เผยแพร่ |
---|
เพลงชาติจีนหรือที่เรียกกันว่า “มาร์ชอี้หย่งจวิน” (March of the Volunteers) มีเนื้อเพลงส่วนหนึ่งที่เอ่ยว่า “Chinese nation is now facing its greatest danger…” หรือแปลเป็นไทยว่า ชาติจีนอยู่ในช่วงอันตรายที่สุด ซึ่งน้อยครั้งนักที่จะมีเนื้อเพลงใจความลักษณะนี้ปรากฏในเนื้อเพลงชาติที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์สำคัญของรัฐชาติสมัยใหม่
รัฐชาติสมัยใหม่มีองค์ประกอบที่จำเป็นหลายประการ แน่นอนว่าเรื่องธงชาติหรือเพลงชาติก็เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ส่งผลต่อหลายด้าน เพลงชาติเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งที่ทำให้เกิดการยอมรับและความเป็นเอกภาพ เพลงชาติจึงเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องให้ความสำคัญในขั้นตอนเริ่มต้นของการสร้างชาติ เช่นเดียวกับการก่อตั้งจีนใหม่ในช่วงปี ค.ศ. 1949 ที่เริ่มพิจารณาเพลงชาติในเหล่าชนชั้นนำ
การประชุมเตรียมงานของสภาที่ปรึกษาการเมืองใหม่ที่เมืองเป่ยผิง เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 1949 ที่ประชุมแห่งนี้เองมีมติให้จัดพิธีสถาปนาประเทศอย่างยิ่งใหญ่ เป็นธรรมดาที่พิธีสถาปนาประเทศจำเป็นต้องมีเพลงชาติใหม่ ธงชาติใหม่ และตราประจำชาติใหม่ด้วย หน้าที่กำหนดสิ่งเหล่านี้ตกเป็นของคณะทำงานกลุ่มที่ 6 ในการประชุมเตรียมงานของสภาที่ปรึกษาการเมืองใหม่ คณะทำงานชุดนี้จัดการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม เส้าหยง และหวังไห่เผิง ผู้เขียนหนังสือ “หลังสิ้นบัลลังก์มังกร” บรรยายไว้ว่า มติในที่ประชุมกำหนดดังนี้
– ให้รับฟังความคิดเห็นเรื่องธงชาติ ตราประจำชาติ และโน้ตเพลงชาติอย่างเปิดเผย
– จัดตั้งคณะคณะกรรมการคัดเลือกธงชาติและแบบตราประจำชาติ รวมถึงคณะกรรมการคัดเลือกโน้ตเพลงชาติ มีมติเชิญผู้มีคุณวุฒิหลายรายเข้าร่วม
มติที่ให้รับฟังความคิดเห็นเรื่องโน้ตเพลงชาติอย่างเปิดเผยก็ย่อมทำให้เกิดเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม เส้าหยง และหวังไห่เผิง อธิบายว่า เมื่อถึงปลายเดือนกันยายน คณะกรรมการคัดเลือกโน้ตเพลงชาติได้รับต้นฉบับเพลงชาติทั้งหมด 32 ชิ้น และเนื้อเพลง 694 เพลง สะท้อนความกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมจากมวลชน น่าเสียดายที่ผลงานส่วนใหญ่คุณภาพต่ำ เมื่อพิจารณาอย่างรอบรอบแล้ว คณะผู้แทนเสมอว่าควรเลื่อนวันกำหนดเพลงชาติออกไป
ในการเสวนาว่าด้วยเรื่องธงชาติ ตราประจำชาติ เพลงชาติ เมื่อวันที่ 25 กันยายน ซึ่งจัดขึ้นโดยโจวเอินไหล บันทึกเกี่ยวกับบรรยากาศในวันนั้น เส้าหยง และหวังไห่เผิง บอกว่า ทุกคนอภิปรายกันอย่างกระตือรือร้นและสามารถกำหนดแบบธงชาติได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อมาถึงอภิปรายญัตติเพลงชาติ หลังจากกำหนดญัตติได้แล้ว ที่ประชุมก็เงียบสงัดทันที
ในด้านหนึ่ง บรรยากาศย่อมทำให้เห็นว่า “เพลงชาติ” เป็นสัญลักษณ์ที่มีมิติ มีรายละเอียดมากมาย การสื่อสารผ่านท่วงทำนอง เนื้อร้อง หลอมรวมเข้ากันเพื่อให้ออกมาเป็นความหมายที่แสดงถึงความสง่างามและสัญลักษณ์ของชาตินั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่มีชายผู้หนึ่งที่เสนอว่า ให้ใช้เพลงมาร์ชอี้หย่งจวิน
มาเริ่มเอ่ยถึงชายผู้นี้กันก่อน ชายรายนี้คือ สวีเปยหง เป็นจิตรกรมีชื่อเสียงและเป็นคนรักชาติที่โด่งดังทั้งในและนอกประเทศ ส่วนเพลงมาร์ชอี้หย่งจวิน นั้น แปลเป็นไทยได้ว่า “กองทัพองอาจห้าวหาญที่สู้รบเพื่อเชิดชูสัจธรรม”
เพลงมาร์ชอี้หย่งจวิน ที่ศิลปินผู้นี้นำเสนอเคยถูกใช้เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “เฟิงอวิ๋นเอ๋อร์หนี่ว์” สมัยสาธารณรัฐจีน เนื้อหาในเพลงออกไปในทางหัวก้าวหน้า ผู้เขียนเนื้อเพลงคือเถียนฮั่น ส่วนผู้เขียนทำนองคือเนี่ยเอ่อร์
ที่มาที่ไปของบทเพลงมาร์ชอี้หย่งจวิน ย้อนกลับไปไม่นานนักคือในค.ศ. 1934 ระหว่างเถียนฮั่น เขียนบทละครเรื่องเฟิ่งหวงเตอะไจ้เซิง อันเป็นบทละครว่าด้วยขบวนการพลีชีพเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นและกอบกู้ประเทศโดยเยาวชนจำนวนที่ลี้ภัยไปยังต่างๆ หลังจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนถูกข้าศึก (ญี่ปุ่น) ยึดในเหตุการณ์ 18 กันยา (ค.ศ. 1931) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่กองทัพญี่ปุ่นเข้าโจมตีแถบตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
หลังจากนั้นไม่นาน เถียนฮั่นถูกจับเข้าคุก บริษัทภาพยนตร์เตี้ยนทงก็มาปรับแก้บทละคร และเปลี่ยนชื่อเป็นเฟิงอวิ๋นเอ๋อร์หนี่ว์ เนื้อเพลงเดิมถูกแก้เล็กน้อยเท่านั้น ส่วนทำนองเพลงเป็นเนี่ยเอ่อร์ ที่ขอรับหน้าที่นี้ และส่งทำนองเพลงมาจากญี่ปุ่นเมื่อปลายเดือนเมษายน เพลงมาร์ชอี้หย่งจวินจึงถือกำเนิดขึ้น
ส่วนภาพยนตร์ถูกผลิตออกมาเมื่อปีค.ศ. 1935 ช่วงเวลานั้นกองทัพญี่ปุ่นยึดดินแดนอย่างต่อเนื่องสร้างความโกรธแค้นแก่ชาวจีนอย่างมาก ดังนั้น เพลงมาร์ชนี้จึงสะท้อนถึงความองอาจห้าวหาญของวีรบุรุษที่ปกป้องบ้านเกิดและศรัทธาอันแรงกล้าในการปลดแอกจากข้าศึก ภาพยนตร์ทำให้บทเพลงนี้แพร่หลายทั่วประเทศ และเป็นบทเพลงสำคัญสำหรับปลุกใจในช่วงต่อต้านญี่ปุ่น
โจวเอินไหลเองก็สนับสนุนข้อเสนอใช้เพลงมาร์ชอี้หย่งจวิน เขาเห็นว่า เป็นบทเพลงที่แสดงออกถึงจิตใจกล้าหาญ จังหวะเพลงชัดเจน เหมาะกับการบรรเลงดนตรี จึงคิดว่าน่าจะเหมาะสมสำหรับเป็นเพลงชาติ แต่ก็มีบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ประเด็นที่หยิบยกมาพูดถึงคือเนื้อเพลงส่วนหนึ่งที่ร้องว่า “ชนชาติจีนในช่วงเวลาที่อันตรายที่สุด” เพราะคนกลุ่มนี้เห็นว่า จีนใหม่กำลังจะสถาปนาในฐานะชนชาติที่ยิ่งใหญ่ เนื้อเพลงนี้อาจเป็นเรื่องล้าสมัย
ความคิดเห็นของโจวเอินไหล กลับไม่ได้มองเช่นนั้น เขาโต้แย้งว่า ให้เก็บเนื้อเพลงเดิมเพื่อปลุกเร้าจิตใจสู้รบของคน การปรับแก้เนื้อเพลงจะส่งผลต่อความรู้สึกที่แตกต่างกัน ความรู้สึกย่อมไม่เหลืออยู่ โจวเอินไหล คิดว่า การเก็บเนื้อเพลงเดิมจะสามารถเตือนคนทั่วโลกให้ตื่นตัว และยังเตือนจีนเองว่า แม้จะสถาปนาใหม่แล้ว แต่เส้นทางในอนาคตยังอีกยาวไกล และต้องเตรียมรับมืออันตรายในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ
ส่วนความคิดเห็นของเหมาเจ๋อตงก็ออกมาในทิศทางเดียวกัน ซึ่งความเห็นของเหมาเจ๋อตงก็สำคัญเช่นกัน เขามองว่าการกำหนดเพลงมาร์ชนี้เป็นเพลงชาติคือทางเลือกที่ดีที่สุด ไม่ต้องปรับแก้เนื้อเพลง ส่วนประโยคที่ว่า “ชนชาติจีนอยู่ในช่วงเวลาที่อันตรายที่สุด” ก็ไม่ได้สะท้อนความล้าสมัยอย่างที่กังวล หากแต่มองว่าชาวจีนผ่านการปฏิวัติต่อสู้มาอย่างยากลำบาก แม้จะได้ชัยแต่ก็ยังถูกลัทธิจักรวรรดินิยมรายล้อม จึงต้องพยายามปลดแอกซึ่งอิสรภาพและยังต้องต่อสู้อย่างลำบาก
คำพูดของเหมาเจ๋อตงนี้เองตัดสินต่อที่ประชุมว่าเห็นชอบรับข้อเสนอของสวีเปยหง และตามมาด้วยเสียงปรบมือเห็นชอบ
วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 1949 ในพิธีสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง เพลงมาร์ชอี้หย่งจวินก็ดังขึ้นบนสถานที่แห่งพิธีในฐานะเพลงชาติเป็นครั้งแรก
อ้างอิง:
เส้าหย่ง และหวังไห่เผิง. กำพล ปิยะศิริกุล แปล. หลังสิ้นบัลลังก์มังกร ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2562