เหมาเจ๋อตง เยือนเมืองอู่ฮั่น ว่ายน้ำข้ามแยงซีเกียง-แต่งบทกวี เพื่ออะไร?

ภาพถ่ายของเหมาเจ๋อตง เมื่อมิ.ย. 1966 เผยแพร่โดยฝ่ายทางการจีน (ภาพจาก XINHUA / AFP)

ในทางการเมืองผู้คนรู้จัก “เหมาเจ๋อตง” (26 ธันวาคม พ.ศ. 2436-9 กันยายน พ.ศ. 2519) ในบทบาทอดีตผู้นำสูงสุดของประเทศจีน ในแวดวงวรรณกรรรม เหมาเจ๋อตงได้รับการยกย่องว่าเป็นกวีผู้มากฝีมือ ทุกครั้งที่มีเวลาว่างเหมาจะต้องเขียนบทกวี โดยงานของเหมาจะเคร่งครัดในฉันทลักษณ์ และการใช้คำที่กินความหมาย ในวงกีฬาเหมาเจ๋อตงชื่นชอบการว่ายน้ำเป็นชีวิตจิตใจ แม้จะไม่ใช่นักกีฬาทีมชาติ แต่เขาก็เคยว่ายน้ำข้ามแม่น้ำใหญ่อย่างแม่น้ำแยงซีเกียง (หรือแม่น้ำฉางเจียง) มาหลายต่อหลายหน

ครั้งหนึ่งเหมาเจ๋อตงใช้กีฬาว่ายน้ำที่ตนเองรัก-ความสามารถทางกวี มาผนวกเข้าด้วยกันเพื่องานทางการเมือง โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดที่เมืองอู่ฮั่น

เหมาเจ๋อตงกำลังว่ายน้ำในแม่น้ำแยงซีเกียงที่เมืออู่ฮั่น ในปี 1966 http://www.china.org.cn

ใน ปี ค.ศ. 1956/พ.ศ. 2499 การก่อสร้างสังคมนิยมพัฒนาขึ้นสู่ระดับสูง เหมาเจ๋อตงเดินสำรวจพื้นที่ต่างๆ ไปทั่วประเทศ เดือนมิถุนายน ก็เดินทางมาถึงเมืองอู่ฮั่น ซึ่งมีการสร้างสะพานใหญ่ข้ามแม่น้ำแยงซีเกียง ครั้งนั้นเหมาเจ๋อตงแต่งบทกวี หลังจากลงว่ายน้ำในแม่น้ำแยงซีเกียงถึง 3 ครั้ง ในชั่วเวลาเพียง 4 วัน ทั้ง 3 ครั้ง

ครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1956/พ.ศ. 2499 ว่ายข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงจากอู่ชางไปฮั่นโข่ว [บ้างว่าครั้งแรกเป็นเดือนพฤษภาคม] ครั้งที่สอง วันที่ 3 มิถุนายน ว่ายจากสะพานใหญ่ที่แม่น้ำแยงซีเกียง ไปถึงตรงบริเวณที่แม่น้ำแยงซีเกียงกับแม่น้ำฮั่นมาบรรจบกัน ครั้งที่สาม วันที่ 4 มิถุนายน ว่ายจากฮั่นหยางไปอู่ชาง

ซึ่งนับเป็นข่าวใหญ่ที่แพร่หลายไปทั่วโลก

ต่อมาใน ค.ศ. 1966/พ.ศ. 2509 ขณะนั้นอากาศร้อนจัด ลมแรงและคลื่นใหญ่ เหมาเจ๋อตงอยู่ที่เมืองอู่ฮั่นเตรียมต้อนรับบรรดานักเขียนแห่งอาเซียและแอฟริกา ซึ่งมีประชุมกันที่กรุงปักกิ่งเพื่อคัดค้านอเมริกาสนับสนุนเวียดนาม ในวันนั้น (16 กรกฎาคม ค.ศ. 1966/พ.ศ. 2509) เหมาลงว่ายระยะทาง 1.5 กิโลเมตรเป็นเวลาชั่วโมง 5 นาที ก่อนจะไปร่วมการประชุม

ครั้งนั้นพวกนักเขียนและผู้สังเกตการผู้มาจากที่ต่างๆ ทั่วโลกได้เห็นเหมาเจ๋อตงในวัย 73 ปี แต่ยังมีสุขภาพแข็งแรง ว่ายข้ามแม่น้ำใหญ่ที่ไหลเชี่ยวไปกับตาตนเอง โดยมีนักกีฬาว่ายน้ำหนุ่มสาวจากที่ต่างๆ หลายพันคนร่วมว่ายข้ามแม่น้ำแยงซีเกียง

บางคนก็ช่วยกันชูป้ายคำขวัญแผ่นใหญ่มหึมาว่ายไปด้วย, บ้างก็จัดเป็นกระบวนทัพในลำน้ำ, เมื่อมีผู้เหนื่อยอ่อนกำลังผู้ที่ว่ายอยู่ข้างๆ ก็ท่องคำขวัญของเหมาเจ๋อตงว่า “ตัดสินใจแน่วแน่ ไม่กลัวเสียสละ ขจัดอุปสรรคต่างๆ ไปชิงเอาชัยให้ได้”

เหมายังกล่าวว่า แม่น้ำแยงซีเกียงนั้นลึกและไหลแรง ใช้ฝึกฝนร่างกายและจิตใจได้ แม่น้ำแยงซีเกียงใครๆ ก็พูดว่าใหญ่ทั้งนั้น ความจริงความยิ่งใหญ่ไม่ได้น่ากลัวอะไร การว่ายข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงของเหมาเจ๋อตุงมีนัยยะที่จะปลุกระดมคนหนุ่มสาวก่อนที่จะมีการปฏิวัติวัฒนธรรม (ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1966/พ.ศ. 2509)

ส่วนบทกวีที่เหมาเจ๋อตงแต่งขึ้นหลังจากการว่ายข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงใน ค.ศ. 1956/พ.ศ. 2499 มีชื่อว่า “游泳-ว่ายน้ำ”บทกวีนี้เหมาเจ๋อตงแต่งโดยอ้างอิงรูปแบบจากร่ายโบราณ “สุ่ยเตี้ยวเกอโถว-ลำนำแห่งสายน้ำ”

สำหรับภาษาไทยนั้นทวีปวรแปลไว้ดังนี้

ส่วนความหมายของบทกวีมีผู้แปลเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษจำนวนมาก ส่วนที่เรียบเรียงนี้นำมาจากที่ ทวีปวร, ประไพ วิเศษธานี (นามปากกาของอัศนี พลจันทร) และ John K. Leung กับ Michael Y.M.Kau แปลไว้ดังนี้

ฉางซา เป็นเมืองหลวงมณฑลหูหนาน ทางตะวันออกของเมืองฉางซามีบ่อน้ำที่ขึ้นชื่อว่ารสชาติดี ส่วนอู่ชาง (บ้างเรียกหวู่ชาง) คือ 1 ใน 3 เขตการปกครองของเมืองอู่ฮั่น (บ้างเรียกหวู่ฮั่น) มณฑลหูเป่ยในเวลานั้น ซึ่งประกอบด้วย อู่ชาง, ฮั่นโข่ว, ฮั่นหยาง เมืองอู่ชางมีปลาชนิดหนึ่งรสชาติอร่อยมาก แต่มีก้างเยอะ คล้ายปลาตะเพียนของไทย

เพิ่งดื่มน้ำฉางซา แล้วกินปลาที่อู่ชาง เดิมเรื่องเล่าในสมัยสามก๊ก เมื่อซุนเก้าเจ้าแคว้นอู่ ต้องการย้ายเมืองหลวงจากเจี้ยนเย่ (หนานจิง) มาอยู่ที่อู่ชาง (ปัจจุบันอยู่ในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย)  แต่ข้าราชการ, พ่าค้าทั้งหลายไม่พอใจ จึงแต่งคำร้องใส่ทำนองเพลงพื้นบ้านง่ายให้เด็กๆ ว่า “ยินยอมดื่มน้ำที่เจี้ยนเย่ แต่ไม่ยอมกินปลาที่อู่ชาง ยินดีตายที่เจี้ยนเย่ แต่ไม่ยอมไปอยู่ที่อู่ชาง”

หากบทกวีของเหมาเจ๋อตง ได้นำเนื้อเพลงโบราณมาปรับเสียใหม่เป็น “เพิ่งดื่มน้ำฉางซา แล้วกินปลาที่อู่ชาง” เพื่อแสดงให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ และเจริญก้าวหน้าทางคมนาคมของจีนใหม่ ภายหลังสถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาชน

แม่น้ำฉาง ย่อมาจาก แม่น้ำฉางเจียง หรือแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในจีน ไหลผ่านมณฑลชิงไห่, ธิเบต, ซื่อชวน, หยุนหนาน, หูเป่ย, หูหนาน, เจียงซี, อานฮุย และเจียงซู ออกไปสู่ทะเลตะวันออกที่เซี่ยงไฮ้ มีความยาว 6,300 กิโลเมตร

ฉู่คคนานต์ คือ ท้องฟ้ารัฐฉู่ ในสมัยฉินสื่อหวางนั้น บริเวณตอนกลางของแม่น้ำแยงซีเกียง เป็นเขตแดนของรัฐฉู่ ความหมายในบทกวีของเหมาเจ๋อตงคือ เมื่อว่ายออกไปถึงกลางแม่น้ำแยงซีเกียงแล้ว แหงนหน้าขึ้นมองไปก็จะเห็นฟ้าของรัฐฉู่

สะพานใหญ่ หมายถึงสะพานแยงซีเกียงต้า สะพานใหญ่ข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงที่อู่ฮั่น มีทางรถไฟอยู่ข้างบนด้วย ในขณะที่เหมาเจ๋อตงนิพนธ์บทกวีนี้ ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง

เขางูเต่า คือเขางู และเขาเต่า ซึ่งอยู่คนละฟากของแม่น้ำแยงซีเกียง เขางูอยู่ฝั่งเมืองอู่ชาง เขาเต่าอยู่ฝั่งเมืองฮั่นหยาง เป็นที่รองรับคอสะพานสองฟาก

คูเมืองธรรมชาติ หมายถึงแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งเป็นคูโดยธรรมชาติ คนเราสามารถสร้างเป็นทางใช้สัญจรไปมาได้

ธารถิ่นประจิมทิศ ผนังหินสฤษดิ์ตัดเมฆฝน ตอนต้นของแม่น้ำแยงซีเกียงด้านตะวันตก จะมีการสร้าง

ผนังหิน คือ เขื่อน “ตัดเมฆฝน” หมายความว่า จะสะกัดน้ำฝนที่ไหลบ่าลงมาตรงกลาง

อู้ซาน ภูเขาอู้ซาน อยู่ระหว่างมณฑลเฉวนกับหูเป่ยที่มีชื่อว่า “จี๊ถางเจี๋ย” มีช่องแคบระหว่างเขา 3 ช่องด้วยกัน เรียกว่า จี๊ถาง, อู่ และซีหลิน บริเวณช่องแคบทั้งสามนี้ เป็นช่วงที่น้ำไหลเชี่ยวจัดมากและมีโขดหินมากมาย เมื่อเขื่อนสะกัดน้ำฝนไว้ได้ก็จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำมหึมา สามารถป้องกันอุทกภัยที่มีอยู่เป็นประจำได้ คือคำว่า “ทะเลสาป” ในบทกวี

เทพีศรีแห่งไศล ในนิยายปรัมปราว่า เป็นพระธิดาของเชอะตี้ ที่เสียชีวิตอย่างกล้าหาญจากการช่วยหยู่กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยบรรพกาลทดน้ำ ศพของนางถูกฝังไว้ที่เนินเขาทางใต้ของอู้ซาน บนยอดเฟยฟง (ลมเหินบิน) ไมีการสร้างศาลเทพารักษ์ไว้เป็นเกียรติแก่นางด้วย

แต่ที่เหมาเจ๋อตงกล่าวถึงเพื่อจะสรุปถึงหัวใจของเรื่อง (Theme) คือ ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นการแสดงให้เห็นถึงชัยชนะของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติ อันเป็นปรัชญาหลักข้อหนึ่งของลัทธิสังคมนิยมที่ว่า “มนุษย์เราจะต้องเป็นนายเหนือธรรมชาติ (Mastery of nature)เมฆฝนที่อู้ซานเป็นแหล่งกำเนิดของน้ำ แทนที่จะยอมปล่อยให้เกิดอุทกภัย อย่างที่เคยมีมาช้านานนับพันๆ ปี ก็ต้องเข้าควบคุมเพื่อเอามาใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติเพื่อเอามารับใช้มนุษย์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ประไพ วิเศษธานี. กาพย์กลอยเหมาเจ๋อตง, สำนักพิมพ์อ่าน 2561

ทวีปวร. กวีนิพนธ์เหมาเจ๋อตง, สำนักพิมพ์อักษรวัฒนา 2536

John K. Leung, Michael Y. M. Kau. The Writings of Mao Zedong  Volume II January 1956-December 1957,M.E.Shape, Inc.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มกราคม 2563