25 มกราคม 1981 : เจียง ชิง ภรรยาม่ายของประธานเหมาถูกตัดสิน “ประหารชีวิต”

เจียง ชิง หนึ่งใน แก๊งสี่คน ขณะ รับฟัง คำพิพากษา ของ ศาล
เจียง ชิง ขณะรับฟังคำพิพากษาของศาลพิเศษเมื่อวันที่ 25 มกราคม 1981 (AFP PHOTO / XINHUA)

เจียง ชิง ภรรยาคนที่สี่ของอดีตผู้นำพรรคคอมนิสต์จีน เหมา เจ๋อตุง เคยเป็นผู้หญิงที่ทรงอำนาจที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่ จนกระทั่งการเสียชีวิตของประธานเหมาในปี 1976 ทำให้เธอและสมาชิก “แก๊งสี่คน” ถูกเล่นงานด้วยข้อหา “เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติ”

เจียงได้เป็นสมาชิกคณะนักแสดงประจำโรงละครตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นในช่วงปี 1929 การร่วมกิจกรรมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ทำให้เธอถูกรัฐบาลจีนคณะชาติจับกุมเป็นครั้งแรกในปี 1933 และถูกจับกุมอีกครั้งที่เซี่ยงไฮ้ในปี 1934 หลังได้รับการปล่อยตัวเธอเริ่มได้รับบทเป็นตัวประกอบให้กับผู้ผลิตภาพยนตร์ฝ่ายซ้ายในเซี่ยงไฮ้

Advertisement

ในปี 1937 หลังญี่ปุ่นบุกโจมตีเซี่ยงไฮ้ เธอได้หนีออกจากเมืองและสมัครเข้าร่วมกับกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ในเมืองเหยียนอัน (Yan’an) และมีโอกาสพบกับเหมาเป็นครั้งแรก ในระหว่างที่เหมาเดินทางมาปราศรัยในโรงเรียนการแสดงที่เธอทำหน้าที่เป็นครูผู้ฝึกสอนอยู่ในขณะนั้น

เหมา เจ๋อตุง และ เจียง ชิง
เหมา เจ๋อตุง และเจียง ชิง ภาพถ่ายในปี 1946

ทั้งสองคนแต่งงานกันในปี 1939 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อหญิงที่ต้องกลายเป็นอดีตภรรยาของเหมายังคงนอนซมรักษาตัวอยู่ในมอสโคว โดยพรรคคอมมิวนิสต์ได้ยอมรับการแต่งงานของทั้งคู่บนเงื่อนไขห้ามเจียงข้องเกี่ยวกับการเมือง

แต่บทบาทของเธอที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง “ปฏิวัติวัฒนธรรม” โดยเจียง พร้อมด้วย จาง ชุนเฉียว, หวาง หงเหวิน และเหยา เหวินหยวน หรือที่รู้จักกันในนาม “แก๊งสี่คน” ได้กลายเป็นกลุ่มผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศจีนในช่วงเวลานั้น โดยมีกลุ่มเยาวชน “เรดการ์ด” เป็นกำลังสำคัญ

การปฏิวัติวัฒนธรรมเริ่มขึ้นในปี 1966 ซึ่งเหมาอ้างว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปลุกจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติ และทำลายค่านิยมทางวัฒนธรรมและทุกสิ่งที่แสดงออกถึงความเป็น “ชนชั้นกระฎุมพี”

แต่เหยื่อของการปฏิวัติวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของเหมาและพวกคือผู้นำทั้งระดับสูงและในระดับภูมิภาคของพรรค ซึ่งมิได้ตอบสนองต่อนโยบายหรืออาจเป็นภัยต่อการครองอำนาจของเหมา หนึ่งในนั้นคือ หลิว เซ่าฉี ซึ่งเคยถูกมองว่าจะเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากเหมา และเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งภายหลังได้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง เมื่อเหมาเสียชีวิต

หลิว ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานประเทศในขณะนั้นพร้อม หวาง กวงเหม่ย ผู้เป็นภรรยาต้องกลายเป็นเหยื่อศาลเตี้ยของเรดการ์ดที่บุกจับตัวพวกเขาถึงบ้านพักในจงหนานไห่

หวาง ถือเป็นกุลสตรีที่เพียบพร้อมจนเจียง ชิง อดริษยามิได้ และเมื่อวันที่ 18 กันยายน 1967 เจียง ชิง ได้ประกาศต่อสาธารณะถึงคดีที่หลิว เซ่าฉี เป็นจำเลยว่า “ข้าพเจ้ามีหน้าที่รับผิดชอบคดีที่สำคัญที่สุด … มันสมควรที่จะตายอย่างช้าๆ ด้วยการสับเนื้อสักพันชิ้น หมื่นชิ้น” (ประวัติศาสตร์จีน โดย ทวีป วรดิลก)

อย่างไรก็ดี การตายของประธานเหมา เมื่อวันที่ 9 กันยายน 1976 ทำให้เจียง ชิง และกลุ่มหัวรุนแรงไร้ที่พึ่ง หนึ่งเดือนจากนั้น เริ่มมีการติดประกาศโจมตีเธอและแก๊งสี่คนอย่างรุนแรง การต่อต้านได้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นไม่นานพวกเธอก็ถูกจับกุม ก่อนถูกขับออกจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 1977

ในการพิจารณาคดี เธอถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ปลุกปั่นให้เกิดการจลาจลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม แต่เธอให้การปฏิเสธทั้งยังได้ประณามศาลและบรรดาผู้นำรัฐบาลจีนในขณะนั้น

วันที่ 25 มกราคม 1981 ศาลได้มีคำพิพากษาว่าเธอมีความผิดพร้อมสั่งให้ลงโทษประหารชีวิต แต่ระหว่างการควบุคมเพื่อรอรับโทษเป็นเวลา 2 ปี ศาลได้มีคำสั่งลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตระหว่างการคุมขังในปี 1991 ซึ่งทางการระบุว่ามีสาเหตุมาจากการฆ่าตัวตาย

อ่่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Jiang Qing”. Encyclopedia Britannica. <https://www.britannica.com/biography/Jiang-Qing>

“Mao’s Widow Sentenced to Death”. History. <http://www.history.com/this-day-in-history/maos-widow-sentenced-to-death>

ประวัติศาสตร์จีน. ทวีป วรดิลก. พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2547.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2560