ปลดทุกข์เรื่องใหญ่! ราษฎรสมัย ร.5 ขับถ่ายอย่างไร? เมื่อห้องแถวริมถนนยังไม่มี “ส้วม”

ไม้แก้งก้น การขับถ่าย ส้วม สาวชาววัง
"ไม้แก้งก้น" เครื่องทำความสะอาดหลังขับถ่ายของสาวชาววัง (ภาพจิตรกรรมจากวัดเกาะลาน อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก, สไลด์คุณเอนก นาวิกมูล)

อย่างที่เรารู้กันดีว่า “ส้วม” เป็นที่ปลดทุกข์ แต่ถ้าย้อนไปสมัย รัชกาลที่ 5 ตึกและห้องแถวยุคนั้นยังไม่มีส้วม แล้วราษฎรขับถ่ายกันอย่างไร?

ชัย เรืองศิลป์ ผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453 (ด้านสังคม)” บรรยายสภาพของราษฎรสมัยนั้นว่า ตึกแถวและห้องแถวริมถนนมักไม่มี “ส้วม” เมื่อถึงเวลาต้อง “ขับถ่าย” หัวหน้าครอบครัวมักถ่ายใส่กระโถน แล้วให้บ่าวไพร่ไปทิ้งในแม่น้ำลำคลอง

“ส่วนคนอื่นๆ ต้องไปหาที่ขี้เอาเอง ตามสวนบ้าง ตามที่รกร้างว่างเปล่าบ้าง ตามส้วมวัด และส้วมสาธารณะบ้าง หรือใช้ส้วมของเอกชนโดยขออนุญาตบ้าง และโดยลักลอบบ้าง…”

สำหรับอาคารตึกแถว แม้จะเป็นส่วนน้อยแต่ก็มีให้เห็นตั้งแต่ช่วงสร้างถนนสมัยรัชกาลที่ 4 โดยตึกแถวส่วนใหญ่เป็นของชาวจีน ขณะที่บ้านเรือนส่วนใหญ่ในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ยังเป็นไม้ มุงด้วยหลังคาจาก

กล่าวได้ว่า ราษฎรยุคนั้นยังไม่ทราบข้อมูลการขับถ่ายอย่างถูกสุขลักษณะไปจนถึงการชำระล้าง ซึ่งมักใช้น้ำในลำคลอง (ที่เดียวกับที่ทิ้งอุจจาระและปัสสาวะ) มาใช้ทำความสะอาดและประกอบอาหาร

งานศึกษาทางประวัติศาสตร์เรื่อง “โรคระบาดในชุมชนภาคกลางของไทย พ.ศ. 2440-2475” โดย วรนารถ แก้วคีรี ระบุว่า จุดเริ่มต้นของการเติบโตด้านสาธารณสุขเริ่มจากที่กรุงเทพฯ สืบเนื่องมาจากการขยายตัวของเมือง เมื่อกรุงเทพฯ กลายเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้าทั้งจากภายในและนอก ทำให้เกิดย่านการค้าในหลายพื้นที่

พ.ศ. 2437 อาจนับเป็นจุดเริ่มแนวคิดเกี่ยวกับสุขาภิบาล เห็นได้จาก เจ้าพระยาอภัยราชา (โรลัง ยัดมินส์) ที่ปรึกษาราชการทั่วไป กราบบังคมทูลว่า ชาวต่างประเทศมักติเตียนว่า “กรุงเทพฯ โสโครก” และกราบทูลรัชกาลที่ 5 ให้ทรงจัดมุนิสิเปอล (นามบัญญัติคือ “เทศบาล”) ดังเช่นในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องสุขาภิบาลที่ปรากฏก่อนหน้านี้สะท้อนผ่านกฎหมายซึ่งคาดว่า เป็นกฎหมายฉบับแรกที่เกี่ยวกับกรณีจัดระเบียบชุมชนปรากฏ เมื่อ พ.ศ. 2413 จากที่มีออก “พระราชบัญญัติธรรมเนียมคลอง” ใจความสำคัญคือ ห้ามทิ้งสิ่งใดลงในลำคลอง ป้องกันคลองตื้นเขิน และห้ามผู้ที่ตั้งบ้านเรือนทั้งสองฝั่งทำเว็จและถ่ายอุจจาระลงในคลอง ห้ามเทสิ่งของอันโสโครก และยังระบุถึงการสร้าง “ส้วม” ให้สร้างด้วยอิฐหรือไม้ มีประตูเปิด-ปิด ปิดของโสโครกให้มิดชิด และให้ทำความสะอาด จ้างคนนำไปเททิ้งในที่รกร้าง ห่างไกลชุมชน

หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มมีกฎหมายเกี่ยวเนื่องกับสุขาภิบาลประกาศออกมา แต่วัตถุประสงค์ที่จริงแล้วเพื่อจัดระเบียบชุมชน ซึ่งกฎหมายเหล่านี้อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับจุดประสงค์เรื่องการป้องกันโรคระบาดโดยตรง แต่ก็มีผลเชื่อมโยงกัน อาทิ พระราชกำหนดการสุขาภิบาล พ.ศ. 2440 ว่าด้วยเรื่องการทำลายขยะเยื่อมูลฝอย จัดเว็จที่ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ และขนย้ายสิ่งโสโครก

เมื่อกรมสุขาภิบาลถูกก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2440 จึงเริ่มมีประกาศ กฎเกณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสะอาดและป้องกันโรคโดยตรง

ครั้นใน พ.ศ. 2441-2468 รัชกาลที่ 5 ทรงจ้าง ดร. ฮิวจ์ แคมป์เบล ไฮเอต (Huge Campbell Highet. C.M.,M.D.,D.PH. London) แพทย์ชาวอังกฤษ มาดำเนินงานด้านสุขอนามัย เมื่อทำงานในฐานะเจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล นพ.ไฮเอต รับค่าจ้างที่ 2,000 บาทต่อเดือน

นพ.ไฮเอต บรรยายสภาพการเกิดโรคในสมัยนั้นว่า ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงอุณหภูมิสูง เป็นช่วงที่เกิดโรคระบบทางเดินอาหารมากที่สุด อาทิ อหิวาตกโรคและไทฟอยด์ จากที่น้ำในแม่น้ำลดปริมาณลง เมื่อสภาวะสุขาภิบาลไม่ดีพอ ยิ่งทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย (อ่านเพิ่มเติมดร.ไฮเอต หมอฝรั่งที่ ร. 5 ทรงจ้างด้วยเงินเดือนแพงลิ่วถึง 27 ปี)

นพ.ไฮเอต เห็นว่า สภาพสุขาภิบาลของกรุงเทพฯ เลวร้ายที่สุด จนเสนอความคิดเห็นว่า ควรรองน้ำฝนดื่ม แทนน้ำจากลำคลอง รับประทานอาหารที่ปรุงสุก และไม่มีแมลงวันตอม เพื่อป้องกันโรคระบาด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

3 โรคระบาดสำคัญของสยาม อหิวาต์, ไข้ทรพิษ, กาฬโรค. ศิลปวัฒนธรรม. เว็บไซต์. 14 ธันวาคม พ.ศ.2561. <https://www.silpa-mag.com/history/article_24493>

ชัย เรืองศิลป์. ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453 (ด้านสังคม). พิมพ์ครั้งที่ 2. พระนคร : สำนักพิมพ์เรืองศิลป์, 2519

วรนารถ แก้วคีรี. โรคระบาดในชุมชนภาคกลางของไทย พ.ศ. 2440-2475 : การศึกษาเชิงประวัติศาสตร์. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย, 2535


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562