เหมาเจ๋อตง กับการกวาดล้างบรรดาผู้เห็นต่าง ตามแบบหลิวปัง-โกวเจี้ยน

การกำจัดบุคคลทางการเมืองครั้งสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์จีน เริ่มต้นหลังจาก เหมาเจ๋อตง ประกาศใช้นโยบายก้าวกระโดดไกล และจัด “คอมมูน” หรือระบบนารวม เพื่อเร่งรัดการพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม แต่ประสบความล้มเหลว จนทำให้เกิดความขัดแย้งในระดับผู้นำของพรรค การประชุมคณะกรรมการกลางปลายปี 1958 เหมาเจ๋อตงถูกวิจารณ์และกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี โดยให้ หลิวเซ่าฉี รับตำแหน่งแทน เหมาเจ๋อตงจึงเหลือเพียงตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน 

ภายหลังเหมาเจ๋อตงกล่าวถึงความรู้สึกของเขาในการประชุมดังกล่าวว่า “เหมือนไปงานศพตัวเอง”

ขณะเดียวกัน เผิงเต๊อะไหว จอมพลอันดับที่ 2 ของจีน (รองจากจูเต๊อะ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีสัมพันธ์ส่วนตัวอย่างแนบแน่นกับเหมาเจ๋อตง ด้วยต่างเกิดและเติบโตในอำเภอเดียวกัน เผิงเต๊อะไหวเขียนจดหมายส่วนตัวถึงเหมาเจ๋อตงวิจารณ์นโยบายดังกล่าว

หากเหมาเจ๋อตงตอบกลับโดยการนำจดหมายของเผิงเต๊อะไหวไปลงในหนังสือพิมพ์และกล่าวโทษว่า เขามีแผนล้มการปกครอง, ต่อต้านพรรค, เข้ากับสหภาพโซเวียต ทั้งที่ครอบครัวของเผิงเต๊อะไหวยากจนขนาดย่าต้องขอทานกิน กลับถูกประณามว่าเป็นกระฎุมพี

ท่าทีข้างต้นของเหมาเท่ากับเสนอให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนเลือกเอาระหว่างเขากับเผิงเต๊อะไหว ขณะเดียวกันก็เป็นการ “ฆ่าไก่สอนลิง” เผิงเต๊อะไหวถูกปลดจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

เผิงเต๊อะไหว กับ เหมาเจ๋อตง
(ซ้าย) เผิงเต๊อะไหว เพื่อนร่วมรบ, คนบ้านเกิดเดียวกับเหมา ที่เรียกกันอย่างสนิทว่า เหล่าเผิง-เหล่าเหมา

ส่วน หลิวเซ่าฉี ที่เป็นประธานาธิบดีแทนเหมา เขากับเติ้งเสี่ยวผิงแสดงความสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจเนื่องจากความล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดดไกล โดยอนุญาตให้เอกชนดำเนินธุรกิจขนาดเล็ก, ส่งการการผลิตและแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยการเปิดตลาดนัดในชนบท ฯลฯ แต่ประธานเหมาเห็นว่าวิธีการดังกล่าวเป็นแนวทางของระบบทุนนิยม และลัทธิแก้

ต่อมาปัญญาชนวิพากษ์วิจารณ์ประธานเหมาแบบอ้อม ๆ ในรูปของบทความ, บทละคร, เรื่องสั้น ที่โดดเด่นและเป็นที่กล่าวถึงมากก็คือ บทละครเรื่อง “ไห่รุ่ยถูกปลด” ของอู๋หัน-อาจารย์ประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ที่กล่าวถึงขุนนางชื่อไห่รุ่ยที่ถูกปลดจากตำแหน่งเจ้าเมือง เพราะไปขอให้จักรพรรดิคืนที่ดินที่เจ้าที่ดินยึดไป คืนแก่ชาวนาตามเดิม จักรพรรดิไม่พอใจจึงปลดไห่รุ่ย เหมือนกับที่ประธานเหมาสั่งปลดเผิงเต๊อะไหว

เหมาเจ๋อตงจึงเริ่ม “การปฏิวัติวัฒนธรรม” เพื่อรักษาอุดมการณ์การปฏิวัติไม่ให้กลายเป็นลัทธิแก้, กำจัดศัตรูทางการเมือง, ทำลาย 4 เก่า (ความคิดเก่า, วัฒนธรรมเก่า, นิสัยเก่า, ประเพณีเก่า) ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิวัติ หรือเป็นอุปสรรคต่อเหมา โดยมีเรดการ์ดเป็นเครื่องมือสำคัญ

การประชุมคณะกรรรมการของพรรค เดือนสิงหาคม ปี 1966 มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ กรมการเมือง (Politburo) จอมพลหลินเปียว ซึ่งเป็นคนสนิทของเหมา เดิมอยู่ลำดับที่ 6 ได้เลื่อนขึ้นเป็นลำดับ 2 และเป็นรองประธานพรรคคนที่ 1 แทนหลิวเซ่าฉีที่ตกไปอยู่อันดับที่ 8  ส่วนคนสนิทอื่นอีกจำนวนหนึ่งได้เป็นกรรมการประจำของกรมการเมือง รวมถึงเรดการ์ดภายใต้การสนับสนุนของเหมาเจ๋อตง

18 กรกฎาคม ปี 1967 เรดการ์ดบุกเข้าจับกุมหลิวเซ่าฉีและหวางกวงเหม่ยภรรยา ในบ้านพักเขตจงหนานไห่ ทั้งสองถูกทรมาน และประจานไปตามท้องถนน หลิวเซ่าฉีเสียชีวิตในที่กุมขังจากปัญหาสุขภาพที่ไม่มีการดูแล หวางกวงเหม่ยถูกจำคุก 10 ปี ลูก ๆ ของหลิวเซ่าฉีบางคนถูกทำร้ายคนเสียชีวิต บ้างถูกเนรเทศ

เรดการ์ดที่เป็นนักเรียนมัธยมปลายและนักศึกษามหาวิทยาลัย เดินขบวนในกรุงปังกิ่ง เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1966 ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิวัติวัฒนธรรมชนชั้นกรรมาชีพ (Photo by JEAN VINCENT / AFP)

คลิกอ่านเพิ่ม : เหยื่อรายสำคัญการปฏิวัติวัฒนธรรม ที่บดบังบารมีประธานเหมา-เจียงชิง

เติ้งเสี่ยวผิงเคราะห์ดีกว่า แม้จะถูกถอดตำแหน่งทางการเมือง, ถูกประณามว่าเป็นพวกทุนนิยม และลงโทษหลายครั้งก็ยังรักษาชีวิตไว้ได้ หากเติ่งผู่ฟางลูกชายคนหนึ่งของเติ้งเสี่ยวผิงถูกตัดสิทธิไม่ให้รับปริญญา และถูกทำร้ายจนร่างกายครึ่งล่างเป็นอัมพาตตลอดชีวิต ส่วนลูกคนอื่น ๆ ถูกส่งไปทำงานหนักในหมู่บ้านชนบท

นอกจากนี้ยังมีสมาชิกอาวุโสระดับสูงสุดของพรรค 9 คน รุดเข้าพบเหมาเจ๋อตง เป็นการแสดงความแข็งข้อต่อเหมาอย่างเปิดเผย ได้แก่ จอมพลจูเต๊อะ-ผู้ร่วมก่อตั้งกองทัพแดงคู่กับเหมา, จอมพลเฉินอี้-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และกวีในฐานะเพื่อนสนิทของเหมาเจ๋อตง และโจวเอินไหล, จอมพลเนี่ยหรงเจิน, จอมพลสีเซี่ยงเฉียน-ซึ่งภายหลังได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมในปี 1978, จอมพลเย่เจียนอิง, หลี่ฟูชุน-นักเศรษฐศาสตร์ประจำพรรคและประธานคณะกรรมการวางแผนเศรษฐกิจ, เฉินหยุน-นักเศรษฐศาสตร์ประจำพรรค, หลี่เซียนเนี่ยน-ภายหลังได้เป็นประธานาธิบดีของประเทศ และถานเจิ้นหลิน-สมาชิกคนสำคัญที่มีอาวุโสสูงสุดของพรรค

พวกเขาเข้าพบปะเจรจากับเหมาเจ๋อตง ทั้งในฐานะผู้นำของพรรค และผู้ริเริ่มและนำการปฏิวัติวัฒนธรรมในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ปี 1967 ถานเจิ้นหลินโมโหจนกล่าวว่า “…ผมไม่สมควรจะอยู่มาถึง 65 ปี ไม่ควรเข้าพรรคคอมมิวนิสต์ และยิ่งไม่ควรเดินตามประธานเหมาเพื่อทำการปฏิวัติตลอดเวลา 40 ปีมานี้”

ส่วนผลที่ตามมาซึ่งพวกเขาแต่ละคนต้องเผชิญก็คือ การทำสงครามประสาททั้งวันทั้งคืนด้วยการประณามจากเรดการ์ด, การปลดออกจากตำแหน่งต่าง ๆ ฯลฯ

เหมาเจ๋อตง หลินเปียว ท่ามกลาง สมาชิก เรดการ์ด
ซ้าย-เหมาเจ๋อตง ขวา-หลินเปียว ท่ามกลางสมาชิกเรดการ์ด

แม้แต่ หลินเปียว นายทหารระดับจอมพลที่เหมาเจ๋อตงแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแทนเผิงเต๊อะไหว และแต่งตั้งเป็นทายาททางการเมืองของเขาในปี 1969

หากภายหลังทั้งคู่ก็เกิดความขัดแย้งขึ้น เมื่อเหมาต้องการเปิดสัมพันธไมตรีกับอเมริกา แต่หลินเปียวต้องการให้ฟื้นฟูมิตรภาพกับสหภาพโซเวียตมากกว่า และเรื่องสำคัญที่หลินเปียวต้องการให้คงตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” จนเกิดความขัดแย้งกับเหมา ฯลฯ นั้นทำให้เหมาเริ่มตะหนักว่าหลินเปียวเริ่มมีอำนาจทั้งในพรรคและในกองทัพ เขาจึงเริ่มลดอำนาจของหลินเปียว เริ่มจากขังลืม เฉินปอต้า นายพลคนสนิทของหลินเปียว ทำให้หลินเปียววิตกว่าเขากำลังจะกลายเป็น “หลิวเซ่าฉีคนที่ 2”

ทางออกสำหรับหลินเปียวคือ การรัฐประหาร แต่ความแตกเสียก่อน เหมาเจ๋อตงสั่งห้ามเครื่องบินทุกลำบินขึ้นจากพื้นดิน แต่ลูกชายของหลินเปียวที่เป็นรองผู้บัญชาการกองบัญชาการปฏิบัติการทางอากาศสามารถหาเครื่องบินไอพ่นไทรเดนท์ได้ 1 ลำ หลินเปียวเและครอบครัวจึงหนีไปกรุงมอสโคว แต่เครื่องบินตกที่เขตมองโกเลียนอก เพราะน้ำมันไม่พอ ทำให้ผู้โดยสารทั้ง 13 คน เสียชีวิต

แต่หากมองย้อนกลับไปประวัติศาสตร์จีน เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้ขึ้นเป็นครั้งแรก

หลิวปัง หรือ จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ฮั่น หลังปราบราชวงศ์ฉินจนล่มสลาย ขุนพลและกุนซือคนสำคัญที่มีส่วนร่วมในการศึกจนเกิดเป็นราชวงศ์ฮั่น อย่าง เสียวเหอ, หานซิ่น, จางเหลียง ก็เป็นที่หวาดระแวงว่าจะเป็นภัยกับราชวงศ์ ทำให้เกิดการ “สั่งเก็บ” จนมีคำกล่าวว่า “หลิวปังร่วมทุกข์ได้ ร่วมสุขไม่ได้”

หากย้อนไปไกลกว่านั้น สมัยยุคชุนชิวจั้นกั๋ว ก็มีสำนวนที่ว่า เมื่อนกบินหนีไป เก็บธนูไว้ข้างกาย เมื่อกระต่ายตาย หันมาต้มหมาล่าเนื้อ” ตรงกับสำนวนไทยที่ว่า “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” เพราะโกวเจี้ยน-กษัตริย์แคว้นเย่ว์ ได้ชัยชนะเหนือแคว้นอู๋ ก็ด้วยกุนซือคนสำคัญอย่างฟ่านหลี หากไม่รู้จักถอนตัวก็คงจบชีวิตไปแล้ว

ถึงสมัยสาธารณรัฐ รูปแบบการปกครองเปลี่ยนไปแล้ว แต่ประวัติศาสตร์ยังคงซ้ำรอย เมื่อประธานเหมาถูกหมิ่นเดชานุภาพ ไม่ว่าจะเป็นหมาล่าเนื้อ หรือโคถึก ล้วนแต่ไม่เก็บไว้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ทวีป วรดิลก. ประวัติศาสตร์จีน, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2527

ศิริพร ดาบเพชร. “การแย่งอำนาจในกลุ่มผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน” ใน, วารสารประวัติศาสตร์ ประจำปี 2545 (มกราคม-ธันวาคม) พ.ศ. 2545, คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2564