ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
1 ตุลาคม 1949 “เหมา เจ๋อตง” ประกาศตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนจีน”
ก่อนที่ เหมา เจ๋อตง จะประกาศก่อตั้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 ซึ่งต่อมาจีนได้ถือเอาวันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันชาติจีน” นั้น ย้อนไปใน ค.ศ. 1937 เกิดสงครามระหว่างจีน-ญี่ปุ่น หลังจีนต่อต้านการแผ่อิทธิพลของญี่ปุ่นในอาณาเขตของตนอย่างเต็มกำลัง ขณะเดียวกันจีนเองก็ต้องประสบกับสงครามภายในจากการแย่งชิงอำนาจระหว่าง ฝ่ายคณะชาติ และ ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการรุกรานของญี่ปุ่น
ฝ่ายคอมมิวนิสต์เริ่มต้นด้วยฐานะที่ด้อยกว่า แรกเริ่มทั้งสองฝ่ายให้ความร่วมมือกัน ด้วยต่างก็เป็นกลุ่มกำลังที่พึ่งการสนับสนุนจากโซเวียตทั้งคู่ แต่เมื่อ เจียง ไคเช็ก ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลคณะชาติ เขาก็เริ่มการกวาดล้างฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทำให้คอมมิวนิสต์ต้องระหกระเหินไปอยู่ถิ่นทุรกันดารนับสิบปี แต่สงครามกับญี่ปุ่น และความขัดแย้งภายในพรรคก็ทำให้รัฐบาลคณะชาติอ่อนแอลงเป็นลำดับ ขณะที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์สามารถรวบรวมกำลังจากชนบทจนเป็นปึกแผ่น
เมื่อเข้าปี 1937 จีนคณะชาติและจีนคอมมิวนิสต์ได้จัดตั้งแนวร่วมต้านญี่ปุ่น แต่ทั้งสองฝ่ายยังคงมีความหวาดระแวงต่อกัน ตามข้อตกลง กองทัพแดงเข้าอยู่ใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลคณะชาติในนาม “กองทัพที่ 8” แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ได้กลายเป็นรัฐบาลในภาคเหนือที่ค่อยๆ ขยายอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ
หลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้และถอนกำลังออกจากจีน สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างจีนทั้งสองฝ่ายที่กำลังขยายตัว โดยหวังให้พรรคคอมมิวนิสต์มีสถานะเป็นฝ่ายค้านเหมือนเช่น พรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันตก และให้กองทัพจีนทั้งสองฝ่ายรวมกันแล้วลดกำลังลง ถึงเดือนมกราคม 1946 ทั้งสองฝ่ายตกลงหยุดยิง และวางแผนที่จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น
แต่สุดท้ายการหยุดยิงก็ล้มเหลวในกลางปี 1946 ด้วยฝ่ายคณะชาติเองก็มั่นใจในอาวุธที่เหนือกว่า ขณะที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็เชื่อว่าฝ่ายคณะชาติกำลังอยู่ในช่วงขาลง ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่ลังเลที่จะใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน
อย่างไรก็ดี ฝ่ายคณะชาติที่มีกำลังอาวุธที่ทันสมัย รวมถึงกำลังทางอากาศที่ผูกขาดไว้เพียงฝ่ายเดียว ก็เพลี่ยงพล้ำให้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่มีความเป็นหนึ่งเดียวและการจัดการดีกว่า การปะทะขั้นแตกหักในปี 1949 ทำให้ฝ่ายคณะชาติสูญเสียกำลังกว่า 5 แสนนาย โดยมี 27,000 นายที่ยอมจำนน ทั้งนี้จากคำกล่าวอ้างของฝ่ายคอมมิวนิสต์
ในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 เหมา เจ๋อตง ผู้นำกองทัพแดงก็ได้ประกาศก่อตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ขึ้น ต่อหน้าฝูงชนกว่า 3 แสนคน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง นับเป็น “วันชาติจีน”
ส่วนฝ่ายคณะชาติก็พากันหลบหนีไปตั้งรัฐบาลที่ไต้หวัน แต่กว่าที่กองทัพแดงของเหมา เจ๋อตง จะรวบรวมดินแดนบนแผ่นดินใหญ่ทั้งหมดและเกาะไห่หนานได้ ก็ต้องรอถึงเดือนพฤษภาคม 1950
อ่านเพิ่มเติม :
- คุณูปการและความผิดพลาดของ “เหมา เจ๋อตง” รัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของจีน
- เจียงไคเช็คทำรัฐบาลจีนคณะชาติพัง ปล่อยเครือญาติ 4 ตระกูลมีอำนาจทางการเมือง
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“Mao Zedong”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online.
Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 30 Sep. 2016
<https://global.britannica.com/biography/Mao-Zedong>.
“China”. Encyclopædia Britannica. Encyclopædia Britannica Online.
Encyclopædia Britannica Inc., 2016. Web. 30 Sep. 2016
<https://global.britannica.com/place/China/Riots-and-protests>.
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคใหม่: จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน, John K. Frairbak, Edwin O. Reischauer, Albert M. Craig. มูลนิธิโตโยต้า ประเทศไทย, มูลนิธิโครงการตำราฯ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ตุลาคม 2559