ว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรมการขับถ่าย คนสมัยก่อน “ขี้” สบายกว่าคนสมัยนี้ ?

สำนวน เห็นช้างขี้ขี้ตามช้าง คน นั่งยอง ขี้ ช้าง ลายรดน้ำ
ภาพเขียนลายรดน้ำ “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง” ที่บานแผะประตูของพระอุโบสถ วัดพิชยญาติการาม

ที่ว่าคนสมัยก่อน “ขี้” สบายกว่าคนสมัยนี้ เห็นว่าน่าจะมี “มูล”

สบายในที่นี้มีหลายแง่ สบายในแง่ “การไปขับถ่าย” นั้น คนสมัยก่อนเพียงแค่ “ไปป่า” “ไปทุ่ง” หรือ “ไปท่า” ก็ขับถ่ายได้แล้ว ไม่ยุ่งยาก ขับถ่ายลงน้ำก็วักน้ำมาล้าง ขับถ่ายในทุ่งในป่าขุดหลุมฝังเสร็จก็หาใบไม้เช็ด ส่วนการ “ขี้” ที่หรูหราขึ้นมาหน่อยก็มีส้วม เว็จ กระโถน ฯลฯ

Advertisement

สบายอีกแง่คือ “ขี้ง่ายถ่ายคล่อง” ด้วยเพราะอาหารการกินของคนสมัยนั้นต่างจากสมัยนี้ สัตว์เนื้อแดงก็ไม่เป็นที่นิยมบริโภคกันมาก ไม่มีการปรุงที่ซับซ้อน ไม่มีเครื่องปรุงรสสารพัดอย่างปัจจุบัน ระบบการขับถ่ายทำงานไม่หนัก เวลาถ่ายก็สบาย

ดังที่ มนฤทัย ไชยวิเศษ อธิบายไว้ในหนังสือ “ส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย” (มติชน, 2545) ไว้ว่า

“อาหารการกินกับการขับถ่ายในสังคมเดิม

คนไทยสมัยก่อนไม่นิยมบริโภคพวกเนื้อเท่าฝรั่ง พวกหมูเห็ดเป็ดไก่กินบ้าง แต่ไม่สู้มากเท่าพวกคนจีน น่าสังเกตว่าคนจีนที่มาอยู่ในสยามคงเข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมการกินพวกหมู เป็ด ไก่ และผักต้ม คนจีนที่เป็นเกษตรกรจึงมีอาชีพทำสวนผัก เลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ดไก่ เอาไว้กินเองและขายที่ตลาด

เมื่อครั้งที่ลาลูแบร์ได้รับเลี้ยงอาหารจีนในอยุธยาถึงกับกินไม่ลง เพราะนึกถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับชาวจีนที่ได้ยินว่า ‘คนพวกนี้จับต้องมูลคนและมูลสัตว์ได้อย่างไม่ขยะแขยงเพื่อเลือกเฟ้นสิ่งที่ต้องการนำเอาไปทำปุ๋ยบำรุงดิน’ อันที่จริงชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งธรรมดาของชาวบ้าน แต่ดูออกจะเป็นที่รังเกียจของพวกผู้ดีในเมืองและชาวต่างประเทศ

ในทัศนะของพวกฝรั่ง กับข้าวจีนจืดชืด ขณะที่กับข้าวไทยฉุนและเผ็ด คนไทยชอบกินผักสดจิ้มกับน้ำพริก และมีปลาแห้งเป็นสำรับทั่วไป ผักจิ้มน้ำพริกของไทยมีอยู่มากมาย เช่น ปลีกล้วย หน่อไม้ แตง มะเขือ ฯลฯ และมองได้ว่าน้ำพริกเป็นเครื่องจิ้มของคนไทยที่นิยมกันมาก การบริโภคผักสดที่มีเส้นใยมาก ๆ ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานสะดวก จึงทำให้การขับถ่ายของชาวบ้านสมัยก่อนใช้เวลาไม่นาน ไปป่า ไปทุ่ง ไม่นานก็เสร็จ

อุจจาระของคนสมัยก่อนไม่ค่อยเหนียว มีลักษณะคล้ายกับมูลของสัตว์กินพืช เพราะคนในอดีตของไทยไม่ได้บริโภคเนื้อสัตว์มาก และเทคนิควิธีปรุงอาหารไม่ซับซ้อน อาหารที่คนสมัยก่อนกินจึงเหมาะสมกับการถ่ายแบบเดิมได้ ใช้ไม้เช็ดป้ายกันก็เพียงพอ แต่ถ้าเป็นอุจจาระของคนปัจจุบันถ้าจะชำระกันให้สะอาดก็ต้องใช้กระดาษชำระหรือน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ ซึ่งทั้งร่างกายและเทคนิควิธีก็ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม”

สบายอีกแง่หนึ่งคือ “ท่า” เรื่องท่านั่งเวลาขับถ่ายของคนไทยสมัยก่อนนั้นจะนั่งยอง ๆ เพราะสะดวก และใช้เวลาไม่นาน ยังไม่ทันเป็นตะคริวก็ถ่ายเสร็จแล้ว เนื่องจากอาหารที่กินเข้าไปทำให้ย่อยง่าย ขณะที่คนปัจจุบัน อาหารที่กินก็เป็นจำพวกเนื้อมาก ทำให้ต้องใช้เวลานาน ต้องขับถ่ายแบบนั่งราบ

ส่วน “การแต่งกาย” ก็ทำให้การถ่ายของคนสมัยก่อนสบายเช่นกัน คนโบราณมักแต่งกายด้วยผ้าน้อยชิ้น เวลา “ไปป่า” “ไปทุ่ง” “ไปท่า” แค่ถลกผ้าหรือเปิดผ้าขึ้นก็ถ่ายได้แล้ว ไม่ต้องถอดกางเกงชั้นในอีกชั้นหนึ่ง การนุ่งผ้าก็ปล่อยชาย นุ่งผ้าถุง นุ่งโจงกระเบน หรือนุ่งผ้าขาวม้า ทำให้เวลานั่งยอง ๆ ถ่ายก็ไม่ประเจิดประเจ้อมาก อีกทั้งการที่ชาวบ้านมักใส่ผ้าสีทึบ ๆ ก็สะดวกแก่การชำระล้างทำความสะอาดอีกด้วย

ส่วน “ความเป็นส่วนตัว” คนโบราณสบายกว่าเห็น ๆ ไม่ต้องสร้างสถานที่ขับถ่ายให้มิดชิด เพราะสภาพของผ้านุ่งก็ช่วยป้องกันไม่ให้โป๊มากนัก เวลา “ไปป่า” “ไปทุ่ง” “ไปท่า” แม้ต้องระวังการแอบดูอยู่บ้าง แต่การแอบดูคนขับถ่ายเพื่อเสาะหาอารมณ์ทางเพศ มันก็แปลกชอบกล โน้น! เขาไปแอบดูตอนอาบน้ำผลัดผ้า

โดยสรุป คนสมัยก่อน (โดยเฉพาะชาวบ้าน) “ขี้” สบายกว่าคนสมัยนี้มาก เพราะการขับถ่ายและทำความสะอาด ไม่จำเป็นต้องพิธีรีตองกับชีวิตมากนัก ไม่จำเป็นต้องสร้างสถานที่ไว้ขับถ่ายโดยเฉพาะ เครื่องแต่งกายก็เอื้อต่อการขับถ่ายนอกส้วม และอาหารการกินก็ไม่ทำให้ต้องใช้เวลามากเมื่อขับถ่าย วิถีการขับถ่ายจึงมีเพียง “ไปป่า” “ไปทุ่ง” “ไปท่า” กันเป็นปกติในสังคม

ที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้ หาใช่จะให้กลับไปใช้วิถีการขับถ่ายเยี่ยงสมัยโบราณ เพียงแต่ชี้ให้เห็นถึงชีวิตของผู้คนในอดีต ปัจจุบันเราต้องคำนึงถึง อาหารการกิน สุขอนามัย ความสะอาด ความเป็นส่วนตัว ฯลฯ เพื่อสร้างภาวะการขับถ่ายให้เหมาะสมและสะดวกสบายที่สุด

แต่ถ้าขับรถออกต่างจังหวัด เกิดจวนเจียน “ข้าศึกบุก” หาที่ขับถ่ายไม่ทัน จะ “ไปทุ่ง” ข้างทางก็ไม่ว่ากัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กันยายน 2565