ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2559 |
---|---|
ผู้เขียน | ไกรฤกษ์ นานา |
เผยแพร่ |
ราชสำนักไทยได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ของการสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินครั้งแรกเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ (ค.ศ. ๑๙๑๒) ภายหลังธรรมเนียมการสืบสันตติวงศ์แบบคลุมเครือดำเนินมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ก่อนที่จะเกิดตำแหน่งใหม่นี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเท้าความถึงตำแหน่งเก่าที่เคยเรียกกันว่า “วังหน้า” หรือตำแหน่งพระมหาอุปราช หรือที่เรียกในภาษาราชการว่า “พระราชวังบวรสถานมงคล” อันเป็นพระอิสริยยศพิเศษของสมเด็จพระราชอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินในอดีต ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นตำแหน่งขององค์รัชทายาทด้วย
ทว่าในช่วงรัชกาลที่ ๑–รัชกาลที่ ๔ นั้น พระมหาอุปราชต่างเสด็จสวรรคตไปก่อนหน้าพระเจ้าแผ่นดินทั้งสิ้น ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาในการทวงสิทธิ์การเป็นรัชทายาทสืบทอดราชสมบัติในพระราชวงศ์จักรี
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ได้เกิด “วิกฤตการณ์วังหน้า” ขึ้น ทำให้ตำแหน่งนี้มีอันต้องยกเลิกไปโดยกะทันหัน และเป็นเหตุให้เกิดตำแหน่งองค์รัชทายาทตามธรรมเนียมใหม่ที่พระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินจะได้ขึ้นเสวยราชย์แทนเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จสวรรคต
โดยใน พ.ศ. ๒๔๒๙ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร องค์แรกในประวัติศาสตร์ไทย เฉกเช่นประเพณีปฏิบัติในทุกราชวงศ์แห่งทวีปยุโรปซึ่งถือเป็นต้นแบบของการสืบสันตติวงศ์ตามแบบอย่างสากล
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร องค์แรก
จุดพลิกผันของการยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๕ เกิดจากความผิดพลาดในทางปฏิบัติการแต่งตั้งเจ้าวังหน้าในรัชกาลก่อนๆ เพราะเป็นพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินจะเป็นผู้ทรงเลือกสรรและสถาปนาด้วยพระองค์เอง
แต่เมื่อขึ้นรัชกาลที่ ๕ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ และอยู่ภายใต้อิทธิพลของเหล่าเสนาบดีผู้สูงอายุ จึงปราศจากโอกาสหรืออำนาจที่จะตัดสินพระราชหฤทัยเอง
โดยประธานในที่ประชุมเสนาบดีซึ่งมีกรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ผู้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้เสนอให้ยกพระโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวคือกรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ใน พ.ศ. ๒๔๑๑
การแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นวังหน้าโดยพลการ สร้างความไม่พอใจให้เสนาบดีชั้นผู้ใหญ่บางท่าน ทั้งยังก่อให้เกิดความระหองระแหงกินใจภายในราชสำนักต่อมาอีกหลายปี
ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๑๗ ความอัดอั้นตันใจก็ระเบิดออกมาเป็นความหวาดระแวงกันเองระหว่างกองกำลังรักษาวังหลวงและวังหน้า ด้วยปรากฏว่ามีผู้ไม่หวังดีทิ้งหนังสือว่ามีผู้คิดจะปลงพระชนม์กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ จนทำให้ทางวังหน้าเกิดตื่นตระหนกถึงกับมีการระดมกำลังทหารกว่า ๕๐๐ นาย เตรียมไว้ต่อสู้ บานปลายไปสู่วิกฤตการณ์วังหน้า
สถานการณ์เลวร้ายลงเมื่อเกิดเหตุระเบิดขึ้นที่โรงแก๊สภายในพระบรมมหาราชวัง จนเกือบจะเกิดการเผชิญหน้ากันของกองทหารรักษาวังหลวงและวังหน้า
ความบาดหมางกินใจกันครั้งนั้น กดดันให้กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญได้ทรงลี้ภัยเข้าไปประทับอยู่ภายในสถานกงสุลอังกฤษ และเป็นเหตุให้มิสเตอร์น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ เรียกเรือรบเข้ามาเมืองไทยเพื่อรักษาความปลอดภัยและผลประโยชน์ให้แก่คนในบังคับอังกฤษ และฉวยโอกาสแทรกแซงกิจการภายในของราชสำนัก
เหตุการณ์ดังกล่าวที่มีมือที่สามเป็นชาวต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้ราชสำนักในสายตาชาวต่างชาติ จนรัชกาลที่ ๕ ต้องทรงเชิญสมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้ที่วังหน้านับถือเข้ามาไกล่เกลี่ยจนเรื่องสงบลง
ต่อมาหลังจากที่กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทิวงคตลงในวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๔๒๘ แล้วจึงเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนที่จะลดบทบาทและอำนาจของพระมหาอุปราช เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงแต่งตั้งเจ้านายพระองค์ใดดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชอีกเลย เพื่อหลีกเลี่ยงความกินแหนงแคลงใจระหว่างวังหน้ากับวังหลวง
ทั้งยังเป็นการใช้พระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินโดยชอบธรรมให้มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนเกี่ยวกับการสืบสันตติวงศ์โดยมิต้องให้คณะเสนาบดีเป็นผู้พิจารณาเลือกเฟ้นอันเป็นหนทางให้เสนาบดีใช้อิทธิพลและสร้างฐานอำนาจให้แก่ตนเอง อันจะเป็นปัญหาในการปกครองต่อไป
ในการนี้รัชกาลที่ ๕ ก็ได้ทรงยกเลิกประเพณีกรมพระราชวังบวรสถานมงคลลงโดยสิ้นเชิงใน พ.ศ. ๒๔๒๙ แล้วทรงสถาปนาพระราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” แทน
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร องค์แรกที่ได้รับสถาปนาในปีนั้นเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ที่ประสูติจาก สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี อัครมเหสี (ต่อมาดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์แรกในราชวงศ์จักรี ในขณะที่มีพระชันษาเพียง ๘ ปี
รัชกาลที่ ๕ โปรดปรานและสนิทเสน่หา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศยิ่งนัก โปรดให้ติดตามพระองค์อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เรียนรู้พระราชกรณียกิจต่างๆ เตรียมการที่จะได้สืบสันตติวงศ์ต่อไปในภายภาคหน้า และให้เป็นพระราชโอรสองค์เดียวที่ไม่ทรงส่งไปศึกษา ณ ทวีปยุโรปอันไกลโพ้นด้วยเหตุผลดังกล่าว
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร องค์ที่ ๒
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงพระยศองค์มกุฎราชกุมารอยู่ได้เพียง ๗ ปีเศษ ก็เสด็จสวรรคตลงโดยกะทันหันด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๓๗ สิริพระชันษาเพียง ๑๖ ปี ๖ เดือน กับอีก ๗ วันเท่านั้น
รัชกาลที่ ๕ ทรงถือว่าพระราชโอรสที่ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา และสมเด็จพระนางเธอเสาวภาผ่องศรี เป็นเสมือนพระมารดาเดียวกัน จึงได้ทรงสถาปนาพระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระนางเธอเสาวภาผ่องศรีผู้มีพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ กรมขุนเทพทวาราวดี” ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร องค์ที่ ๒ สืบต่อไป
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๒๓ ต่อมาเมื่อมีพระชันษาได้ ๑๔ ปี ก็ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และเมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเสด็จสวรรคตนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ทรงเข้ารับการศึกษาวิชาการทหารอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์สต์ ณ ประเทศอังกฤษ
รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร องค์ที่ ๒ โดยมีพระราชพิธีสถาปนาที่กรุงเทพฯ จากนั้นเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๓๗ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเสมอใจราช (ทองดี โชติกเสถียร) อัญเชิญประกาศสถาปนาฐานันดรศักดิ์พร้อมเครื่องราชอิสริยยศและราชอิสริยาภรณ์ไปพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ณ ประเทศอังกฤษ ขณะที่มีพระชันษาได้ ๑๔ ปี
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงใช้เวลาศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษรวม ๙ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๕ ก็ได้เสด็จนิวัติกลับสยามโดยทางเรือผ่านทางสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น
ภายหลังเสด็จฯ กลับแล้วก็ได้ทรงเข้ารับราชการทหาร โดยดำรงพระยศเป็น นายพลเอก ราชองครักษ์ จเรทหารบก ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก และทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในคราวที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ (รัชกาลที่ ๕) เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๕๐
ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ นั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะที่มีพระชนมายุได้ ๓๐ พรรษาบริบูรณ์
การขานพระนามพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะพิการ (ไตวาย) ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังสวนดุสิต วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๕๓ เวลา ๒๔.๔๕ น. (เป็นวันที่ ๒๓ ตุลาคม) สิริรวมพระชนมพรรษาได้ ๕๗ พรรษา กับอีก ๓๓ วัน
แต่เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยกะทันหัน มิได้มีการเตรียมการกันล่วงหน้าจึงเกิดความอลหม่านขึ้น อย่างแรก คือ การขานพระนามพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ซึ่งตามกฎมนเทียรบาลก็คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เหตุการณ์นี้ถูกรายงานไว้ตามที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงบันทึกไว้ว่า
“ในเวลาดึกวันที่ ๒๓ ตุลาคม, คือเมื่อทูลกระหม่อมได้สวรรคตลงแล้วนั้น. ได้เกิดโจทย์กันขึ้นว่าจะควรใช้ออกชื่อฉันว่ากระไร. พวกเจ้านายรุ่นใหม่, มีกรมนครชัยศรี เปนต้น, ร้องว่าไม่เห็นมีปัญหาอะไร ควรเรียกว่า ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว,’ แต่ท่านพวกเจ้านายผู้ใหญ่, มีกรมหลวงเทววงศ์ และกรมหลวงนเรศร์ เปนต้น, กล่าวแย้งว่า ธรรมเนียมเก่าต้องรอให้บรมราชาภิเษกแล้วจึ่งเรียกว่า ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ กรมนครชัยศรีถามว่า, ‘ถ้าเช่นนั้นแปลว่าในเวลานี้ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินฉนั้นหรือ?’ ท่านผู้ใหญ่ก็ตอบอ้อมแอ้มอะไรกัน, จำไม่ได้.
กรมนครชัยศรีจึ่งได้กล่าวขึ้นว่า ธรรมเนียมเก่าจะเปนอย่างไรไม่ทราบ แต่ในสมัยนี้จะปล่อยลังเลไว้เช่นนั้นไม่ได้, ชาวต่างประเทศเขาจะเห็นแปลกนัก, เพราะเปนธรรมเนียมที่รู้อยู่ทั่วกันในยุโรปว่าในประเทศที่มีลักษณะปกครองเปนแบบราชาธิปตัย, พระราชาต้องมีอยู่เสมอ, จนถึงแก่มีธรรมเนียมในราชสำนัก เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลงเมื่อใด ก็เปนน่าที่เสนาบดีกระทรวงวัง, หรือผู้ที่เปนหัวน่าราชเสวก, ออกมาร้องประกาศแก่เสนาบดีและข้าราชการผู้ใหญ่ว่า. ‘Messeigneurs et Messeieurs le Roi et Mort Vive le Roi’ (‘ใต้เท้าทั้งหลายและท่านทั้งหลาย, สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตแล้ว ขอให้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระเจริญยิ่งๆ’)
ในเวลาดึกวันที่ ๒๓ นั้นจึ่งไกล่เกลี่ยกันว่า ในประกาศภาษาไทยให้ใช้ออกชื่อฉันว่า ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ผู้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน,’ แต่ในหนังสือที่มีบอกไปยังพวกทูตใช้เปนภาษาอังกฤษว่า ‘His Majesty the King’ กรมนครชัยศรีว่าดึกแล้วขี้เกียจเถียงชักความยาวสาวความยืดต่อไป, แต่พระองค์ท่านเองไม่ยอมเรียกฉันว่าอย่างอื่นนอกจากว่า ‘พระเจ้าอยู่หัว’ และเกณฑ์ให้ทหารบกเรียกเช่นนั้นหมดด้วย.
แต่มิใช่จะมีแต่คนไทยสมัยใหม่ที่ทักท้วงในเรื่องออกพระนามผิดกันในภาษาไทยกับภาษาฝรั่งเช่นนั้น, ถึงพวกฝรั่งที่รู้ภาษาไทยก็ร้องทักกันแส้ ว่าเหตุไฉนจึ่งใช้เรียกไม่ตรงกันในภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ. มิสเตอร์เย็นส ไอเวอร์สัน เว็สเต็นการ์ด (Jens Iverson Westengard, ภายหลังได้เปนพระยากัลยาณไมตรี), ที่ปรึกษาราชการทั่วไป, ได้ทูลท้วงอย่างแขงแรงกับกรมหลวงเทววงศ์ว่า การที่จะคงให้เปนไปเช่นนั้นอีกไม่ได้เปนอันขาด, เพราะอาจที่จะทำให้เกิดมีความเข้าใจผิดต่างๆ เปนอันมากอันไม่พึงปราถนา. นี่แหละ, ท่านผู้ใหญ่ของเรามักจะเปนเสียเช่นนี้, คือไม่ใคร่ชอบเชื่อฟังเสียงพวกเรากันเอง, และผู้ที่มีอายุอ่อนกว่าพูดอะไรก็มักจะไม่ใคร่ยอมตาม, ต่อมีฝรั่งทักท้วงกระตุ้นเข้าจึ่งจะยอมแพ้.
ครั้นเวลาบ่าย ๕ นาฬิกา วันที่ ๒๕ ตุลาคม, ฉันได้นัดประชุมพิเศษเปนครั้งแรกที่พระโรงมุขตวันตกแห่งพระที่นั่งจักรี, มีผู้ที่ได้เรียกเข้าไปวันนี้ คือ น้องชายเล็ก, กรมหลวงนเรศร์, กรมขุนสรรพสิทธิ์, กรมหลวงเทววงศ์, กรมขุนสมมต, กรมหลวงดำรง, และกรมหมื่นนครชัยศรี, เพื่อปรึกษาข้อราชการและวางระเบียบที่จะได้ดำเนิรต่อไป. แต่ก่อนที่จะพูดเรื่องอื่นๆ ได้กล่าวกันถึงเรื่องเรียกตำแหน่งของฉัน, กรมหลวงเทววงศ์ตรัสว่าแก้ปัญหาตกแล้ว, คือไปค้นในหนังสือแสดงกิจจานุกิจของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ที่เรียกกันว่า ‘กรมท่าตามืด’) ได้ความว่า
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าเสด็จสวรรคตแล้วนั้น ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า เรียกว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมพระราชวังบวร’ ทันที, หาได้รอจนเมื่อกระทำพิธีบรมราชาภิเษกแล้วไม่. ที่มาเกิดมีรอไว้ไม่เรียกว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ ก็คือตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเสด็จขึ้นทรงราชย์, เมื่อก่อนที่กระทำพิธีราชาภิเษกหาได้ออกพระนามว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ ไม่ ต่อมาจึ่งกลายเปนธรรมเนียมไป.
แต่เมื่อปรากฏว่าเคยได้มีธรรมเนียมเรียกว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ พระองค์ ๑ แล้ว ก็เปนอันว่าในครั้งนี้ควรให้เปนไปเช่นกัน, ไม่ต้องรอราชาภิเษก, แต่คำว่า ‘มีพระบรมราชโองการ’ ควรให้รอไว้ก่อน, ให้ใช้ว่า ‘มีพระราชดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม’ ไปพลาง. ส่วนข้อที่ได้ใช้ในคำประกาศว่า ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ผู้ทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน’ พลาดมาแล้วนั้น, เพื่อจะแก้หน้ากับฝรั่ง, กรมหลวงเทววงศ์ทรงรับรองว่าจะไปกล่าวแก้ไขว่ารอไว้จนกว่าจะถือน้ำแล้วเท่านั้น.
การที่ได้ตกลงกันไปเสียได้เช่นนั้นทำให้ฉันโล่งใจมาก, เพราะก่อนนั้นรู้สึกไม่เปนที่เรียบร้อย, ดูราวกับฉันเปนผู้ที่ฉวยอำนาจไว้ได้แล้ว, แต่ยังจะต้องรอรับเลือกของใครๆ ต่อไปอีกก่อนจึ่งจะได้เปนพระเจ้าแผ่นดินจริงๆ พวกฝรั่งได้ร้องถามว่า การที่ยังไม่เรียกฉันว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ นั้น แปลว่ายังไม่แน่ว่าจะได้เปนฉนั้นหรือ? อาจจะมีองค์อื่น ‘เคลม’ ได้อีกด้วยหรือ? พูดกันอย่างแสลงเช่นนี้ เว็สเต็นการ์ดจึ่งได้รู้สึกเดือดร้อน และไปทูลท้วงแก่เสด็จลุงอย่างแขงแรง. ส่วนเสด็จลุงเองท่านจะได้มีความคิดอยู่ในพระทัยอย่างไรบ้างฉันก็หาทราบไม่, แต่ฉันนึกเดาเอาว่า ที่ท่านยังไม่ให้เรียกฉันว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ นั้น ดูเหมือนจะเกิดจากความวิตกไปว่า ผู้อื่นเขาจะนินทาได้ว่าพระองค์ท่านเห่อแหนหลาน, ซึ่งเปนธรรมดาของเสด็จลุงต้องชอบถ่อมไว้เช่นนั้นเสมอ. แต่แท้จริงเมื่อคำนึงดูแล้ว ก็ควรจะต้องเห็นว่า ครั้งฉันนี้ผิดกันกับครั้งก่อนๆ ทีเดียว”
การขานพระนามพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ภายหลังพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนเสด็จสวรรคตนั้นเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง ดังปรากฏว่ามีนายเวสเตนการ์ด (พระยากัลยาณไมตรี) ให้ความคิดเห็นแบบชาวตะวันตกว่าควรจะดำเนินตามรูปแบบของการขานพระนามเฉกเช่นราชวงศ์หลักๆ อย่างราชวงศ์อังกฤษ ดังที่เคยมีมาเพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดต่างๆ
ผู้เขียนจึงได้ค้นคว้าเหตุการณ์ทำนองเดียวกันของราชวงศ์อังกฤษ เมื่อสิ้นสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ใน ค.ศ. ๑๙๐๑ (พ.ศ. ๒๔๔๔) สมัยเดียวกันกับรัชกาลที่ ๕ ของไทยก็ได้ข้อเท็จจริงว่ามีรายงานการขานพระนามพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ในทันทีทันใดเมื่อราชสำนักแจ้งข่าวการสวรรคตดังรายงานต่อไปนี้
ในบทความเรื่อง “พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่” หรือ The New King ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ (King Edward 7th) ในคืนวันสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๑๙๐๑ นั้น เจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) ซึ่งเป็นพระราชอิสริยยศของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้เฉลิมพระอิสริยศักดิ์ในทันทีที่ข่าวการสวรรคตของพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนถูกประกาศออกไปโดยมิต้องรอให้รัฐสภานัดประชุม ก็ให้ขานพระนามพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ได้ทันที
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ถือเป็นพระราชพิธีสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ไทย เพราะเป็นครั้งแรกของการที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร โดยตำแหน่งจะได้เข้าพิธีนี้ตามหลักเกณฑ์อันชอบธรรมและมีรากฐาน
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียบเรียงขั้นตอนต่างๆ ตามที่เคยมีบันทึกไว้อย่างเป็นทางการโดยชาวราชสำนักเพื่อให้ได้รายละเอียดที่ถูกต้องตามพระราชประเพณีที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์
หลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุดของพระราชพิธีนี้ ซึ่งได้นำมาอ้างอิงในบทความนี้มี ๑. เรื่องพระราชประเพณี ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนโดยจมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) และ ๒. เรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ในหนังสือสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ซึ่งรัฐบาลสยามจัดทำขึ้นในรัชกาลที่ ๗
ดังมีรายละเอียดตามขั้นตอนต่อไปนี้
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระราชมนเทียร ในครั้งแรก อธิบายลักษณะพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำเป็นสองงาน คืองานในครั้งแรกนี้เรียกชื่อว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียร” ทำขึ้นในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ เมื่อทำพิธีคราวนี้เสร็จแล้ว พอถึงวันที่ ๑๗ เดือนเดียวกันก็ลงมือประชุมเตรียมเรื่องงานพระเมรุของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๕ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในลำดับต่อไป ซึ่งจะลงมือในวันที่ ๑๓ มีนาคม ปีนั้นเอง เพราะในเดือนนั้นกำลังอยู่ในฤดูแล้งย่อมสะดวกสำหรับงานพระเมรุ สำหรับงานพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ที่นับว่าเป็นครั้งมโหฬารจะได้ทำกันในเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔
เหตุที่ต้องแยกทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกออกเป็นสองงานนี้ ต้องนับว่าเป็นการจัดตามพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยตรง ทรงมีความเห็นว่าตามพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่เคยมีมาแต่โบราณกาลในประเทศไทยนั้นถือกันว่า พระมหากษัตริย์ที่จะเสด็จผ่านพิภพขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินอันถูกต้องนั้น จะต้องทำพิธีบรมราชาภิเษกเสียก่อน จึงจะนับว่าเป็นพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ ถ้ายังมิได้ทำพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ตราบใด ถึงจะได้ทรงรับรัชทายาทแล้ว เมื่อเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระราชวังหลวง ก็เสด็จอยู่เพียง ณ ที่พักแห่งหนึ่ง พระนามที่ขานก็คงใช้พระนามเดิม เป็นแต่เพิ่มคำว่า “ซึ่งสำเร็จราชการแผ่นดิน” เพิ่มเข้าท้ายพระนาม และคำรับสั่งก็ยังไม่ใช้พระบรมราชโองการ จนกว่าจะได้สรงมุรธาภิเษกทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระบรมนามาภิไธย และทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์จากพระมหาราชครูพราหมณาจารย์ผู้ทำพิธีบรมราชาภิเษก แล้วจึงเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมนเทียรครอบครองศิริราชสมบัติสมบูรณ์ด้วยพระเกียรติยศ แห่งพระราชามหากษัตริย์แต่นั้นไป เพราะถือเป็นนิติดังกล่าวมานี้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินองค์ใด เสด็จผ่านพิภพ จึงรีบทำพิธีบรมราชาภิเษกภายใน ๗ วันบ้าง กว่านั้นบ้าง อย่างช้าภายในเดือนเศษ เป็นพระราชประเพณีสืบมาจนถึงรัชกาลปัจจุบันนี้
แต่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา สมเด็จพระบรมชนกนาถได้กระทำพระองค์ให้ทรงคุ้นเคยกับเจ้านายและประธานาธิบดีในต่างประเทศอย่างเป็นทางราชการ ถึงกับเสด็จออกไปผูกมิตรสัมพันธ์กับนานาประเทศเหล่านั้นหลายครั้ง จึงทำให้นับถือกันสนิทสนมกว่าครั้งก่อนๆ เป็นอันมาก ประกอบทั้งพระมหากษัตริย์ในทวีปยุโรปในเวลานั้น ยังครองราชสมบัติซึ่งมีพระเจ้าแผ่นดินเป็นประมุขของประเทศกันอยู่มากแห่งด้วยกัน การบรมราชาภิเษกของเขาถือกันว่าเป็นการมงคลอันสำคัญ โดยปกติมักทำกันเมื่อเสร็จงานพระบรมศพก่อน เพื่อให้เวลาของการไว้ทุกข์ผ่านไปแล้วจึงทำพิธีบรมราชาภิเษกเป็นการรื่นเริง
อีกส่วนหนึ่งซึ่งพระเจ้าแผ่นดินและประธานาธิบดีของประเทศที่เป็นมิตรไมตรี มักแต่งเจ้านายหรือขุนนางผู้ใหญ่ เป็นผู้แทนไปช่วยให้เป็นเกียรติยศ เพราะเจ้านายของไทยเราก็ได้เคยถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพระองค์ไปช่วยงานบรมราชาภิเษกตามต่างประเทศมาแล้วหลายคราวอันถือว่าเป็นธรรมเนียมที่พึงปฏิบัติต่อกันอยู่แล้ว อีกประการหนึ่งการเดินทางไปมารวมทั้งการสื่อสารในสมัยก่อนนั้น ต้องใช้เวลาติดต่อกันเป็นระยะแรมเดือน เพราะการคมนาคมไม่สะดวกเหมือนในสมัยปัจจุบันนี้ การเดินทางมีอยู่ทางเดียว คือไปมาด้วยเรือกลไฟเดินสมุทร ไม่มีเครื่องบินสื่อสารย่นเวลาแม้แต่น้อย
ลักษณะการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบโบราณที่เคยทำกันมานั้น เมื่อคิดเทียบกับความนิยมของประเทศต่างๆ ที่เขาทำกัน จึงเป็นเรื่องที่ขัดข้อง คือถ้าจะทำการรื่นเริงในเวลาไว้ทุกข์ก็ไม่เหมาะสม ถ้ารีบทำลงไป ประเทศมิตรไมตรีย่อมไม่มีเวลาจะเดินทางมาร่วมงานด้วยได้ เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานขึ้นมิให้ขัดขวางกับธรรมเนียมของประเทศทั้งปวง เมื่อทรงนำพระกระแสพระราชดำรินั้นปรึกษาแก่พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่ ก็เห็นชอบพร้อมกันว่า ให้จัดงานพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นสองครั้ง
ครั้งแรกให้เป็นงานพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียรตามโบราณราชประเพณี แต่งดการเสด็จแห่เลียบพระนครและงานรื่นเริงไว้ เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมชนกนาถผ่านไปแล้ว จึงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชเป็นครั้งที่สอง จะได้จัดให้มีการรื่นเริงขึ้นทั่วไป ทั้งมีเวลาให้นานาประเทศที่เป็นสัมพันธมิตรไมตรีมีโอกาสที่จะมาช่วยงานได้ การทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นสองครั้งนี้ ไม่ผิดพระราชประเพณีมาแต่โบราณ คือเมื่อครั้งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อแรกเสด็จปราบดาภิเษกในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ทรงทำพิธีบรมราชาภิเษกพอเป็นสังเขปครั้งหนึ่ง ต่อมาทรงสร้างพระนครกับปราสาทราชมนเทียรแล้ว จึงทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามตำราอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘
ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๕ เมื่อแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ครั้นเมื่อเสด็จออกทรงผนวชแล้ว จึงทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง อาศัยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระราชมนเทียรในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ และทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชให้สมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔
การทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก
งานได้เริ่มต้นในพระอุดบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยการนำแผ่นทองคำสำหรับใช้จารึกพระสุพรรณบัฏไปเข้าพิธีในทางศาสนา สวดมนตร์ รุ่งขึ้นมีการเลี้ยงพระ เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว พระยาศรีสุนทรโวหาร (กมล สาลักษณ์) ได้ลงมือจารึกพระสุพรรณบัฏ หลวงโลกทีปลั่นฆ้องชัยให้สัญญาพระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์เป่าสังข์แล้วบรรจุพระสุพรรณบัฏลงหีบ ประดิษฐานไว้บนพานแว่นฟ้า พระราชพิธีสวดมนตร์เฉลิมพระราชมนเทียรกระทำต่อเนื่องกันในพระราชมณเฑียรสถาน จนกระทั่งถึงวันสำคัญ คือวันสรงมูรธาภิเษก ซึ่งเป็นวันตรงกับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นวันฉัตรมงคลในรัชกาลของพระองค์ พระฤกษ์สรงน้ำเป็นเวลาบ่าย ๓ โมง ๓๓ นาที ๕๖ วินาที
น้ำที่ใช้ในการนำมาเข้าพิธีนั้น เป็นน้ำที่ได้มาจากเบญจมหานทีในมัชฌิมประเทศ คือ คงคา, ยมนา, นที, สรภี และอจิรวดี มาผสมกับแม่น้ำทั้ง ๕ ที่เป็นสายสำคัญของเมืองไทย ได้แก่ ๑ แม่น้ำเจ้าพระยา ๒ แม่น้ำนครชัยศรี ๓ แม่น้ำราชบุรี ๔ แม่น้ำเพชรบุรี ๕ แม่น้ำฉะเชิงเทรา มาผสมกับน้ำในสระทั้ง ๔ ของเมืองสุพรรณบุรี คือ สระแก้ว, สระคงคา, สระเกษ, และสระยมนา น้ำดังกล่าวนี้ได้นำไปบรรจุไว้ที่พระมณฑป พระกระยาสนานสถิตเหนืออุทุมพรราชอาสน์กลางแจ้งที่ชาลาด้านตะวันออกของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
เมื่อได้เวลาอันเป็นอุดมฤกษ์แล้ว พระยาราชโกษา (หรุ่น วัชโรทัย ภายหลังเป็นพระยาอุทัยธรรม) ไขสหัสธารา สำหรับสรงถวาย พระโหราธิบดีลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เป่าสังข์ทักษิณาวรรต พระสงฆ์ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย สวดชัยมงคลคาถา เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์, บัณเฑาะว์, มโหระทึก, เครื่องดุริยดนตรีปืนมหาฤกษ์ มหาไชย, มหาจักร และมหาปราบยุค ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ในสนามหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ยิงสดุดี ๒๑ นัดปืนใหญ่ในท้องสนามหลวงของกรมทหารบกทหารเรือ ยิง ๑๐๑ นัด พระสงฆ์ตามพระอารามต่างๆ ย่ำระฆังและสวดถวายชัยมงคล ๗ ลา
ครั้นแล้วพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต ถวายพระกริ่ง และสรงน้ำพระพุทธมนตร์ ถวายเสร็จแล้วสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และพระพิมลธรรมเข้าถวายน้ำพระพุทธมนตร์ หลังจากนั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี จึงขึ้นถวายน้ำสรง ต่อจากนั้นจึงถึงพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ คือ
๑. สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช
๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์
๓. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงเทววงศ์วโรปการ
๔. พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ
เสร็จแล้วพระยาเทพทวาราวดี (สาย ณ มหาชัย) ได้เชิญฉลองพระองค์คลุมสีเหลืองให้คลุมพระองค์ เจ้าหมื่นไวยวรนาถ นำฉลองพระบาทขึ้นทูนเกล้าฯ ถวายแล้วจึงเสด็จขึ้นยังพระที่นั่งสุราลัยพิมาน เพื่อเปลี่ยนเครื่องทรงใหม่ตามสีพิชัยสงคราม ทรงพระสนับเพลาเชิงงอน ทรงพระภูษาเขียนทองพื้นเหลือง ทรงฉลองพระบาทตาดพื้นเหลืองประดับพระดาราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งห้า ทรงสวมสายสะพายขัติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ พร้อมทั้งพระสังวาล ทรงสวมฉลองพระองค์ครุยกรอบทองริ้วปัตหล่าชั้นนอก ครั้นแล้วจึงเสด็จออกพระที่นั่งอัฐทิศเพื่อรับน้ำมหาสังข์จากราชบัณฑิตและพราหมณ์ตามทิศทั้งแปด
ครั้นเวลาบ่ายเสด็จออกยังท้องพระโรง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับเหนือพระที่นั่งภายในพระมหาเศวตฉัตร เพื่อเปิดโอกาสให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าและข้าราชการกราบบังคมทูลถวายพระพร เสด็จแล้วจึงมีพระราชดำรัสตอบแล้วจึงเสด็จขึ้นยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับที่พระที่นั่งภัทรบิฐอีก เพื่อให้ข้าราชการฝ่ายในเข้ากราบบังคมทูลถวายพระพร แล้วมีพระราชดำรัสตอบ เมื่อเสร็จพิธีแล้วจึงเสด็จเข้าไปในพิธีเฉลิมพระราชมนเทียรชั้นใน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าไปประทับในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงโปรยดอกพิกุล และเงินสลึง และในตอนนี้ใช้นางเชื้อพระวงศ์ เป็นผู้เชิญพระแสงและเครื่องราชูปโภคตามเสด็จ เมื่อเสด็จถึงพระที่นั่งมนเทียรสถานแล้ว ทรงจุดเทียนนมัสการ แล้วจึงขึ้นประทับบนพระแท่นบรรทม สมเด็จพระเจ้าอัยยิกาเธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน ทูนเกล้าฯ ถวายดอกหมากทองคำและพระแส้หางช้างเผือกคู่ ทรงรับแล้ววางไว้ข้างพระที่ ท้าวทรงกันดารถวายกุญแจทองคำ แล้วเอนพระองค์ลงเหนือพระแท่นที่บรรทมโดยทักษิณปรัศว์เป็นพระฤกษ์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีทรงอวยพระพรถวาย พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายในถวายชัยมงคล มีประโคมแตรสังข์ดุริยดนตรี เสร็จแล้วประทับในพระมหามนเทียรแห่งนี้เป็นการทรงประเดิม
สรุปตามประวัติศาสตร์กล่าวว่าให้จัดงานพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็น ๒ ครั้ง ครั้งแรกให้จัดเป็นงานพระราชพิธีและเฉลิมพระราชมนเทียรตามโบราณราชประเพณี แต่งดการเสด็จแห่เลียบพระนครและงานรื่นเริงไว้ เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมชนกนาถผ่านไปแล้ว จึงค่อยทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชเป็นครั้งที่ ๒
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชครั้งที่ ๒
ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชครั้งที่ ๒ นั้นจัดขึ้นในปีถัดมาคือ พ.ศ. ๒๔๕๔ ภายหลังงานพระเมรุแล้ว
การจัดในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น เป็นการจัดอย่างยิ่งใหญ่ เนื่องจากประเทศสยามได้เป็นที่ยอมรับและนับหน้าถือตาโดยประชาคมในโลกตะวันตกภายหลังรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงมีปฏิสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับราชวงศ์หลักของทวีปยุโรป ทำให้มีผู้แทนพระองค์ของราชวงศ์ต่างๆ ได้รับเชิญให้เข้ามาร่วมในพระราชพิธีสำคัญนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ขนาดที่นิตยสาร The National Geographic Magazine ส่งนักข่าวเข้ามาทำสกู๊ปพิเศษในงานพระราชพิธีสำคัญนี้ แล้วนำไปลงในนิตยสารของตนฉบับประจำเดือนเมษายน ๑๙๑๒ เผยแพร่ไปทั่วโลก
และในเอกสารของทางการชื่อว่าหนังสือ “สยามรัฐพิพิธภัณฑ์” ซึ่งเปรียบได้กับหนังสือแจกในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้รวบรวมเหตุการณ์สำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๖ โดยเฉพาะพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พ.ศ. ๒๔๕๔ ไว้อย่างงดงามอลังการ
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งหลัง ปรากฎความตามหมายกำหนดการโดยย่อดังต่อไปนี้.
วันที่ ๒๘ และ ๒๙ พฤศจิกายน.
เจ้านานาประเทศกับเอคอรรคราชทูตพิเศษจากนานาประเทศได้มาถึงในสองวันนี้.
เจ้านานาประเทศเสด็จขึ้นที่ท่าราชวรดิษฐ์ และเอกอรรคราชทูตพิเศษซึ่งจะพักแรมอยู่ที่พระราชวังดุสิตขึ้นที่ท่าวาสุกรี ได้รับการต้อนรับอย่างมีเกียรติยศเช่นเดียวกันทั้งสองพวก.
เมื่อมาถึงแล้ว เจ้านาๆ ประเทศพากันได้เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง และได้รับพระราชทานเลี้ยงอาหารในวันที่มาถึงนั้น.
ค่ำวันที่ ๒๙ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ทรงมีงานเลี้ยงอาหารเจ้านาๆ ประเทศ และเอกอรรคราชทูตพิเศษที่มาถึงเมื่อวันที่ ๒๘.
วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน
เวลาเช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงประเคนอาหารบิณฑบาตร ทรงประเคนไตรและเครื่องไทยธรรมแก่พระสงฆ์สมณศักดิ์ ๘๐ รูป แล้วจึงเริ่มพิธีพราหมณ์.
เวลาบ่ายเสด็จออก บรรดาเจ้านานาประเทศและเอกอรรคราชทูตพิเศษเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท แล้วพระราชทานเลี้ยงอาหารกลางวัน.
เวลาค่ำ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ทรงเชิญเจ้านานาประเทศตามที่กล่าวข้างบนไปในงานเลี้ยงอาหารพวก ๑ และนอกจากนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ทรงเปนภารธุระเชิญอิกพวก ๑ ต่อไป.
วันที่ ๑ ธันวาคม
หมายกำหนดการวันนี้ เมื่อได้กล่าวว่าเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาลจะมีงานเลี้ยงบรรดาเจ้านานาประเทศและเอกอรรคราชทูตพิเศษที่มาในงานพระราชพิธีคราวนี้แล้ว มีกำหนดการต่อไปว่า.
เวลา ๔ ล.ท. เริ่มพิธีสงฆ์ในลานพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อทำน้ำพระพุทธมนตร์ เปนเครื่องพระกระยาสนานในพระราชพิธี.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องเต็มยศเข้าเฝ้าในงานพระราชพิธีนี้.
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานารถได้มีการเลี้ยงเจ้านานาประเทศและเอกอรรคราชทูตพิเศษ.
เวลาค่ำมีการจุดประทีปโคมไฟทั่วพระนคร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับเรือพระที่นั่งยนตร์เสด็จพระราชดำเนินโดยทางชลมารคทอดพระเนตร์การจุดประทีปโคมไฟตามลำน้ำ.
วันที่ ๒ ธันวาคม
เวลา ๙.๔๐ ก.ท. ได้เริ่มพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท.
ภายหลังที่ได้สรงน้ำมหามุรธาภิเษกในพระราชวังแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับพระที่นั่งอัฐทิศ เจ้านานาประเทศเข้าเฝ้าที่พลับพลาซึ่งได้จัดไว้จนตลอดพิธี.
แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับน้ำอภิเษกจากมหาเจดีย์สถานและมณฑลต่างๆ ตามทิศ เสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นทรงผลัดพระภูษา.
เวลา ๑๐.๔๐ ก.ท. จะได้ตั้งขบวนเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์กับเครื่องราชูปโภคและพระแสงอัษฎาวุธที่พระที่นั่งรัฐยา อันอยู่ติดต่อใกล้เคียงกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งเจ้านานาประเทศ และอรรคราชทูตพิเศษผู้แทนประเทศต่างๆ พร้อมด้วยทูตานุทูตและเหล่าเสนามาตย์ราชเสวกชั้นผู้ใหญ่จะได้ประชุมรอเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสถิตเหนือพระทั่นั่งมนังคศิลา ภายหลังที่พราหมณ์สวดถวายไชยมงคลแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ได้เข้าเฝ้าถวายบังคม เหล่าเสนามาตย์ราชเสวกเข้าเฝ้าถวายบังคมในโอกาสนั้นด้วย.
ครั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสิ้นลง แล้วเสด็จขึ้นสู่พระที่นั่งชั้นใน บรรดาเสนามาตย์ราชเสวกไปรอรับเสด็จที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้านานาประเทศและทูตานุทูตทรงพระดำเนินด้วยขบวนพยุหยาตราสู่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม.
แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงพระราชดำเนินสู่พระอุโบสถ.
ผู้ที่ได้เข้าเฝ้าในพระอุโบสถนั้น มีฉเภาะแต่เจ้านานาประเทศและทูตานุทูต
ตามหมายกำหนดการกล่าวต่อไปว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงประกาศพระไตรยรัตนสันนิยาตร์รับเปนพระพุทธศาสนูปถัมภกในท่ามกลางพระสงฆ์สมณะศักดิ์ ๘๐ รูป อันมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระมหาสมณะเจ้าเปนประธาน พระสงฆ์สวดประสิทธิ์พระพรถวาย แล้วเสด็จพระราชดำเนิรโดยขบวนพยุหยาตราคืนสู่พระราชมณเฑียรสถาน เวลาค่ำมีงานเลี้ยงอาหารพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้าผู้แทนนานาประเทศ แล้วเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถยนตร์พระที่นั่ง ทอดพระเนตร์การจุดประทีปโคมไฟโดยทางสถลมารคแล้วเสด็จวัดเบญจมบพิตร์ ซึ่งมีงานปีในวันนั้น.
วันที่ ๓ ธันวาคม
เวลาบ่าย ๒ ล.ท. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครเปนขบวนพยุหยาตราโดยสถลมารคตามโบราณราชประเพณีเคลื่อนขบวนจากพระบรมมหาราชวัง หยุดประทับพลับพลา ณ ท้องสนามหลวง เพื่อประชาชนเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทและกราบถวายบังคมถวายไชยมงคล.
ครั้นแล้วเคลื่อนขบวนเสด็จพระราชดำเนินไปวัดบวรนิเวศวิหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนมัสการพระพุทธชินศรีซึ่งเปนพระพุทธรูปมาแต่โบราณแล้วเคลื่อนไปทางถนนพระราชดำเนิน ประทับพลับพลา บรรดาชาวยุโรปเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมถวายไชยมงคล แล้วเสด็จพระราชดำเนินสู่วัดพระเชตุพน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนมัสการพระอารามซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงสร้าง แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่พระบรมมหาราชวัง.
สมเด็จพระบรมราชินี พระพันปีหลวง และบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในตามเสด็จทั้งสองพลับพลา เจ้านานาประเทศเฝ้าในระหว่างที่ประชาชนกราบถวายบังคมถวายไชยมงคล.
เวลาค่ำ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ทรงเชิญเจ้านานาประเทศไปเสวยที่วัง.
วันที่ ๔ ธันวาคม
เวลา ๓ ล.ท. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครเปนขบวนพยุหยาตราโดยชลมารคตามโบราณราชประเพณี ขบวนเสด็จพระราชดำเนินเคลื่อนที่ออกจากท่าราชวรดิษฐ์ตรงสู่วัดอรุณราชวราราม ภายหลังที่ได้ทรงนมัสการแล้ว เสด็จพระราชดำเนินคืนสู่พระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระบรมราชินีพระพันปีหลวงเสด็จพร้อมด้วยเจ้าหญิงต่างประเทศ อรรคราชทูตพิเศษและข้าราชการเฝ้าเมื่อเสด็จพระราชดำเนินจากท่าราชวรดิษฐ์.
เวลาค่ำทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารในพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย.
วันที่ ๕ ธันวาคม
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ทรงเชิญฮิสรอแยลไฮเนสปรินซ์วัลดีมาร์, ปรินซ์โอเค, ปรินซ์อัคเซล, และปรินซ์แอริค แห่งประเทศเดนมารคกับฮิสอิมปิเรียลไฮเนส ปรินซ์ฮิโรยะสุฟุชิมิแห่งประเทศญี่ปุ่น เสวยอาหารกลางวัน.
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานารถได้ทรงเชิญฮิสรอแยลไฮเนสปรินซ์วิลเลียม และเฮอร์อิมปิเรียลไฮเนสปรินเซสวิลเลียมแห่งประเทศสวิเดน, ฮิสอิมปิเรียลไฮเนสแกรนด์ดยุคบอริสแห่งรุสเซีย, และฮิสซีรีนไฮเนสปรินส์อาเล็กซานเดอร์และเฮอร์รอแยลไฮเนสปรินเซสอาเล็กซานเดอร์ออฟเต๊ก เสวยกลางวัน.
เวลา ๓.๓๐ ล.ท. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินสู่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในการประพรมธงไชยเฉลิมพลแห่งกองทัพบกด้วยน้ำพระพุทธมนตร์.
เวลา ๔ ล.ท. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินสู่ท้องสนามหลวงเพื่อนักเรียนเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมถวายไชยมงคล สมเด็จพระบรมราชินีพระพันปีหลวงจะได้เสด็จประทับพลับพลาและอรรคราชทูตผู้แทนพิเศษได้เข้าเฝ้าด้วย.
เวลาค่ำ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพทรงเชิญเจ้านานาประเทศและอรรคราชทูตผู้แทนพิเศษที่ได้รับเชิญเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ไปในงานเลี้ยงอาหารที่วัง.
ฮิสเอกเซลเลนซี อรรคราชทูตญี่ปุ่น ได้เชิญฮิสอิมปิเรียลไฮเนสปรินซ์ฮิโรยะสุ แห่งประเทศญี่ปุ่นเสวยอาหารค่ำ.
ฮิสเอกเซลเลนซี อรรคราชทูตรุสเซีย ได้เชิญฮิสรอแยลไฮเนสปรินซ์วัลดีมาร์ปรินซ์โอเค, ปรินซ์อัคเซล, และปรินซ์เอริคแห่งเดนมารคเลี้ยงอาหารค่ำ.
เวลา ๙ ล.ท. มีโขนแสดงที่โรงละคอนหลวง.
วันที่ ๖ ธันวาคม
เวลา ๓.๓๐ ล.ท. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประทับพลับพลาท้องสนามหลวง พระราชทานธงไชยเฉลิมพลแก่กองทัพบก สมเด็จพระบรมราชินีพระพันปีหลวงได้เสด็จล่วงหน้าไปก่อนและบรรดาเจ้านานาประเทศและเจ้าหญิงกับอรรคราชทูตผู้แทนพิเศษ พากันเข้าเฝ้างานนั้น.
เวลาค่ำพระราชทานเลี้ยงนายทหาร.
ภายหลังที่เสร็จการเลี้ยงแล้ว เจ้าพระยายมราชมีงานสโมสรสันนิบาตที่กระทรวงนครบาล
วันที่ ๗ ธันวาคม
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศร์ ทรงเชิญเจ้านานาประเทศและอรรคราชทูตผู้แทนพิเศษ เสวยและรับประทานอาหารกลางวัน.
เวลา ๓ ล.ท. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตร์การตรวจพล ณ ท้องสนามหลวง สมเด็จพระบรมราชินีพระพันปีหลวงพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในเสด็จในงานนี้ และเจ้านานาประเทศและอรรคราชทูตผู้แทนพิเศษและคณะทูตานุทูตเข้าเฝ้า.
เวลาค่ำเสด็จพระราชดำเนินยังกระทรวงกระลาโหม กองทหารบกชักยัญไฟถวายไชยมงคล.
วันที่ ๘ ธันวาคม
เวลาเช้า เจ้านานาประเทศทุกพระองค์เสด็จประพาศจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและบางปอินเสด็จกลับโดยรถไฟพิเศษเวลา ๔ ล.ท.
เวลา ๓.๓๐ ล.ท. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยขบวนรถม้าพระที่นั่งประทับพลับพลาที่สามแยก พ่อค้าจีนและแขกเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมถวายไชยมงคล.
เวลาค่ำ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรประการ มีงานเลี้ยงที่กระทรวงต่างประเทศ.
ภายหลังจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินในงานสโมสรของกระทรวงทหารเรือและทอดพระเนตร์การจุดดอกไม้เพลิง ซึ่งเสนาบดีกระทรวงวังได้ทรงจัด.
วันที่ ๙ ธันวาคม
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต ทรงเชิญฮิสรอแยลไฮเนสปรินส์วิลเลียมและเฮอร์อิมปิเรียลปรินเซสวิลเลียมแห่งสวิเดน, ฮิสอิมปิเรียลไฮเนสแกรนด์ดยุคบอริสแห่งรุสเซีย และฮิสรอแยลไฮเนสปรินซ์อาเล็กซานเดอร์กับเฮอร์รอแยลไฮเนสปรินเซสอาเล็กซานเดอร์ออฟเต๊ก เสวยกลางวัน.
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ได้เชิญฮิสรอแยลไฮเนสปรินซ์วัลดีมาร์, ปรินซ์โอเค, ปรินซ์อัคเซลและปรินซ์เอริคแห่งเดนมาร์ค และฮิสอิมปิเรียลไฮเนสปรินส์ฮิโรยะสุ เสวยกลางวัน.
เวลาบ่าย ที่สโมสรเสือป่ามีการประชุมเสือป่าเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท บรรดาผู้เปนแขกที่ได้รับเชิญไปถึงเวลา ๓.๓๐ ล.ท. สมเด็จพระบรมราชินีพระพันปีหลวงได้เสด็จสโมสรถึง ๓.๔๕ ล.ท. เวลา ๔ ล.ท. กองเสือป่าได้เริ่มเดินขบวนเข้าบริเวณสโมสร เวลา ๔.๓๐ ล.ท. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จถึงสโมสรเสือป่า ทอดพระเนตร์การตรวจพลแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับพระบรมมหาราชวัง.
เวลาค่ำ ฮิสรอแยลไฮเนส พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงเชิญอรรคราชทูตพิเศษบางคนไปเลี้ยงอาหารที่วัง.
อรรคราชทูตอังกฤษ เชิญปรินซ์อาเล็กซานเดอร์ออฟเต๊ก เสวยเวลาค่ำ.
อรรคราชทูตรุสเซีย เชิญปรินซ์และปรินเซสวิลเลียมแห่งสวิเดนและแกรนด์ดยุคบอริสแห่งรุสเซีย เสวยเวลาค่ำ.
อุปทูตฝรั่งเศส เชิญอรรคราชทูตผู้แทนทูตพิเศษรับประทานเวลาค่ำ.
วันที่ ๑๐ ธันวาคม
นายกองนายหมู่เสือป่ามีการเลี้ยงถวายเปนพระเกียรติยศที่สโมสรเสือป่า ภายหลังจากนั้นได้มีการจุดดอกไม้เพลิง บรรดาเจ้านานาประเทศและอรรคราชทูตผู้แทนพิเศษที่ยังอยู่จนถึงวันงานนี้ และบรรดาคณะทูตานุทูตก็ได้รับเชิญในงานนี้ด้วย.
ตามที่ได้กล่าวมาข้างบนนั้น เปนหมายกำหนดการของทางราชการ และพิธีการก็ได้กระทำสำเร็จครบถ้วนตามหมายนั้นแล้วทุกประการ.
ในโอกาสนี้ได้มีการตกแต่งเปลี่ยนแปลงในพระบรมมหาราชวังและพระที่นั่งเปนอันมาก และวังซึ่งเดิมสร้างสำหรับเปนที่ประทับของมกุฎราชกุมารนั้นก็ได้เปลี่ยนแปลงเปนพิพิธภัณฑ์ของสยาม เก็บศิลปหัดถกรรมและสิ่งของอื่นๆ อีกมาก สำหรับอนุญาตให้ราษฎรเข้าชมได้ ห้องในวังซึ่งมีเปนอันมากนั้น ล้วนแล้วไปด้วยสิ่งของอันเหมาะแก่การเผยแผ่ให้ราษฎรดูอย่างยิ่ง.
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชนี้ ตามบ้านเรือนทุกแห่ง ตกแต่งโคมไฟไว้งดงามมาก ส่วนทางแม่น้ำนับตั้งแต่สามเสนถึงบางคอแหลมก็ตกแต่งธงทิวและโคมไฟต่างๆ เช่นเดียวกัน ตลอดจนบรรดากระทรวงและที่ทำการของรัฐบาล และบริษัทใหญ่ๆ ก็จัดเปนการเอิกเริกในพระราชพิธีสมโภช พิธีนี้กล่าวกันว่าเปนที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือยนตร์พระที่นั่งทางชลมารค เพื่อทอดพระเนตร์การตกแต่งของราษฎรได้ทำขึ้นเพื่อพระเกียรติยศ และความงดงามแห่งการตกแต่งในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเปนที่น่ายินดียิ่งนัก ซึ่งถ้าจะบรรยายลงในที่นี้แม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจเปนยุกติธรรมคู่ควรกับความจริงก็ได้.
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้ดำเนินต่อไปดังที่เปนมาแล้วตามโบราณราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ทรงพระสังวาลย์ เครื่องราชอิศริยาภรณ์จุลจอมเกล้ากับฉลองพระองค์ครุย เสด็จทรงพระราชดำเนินสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พร้อมด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ มงกุฎหนึ่ง ฉัตร์หนึ่ง พระขรรค์ ฉลองพระบาทหนึ่ง พัดหนึ่ง ข้าราชการกระทรวงวังเปนผู้เชิญ.
มีผู้นำเสด็จสิบแปดคน เรียงคู่เปนสองสาย คู่ที่หนึ่ง หลวงเทพาจารย์ (พราหมณ์) เชิญพิฆเนศวรอันเปนพระผู้ประสิทธิ์ความสำเร็จทั้งหลาย หม่อมเจ้าพร้อมเชิญพระไชยเนาวโลท์ ซึ่งเปนพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะเก้าอย่าง ถัดมาจากนั้นมีพราหมณ์ ๔ คนขับไม้บัณเฑาะว์ เป่าสังข์อุตตราวัฎ ๔ คน ทักษิณาวัฎ ๒ คน โปรยเข้าตอก ๔ คน พระพิเรนทรงเทพเชิญธงไชย พระครุฑพาห พระอินทรเทพเชิญธงไชยราชกระบี่ธุช.
ผู้ที่ตามเสด็จนั้น เดินเปนแถวละ ๔ คน ดังต่อไปนี้.
แถวที่ ๑ เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี เชิญพระขรรค์ไชยศรี จมื่นจงภักดีองค์ขวา เชิญพระมหาเศวตฉัตร พระยาเทพาภรณ์ เชิญพานพระมหาพิไชยมงกุฎ พระยาอัศวบดีศรีสุรพาหะ เชิญธารพระกร,
แถวที่ ๒ นายจ่ายง เชิญฉลองพระบาท นายจ่าเรศ เชิญพระแส้หางช้างเผือก พระราชโกษา เชิญพระธำมรงค์มหาวิเชียรจินดา หลวงศักดิ์นายเวร เชิญพัดวาฬวิชนี.
แถวที่ ๓ นายเสน่ห์ เชิญพระเต้าทักษิโณทก นายโสภณอัศดร เชิญพระมณฑป นายพินิจราชการ เชิญพานพระขันหมาก นายสุนทรมโนมัย เชิญพระสุพรรณศรีบัวแฉก.
แถวที่ ๔ นายสุจินดา เชิญพระแสงศรกำลังราม นายพินัยราชกิจ เชิญพระแสงดาบเขน นายพลพัน เชิญพระแสงตรี นายขัน เชิญพระแสงจันทร์.
แถวที่ ๕ นายรองวิไชยดุรงคฤทธิ์ เชิญพระแสงของ้าวแสนพลพ่าย นายรองขัน เชิญพระแสงดาบเชลย นายรองพิจิตรสรรพการ เชิญพระแสงหอกเพ็ชร์รัตน์ นายฉัน เชิญพระแสงปืนข้ามแม่น้ำสโตง.
แถวที่ ๖ นายรองสุจินดา เชิญพระแสงดาพไข นายลิขิตสารสนอง เชิญพระแสงไชยเพ็ชร์ นายรองพลพัน เชิญพระแสงพระนารายณ์ และนายรองกวด เชิญพระแสงนาคราชสามเศียร.
พระราชพิธีสุดท้ายได้กระทำสำเร็จไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยขบวนพยุหยาตราเลียบพระนครโดยสถลมารค นายพลตรี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชร์อัครโยธิน ทรงจัดขบวน เมื่อเริ่มเสด็จให้เคลื่อนพยุหยาตรานั้น ชาวประโคมได้ประโคมแตรสังข์และกลองมโหรทึกอย่างสมัยก่อน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับพระราชยานสพรั่งด้วยเหล่าอำมาตย์ราชเสวกสองข้างทาง ทรงพระชฎามหากฐิน.
พระราชพิธีนี้เปนงานซึ่งชวนตื่นเต้นยิ่งนัก และสมแก่พระบรมราชเกียรติแห่งพระมหากษัตริย์ทุกประการ.
ภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ แล้ว ราชอาณาจักรสยามก็ว่างเว้นพระราชประเพณีนี้เรื่อยมาเป็นเวลา ๑๐๕ ปีแล้ว เนื่องจากมิได้มีการสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร อีกเลยในรัชกาลที่ ๗–รัชกาลที่ ๘
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นประเพณีนี้อีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๑๕ ด้วยการสถาปนาพระราชโอรสพระองค์เดียวของพระองค์ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในฐานะองค์รัชทายาทตามขัตติยราชประเพณีโบราณ
วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต เมื่อดำเนินตามกฎมนเทียรบาล เรากำลังจะได้เห็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอันยิ่งใหญ่อย่างสมพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ในไม่ช้านี้ [พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นในวันที่ ๔ – ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ – กองบก.ออนไลน์]
เอกสารประกอบการค้นคว้า
กรรณิการ์ ตันประเสริฐ. พระราชวังพญาไท ในวันวารห้าแผ่นดิน. สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๕๓.
ไกรฤกษ์ นานา. “การสืบราชสมบัติในราชสกุลมหิดล ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ ๓๘ ฉบับที่ ๑ (พฤศจิกายน ๒๕๕๙).
______. ค้นหารัตนโกสินทร์ ๒ เทิดพระเกียรติ ๑๐๐ ปี วันสวรรคต รัชกาลที่ ๕. สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๕๓.
ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์. สำนักพิมพ์แพร่พิทยา, ๒๕๑๖.
ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. ตำนานวังหน้า. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าโกสิต ในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุมาศ เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๖๘.
ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖. สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๕๐.
วารี อัมไพวรรณ. พระราชประวัติ พระมหากษัตริย์และพระบรมราชินี แห่งราชวงศ์จักรี. สำนักพิมพ์ภัทรินทร์, ๒๕๔๑.
สยามรัฐพิพิธภัณฑ์ พ.ศ. ๒๔๖๘.
แสงเทียน ศรัทธาไทย. สามราชินีคู่บัลลังก์ ร.๕. สำนักพิมพ์มหรรณพ, ๒๕๓๙.
อมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช), จมื่น. พระราชประเพณีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอน (๑) เล่ม (๙). องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๑๔.
Morris, Charles. The Life of Queen Victoria & Life of The New King, Edward VII. Librarian of Congress, Washington, U.S.A., 1901.
The National Geographic Magazine. Vol. XXIII No. 4, April 1912.
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 9 เมษายน พ.ศ.2562