ขุนกะเฬวราก-นายป่าช้า ที่รัฐบาลแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ผู้ดูแลจัดการศพ

ชูชก เผาศพ เผาผี
การเตรียมเผาศพชูชก จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดรเขียนด้านนอกของสิม (โบสถ์) วัดยางทวงวราราม (วัดบ้านยาง) อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม

“ขุนกะเฬวราก” คือ “นายป่าช้า” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “สัปเหร่อ” ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและควบคุมการปลงซากศพที่ราษฎรนำมาประกอบพิธีกรรม รวมไปถึงศพคนไร้ญาติที่มีทั่วไปในสังคมด้วย

เมื่อเจ้าพนักงานหรือกองตระเวนพบซากศพหรือได้รับการร้องเรียนจากราษฎรแล้ว จะดำเนินการชันสูตรพลิกศพ เพื่อค้นหาสาเหตุของการตาย หากซากศพดังกล่าวไม่มีญาติพี่น้องมาอ้างรับศพ กองตระเวนก็จะมอบหมายให้ขุนกะเฬวรากนำซากศพคนไร้ญาติไปปลงเสีย ทั้งนี้ ในรายงานการแจ้งความของกองตระเวนแสดงให้เห็นว่า ขุนกะเฬวรากได้ทำหน้าที่ปลงซากศพคนไร้ญาติที่พบอยู่กระจัดกระจาย

Advertisement

นอกจากทางการจะมอบหมายให้กองตระเวนกับขุนกะเฬวรากทำหน้าที่ปลงศพคนไร้ญาติที่พบทั่วไปแล้ว หากราษฎรผู้ใดยากจนไม่มีเงินค่าธรรมเนียมปลงซากศพ รัฐจะให้ราษฎรนำซากศพมาปลงที่วัดสระเกศ โดยที่รัฐจะเป็นผู้ออกเงินค่าธรรมเนียมให้ เพราะรัฐต้องการจัดระเบียบสังคมและสุขอนามัย ขุนกะเฬวรากจึงเป็นฟันเฟืองหนึ่งของกระบวนการของรัฐ ที่ช่วยจัดการซากศพ ด้วยการนำมาเก็บ, ซ่อน หรือกำจัด ในสถานที่ลับตาอย่างป่าช้า ที่ออกห่างจากการรับรู้ของสาธารณะ เพื่อให้ความสยดสยองนั้นห่างไกลกับสาธาณชนทั่วไป และเพื่อให้บ้านเมืองดูมีความศิวิไลซ์ ปราศจากสิ่งโสโครกที่ก่อให้เกิดความรู้สึกอุจาด

ในบางครั้งมรรคนายกของวัดจะเป็นผู้พิจารณา และให้ใบอนุญาตว่าจะยินยอมให้ขุนกะเฬวรากปลงซากศพที่ราษฎรนำมายังวัด หากซากศพใดปราศจากใบอนุญาตแล้ว ขุนกะเฬวรากจะไม่ยอมปลงซากศพให้โดยเด็ดขาด ดังความที่กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์

“ด้วยกระทรวงธรรมการมีหนังสือแจ้งความมาว่า วัดมหาพฤฒาราม แต่เดิมได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกำหนดห้ามไม่ให้ทำการเผาศพ เพราะมีสถานราชทูตอยู่ใกล้เคียง บัดนี้สถานราชทูตนั้นได้ย้ายไปแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เผาได้แต่คนบางจำพวก ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ผู้เปนมรรคนายกของวัดนั้นจะทรงวินิจฉัยแลพระราชทานพระอนุญาตให้เผา ให้หลวงนรพรรคพฤฒิกรส่งขุนกะเฬวรากทราบเหตุนี้ ถ้าจะมีผู้ใดนำศพมาเผาในที่ป่าช้าวัดมหาพฤฒาราม แม้ว่าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดาผู้เปนมรรคนายกได้ประทานพระอนุญาตแล้วก็เปนอันยอมให้ศพนั้นเผาได้ แต่ถ้าศพใดไม่ให้ประทานพระอนุญาตจะเผาในที่ป่าช้าวัดนั้นไม่ได้” [1]

ทั้งนี้ ขุนกะเฬวรากก็ไม่อาจทำการปลงซากศพได้โดยพลการ เนื่องจากรัฐสยามยังคงนำกฎหมายตราสามดวงมาใช้ควบคุม มิให้ราษฎรขนซากศพย้ายข้ามเขตข้ามแดน ดังความที่พระสรชาญพลไกรทำหนังสือแจ้งต่อกองตระเวน เพื่อขออนุญาตขนย้ายศพพระอินทรเทพ (ทัย) บิดาของตน จากบ้านปากคลองมอญมาที่บ้านคอกโค กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิจึงนำหนังสือของพระสรชาญพลไกรทูลเกล้าฯ ไปยังพระจุลจอมเกล้าฯ ดังความว่า

“ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า การที่พระสรชาญพลไกรขออนุญาตยกศพข้ามฟากมานี้ ก็เปนการขัดกับพระราชกำหนดกฎหมายลักษณโจรมาตรา 164 ซึ่งมีความว่า ผู้ใดทนงองอาจหามผีข้ามแขวง ข้ามด่าน ข้ามแดนไปฝังไปเผาก็ดี ผีนอกพระนครเอาเข้าไปในพระนครก็ดี ผู้ใดทำดังนี้เลมิดให้ไหมทั้งพวกจงทุกคน ดังนี้ การที่เอาศพข้ามด่านแลข้ามแขวงนั้น ก็เคยมีโดยพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน แลการที่จะเอาศพมาไว้ในพระนครนี้ ยังไม่เคยมีสถานใด ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานเรียนพระราชประฏิบัต” [2]

แต่ขณะเดียวกัน รัฐก็เปิดโอกาสให้ราษฎรสามารถขนย้ายซากศพข้ามเขตแดนได้ จึงมีราษฎรยื่นหนังสือคำร้องขออนุญาตขนย้ายซากศพข้ามเขตแดนมาให้กองตระเวนพิจารณาจำนวนมาก ทั้งการขออนุญาตขนย้ายซากศพไปต่างเมือง หรือขนย้ายออกนอกประเทศ เช่น จีนเจือเส่งฮะขออนุญาตนำศพจีนเล่าชุน บิดาจากเมืองสุพรรณบุรี เข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อทำบุญให้ทานการศพพร้อมเพรียงกับญาติพี่น้อง [3] อำแดงป่วนขออนุญาตนำศพจีนเฮง สามีที่เสียชีวิตในตำบลสักเหล็ก ออกไปฝั่งทำฮวงซุ้ยที่เมืองไหหลำตามธรรมเนียมจีน [4] ฯลฯ

ภายใต้กระบวนการควบคุมซากศพทำให้รัฐสยามมีอำนาจผูกขาดการควบคุมและตรวจตราซากศพของราษฎร

กระนั้น ขุนกะเฬวราก ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้จัดการความสยดสยองในช่วงเวลาที่รัฐสยามกำลังเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ แต่การทำงานของขุนกะเฬวรากอาจจะยังมีลักษณะที่ไม่เป็นทางการหรือยังไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่นัก อย่างไรก็ตามกระบวนการกำจัดความสยดสยองที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2430 กลายเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้รัฐสยามตระหนักถึงความสำคัญของการกำจัดซากศพ จนนำมาสู่การประกาศใช้ “กฎเสนาบดีกระทรวงนครบาลว่าด้วยป่าช้าแลนายป่าช้า” ใน พ.ศ. 2460 อันเป็นกฎหมายที่รัฐสยามแต่งตั้งให้ “นายป่าช้า” ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการความศิวิไลซ์อย่างเป็นทางการ โดยต้องทำงานอยู่ภายใต้อำนาจของกระทรวงนครบาล

ทั้งนี้ เสนาบดีกระทรวงนครบาลจะมีอำนาจอย่างเต็มที่ในการกำหนดว่า ในท้องที่ตำบลหรืออำเภอหนึ่งๆ ราษฎรสามารถนำซากศพไปฝากหรือฝังได้ที่ป่าช้าใดบ้าง รวมทั้งอำนาจในการออกอนุญาตฝากศพหรือฝังศพที่ป่าช้าใดบ้าง โดยสถานที่ที่ราษฎรสามารถปลงซากศพได้จะต้องอยู่ในการตรวจตราของเจ้าพนักงานสุขาภิบาลและท้องที่ เพื่อเป็นการรักษาความสะอาดและป้องกันความเดือดร้อนรำคาญของสาธารณชน นอกจากนี้ นายอำเภอท้องที่ยังมีอำนาจในการกำหนดเวลาปล่อยไฟได้ตามสมควร เพื่อป้องกันมิให้ราษฎรผู้อื่นได้รับผลกระทบ [5]

นอกจากการปลงซากศพของราษฎรอย่างเข้มงวดแล้ว รัฐยังมีบทลงโทษสำหรับผู้กระทำการฝ่าฝืน หากราษฎรปลงซากศพโดยปราศจากใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานแล้ว นายอำเภอจะทำการสืบสวนถึงสาเหตุการตายและฟ้องร้องราษฎรผู้นั้นต่อไป ถ้าหากขุนกะเฬวรากหรือนายป่าช้าปล่อยปละไม่ตรวจตราใบอนุญาต ก็จะต้องได้รับบทลงโทษตั้งแต่การถูกปรับเงิน ถอนใบอนุญาต หรือกรณีร้ายแรงที่สุดคือ การลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา [6]

ในช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศเพื่อเข้าสู่ความศิวิไลซ์นั้น สยามได้ริเริ่มการจัดการซากศพที่พบอยู่ตามพื้นที่สาธารณะในตัวเมือง ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกอุจาดและเกิดความรังเกียจ โดยมีขุนกะเฬวรากเป็นผู้จัดการความสยดสยอง ที่นอกเหนือจากการปลงซากศพที่ราษฎรนำมาที่วัดแล้ว ขุนกะเฬวรากยังต้องทำหน้าที่ร่วมกับกองตระเวนสยามปลงซากศพคนไร้ญาติ หรือซากศพที่พบเกลื่อนกลาดอยู่ตามพื้นที่สาธารณะ

ทั้งนี้กระบวนการทำให้ศิวิไลซ์ส่งผลให้รัฐสยามได้ผูกขาดอำนาจในการควบคุมและตรวจตราซากศพของราษฎร ซึ่งกลายเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้รัฐสยามมีอำนาจเด็ดขาดในการบงการร่างกายและซากศพราษฎรในเวลาต่อมา

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] หจช., ร.5 น.4.1/27 “ให้ขุนกะเฬวรากตรวจศพที่มาเผาป่าช้าวัดมหาพฤฒาราม ถ้ามีใบอนุญาตแล้วยอมให้เผาได้ ร.ศ. 122.”

[2] หจช., ร.5 น.1.1/126 “ขออนุญาตยกศพในกำแพงพระนคร ร.ศ. 116.”

[3] หจช., ร.5 น.8.11/6 “จีนเจือเส่งฮะ ฃออนุญาตนำศพจีนเล่าชุนหัวบิดา ซึ่งไปป่วยตายอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี ลงมาทำการฌาปนกิจที่วัดสัมพันวงษ กรุงเทพฯ ร.ศ. 124.”

[4] หจช., ร.5 น. 8.11/21 “อำแดงป่วนหญิงหม้าย ขออนุญาตนำศพจีนเฮงสามีซึ่งป่วยตายอยู่ที่มณฑลพิศณุโลกย์นั้นออกไปยังเมืองจีน สั่งกองตระเวนอนุญาตแล้ว ร.ศ. 126.”

[5] “กฏเสนาบดีกระทรวงนครบาลว่าด้วยป่าช้าแลนายป่าช้า” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 34, ตอน 0 ก (8 กรกฎาคม, 2460): 306-308.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 308-311.


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงขึ้นจาก ภัทรนิษฐ์ สุรรังสรรค์. รัฐสยดสยอง, สนพ.มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2565


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ตุลาคม 2565