4 พฤษภาคม 1919 : นักศึกษาจีนลุกฮือ ต้าน “สนธิสัญญาขายชาติ”

ขบวนการ 4 พฤษภาคม การประท้วง นักศึกษา 4 พฤษภาคม 1919
การประท้วงของนักศึกษาในวันที่ 4 พฤษภาคม 1919

เมื่อนักศึกษาจีนลุกฮือต้าน “สนธิสัญญาขายชาติ” วันที่ 4 พฤษภาคม 1919 นำไปสู่ “ขบวนการ 4 พฤษภาคม”

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเยอรมนีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามได้จัดการประชุมสันติภาพขึ้นในกรุงปารีสประเทศฝรั่งเศสในปี 1919 โดยมีตัวแทนจากประเทศจีนที่ต้องการเรียกร้องสิทธิเหนือมณฑลซานตงคืนจากเยอรมนีเข้าร่วมด้วย แต่ที่ประชุมกลับตกลงที่จะมอบสิทธิ์ดังกล่าวซึ่งเดิมของเยอรมนีให้กับญี่ปุ่นแทนโดยอ้างว่าเพื่อรักษาเอกภาพขององค์การสันนิบาตชาติ

ตัวแทนของฝ่ายจีนออกแถลงการณ์คัดค้านมติดังกล่าว โดยยืนยันว่า มิได้รับรู้ถึงข้อตกลงระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสในช่วงต้นปี 1917 ที่สนับสนุนญี่ปุ่นให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในมณฑลชานตงซึ่งเดิมเป็นสิทธิของเยอรมนี พร้อมชี้ว่า การที่จีนได้เข้าร่วมสงครามในเดือนสิงหาคม 1917 ย่อมทำให้สนธิสัญญาและข้อตกลงระหว่างจีนและเยอรมนีเป็นอันยกเลิกไปทันที (ผลจากการประกาศสงคราม) สิทธิเดิมของเยอรมนีตามสนธิสัญญาและข้อตกลงกับจีน จึงต้องกลับคืนสู่จีนโดยอัตโนมัติ ผู้ทรงสิทธิที่จะมอบสิทธิประโยชน์ใดๆ ในมณฑลชานตงคือ จีนหนึ่งในฝ่ายสัมพันธมิตร ไม่ใช่ของเยอรมนีผู้เป็นศัตรูคู่สงคราม ตัวแทนของฝ่ายจีนยังแสดงความสงสัยว่าเหตุใดจีนจึงต้องเป็นฝ่ายเสียสละสิทธิอันโดยชอบของตนให้กับญี่ปุ่นเพื่อรักษาเอกภาพของสันนิบาตชาติ

มติดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนชาวจีนเป็นอย่างมาก ในวันที่ 4 พฤษภาคม 1919 นักศึกษาราว 3 พันคน จากมหาวิทยาลัย 13 แห่งในกรุงปักกิ่งได้รวมตัวกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อต่อต้านมติของที่ประชุมสันติภาพ การชุมนุมขยายตัวไปสู่การใช้ความรุนแรง นักศึกษาจำนวนหนึ่งได้บุกเผาบ้านของรัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสาร ในขณะที่ทูตจีนประจำญี่ปุ่นอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวด้วย โดยทั้งคู่ถูกผู้ประท้วงมองว่าเป็นคนขายชาติที่ใช้อำนาจเอนเอียงเข้าข้างญี่ปุ่น ก่อนเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมสถานการณ์และจับกุมผู้ชุมนุมไว้ราว 30 คน

หลายสัปดาห์ต่อมาการชุมนุมยังคงมีขึ้นทั่วประเทศจีน รัฐบาลจับกุมตัวผู้ประท้วงไว้รวมเกินกว่า 1,000 คน ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้ประชาชนโกรธแค้นยิ่งขึ้น ในเดือนมิถุนายน กรรมกรในเซี่ยงไฮ้ได้นัดหยุดงานเพื่อสนับสนุนขบวนการนักศึกษา ภายหลังกลุ่มธุรกิจยังร่วมนัดกันหยุดค้าขายเพื่อเป็นการประท้วงร่วมด้วย ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน ชาวจีนโพ้นทะเลและนักศึกษาในฝรั่งเศสยังเข้าปิดล้อมที่พักของคณะผู้แทนจีน เรียกร้องให้ปฏิเสธการลงนามในสนธิสัญญา

ด้วยแรงกดดันอย่างรุนแรงจากสาธารณะ รัฐบาลจีนตัดสินใจปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัว พร้อมปลดเจ้าหน้าที่ที่นิยมญี่ปุ่น 3 นายออกจากตำแหน่ง และตัวแทนของจีนในที่ประชุมสันติภาพก็ตัดสินใจปฏิเสธที่จะลงนามในสนธิสัญญา

ถือเป็นชัยชนะของ “ขบวนการ 4 พฤษภาคม” กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยึดเอาวันเริ่มต้นการประท้วงของนักศึกษามาเป็นชื่อขบวนการ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเทศจีน โดยสำนักงานกิจการชาวจีนโพ้นทะเลในคณะรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

“Say China Loses to Save the League But Her Delegates Wonder Why She, and Not Japan, Had to be Sacrificed.” The New York Times, 4 May 1919. Web. 4 May 2016. <http://query.nytimes.com/mem/archive-free/pdf?res=9E06E4D61F3BE03ABC4C53DFB3668382609EDE>

“May Forth Movement.” Encyclopedia Britannica. Web. 4 May 2016. <https://www.britannica.com/event/May-Fourth-Movement>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 พฤษภาคม 2559