การปฏิวัติวัฒนธรรม (ที่ถูกทำให้ลืม) ระบอบกวาดล้างคนเห็นต่างแบบจีนๆ

ภาพแรงงานสตรีขณะทำการแสดงในมณฑลเจียงซู โดยเรื่องราวที่แสดงมีเนื้อหาวิจารณ์งานของขงจื๊อ นักปราชญ์จีนยุคศักดินา ทั้งนี้จากข้อมูลของเอเอฟพี ภาพถูกเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 1974 โดยสื่อจีน (AFP PHOTO / XINHUA)

ในประเทศไทยยุคหนึ่งสมัยหนึ่งการถูกกล่าวหาว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ขณะที่ในประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีน ครั้งหนึ่งการเป็นคอมมิวนิสต์ก็ต้องเป็นคอมมิวนิสต์แบบจีนๆ เช่นกัน หากถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก “ลัทธิแก้” อันเป็นการตราหน้าศัตรูร่วมชาติว่ามีอุดมการณ์อย่างพวกฝักใฝ่ศักดินา กระฎุมพี ก็ถือเป็นอาชญกรรมร้ายแรง มีโทษมหันต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ที่ปัจจุบันรัฐบาลจีนพยายามจะไม่พูดถึง

ภาพแรงงานจีนขณะอ่านกระดานประกาศซึ่งเขียนด้วยลายมือหรือ “ต้าจือเป้า” (Dazibao) เรื่องราวจำนวนมากมักประณามค่านิยมดั้งเดิมของชาวจีนที่ถูกมองว่าขัดต่อหลักสังคมนิยม ภาพถูกเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 1974 โดยสื่อจีน (AFP PHOTO / XINHUA)
ภาพแรงงานจีนขณะอ่านกระดานประกาศซึ่งเขียนด้วยลายมือหรือ “ต้าจือเป้า” (Dazibao) เรื่องราวจำนวนมากมักประณามค่านิยมดั้งเดิมของชาวจีนที่ถูกมองว่าขัดต่อหลักสังคมนิยม ภาพถูกเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 1974 โดยสื่อจีน (AFP PHOTO / XINHUA)

การปฏิวัติวัฒนธรรม ในจีนมีรากฐานมาจากความขัดแย้งภายในของพรรคคอมมิวนิสต์เอง เหมา เจ๋อตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์ในยุคนั้นกล่าวหาสมาชิกชั้นนำระดับบนของพรรคหลายคนว่าเป็นพวก “กระฎุมพี” ที่คอยขัดขวางการดำเนินนโยบายของพรรค และประกาศว่าการกำจัดพวกลัทธิแก้คือ ภารกิจอันเร่งด่วน มิเช่นนั้นระบอบสังคมนิยมของประเทศอาจถึงกาลอวสานได้

การปฏิวัติวัฒนธรรม ของเหมา นับว่าเริ่มขึ้นตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 1966 หลังคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ออกจดหมายเวียนแสดงถึงแนวคิดในการปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมา ก่อนสิ้นสุดลงในปี 1976 หลังเหมาเสียชีวิต และ “แก๊งสี่คน” (เจียง ชิง, เหยา เหวินหยวน, จาง ชุนเฉียว และหวัง หงเหวิน) กลุ่มผู้นำคนสำคัญของการปฏิวัติวัฒนธรรมถูกคุมขัง

ช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษดังกล่าวได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างร้ายแรง ซึ่งมติว่าด้วยประวัติศาสตร์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Resolution on CPC History) ยังยอมรับว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการสูญเสียที่ร้ายแรงที่สุด สร้างความถดถอยที่สุดในประวัติศาสตร์นับแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

หนึ่งในต้นตอของการปฏิวัติวัฒนธรรมมาจากบทประพันธ์ชิ้นหนึ่งชื่อ “การปลด ไฮ รุย ออกจากตำแหน่ง” (The Dismissal of Hai Rui From Office) ของ หวู่ ฮั่น (Wu Han) นักประวัติศาสตร์ และรองผู้ว่ากรุงปักกิ่งในสมัยนั้น เป็นเรื่องราวของขุนนางราชวงศ์ซ่งที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ฮ่องเต้

เหมามองว่าบทประพันธ์ชิ้นนี้มีเจตนาโจมตีเขา และให้การสนับสนุน เผิง เตอหวย (Peng Dehuai) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมที่ถูกปลด หลังออกมาชี้ถึงความล้มเหลวของนโยบายการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของเหมา ทำให้ หวู่ ฮั่น เป็นปัญญาชนรายแรกๆ ที่ถูกเล่นงานในการปฎิวัติวัฒนธรรม

“กองทัพพิทักษ์แดง” (Red Guards) กลุ่มเยาวชนจากสถาบันการศึกษาตั้งแต่มัธยมถึงมหาวิทยาลัยคือกองกำลังสำคัญของเหมาที่เขาเปรียบว่าเป็น “เห้งเจีย” เทพเจ้าวานรที่เคยอาละวาดทั้งเมืองบาดาลและสรวงสวรรค์มาแล้ว และเขาต้องการเห้งเจียจำนวนมากเพื่อทำลายปีศาจร้าย ภายใต้การรณรงค์เพื่อกำจัด “สี่เก่า” อันประกอบด้วย อุดมคติ, จารีต, วัฒนธรรม และสันดาน ที่ถูกอ้างว่าเป็นของพวกระบอบเก่า ด้วยวิธีการอันรุนแรงต่อกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม ทั้งการใช้กำลังต่อกายหมายเอาชีวิต การเหยียดหยามต่อสาธารณะ การทำลายโบราณสถาน และวัตถุทางวัฒนธรรม

เบื้องต้นกลุ่มพิทักษ์แดงเริ่มการโจมตี ทำร้ายเจ้าหน้าที่ในสถานศึกษา ก่อนขยายตัวไปถึงเจ้าหน้าที่ของพรรค และผู้ที่ถูกตราหน้าว่าเป็น “ศัตรูทางชนชั้น” ในวงกว้าง เกิดการสังหารหมู่ในปักกิ่งและหลายเมืองทั่วประเทศ

บางครั้งกลุ่มพิทักษ์แดงก็ตีกันเอง หลายครั้งมีการใช้อาวุธหนัก และกองทัพก็เข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้งด้วย เอกสารลับของจีนยังเคยบันทึกถึงเรื่องราวสุดโหดของกลุ่มพิทักษ์แดงว่า พวกเขาไม่เพียงทรมานเหยื่อจนเสียชีวิต บางครั้งถึงกับ “กินเนื้อ” ของเหยื่อเหล่านี้ด้วย ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แน่นอนยังไม่อาจหาข้อสรุปได้ มีการประเมินตั้งแต่ 5 แสนราย ไปจนถึง 8 ล้านราย

แต่สุดท้าย “เห้งเจีย” เหล่านี้ก็สิ้นฤทธิ์ด้วยฝีมือของเหมาเองที่ใช้ประโยชน์ของเด็กๆ ได้สมปรารถนา กำจัดเหล่าเสี้ยนหนามสำคัญอย่าง หลิว เซ่าฉี และเติ้ง เสี่ยวผิง รวมถึงกลไกของพรรคที่เป็นอุปสรรคได้สำเร็จ ก็ออกมาตำหนิการใช้ความรุนแรงของเรดการ์ด

สุดท้ายกองทัพปลดปล่อยประชาชนก็เข้ามาสลายกลุ่มปัญญาชนรุ่นเยาว์ที่มีสมาชิกกว่า 20 ล้านคน ด้วยการส่งตัวพวกเขาไปใช้ชีวิตในไร่นาในชนบทจนเสร็จสิ้นในเวลาเพียง 6 เดือน ทำให้พวกเขาแทบหมดอนาคต

แผ่นปิดบนกำแพงริมถนนในกรุงปักกิ่งช่วงปลายปี 1956 แสดงภาพการจัดการกับ “ศัตรูประชาชน” ระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งเริ่มขึ้นราวเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน AFP PHOTO / JEAN VINCENT

โจว เอินไหล เป็นผู้นำอาวุโสลำดับสองของพรรคในยุคนั้นซึ่งสามารถรอดพ้นการกวาดล้างมาได้ด้วยการแสดงถึงความภักดีที่มีต่อเหมา ขณะเดียวกันชาวจีนก็ยกย่องว่าเขาเป็นผู้ที่ช่วยจำกัดกรอบความรุนแรงในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

แต่เขาก็ไม่อาจต้านทานความบ้าคลั่งจากการใช้อำนาจของเหมาได้เช่นเดียวกับสมาชิกพรรครายอื่นๆ ที่มองเห็นถึงความผิดพลาดของเหมา แต่ก็ไม่อาจทำอะไรได้ต้องรอจนเหมาตาย จึงมีการประมวลให้เห็นถึงความเลวร้ายของการปฏิวัติวัฒนธรรม ดังที่เห็นในมติว่าด้วยประวัติศาสตร์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในการประชุมใหญ่วาระที่ 6 ของการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 1981

ถึงวันนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวได้ผ่านมากว่า 50 ปี แม้ครั้งหนึ่งพรรคจะยอมรับความผิดพลาดของอดีตผู้นำ แต่รัฐบาลในปัจจุบันพยายามลบภาพความทรงจำในอดีต การจัดงานรำลึกรวมถึงการรวมตัวรณรงค์ทางการเมืองและกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์นี้ ต่างไม่ได้รับการอนุญาตจากทางการ

พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งส่วนตัวเล็กๆ ในเมืองซัวเถา (Shantou) ที่เสนอเรื่องราวเหตุการณ์ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ทั้งการทรมานเหยื่อของกลุ่มเรดการ์ด และถ้อยคำปลุกระดมในสมัยนั้น ถูกบันทึกเรียงรายบนป้ายสลักหินแกรนิตจำนวนมาก ทางเข้าพิพิธภัณฑ์มีถ้อยคำประกาศว่า “ประวัติศาสตร์เป็นดั่งเงาสะท้อนของเรา เราจงอย่าปล่อยให้โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมเกิดขึ้นซ้ำอีก”

แต่วันนี้พิพิธภัณฑ์ถูกบดบังด้วยแผ่นป้ายโฆษณาชวนเชื่อกล่อมประสาทประกาศ “ค่านิยมของสังคมนิยม” และ “ความฝันของชาวจีน” โครงการรณรงค์ที่ถูกผลักดันโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพื่ออำพรางเรื่องราวที่รัฐต้องการจะปกปิด

“พรรคเสียหน้าอย่างมาก พวกเขารู้สึกอับอายจากการปฏิวัติวัฒนธรรม รวมถึง (การประจาน) จากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้” พนักงานร้านขายของชำจากหมู่บ้านไม่ไกลจากตัวพิพิธภัณฑ์กล่าว

เส้นทางในการเดินทางมายังพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดจับตาผู้เข้าออก คัลลัม แมคลาว (Calum Macleod) ผู้สื่อข่าวของเดอะไทม์กล่าวว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบถามนานราวหนึ่งชั่วโมงบริเวณทางเข้า และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 5 คน คอยติดตามเขาตลอดเวลาที่เขาชมสวนในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

ถึงวันนี้ ชาวจีนยุคใหม่รับรู้ประวัติศาสตร์ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมน้อยมาก ลัว จื่อ (Luo Zhi) อดีตนักเรียนหญิงวัย 18 ปี ผู้เห็นเพื่อนนักเรียนรุมทุบตีครูใหญ่วัย 50 ปี ตายต่อหน้าต่อตากล่าวว่า “ดูเหมือนคนจะไม่ค่อยใส่ใจกันแล้ว…พอคุณพูดขึ้นมา เขาก็จะบอกว่า ‘ตอนนี้เราก็อยู่กันอย่างสงบสุขแล้วจะมาพูดเรื่องนี้กันอีกทำไม’…” (รายงานจาก ABC)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ประวัติศาสตร์จีน โดย ทวีป วรดิลก

China by Charles O. Hucker (Encyclopedia Britannica)

Explaining China’s Cultural Revolution by Austin Ramzy (New York Times)

A Tale of Red Guards and Cannibals by Nicholas D. Kristof (New York Times)

Resolution On CPC History (https://www.marxists.org/subje…/china/documents/cpc/history/)

Cultural Revolution is officially forgotten by Calum MacLeod (The Times)

China silent on Mao’s ‘big mistake’ 50 years after Cultural Revolution (ABC)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ กันยายน 2559