ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เราอาจคิดว่าแม่น้ำลำคลองสมัยก่อนใสสะอาด แม้มีขยะมูลฝอยแต่ก็น้อยมาก แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะถ้าย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน หมาเน่าลอยน้ำ ซากสัตว์ลอยขึ้นอืด ส่งกลิ่นเหม็นน่ารังเกียจ ไม่นับขยะสารพัดชนิดที่ชาวบ้านทิ้งลงแม่น้ำลำคลอง ทำให้น้ำสกปรก กระทั่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทนไม่ไหว ต้องทรงออกประกาศ ปรากฏใน “ประชุมประกาศ รัชกาลที่ 4” ห้ามไม่ให้ทิ้ง “ซากสัตว์” ลงแม่น้ำ
ประชุมประกาศ รัชกาลที่ 4 หัวข้อ “ประกาศทรงตักเตือนไม่ให้ทิ้งศพสัตว์ลงในน้ำ แลให้ทอดเตาไฟอย่าให้เป็นเชื้อเพลิง แลให้คิดทำลิ่มสลักรักษาเรือน” เมื่อ พ.ศ. 2399 มีความตอนหนึ่งว่า
“มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ประกาศแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยแลราษฎรทั้งปวง ให้รู้ทั่วกันว่า บัดนี้ได้ทราบข่าวคนนอกประเทศแลคนนอกกรุง ฯ เป็นลาวแลเขมร แลชาวหัวเมืองตอนใช้น้ำบ่ออื่นๆ หลายพวก ย่อมติเตียนว่าชาวกรุงเทพ ฯ นี้ทำโสมมนักลงในแม่น้ำลำคลอง ด้วยทิ้งซากศพสัตว์ตายให้ลอยไป ๆ มา ๆ น่าเกลียดน่าชัง แล้วก็ใช้กินแลอาบน้ำอยู่เป็นนิจ เป็นน่ารังเกียจ เสียเกียรติยศพระมหานคร”
หมาเน่าลอยน้ำ แมวอืดลอยน้ำ ดูแล้วน่าเกลียดเหลือทน ประชุมประกาศ รัชกาลที่ 4 จึงระบุว่า ด้วยเหตุนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ “สั่งสอนเตือนสติ” มาว่า แต่นี้ไปห้ามให้ใครผู้ใดผู้หนึ่งทิ้งสุนัขตาย แมวตาย และซากศพสัตว์ต่างๆ ลงในแม่น้ำและคลองใหญ่น้อยทั้งปวงเป็นอันขาด
ถ้าใครคิดจะทิ้ง ก็ขอให้ใช้สอยจ้างวานคนอื่นเอาไปทิ้งที่ป่าช้าเหมือนซากศพคน ถ้าบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ เอาไปทิ้งที่ป่าช้าลำบาก ก็ให้ฝังในดินในโคลน อย่าให้ลอยไปลอยมาในน้ำ
“แลการซึ่งทิ้งซากศพสัตว์ต่าง ๆ ลงในน้ำให้ลอยขึ้นลอยลงอยู่ดังนี้ คิดดูโดยละเอียดก็เห็นเป็นที่รังเกียจแก่คนที่ได้อาศัยใช้น้ำอยู่ทั้งสิ้นด้วยกัน พระสงฆ์สามเณรเป็นพระสมณะชาวนอกกรุงเทพ ฯ คือเมืองลาวแลหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวง แลชาวราษฎรชาวนอกกรุง ฯ เมื่อมีเหตุต้องลงมายังกรุงเทพ ฯ นี้แล้วก็รังเกียจติเตียนว่า เพราะต้องใช้น้ำไม่สะอาดจึงเป็นโรคต่าง ๆ ไม่เป็นสุขเหมือนอยู่นอกกรุง ฯ ถึงคนนอกประเทศ คือ ฝรั่ง อังกฤษ จีน แขก ทั้งปวงซึ่งเข้ามาค้าขายในกรุงเทพ ฯ ก็ติเตียนดังนั้นอยู่โดยมาก
“เพราะฉะนั้นขอท่านทั้งปวงจงพร้อมใจกันคิดเห็นลงใจว่า ท่านทั้งปวงชาวกรุง ฯ กับคนนอกกรุง ฯ นอกประเทศก็เป็นมนุษย์ด้วยกัน ควรจะมีกรุณาแก่กัน ขอเสีย อย่าทิ้งซากศพสัตว์ต่าง ๆ ลงในน้ำ ทำให้น้ำเป็นที่รังเกียจแก่มนุษย์เหมือนกันเลย
“แต่นี้ไป ถ้าผู้ใดไม่ฟังพระบรมราโชวาทเตือนสติมาดังนี้แล้ว ยังขืนทำมักง่ายอยู่ดังเก่า ก็จะให้นายอำเภอสืบชาวบ้านใกล้เคียงเป็นพยาน ชำระเอาตัวผู้ไม่เอื้อเฟื้อมักง่ายทำให้โสโครกนั้นมาตระเวนประกาศห้ามผู้อื่นต่อไป”
เหตุที่รัชกาลที่ 4 ทรงออกประกาศนี้ ไม่เพียงเพราะการทิ้งซากศพสัตว์ต่างๆ ลงแม่น้ำลำคลองจะสร้างกลิ่นเหม็น กระทบต่อสุขอนามัยของผู้ที่ใช้น้ำนั้นในการอุปโภคบริโภค แต่อีกสาเหตุหนึ่งอาจต่อเนื่องจากการทำ “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ระหว่างสยามกับอังกฤษ ใน พ.ศ. 2398
สนธิสัญญาเบาว์ริง ได้เปลี่ยนเศรษฐกิจของสยามอย่างมาก จากการค้าในระบบผูกขาด ก็กลายไปเป็นการค้าเสรี ส่งผลให้ชาติตะวันตกเข้ามาทำการค้ามากขึ้น “ความศิวิไลซ์” ของบ้านเมือง จึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังเห็นได้จากในประกาศที่มีข้อความว่า “…ถึงคนนอกประเทศ คือ ฝรั่ง อังกฤษ จีน แขก ทั้งปวงซึ่งเข้ามาค้าขายในกรุงเทพ ฯ…”
ไม่มีใครทราบว่าชาวบ้านในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้มากน้อยเพียงใด แต่ถ้าตัดภาพมาสมัยนี้ เราก็ยังคงพบปัญหาแบบเดิมเหมือนเมื่อร้อยกว่าปีก่อนเป๊ะๆ
อ่านเพิ่มเติม :
- ปลดทุกข์เรื่องใหญ่! ราษฎรสมัย ร.5 ขับถ่ายอย่างไร? เมื่อห้องแถวริมถนนยังไม่มี “ส้วม”
- ขุนกะเฬวราก-นายป่าช้า ที่รัฐบาลแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ผู้ดูแลจัดการศพ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ประชุมประกาศ รัชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๐๔. คณะสงฆ์วัดอนงคาราม ในความอุปถัมภ์ของนายชำนาญ และคุณหญิงวลี ยุวบูรณ์ พิมพ์ถวายในงานพระราชทานเพลิงศพ พระมหาโพธิวงศาจารย์ อินทโชตเถระ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๑.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 พฤษภาคม 2567