“ส้วมหลวง” ในวังฝรั่ง พระเจ้าเฮนรีที่ 8 และชาววังอังกฤษ ขับถ่าย (ขี้) กันอย่างไร?

พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แอน โบลีน
พระเจ้าเฮนรีที่ 8 (Henry VIII) และแอน โบลีน (Anne Boleyn)

“ส้วมหลวง” ในวังฝรั่ง พระเจ้าเฮนรีที่ 8 และชาววังอังกฤษ ขับถ่าย (ขี้) กันอย่างไร?

ผมทึ่งใจมานานแล้วในคำเขียนของอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่าด้วย “อุโมงค์” ในวังหลวงสมัยเก่า จึงคิดอยากรู้อยากเห็นว่าชาววังฝรั่งสมัยโบราณ “เข้าห้องน้ำ” กันแบบไหน?

หนังสือพิมพ์ Independent ของอังกฤษได้ลงบทความวิเคราะห์รายการโทรทัศน์ BBC ว่าด้วย “ส้วมในวังของพระเจ้า Henry ที่ 8 (สมัยอยุธยาตอนกลาง)” รายการนี้สร้างโดย Simon Thurley, ภัณฑารักษ์วังหลวงโบราณ (Curator of Historic Royal Palaces)

เขาอธิบายว่า การจัดการสำหรับการขับถ่ายของเจ้านายชั้นสูงกับของชาววังธรรมดา ๆ ต่างกันมาก

พระเจ้าแผ่นดินมีห้องพระบังคนเฉพาะพระองค์ ในนั้นมีตู้ไม้บุกำมะหยี่สีดำขลิบทอง เมื่อเปิดฝาจะเห็นเบาะกำมะหยี่ที่เป็นช่องตรงกลาง ข้างหลังมีกระโถนทำด้วยโลหะมีค่า ตามประเพณีจะต้องมีมหาดเล็กเฝ้าพระบังคน (Groom of the Stool) เพื่อปรนนิบัติพระองค์, นับว่าเป็นตำแหน่งสูงที่เจ้านายทุกคนแย่งกันสมัคร เพราะเป็นการเฝ้าพระองค์อย่างใกล้ชิด เป็นโอกาสดีที่จะขอผลประโยชน์ให้ตนและญาติ

ค.ศ. 1539 มหาดเล็กเฝ้าพระบังคนบันทึกว่า “พระองค์เสวยพระโอสถถ่าย, ทรงรับการสวนพระทวาร ตี 2 ตื่นพระบรรทม, เสด็จไปยังห้องพระบังคน พระโอสถได้ผลดี, ทรงพระอารมณ์เบิกบาน” มหาดเล็กจะขอพระสงเคราะห์อันใดก็คงได้เมื่อนั้น

ส้วมหลวง วัง อังกฤษ
The Great House of Basement หรือมหาศาลาสุขา ส้วมหลวงของชาววังอังกฤษ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2538)

ที่วัง Hampton Court ชาววังธรรมดา ๆ ใช้ The Great House of Basement (มหาศาลาสุขา?), เป็นอาคารสองชั้นดังที่เห็นในภาพ, ประกอบด้วยกระดานม้านั่ง, สองชั้น, สองข้างฝาเจาะเป็นรู 28 รูทั้งหมด แต่ละรูห่างกันสองฟุต, เหมาะแก่การนั่งคุยกันนินทาตามประสาชาววังทั่วโลก ว่ากันว่าใคร ๆ อยากนั่งข้างบนเพราะอากาศบริสุทธิ์กว่า และยังมีหน้าต่างให้มองดูได้ว่าใคร ๆ เข้า ๆ ออก ๆ จากวัง

จาก “มหาศาลาสุขา” มีท่ออิฐนำไปข้างล่าง (ใต้ดิน) แล้วก็นำออกไปสู่แม่น้ำเทมส์ ระบบนี้ใช้ได้ดี, แต่ไม่นานกว่าหนึ่งเดือน เพราะไม่มีระบบชักโครก ภัณฑารักษ์ฯ ท่านอธิบายว่า “หลังจากที่ประทับอยู่ได้สี่สัปดาห์, ท่อใต้ดินจะเต็มอยู่ท่วมหัวคน, จึงต้องแปรพระราชฐานหรือเสด็จประพาส เพื่อให้ข้าราชการขุดและขัด (King’s Scourers) ขุดและขัดท่อให้ใช้งานได้อีกต่อไป จึงจะเสด็จกลับเข้าวังพร้อมพระราชบริวารเป็นร้อยเป็นพัน”

Hampton Court

ท่านผู้อ่านคงรู้ ๆ ว่าผมรักประเพณีโบราณและเกลียดความฉาบฉวยของสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อระลึกถึง “อุโมงค์” ของวังไทย และ “มหาศาลาสุขา” ของวังอังกฤษ, ผมจำเป็นต้องยอมรับว่าดีใจที่เกิดสมัยนี้ มีห้องน้ำเฉพาะตัว และมีระบบชักโครก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีท่อฉีดน้ำชำระ ผิดกับสมัยโบราณที่เจ้านายให้มหาดเล็กช่วยเช็ดด้วยขนห่าน และสามัญชนเช็ดเองด้วยใบตอง

นักปราชญ์ท่านว่าคนเราต้อง “กินขี้ปี้นอน” ทุกชนชั้น ในสมัยนี้การ “กิน-ปี้-นอน” ยังไม่ค่อยต่างกับสมัยโบราณ, แต่การ “ขี้” ได้เปลี่ยนแปลงและเจริญไปมาก ในการวัดความเจริญและความล้าหลัง, เราอาจจะนับ “การขี้” เป็นหลักวัดได้ไหม?

สุดท้ายนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านทุกคนขับถ่ายอย่างสุขสบาย, ไม่ขัดข้องประการใด, จะได้เป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนกันเลย!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ส้วมหลวง” เขียนโดย ไมเคิล ไรท์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2538


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน 2565