ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ระหว่างฤดูใบไม้ร่วงถึงฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1966 “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ที่อ้างกัน นับวันยิ่งร้ายแรง การทำลายล้างสิ่งของจนถึงชีวิตผู้คนเกิดขึ้นโดยความสนับสนุนและยุยงของผู้นำกลุ่มปฏิวัติวัฒนธรรมกลาง ซึ่งล้วนเป็นคนสนิทของเหมาทั้งสิ้น ตามหลักการนั้น กลุ่มปฏิวัติวัฒนธรรมกลางรับผิดชอบต่อกรมการเมือง แต่ทางปฏิบัติรับผิดชอบต่อประธานเหมาผู้เดียว
กลไกการจัดตั้งของพรรคถูกทำลายลงไปเป็นลำดับ มีการชำระและกวาดล้างในระดับสูงขึ้นไปทุกที่
แนวทางปฏิบัติของเรดการ์ดในช่วง ปฏิวัติวัฒนธรรม คือจะเลือกเป้าหมายที่ตนทำการโจมตีไว้ก่อน แล้วตระเตรียมรายละเอียดข้อหากระทำความผิดของผู้ที่ตนกล่าวหา ใครที่เคยศึกษาในประเทศตะวันตก, ติดต่อธุรกิจกับชาวตะวันตกจนถึงพวกมิชชันนารี ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้ก็จะทำให้ถูกกล่าวหาแบบง่ายๆ ว่าเป็น “ศักดินา” หรือ “ปฏิกิริยา” หรือ “ต่อต้านการปฏิวัติ” ฯลฯ ถ้ามีคนนอกที่มีจิตใจเป็นธรรมพยายามยับยั้ง ก็มักจะโดนไปด้วย
เหยื่อคนสำคัญของการปฏิวัติวัฒนธรรมก็คือ หลิวเซ่าฉี และภรรยา
หลิวเซ่าฉี เวลานั้น คือ 1 ใน 3 ผู้นำสูงสุดของพรรค (เหมาเจ๋อตง, หลิวเซ่าฉี, โจวเอินไหล) โดยดำรงตำแหน่งเป็นประธานรัฐบาลกลางหรือประธานาธิบดี และรองประธานคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เขาเป็นรองเพียงประธานเหมาเจ๋อตงเท่านั้น
หากหลัง “ก้าวกระโดดใหญ่” หลิวเซ่าฉีกับเหมาเจ๋อตงมีความขัดแย้งกันบ่อยครั้ง เมื่อหลิวเซ่าฉีเห็นว่าก้าวกระโดดใหญ่ไม่ได้ช่วยให้คนในชนบทของจีนพ้นจากความอดอยากแต่อย่างใด เหมาเจ๋อตงในฐานะผู้นำสูงสุดไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้
เมื่อหลิวเซ่าฉีกับผู้บริหาระดับรองๆ พยายามแก้ปัญหา ก็ยิ่งกลายเป็นการท้าทายและคุกคามอำนาจของผู้นำพรรคอย่างเหมา
โดยเฉพาะการประชุมพรรคในวันที่ 11 มกราคม ปี ค.ศ. 1962 ที่ความขัดแย้งของทั้งสองถึงขั้นแตกหัก หลิวเซ่าฉีนักปฏิวัติที่พูดน้อยและถ่อมตน กลับกล่าวอย่างตรงไปตรงมาในที่ประชุมว่า ความยุ่งยากทางเศรษฐกิจอันเป็นผลงานมาแต่ก้าวกระโดดใหญ่นั้น มี 30% ที่เป็นภัยพิบัติจากธรรมชาติ แต่มีถึง 70% ที่เป็นเพราะคนทำขึ้น
ความสัมพันธ์ของทั้งสองจากความไม่พอใจ ก็กลายเป็นความไม่ไว้ใจ และความชิงชังแบบศัตรูในที่สุด
เมื่อเกิด ปฏิวัติวัฒนธรรม เป็นต้นมา หลิวเซ่าฉีก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของทุกสิ่งทุกอย่างที่การปฏิวัติวัฒนธรรมมุ่งโจมตีและทำลาย หลิวเซ่าฉีเป็น “ผู้เดินเส้นทางทุนนิยมหมายเลขหนึ่ง” เป็น “ครุชชอฟของจีน” และ “นักลัทธิแก้ผู้ต่อต้านการปฏิวัติ” ฯลฯ
ขณะที่หวางกวงเหม่ย ภรรยาของหลิวเซ่าฉี ผู้มีหน้าตาหมดจด บุคลิกลักษณะดีมีสง่า ทันสมัย และพื้นฐานที่ดี บิดาของเธอเคยเป็นขุนนางผู้ใหญ่ในสมัยรัฐบาลชุดแรกของสาธารณรัฐ เคยประจำในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นเวลานานหลายปี
หวางกวงเหม่ยเกิดในสหรัฐอเมริกา สามารถพูดภาษาต่างประเทศได้ 3 ภาษาคือ อังกฤษ, ฝรั่งเศส และรัสเซีย เคยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยฟูเหรินที่ทำสถิติการศึกษาคณิตศาสตร์ด้วยคะแนนสูงสุด และจบปริญญาโททางนิวเคลียร์ฟิสิกส์ ด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่นในการปฏิวัติจีน เธอเดินทางมาทำงานในเอี้ยนอานเมื่อ ค.ศ. 1946 ฯลฯ
หวางกวงเหม่ยมีคุณสมบัติพร้อมทุกประการที่จะเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของจีน ความโดดเด่นเช่นนี้ทำให้เธอตกเป็นเป้าหมายของความชิงชังและริษยาอาฆาตของเจียงชิง ภรรยาเหมาเจ๋อตง ไม่มีคุณสมบัติใดของเจียงชิงซึ่งเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งเทียบกับเธอได้เลย ขณะที่หลิวเซ่าฉี ก็เป็นที่หวาดระแวงของเหมาเจ๋อตง
เดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1967 เรดการ์ด 30 คนก็บุกบ้านที่พำนักของหลิวเซ่าฉี ในจงหนานไห่ และใช้กำลังบุกเข้าจับกุมหลิวเซ่าฉีกับหวางกวงเหม่ยภรรรยา
ทั้งสองต้องตกเป็นจำเลยของเรดการ์ดที่ตั้งศาลเตี้ยขึ้นในมหาวิทยาลัยชิงหัว ท่ามกลางผู้ชมประมาณ 300,000 คน มีการบังคับให้หวางกวงเหม่ยแต่งตัวให้ดูเป็นตัวตลก แล้วบังคับให้วิจารณ์ตนเอง สอบสวนแล้วสอบสวนอีกตลอดเวลาสองคืนเต็มๆ
ในเดือนพฤษภาคม มีการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษแบบคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อทำหน้าที่สอบสวนถึง “พฤติกรรมที่ผิดๆ ในอดีต” ของหลิวเซ่าฉี กรรมการกลุ่มพิเศษนี้ประกอบด้วยเจียงชิงและพรรคพวก
วันที่ 18 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1967 เรดการ์ดบุกเข้าไปจับตัวหลิวเซ่าฉีกับหวางกวงเหม่ยภรรยาในที่พำนักในจงหนานไห่ ทั้งคู่ถูกเรดการ์ดกลุ้มรุมทำร้ายจนบาดเจ็บ
คดีหลิวเซ่าฉีเป็นจำเลยนี้ มีผู้ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนสืบสวนทั้งสิ้นถึงกว่า 500 คน ทำการเปิดที่เก็บเอกสารสำคัญของพรรคถึง 15 แห่ง ตรวจสอบเอกสารทั้งสิ้น 2,500,000 แผ่น ลูกๆ ของหลิวเซ่าฉีถูกทำร้าย และเนรเทศไปทำงานในถิ่นกันดาร มีบางคนถึงขั้นเสียชีวิต หลิวเซ่าฉีเสียชีวิตในที่คุมขังในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1969
หวางกวงเหม่ยถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับของสหรัฐอเมริกาหรือรัสเซียระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัยฟูเหริน มีศาสตราจารย์อายุมากๆ ถูกทำร้ายถึงชีวิตหลายคน เพราะไม่ยอมยืนยันตามข้อกล่าวหาดังกล่าว แม่ของเธอก็ถูกทรมานจนตาย เพราะไม่ยอมให้การเท็จใส่ร้ายลูกสาว
หวางกวงเหม่ยถูกคุมขังแยกกับหลิวเซ่าฉี หลังการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยที่ 9 พรรคในปี ค.ศ. 1969 หลินเปียวเสนอรายชื่อนักโทษความผิดร้ายแรงที่ควรประหารชีวิต เพื่อให้เหมาเจ๋อตงอนุมัติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือชื่อของเธอที่เจียงชิงเกลียดชังเป็นพิเศษ หากเหมาขีดชื่อของเธอออก เธอจึงถูกขังเดี่ยวจนถึง ค.ศ. 1979 จึงได้รับอิสรภาพ
อ่านเพิ่มเติม :
- การปฏิวัติวัฒนธรรม (ที่ถูกทำให้ลืม) ระบอบกวาดล้างคนเห็นต่างแบบจีนๆ
- 25 มกราคม 1981 : เจียง ชิง ภรรยาม่ายของประธานเหมาถูกตัดสิน “ประหารชีวิต”
- เหมาเจ๋อตง เยือนเมืองอู่ฮั่น ว่ายน้ำข้ามแยงซีเกียง-แต่งบทกวี เพื่ออะไร?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2577
________. เหมาเจ๋อตง ฮ่องเต้นักปฏิวัติ, สำนักพิมพ์มติชน, 2545
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2564