรงใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรหลังจากนี้? และจะทรงตัดสินใจได้หรือถ้าปราศจากเจ้าชายอัลเบิร์ต?

เจ้าชายอัลเบิร์ตเป็นทุกอย่างในชีวิตของควีน เป็นพระสวามี เพื่อนสนิท คนคอยปรับทุกข์ ที่ปรึกษา เลขานุการ และองคมนตรีพร้อมสรรพในคนๆ เดียว ไม่มีสักเรื่องเดียวที่ควีนทรงเป็นกังวลแต่เจ้าชายอัลเบิร์ต ไม่ทราบ แม้เรื่องจุกจิกที่ราษฎรอย่างเราคาดไม่ถึง เช่น ควรจะใส่พระมาลา (หมวก) แบบไหนออกงาน

เป็นเวลาถึง 10 ปีภายหลังการเสวยราชย์ ควีนทรงพระครรภ์อย่างต่อเนื่องแบบหัวปีท้ายปี เจ้าชายอัลเบิร์ตต้องกลายเป็นตัวแทนของควีนในการทำหน้าที่ต่างๆ ที่กษัตริย์พึงกระทำเมื่อพระราชินีต้องดูแลครอบครัว แต่คนส่วนใหญ่ก็มองข้ามกันหมด จะรู้สึกตัวอีกทีก็เมื่อไม่มีเจ้าชายอัลเบิร์ตแล้วแต่ราชการแผ่นดินก็ต้องดำเนินต่อไป

ควีนยังทรงทำใจไม่ได้แม้เจ้าชายอัลเบิร์ตจะจากไปมากกว่า 2 ปีแล้ว พระนางก็ยังทรงซึมเศร้าเหมือนเดิมถ้าเป็นเรือก็เป็นเรือที่ขาดหางเสือ พระนางตรัสว่า ‘การสูญเสียอัลเบิร์ตไปเหมือนแล่เนื้อออกจากกระดูกของฉัน’ แล้วยังตรัสด้วยความรันทดว่า ‘คงไม่มีใครอยากเรียกฉันว่าพระราชินีอีกแล้ว’

ควีนทรงมีท่าทีว่าจะไว้ทุกข์ให้เจ้าชายอัลเบิร์ตไปจนตลอดชีวิต ยิ่งนานวันเข้าพระอาการก็ยิ่งหนักขึ้นกับภาวะซึมเศร้าอย่างไม่สิ้นสุด ไม่ใช่พระนางองค์เดียวที่ต้องเผชิญชะตากรรม แต่พระราชโอรสธิดาทุกพระองค์ก็ต้องรับรู้ความทุกข์นี้ด้วย ภายในวังจึงไม่มีใครกล้าแต่งชุดสดใสและต้องอำพรางตนเองไว้กับความหม่นหมองเพื่อเอาใจเสด็จแม่ รูปหมู่ที่ถ่ายทุกครั้งต้องมีรูปปั้นหรือรูปวาดของเจ้าชายอัลเบิร์ตรวมอยู่ด้วย และทุกครั้งควีนก็จะทรงผินพระพักตร์ไปที่รูปนั้นเหมือนคนขาดความมั่นใจ

การยึดติดกับความพ่ายแพ้ของโชคชะตา เริ่มไม่มีเหตุผลและยืดเยื้อออกไป สร้างความลำบากใจให้ชาววังทั่วไป โดยเฉพาะคณะรัฐบาลที่แสดงความหงุดหงิดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะควีนไม่ทรงสนใจไยดีกับเหตุการณ์บ้านเมืองทั้งที่เป็นความรับผิดชอบโดยตรง

แม้นว่าเจ้าชายอัลเบิร์ตจะสิ้นพระชนม์ไปหลายปีแล้วแต่ควีนก็ยังไม่คลายความโศกเศร้า ด้านนอกวังเกิดกระแสต่อต้านของประชาชน ประมาณปี ค.ศ. 1869 นักการเมืองฝ่ายค้านปลุกระดมมวลชนเรียกร้องให้ควีนทรงสละราชสมบัติ ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในพระราชินีและมีการรณรงค์ให้ปลดพระนางออกจากตำแหน่ง ความรู้สึกจากภายนอกวังทวีความรุนแรงขึ้นถึงขนาดมีคนดักประทุษร้ายควีนบนรถม้าพระที่นั่งเมื่อเสด็จฯ ออกมานอกวัง

เหตุการณ์สะเทือนใจนี้ทำให้ราษฎรรู้สึกสมเพชเวทนาแม่หม้ายผู้ตกอับขึ้นมาจับใจ ทุกฝ่ายเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแก้ไขปัญหา ทำให้ควีนกลับมาดำเนินชีวิตอย่างคนปกติอีกครั้ง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1874 นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ควีนทรงสนับสนุนชื่อ นายดิสราเอลลี่ (Disraeli) ได้รับเลือกตั้ง เขามีบทบาทเป็นผู้เกลี้ยกล่อมให้ควีนคิดได้ในที่สุด ภายหลัง 14 ปีของการทอดทิ้งภาระหน้าที่และราชบัลลังก์ไปอย่างไม่ไยดี เพราะขาดสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจคือเจ้าชายอัลเบิร์ต

การแทรกแซงของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทำให้ควีนตั้งพระสติได้และหันมาประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระองค์เองอีกครั้ง แต่ภายใต้สีหน้าหม่นหมองแบบคนอมทุกข์ทั้งโลกไว้ ตราบจนวันสุดท้ายของพระชนมชีพ” [13]

สรุป-ข้อมูลใหม่

สหราชอาณาจักรในรัชสมัยของควีนวิกตอเรีย (ค.ศ. 1838-1901) นับว่าเป็นรัชกาลแห่งความรุ่งเรืองที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ ประเทศนี้ได้สมญานามว่าดินแดนพระอาทิตย์ไม่ตกดิน มีอาณานิคมแผ่ขยายไปทั่วโลก ควีนทรงมีฐานะเป็นพระราชินีและจักรพรรดินีในคนเดียวกัน เป็นบุคคลน่าเกรงขาม ในช่วงนี้อังกฤษมีอำนาจครอบคลุมไปทั้ง 7 คาบสมุทร ภาษาอังกฤษอย่างเดียวยังมีอิทธิพลมากพอทำให้คนทั้งโลกสื่อสารเข้าใจกัน ข้าหลวงและราชทูตของควีนเดินทางออกไปทั่วโลกเพื่อประกาศศักดาพระราชินีของตน [4]

แต่จากการที่ควีนทรงครองราชย์แต่เยาว์วัยชนมายุเพียง 18 พรรษา เป็นแค่ดรุณีแรกรุ่นและยังขาดการฝึกฝนอบรมให้เป็นองค์รัชทายาททำให้ทรงขาดวุฒิภาวะ ขาดประสบการณ์ด้านการเมืองการปกครอง และไม่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำเลย ปัญหาคลี่คลายลงภายหลังการอภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ต เจ้าชายองค์นี้เป็นผู้มีพรสวรรค์ในการปกครองคนจึงมีส่วนช่วยประสานงานกับรัฐบาล และเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องสำคัญๆ แทนควีนและนำพาประเทศผ่านวิกฤติการณ์ทางการเมืองไปได้หลายครั้งหลายหน แบ่งเบาภาระทำให้ควีนทรงทำหน้าที่เลี้ยงดูพระราชโอรสธิดาถึง 9 พระองค์ได้เต็มที่ในขณะที่เจ้าชายอัลเบิร์ตสร้างสมชื่อเสียงจนเป็นที่ยอมรับทั้งในและนอกประเทศ นักวิชาการให้เครดิตว่าทรงทำหน้าที่ของพระราชาเมื่อชาติต้องการได้ดีกว่าพระราชาตัวจริงที่อังกฤษเคยมี [11]

ควีนทรงลุ่มหลงในตัวพระสวามียิ่งนัก แต่แล้วมัจจุราชก็มาพรากเจ้าชายอัลเบิร์ตไปจากควีน ทำให้ควีนตกพุ่มหม้ายโดยไม่ทันได้ตั้งตัว ทรงเศร้าโศกเสียใจเหมือนโลกจะถล่มทลาย และเริ่มประชดตนเองด้วยการหนีหน้าสังคม ทรงหมดอาลัยตายอยากที่จะมีชีวิตต่อไป จนดูเหมือนทอดทิ้งประชาชนและหันหลังให้ประเทศชาติที่ยังต้องการผู้นำ แต่ควีนกลับทรงหลีกหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงและทำตัวให้หดหู่เข้าไว้ไม่ให้ลืมเจ้าชายอัลเบิร์ต ภาวะทางจิตส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการใช้ชีวิตและการปฏิบัติหน้าที่ที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบ [12]

ข้อมูลใหม่ซ้ำเติมว่าควีนทรงขาดความพร้อมในทุกๆ ด้าน การสละเวลาไปสร้างครอบครัวนานนับ 10 ปี และการที่ทรงละทิ้งหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินรวมแล้วมากกว่า 25 ปีเป็นจุดบอดของรัชกาลนี้ เจ้าชายอัลเบิร์ตกลายเป็นกำลังสำคัญเบื้องหลังรัชกาลที่รุ่งเรืองที่สุด แต่กลับเป็นจุดอ่อนของรัชสมัยที่ตกต่ำที่สุด สถานการณ์เลวร้ายลงอีกเมื่อพระสวามีสิ้นพระชนม์ลงโดยกะทันหัน ด้วยความตรอมใจ ควีนกลับวางมือจากพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ทรงรับผิดชอบ ผู้ที่เข้ามากอบกู้สถานการณ์ในภายหลังเป็นนายกรัฐมนตรีผู้มีชื่อเสียง 3 ท่าน คือ ลอร์ดพาล์ เมอร์สตัน นายแกลดสโตน และนายดิสราเอลลี่ ที่ผลัดกันเข้ามาประคับประคองราชบัลลังก์ให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ตลอดรอดฝั่ง [13]

ท่ามกลางความอ่อนแอและขาดความมั่นใจภายในราชสำนัก ทว่าภาพลักษณ์ของควีนกลับได้รับการประชาสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม ก็เพราะความสามารถพิเศษของเจ้าชายอัลเบิร์ตและเสนาบดีฝีมือดีช่วยกันฝ่าวิกฤติให้ควีนทรงดำรงอยู่ได้ สิ่งเดียวที่พระนางสมหวังคือการได้สร้างครอบครัวขนาดใหญ่ ซึ่งจะกลายเป็นเครือข่ายราชวงศ์ที่เหนียวแน่นที่สุดของยุโรปเท่าที่เคยมีมา [3]…

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เอกสารประกอบการค้นคว้า :

[11] ไกรฤกษ์ นานา. “กุศโลบายของรัชกาลที่ 4 จากเอกสารต่างประเทศฉบับใหม่,” ใน ค้นหารัตนโกสินทร์ สิ่งที่เรารู้อาจไม่ใช่ทั้งหมด. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552.

[2] ______. “ตามหาต้นแบบรูป ‘จ้าววิลาด’ มรดกแห่งรัตนโกสินทร์ที่ถูกลืม,” ใน ค้นหารัตนโกสินทร์ 2
เทิดพระเกียรติ 100 ปี วันสวรรคตรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553.

[3]______. “เบื้องหลังความสัมพันธ์ไทย-เยอรมัน 150 ปี ตอนจบ ข้อบกพร่องของไกเซอร์,” ใน
ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 33 ฉบับที่ 3 มกราคม 2555, น. 90-113.

[4]______. “วิเคราะห์บทบาทสยาม ‘ผู้นำชาวอุษาคเนย์’ ต้านลัทธิจักรวรรดินิยม,” ใน KING MONGKUT หยุดยุโรปยึดสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547.

[5] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. พระเจ้ากรุงสยามกับเซอร์จอห์น เบาว์ริง. โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2548.

[6] ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 22, เรื่องทูตฝรั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

[7] พระราชสาส์น ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพระราชทานไปยังประเทศต่างๆ ภาค 1, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.จ. เสรฐศิริ กฤดากร 2501.

[8] ว. ณ ประมวญมารค. พระราชินีนาถวิกตอเรีย. แพร่พิทยา, 2515.

[9] สมร นิติทัณฑ์ประภาศ. ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2548.

[10] Aronson, Theo. Queen Victoria and the Bonapartes. London, 1972.

[11] Dawe, Rev. C.S. Queen Victoria & Her People. London, 1897.

[12] Morris, Charles. The Life of Queen Victoria. London, 1901.

[13] Rappaport, Helen. “The death that rocked the monarchy,” in History magazine. Vol 12, no 12 December 2011, pp. 20-24.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ความลุ่มหลงของควีนวิกตอเรีย จุดอ่อนของดินแดนอาทิตย์ไม่ตกดิน” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มกราคม 2562