แรกมี “ส้วมสาธารณะ” ในสังคมไทย ถึงกับต้องมีพลตระเวน (ตำรวจ) คอยเฝ้า!

จิตรกรรม คน กำลัง ขี้ ในยุคที่ยังไม่มี ส้วมสาธารณะ
ภาพคนกำลัง "ไปท่า" หรือขับถ่ายลงคลอง (จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุทัศน์ฯ)

เมื่อสยามเริ่มเข้าสู่ยุคแห่งความ “ซิวิไลซ์” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่งผลให้วัฒนธรรมการขับถ่ายของคนไทยต้องถูกปรับเปลี่ยน การขับถ่ายอย่างคนโบราณที่ ไปทุ่ง ไปท่า ไปป่า ไปเขา เป็นสิ่งไม่สมควรอีกต่อไป รัฐจึงออกกฎหมายควบคุมการสุขาภิบาลในกรุงเทพฯ ซึ่งนำไปสู่การสร้างส้วมตามบ้านเรือน รวมถึง “ส้วมสาธารณะ” ขึ้นเป็นครั้งแรกในสังคมไทย

กฎหมายฉบับแรก ๆ ที่ออกมาควบคุมการสุขาภิบาล คือ “พระราชกำหนดศุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116” ใจความสำคัญประการหนึ่ง คือ การควบคุมการขับถ่ายเพื่อป้องกันโรคระบาด นอกจากนี้ยังมีการตั้งกรมศุขาภิบาลขึ้น เพื่อรักษาความสะอาด กำจัดขยะ ขนย้ายสิ่งโสโครก ควบคุมการก่อสร้างซ่อมแซมให้เป็นระเบียบ รวมถึงจัดที่ขับถ่ายให้ราษฎร กวดขันให้บ้านเรือนถูกสุขลักษณะ

Advertisement

ผลจากการออกกฎหมายและการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมโดยรัฐ ทำให้คนไทยเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่าย มีการสร้างส้วมหรือ “เว็จ” ในบริเวณบ้านแล้ว และ “ส้วมสาธารณะ” ก็ถือกำเนิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เอง

มนฤทัย ไชยวิเศษ อธิบายเรื่อง “ส้วมสาธารณะ” ในหนังสือ “ส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย” (มติชน, 2545) ไว้ว่า ส้วมสาธารณะยุคแรกตั้งอยู่ในที่เปลี่ยวจึงต้องมีพลตระเวนหรือตำรวจประจำการเพื่อควบคุมสอดส่องดูแลจากโจรผู้ร้าย รวมถึงผู้ที่จะนำของโสโครกลักลอบเอามาทิ้งที่ส้วมสาธารณะด้วย มนฤทัย อธิบายไว้ดังนี้

เว็จสาธารณะ ใน พ.ศ. 2440 นั้นได้มีการจัดสร้างส้วมสาธารณะตามตำบลต่าง ๆ จากบัญชีรายชื่อของส้วมในตำบลต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ตำบลที่มีคนอยู่มากก็สร้างส้วมมาก ตำบลที่มีคนอยู่น้อยก็สร้างไว้น้อย ส้วมสาธารณะนี้รัฐจัดทำให้ใช้ฟรี รวมถึงการดูแลรักษาและบริการต่าง ๆ

จากข้อบัญญัตินี้ทำให้พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ผู้บัญชาการกรมศุขาภิบาลคนแรกได้จัดหาสถานที่ที่จะจัดสร้างส้วมสาธารณะขึ้น ซึ่งการได้ที่ดินเพื่อนำมาสร้างส้วมนี้ได้มาหลายกรณี เช่นก่อนที่จะมีการประกาศตั้งกรมศุขาภิบาลและออกพระราชกำหนดเพียงไม่นาน คือใน พ.ศ. 2439 พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ได้ส่งหนังสือกราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาลว่า

“ได้ซื้อที่สร้างสร้วม (เขียนตามต้นฉบับ) ขึ้นที่ตรอกถนนบ้านหม้อ หลังตึกพระยาเทเวศร์เอง โดยต้องการให้เป็นสาธารณประโยชน์ได้สร้าง สร้วม 14 หลัง สำหรับผู้หญิง 7 หลัง และชาย 7 หลัง แต่ทางที่จะเดินไปที่สร้วมนี้เป็นที่เปลี่ยวมักมีโจรผู้ร้ายชุกชุม จึงขอให้มีพลตระเวนประจำการ 1 คน เพื่อจะชี้ทางให้หญิงชายเข้าสร้วมได้ถูก เพราะแยกอยู่คนละทิศ และเพื่อป้องกันอันตรายแก่ผู้ที่จะไปใช้สร้วมนี้ทั้งเวลากลางวันแลกลางคืน

นอกจากนี้เพื่อไม่ให้ทิ้งของโสโครกในที่นั่น ที่สร้างสร้วมนี้มีผู้ที่ขนของโสโครกไปเททุกวัน สำหรับกำหนดการที่จะเปิดสร้วมในวันพฤหัสบดีที่ 7 ม.ค. ศก 115 ซึ่งเสนาบดีกระทรวงนครบาลได้อนุมัติให้มีพลตะเวนไปประจำการตามความประสงค์ และอนุโมทนาในการมีศรัทธาบริจาคทรัพย์ซื้อที่ทำส้วมให้เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านเป็นความคิดดีอย่างยิ่ง”

นอกจากจะเคยซื้อที่ทำส้วมด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว เมื่อได้ตั้งกรมศุขาภิบาลขึ้นใน พ.ศ. 2440 แล้ว พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้วางใจว่าจะสามารถจัดการดูแลเรื่องการรักษาความสะอาด และการป้องกันโรคในพระนครให้เรียบร้อยได้ ด้วยเป็นผู้ที่มีความขยันและละเอียดรอบคอบ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกรมศุขาภิบาลคนแรก ก็ได้จัดแจงหาที่ดินเพื่อสร้างส้วมสาธารณะ ดังในจดหมายกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า

ถ้าเจ้าพนักงานกรมศุขาภิบาลเห็นสมควรที่จะปลูกสร้างส้วมลงในที่ว่างเปล่า ซึ่งเป็นที่หลวงหรือของพระคลังข้างที่ในตำบลใด ๆ แล้วก็ขอให้ได้ปลูกในตำบลนั้น ๆ ก่อน เมื่อจะต้องพระราชประสงค์ที่นั้นทำการอื่นเมื่อใด เจ้าพนักงานจะย้ายส้วมออกจากที่นั้น ไม่ให้เป็นสิ่งขวางการที่จะทำภายหลัง เพราะส้วมที่จะจัดทำขึ้นนี้เป็นเครื่องไม้ทั้งนั้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตสำหรับที่หลวง

ส่วนที่ของพระคลังข้างที่ ทรงพิจารณาว่า ที่ของพระคลังข้างที่แบ่งเป็น 3 อย่าง อย่างหนึ่งที่เจ้าของซื้อเองฝากพระคลังข้างที่เก็บค่าเช่า อีกอย่างหนึ่งที่พระคลังข้างที่แต่พระราชทานสิทธิไปแล้ว ดังนั้น จึงเป็นเหมือนที่ที่มีเจ้าของทั้งปวง ถ้าต้องการก็ปฏิบัติเหมือนกับที่ที่มีเจ้าของ และอีกอย่างหนึ่งเป็นที่ซึ่งยังคงอยู่ในพระคลังข้างที่ พระองค์พระราชทานพระบรมราชานุญาตเช่นกัน แต่ให้เจรจากับเจ้าพนักงานพระคลังข้างที่ให้ตกลงกันด้วย นอกจากที่ของหลวงที่ได้จัดสร้างส้วมไว้ให้ประชาชนใช้แล้ว ปรากฏว่ามีเอกชนบางรายได้ร่วมกันเรี่ยไรจัดสร้าง หรือผู้มีชื่อเสียงได้ออกทรัพย์จัดสร้างส้วมขึ้นไว้ใช้ในชุมชนและสถานที่ต่าง ๆ ด้วย

ส้วมสาธารณะที่รัฐบาลจัดสร้างในสมัยนั้นมีหลายแห่ง ได้แก่ เว็จสาธารณะที่ตลาดเสาชิงช้า ซึ่งขุนวิจิตรมาตราเล่าว่า ทำเป็นห้องแถวไม้ยาวกันเป็นห้อง ๆ ประมาณ 5-6 ห้อง และยังมีที่อื่น ๆ อีกได้แก่ บริเวณตลาดน้อย บริเวณริมถนนตะนาวเป็นต้น สำหรับเว็จที่เสาชิงช้านั้นมีกล่าวถึงในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงกรมหลวงนเรศวรวรฤทธิ์ และเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ลงวันที่ 28 มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก 119 ว่า

“บ่อน้ำและเว็จที่คิดจะทำขึ้นในหมู่ตึกตลาดเสาชิงช้านั้นได้รับแบบจากกรมหมื่นสรรพสาสตรศุภกิจ เพื่อใช้สำหรับมหาชนทั่วไปนั้น ราคาที่ทำตามแบบนั้น มิสเตอร์สุวาราโต ผู้ทำตึกอยู่แล้วจะทำทั้งเว็จและบ่อน้ำรวม 4 แห่ง เปนเงิน 140 ชั่ง คิดเหมารวมกันแห่งละ 35 ชั่ง เห็นว่าเว็จและบ่อน้ำที่จะทำขึ้นนี้เป็นเงินส่วนศุขาภิบาลจัดทำอย่างเดียวกันกับไฟฟ้า ขอให้เป็นหน้าที่ของกรมศุขาภิบาลที่จะขนและชำระต่อไปภายหน้าด้วย”

จะเห็นได้ว่า ที่ตลาดเสาชิงช้านอกจากจะมีส้วมสาธารณะแล้วก็มีบ่อน้ำให้ใช้ด้วย ระบบไฟฟ้าก็เริ่มมีใช้แล้ว ยังขาดแต่ระบบประปาที่ยังไม่ได้จัดทำขึ้น

สำหรับข้อมูลเรื่องขนาดของเว็จสาธารณะที่สร้างกันในสมัยนั้น ราคาก่อสร้างและค่าแรงงานคงประมาณได้ดังนี้ คือ ขนาดของเว็จ ขนาดที่ 1 บรรจุถังสำหรับถ่าย 12 ถัง, ขนาดที่ 2 บรรจุถังสำหรับถ่าย 8 ถัง และขนาดที่ 3 บรรจุถังสำหรับถ่าย 6 ถัง

ราคาก่อสร้างเว็จ ขนาดที่ 1 ราคาหลังละ 200 บาท, ขนาดที่ 2 ราคาหลังละ 160 บาท และขนาดที่ 3 ราคาหลังละ 120 บาท ค่าจ้างบริษัทสอาดเทอุจจาระ ราคาถังละ 1 บาท 16 อัฐ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กันยายน 2565