ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ทำไม รัชกาลที่ 6 “น้ำตาไหลอาบหน้า” ขณะ สรงพระมุรธาภิเษก ใน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ?
พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยรัตนโกสินทร์เกือบทุกพระองค์ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่มีรายละเอียดแตกต่างกันตามปัจจัยต่างๆ เรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจากพระราชบันทึกอาจปรากฏสู่สายตาประชาชนไม่มากนัก
เรื่องราวในนั้นมีเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และทรงบันทึกเหตุการณ์ว่าทรงพระกันแสง โดยทรงอธิบายที่มาที่ไปไว้ในพระราชบันทึกด้วย
รัชกาลที่ 6 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 ณ หมู่พระมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง เวลาเช้าประมาณ 9 โมง เสด็จฯ ทรงจุดเทียนเครื่องสังเวยพระมหาเศวตฉัตร จุดเทียนเครื่องบูชาพระพุทธรูปและพระแท่นมณฑล ณ พระที่นั่งต่าง ๆ ในพระบรมมหาราชวัง
เมื่อแล้วเสร็จจึงเสด็จฯ สู่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงศีลเสร็จจึงเสด็จฯ เปลื้องเครื่องที่ชานพักและผลัดพระภูษาสำหรับสรงพระมุรธาภิเษก เมื่อได้เวลาพระฤกษ์ รัชกาลที่ 6 จึงเสด็จฯ ลงจากหอพระเจ้าสู่มณฑปพระกระยาสนาน ทรงบันทึกถึงเหตุการณ์และความรู้สึกส่วนพระองค์ว่าขณะเสด็จฯ ไปประกอบพิธีสรงพระมุรธาภิเษก ทรงรู้สึกโหวง ๆ เหมือนฝัน ทอดพระเนตรอะไรก็ดูรางเลือน ไม่แจ่มชัดอย่างปกติและทรงบันทึกไว้ในหนังสือ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ความว่า
“—เมื่อขึ้นไปบนพระกระยาสนานและนั่งลงบนตั่งแล้ว, ตัวก็ยังชาๆ อยู่ ต่อเมื่อน้ำสหัสสะธาราได้ตกต้องตัวเปนครั้งแรกจึ่งได้ตื่นขึ้น, รู้สึกความเปลี่ยนแปลงของตัว, และในทันใดนั้นน้ำตาได้ไหลลงอาบหน้าระคนกับน้ำสหัสสะธารา, จึ่งมิได้มีผู้ใดสังเกตเห็น. ในเวลานั้นเองที่ฉันได้รู้สึกแน่ชัดว่าได้เสียทูลกระหม่อมไปเสียแล้ว—“
พระราชนิพนธ์ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ระบุชื่อผู้นิพนธ์ว่า “ราม วชิราวุธ” เป็นพระนามแฝงของรัชกาลที่ 6 โดยทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2466 ประมาณ 2 ปีก่อนสวรรคต เนื้อหาในพระราชบันทึกเล่ม 1 บอกเล่าตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่ง “ทูลกระหม่อม” (รัชกาลที่ 5) เริ่มประชวรและเสด็จสวรรคตจนถึงรายละเอียดเรื่องคดีพญาระกา
อ่านเพิ่มเติม :
วิเคราะห์คดีบทละคร “พญาระกา” หม่อมของพระเจ้าอาหนีมาวังพระเจ้าหลานจึงเป็นเรื่อง!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 เมษายน 2562