คุณูปการและความผิดพลาดของ “เหมาเจ๋อตง” รัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของจีน

เหมาเจ๋อตง
เหมาเจ๋อตง ในวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 ภาพจาก BEIJING, CHINA / AFP

คุณูปการและความผิดพลาดของ “เหมาเจ๋อตง” รัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของจีน

เหมาเจ๋อตง (26 ธันวาคม ค.ศ. 1893/พ.ศ. 2436 – 9 กันยายน ค.ศ. 1976/พ.ศ. 2519) เด็กชายจากตำบลเสาซัน อำเภอเชียงถัน มณฑลหูหนัน ที่ภายหลังได้ดำรงตำแหน่งประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) เหมาเจ๋อตงเป็นรัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของจีน ที่นักวิชาการศึกษาเรื่องของเขามากมาย ในจำนวนนั้นมีงานของ เชาวน์ พงษ์พิชิต-นักวิชการคนสำคัญด้านจีนศึกษาร่วมอยู่ด้วย กับผลงานที่ชื่อว่า “วิพากษ์ประธานเหมา”

วิพากษ์ประธานเหมา (สนพ.มติชน) กล่าวถึงคุณูปการและความผิดพลาดที่มอบให้กับประเทศจีน ซึ่งงานของเชาวน์ พงษ์พิชิต เล่มนี้น่าสนใจเพราะว่า

Advertisement

“เป็นงานศึกษาที่อิงกับข้อมูลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนค่อนข้างมาก ดังนั้น เมื่อผลงานชิ้นนี้กล่าวถึงประเด็นความผิดพลาดของเหมาเจ๋อตงด้วยแล้ว จึงนับว่าน่าสนใจไม่น้อยในอันที่เราจะใคร่รู้ว่าอะไรคือความผิดพลาดที่ว่านั้น (นอกเหนือจากคุณูปการ) และทำให้เห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีระบบการจัดเก็บ รวบรวม และเรียบเรียงข้อมูลของบุคคลระดับนำของตนอย่างไรบ้าง” (วรศักดิ์ มหัทธโนบล อดีตผอ.ศูนย์จีนศึกษา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ)

ซึ่งในที่นี้ขอสรุปมานำเสนอบางส่วนดังนี้

เหมาในฐานะนักยุทธศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในด้านการทหาร ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเดียวกันหรือฝ่ายตรงกันข้ามกับท่าน และไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ

ในสงครามต้านการล้อมปราบครั้งที่ 1-3 และชัยชนะของการเดินทัพทางไกลในสมัยสงครามกลางเมือง ครั้งที่ 2 ภายใต้การนำของความคิดวิถีทางชนบทล้อมเมืองของท่าน

ในสงครามต่อต้านญี่ปุ่น เหมาได้นำเสนอให้ยุติสงครามกลางเมือง ดำเนินสงครามประชาชนที่เป็นสงครามยืดเยื้อที่ถือสงครามจรยุทธ์เป็นหลัก โดยไม่ละเว้นสงครามเคลื่อนที่ในสภาพการณ์ที่เป็นผลดี ในที่สุดก็ได้มาซึ่งชัยชนะในเวลา 8 ปี

เหมา เจ๋อตุง พบประชาชน ระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่น (1937-1945) ภาพโดย AFP

ในสงครามกลางเมืองครั้งที่ 3 ท่านดำเนินยุทธการตั้งรับเชิงบวก โดยรวบรวมกำลังที่เป็นต่อทำลายล้างข้าศึกทีละส่วน ๆ ในสถานภาพที่มีกำลังน้อยกว่าฝ่ายข้าศึกถึง 1 : 3 พอถึงระยะจะเผด็จศึก เหมาเรียกร้องให้กองทัพสนามทุกกองทัพต้องกล้าตัดสินใจเข้าชิงจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ ที่มีแนวป้องกันที่มั่นคง กล้าทำสงครามทำลายล้างขนานใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อน กล้าทำลายกลุ่มทัพขนาดใหญ่ของก๊กมินตั๋ง สิ่งที่ติดตามมาคือชัยชนะใน 3 ยุทธการ เหลียวเงิน หวยไห่ และผิงจิน ผลก็คือทำลายข้าศึกได้ถึง 1,540,000 คน ภายในเวลา 142 วัน และสิ้นสุดลงที่ยุทธการบุกข้ามแม่น้ำแยงซีเกียง บนแนวรบยาวถึง 1,000 ลี้ (500 กิโลเมตร) ทำลายข้าศึกได้ถึง 420,000 คน ภายในเวลา 42 วัน

ท้ายสุดในสงครามต่อต้านสหรัฐเพื่อช่วยเหลือเกาหลีเหนือ ยุทธศาสตร์ของเหมา คือรวบรวมกำลังที่เป็นต่อ ตัดขบวนทัพข้าศึกเป็นตอน ๆ แล้วโอบล้อมทำลายเสีย ยุทธการครั้งแรก จีนใช้เวลา 13 วัน ทำลายข้าศึก 15,000 คน ยุทธการครั้งที่ 2 ใช้เวลาหนึ่งเดือน ทำลายข้าศึก 36,000 คน ขับไล่กองทัพ “สหประชาชาติ” ไปถึงใต้เส้นขนาน 38 ในดินแดนของเกาหลีใต้ รบกันแค่ 2 ยก จีนและเกาหลีเหนือสามารถเปลี่ยนจากฝ่ายตั้งรับเป็นฝ่ายรุก ยุทธการครั้งที่ 3 เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1950 กองทัพจีนและเกาหลีเหนือบุกทะลวงแนวต้านกว้าง 200 กิโลเมตร ลึก 15-20 กิโลเมตร ของข้าศึก เข้ายึดกรุงโซลเมื่อวันที่ 4 และเข้ายึดอินชอนได้เมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1951 กองทัพสหประชาชาติต้องไปตั้งแนวป้องกันที่เส้นขนาน 37

ยุทธการครั้งที่ 4 เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1951 ฝ่ายกองทัพสหประชาชาติเป็นฝ่ายรุก ฝ่ายจีนและเกาหลีเหนือเป็นฝ่ายตั้งรับเชิงบวก ถอนออกจากกรุงโซล กลับไปตั้งรับทางเหนือของเส้นขนาน 38 ยุทธการครั้งที่ 4 นี้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1951 ใช้เวลา 87 วัน ทำลายข้าศึก 78,000 คน ฝ่ายจีนและเกาหลีเหนือเริ่มต้น ยุทธการครั้งที่ 5 วันที่ 22 เมษายนถึงวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1951 โดยเปลี่ยนไปใช้ยุทธวิธีเล็มกินข้าศึกทีละ 1-2 กองพัน รวมแล้วสามารถทำลายข้าศึกได้มากถึง 42,000 คน ยังผลให้แนวรบยืนอยู่ตรงเส้นขนาน 38 สงครามสู่ขั้นยันกัน บีบบังคับให้ฝ่ายกองทัพสหประชาชาติต้องยอมเจรจาสงบศึกเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1951

นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1950 กองอาสาสมัครจีนเริ่มยุทธการครั้งที่ 1 ถึงวันที่ 10 มิถุนายนสิ้นสุดยุทธการครั้งที่ 5 ใช้เวลาแค่ 7 เดือนครึ่ง ทำลายข้าศึก 230,000 คน กองทัพสหประชาชาติที่มีสหรัฐเป็นผู้นำต้องเปลี่ยนผู้บัญชาการถึง 3 คน ในที่สุดก็ต้องยอมเข้าร่วมโต๊ะเจรจาสงบศึกกับจีนและเกาหลีเหนือ

จากที่ประมวลมาข้างต้นนั้นจะเห็นได้ว่า เหมามีความคิดยุทธศาสตร์ที่โดดเด่นเพียงใด แน่นอนแผนยุทธศาสตร์จะยอดเยี่ยมสักเพียงใดก็ตาม ยังต้องผ่านนายและพลทหารจำนวนนับล้านนับแสนไปดำเนินปฏิบัติการในยุทธการและในการรบที่เป็นรูปธรรมอย่างถูกต้อง จึงจะสามารถได้มาซึ่งชัยชนะ แต่อย่างไรก็ตาม การชี้นำทางยุทธศาสตร์ย่อมมีความสำคัญที่จะชี้ขาดว่า สงครามครั้งนั้นจะได้รับชัยชนะหรือประสบความปราชัย

ยุทธศาสตร์ในมิติทางการเมืองและมิติทางเศรษฐกิจ เหมาแบ่งการปฏิวัติของจีนออกเป็น 2 ขั้นตอนคือ การปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่ และการปฏิวัติสังคมนิยมนั้นน่าจะถูกต้องและเหมาะสม

ภาพถ่ายของเหมาเจ๋อตง เมื่อมิ.ย. 1966 เผยแพร่โดยฝ่ายทางการจีน (ภาพจาก XINHUA / AFP)

นับแต่เหมามีฐานะเป็นผู้นำที่มีอำนาจเต็มใน พคจ. เมื่อ ค.ศ. 1935 เป็นต้นมา ในสมัยสงครามกลางเมือง ครั้งที่ 2 เหมาเริ่มปฏิเสธการชี้นำที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสากลที่ 3 แสวงหาวิถีทางสู่ความสำเร็จโดยพึ่งลำแข้งตนเอง นี่เป็นเงื่อนไขที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่เหมาจะสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ทางการเมืองของตนเองอย่างเป็นอิสระ

ขั้นแรกสุดก็คือ การก่อตั้งแนวร่วมแห่งชาติต่อต้านญี่ปุ่น ตั้งแต่ ค.ศ. 1935 ผ่านการแก้ปัญหากรณีที่อันเร่งรัดให้เกิดความร่วมมือครั้งที่ 2 กับพรรคก๊กมินตั้ง อาศัยสงครามประชาชาติขยายกำลังทางกองทัพและฐานที่มั่นต่อต้านญี่ปุ่น ขยายกระบวนการรักชาติรักประชาธิปไตยเรียกร้องให้ก่อตั้งรัฐบาลร่วมในเขตก๊กมินตั๋งปกครอง ผลก็คือสร้างพันธมิตรในกลุ่มบุคคลที่รักชาติรักประชาธิปไตยได้เป็นจำนวนมาก

เมื่อจีนชนะในสงครามต่อต้านญี่ปุ่น กำลังฝ่าย พคจ. เติบใหญ่ถึงขนาดปกครองเขตปลดปล่อยซึ่งมีเนื้อที่ 1,000,000 ตารางกิโลเมตร ที่มีประชากรถึง 100 ล้านคน มีกองทัพ 1,200,000 คน และทหารบ้าน 2,200,000 คน ถึงเวลานี้ พรรคก๊กมินตั๋งทั้งภายใต้ความสนับสนุนของสหรัฐก็ต้องหาทางขจัดกำลัง พคจ. ที่เปรียบเสมือนหนามยอกให้จงได้ ในที่สุดสงครามกลางเมือง ครั้งที่ 3 ก็เกิดขึ้น เหมานอกจากวางแผนยุทธศาสตร์ทางการทหารเพื่อพิชิตข้าศึกในสมรภูมิแล้ว ยังได้เปิดแนวรบที่ 2 ก่อกระบวนการรักชาติรักประชาธิปไตยที่ท่านได้วางพื้นฐานเอาไว้ตั้งแต่ปลายสมัยสงครามต่อต้านญี่ปุ่น แล้วพัฒนาให้กลายเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยประชาชน

เพื่อให้แนวร่วมประชาธิปไตยประชาชนมีฐานรองรับที่มั่นคง เหมายังได้อาศัยประสบการณ์ที่ได้มาจากสงครามกลางเมือง ครั้งที่ 2 ดำเนินการปฏิรูปที่ดินในเขตปลดปล่อยใหม่ในที่ดินจากชนชั้นเจ้าที่ดินมาแบ่งปันให้ชาวนาผู้ไร้ที่ดินหรือมีที่ดินน้อยไม่พอทำกิน เพื่อปลุกใจให้ชาวนาเข้าร่วมสงครามปกปักรักษาที่ดินซึ่งเพิ่งได้รับมา แม้การปฏิรูปที่ดินในสมัยสงครามต่อต้านสหรัฐเพื่อช่วยเหลือเกาหลีก็เกิดบทบาทคล้ายคลึงกัน ชาวนา 300 ล้านคนสลัดเครื่องพันธนาการที่ผูกมัดพวกเขาให้มีชีวิตเยี่ยงทาสมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวด ฯลฯ เป็นเวลาหลายพันปีต่างก็สนับสนุน พคจ. จับปืนสู่สนามรบภายใต้คำขวัญ “รักษาบ้าน ป้องกันประเทศ”

แต่น่าเสียดายที่เมื่อก้าวเข้าสู่ขั้นตอนสร้างสรรค์ประเทศ ท่านเหินห่างจากแนวทางยุทธศาสตร์ที่ท่านกำหนดนี้ไกลออกไปทุกที นับตั้งแต่การปฏิรูประบอบกรรมสิทธิ์เอกชน ในด้านเกษตรกรรมจากกลุ่มช่วยเหลือกันและกันสู่สหกรณ์การผลิตเกษตรกรรมระดับสูง ในด้านหัตถกรรมจากกลุ่มการผลิตหัตถกรรมสู่สหกรณ์การผลิตหัตถกรรม ในด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมทุนนิยม จากรูปแบบทุนนิยมรัฐขั้นต้นและขั้นกลาง ที่ถือการแปรรูปสินค้าตามใบสั่งจากรัฐเป็นหลัก สู่การร่วมประกอบการระหว่างสาธารณะกับเอกชน ใช้เวลาแค่ 5-6 ปี ติดตามมาด้วยการรณรงค์ต่อต้านฝ่ายขวา ปัญญาชนและบุคคลผู้รักชาติประชาธิปไตยถูกเล่นงานอย่างผิด ๆ เป็นจำนวนมาก ต่อด้วยการก้าวกระโดดใหญ่ และขบวนการคอมมูนในชนบทใน ค.ศ. 1958

ด้วยความปรารถนาที่จะเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจของชาติให้แข็งแกร่งทัดเทียมกับมหาอำนาจทั้งหลายในโลก จะได้รอดพ้นปากเหยี่ยวปากเสือที่คอยตะครุบจีนอยู่รอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสหภาพโซเวียตที่ท่านเห็นว่าเป็นพวกลัทธิแก้ที่เปลี่ยนสีแปรธาตุไปแล้ว ยังผลให้เศรษฐกิจของชาติประสบความเสียหายอย่างหนักหน่วง ผ่านการฟื้นฟูที่เริ่มต้นตั้งแต่ ค.ศ. 1960-65 พอเข้า ค.ศ. 1966 เหมาก่อการปฏิวัติใหญ่วัฒนธรรม-ยุควิปโยคนานถึง 10 ปี ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและต่อต้านลัทธิแก้ที่ท่านเห็นว่ากำลังจะครอบงำพรรคของท่าน

เหมาในฐานะนักทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เพราะว่าท่านเป็นองค์หลักในการสรุปความเจนจัดจากการปฏิวัติแห่งการรณรงค์เพื่อภารกิจปลดแอกประชาชาติ และสร้างสรรค์สังคมนิยมแห่งประเทศจีนให้เป็นระบบในนามของความคิดเหมา

เหมาเจ๋อตง (ภาพจาก https://www.marxists.org)

งานเขียนทางทฤษฎีของเหมามีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์ประกอบลัทธิมาร์กซ์ทั้ง 3 ส่วนคือ เศรษฐศาสตร์การเมือง ปรัชญาสสารนิยมวิภาษ และวิภาษวิธีสสารนิยม และทฤษฎีว่าด้วยสังคมนิยม ในจำนวนนี้เด่นเป็นพิเศษคือ ผลงานทางปรัชญา ได้แก่ ว่าด้วยการปฏิบัติ อันเป็นทฤษฎีว่าด้วยการรับรู้ของลัทธิมาร์กซ์ และ ว่าด้วยความขัดแย้ง อันเป็นทฤษฎีว่าด้วยกฎมูลฐานของวิภาษวิธี ซึ่งบทนิพนธ์ ทั้ง 2 เล่มนี้ เหมาตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1937 โดยที่ท่านก็นำเอาทฤษฎีดังกล่าวไปชี้นำการปฏิบัติแห่งการปฏิวัติของท่านเอง จนประสบผลสำเร็จทางมิติการทหาร การเมือง และการเศรษฐกิจ แต่ทว่าท่านก็ต้องประสบความล้มเหลวในการปฏิบัติแห่งการปฏิวัติในเรื่องใหญ่ ๆ หลายครั้ง เพราะท่านฝ่าฝืนหลักปรัชญาที่ท่านพัฒนาด้วยตัวท่านเอง

ถ้ากระนั้นเพราะเหตุใดจึงเกิดความขัดแย้งในตัวท่านถึงขนาดนี้เล่า?

คำตอบคือท่านเน้นการริเริ่มทางอัตวิสัย (Subjective initiative) หรืออัตวิริยภาพแต่ประการเดียว ละเลยไปว่าอัตวิริยภาพจะสัมฤทธิผล ต้องอยู่ในเงื่อนไขทางภววิสัยที่เอื้ออำนวย ซึ่งก็คือยังต้องเน้นการเคารพต่อกฎเกณฑ์ทางภววิสัย ทั้งนี้ ก็เพราะว่าท่านเคยประสบผลสำเร็จในการพิชิตความลำบากยากยิ่งมาแล้วด้วยอัตวิริยภาพของท่านนับครั้งไม่ถ้วน เริ่มต้นแต่การปลุกระดมกรรมกร ชาวนา นักศึกษา ขับไล่เจ้าเหิงธี จนถึงไล่ตีกองทัพสหรัฐและพันธมิตรหนีเตลิดเปิดเปิงกลับลงไปอยู่ฟากใต้ของเส้นขนาน 38 ในสงครามเกาหลี แต่ทั้งนี้ยังต้องมีเงื่อนไขภววิสัยอำนวยกลับกันเมื่อท่านตั้งดัชนีการผลิตเหล็กกล้าให้ไล่ทันอังกฤษภายใน 15 ปี ผลผลิตที่ออกมาส่วนไม่น้อยกลายเป็นเหล็กฟองน้ำที่ใช้การไม่ได้ ก็เพราะความปรารถนาดีของท่านนั้นฝ่าฝืนกฎภววิสัย

การที่ท่านดำเนินการปฏิรูประบอบกรรมสิทธิ์เอกชนให้เป็นระบอบกรรมสิทธิ์สาธารณะ ด้วยวิธีการรวบรัดตัดตอนจากระบอบเศรษฐกิจกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาใช้เวลาแค่ 5-6 ปีให้บรรลุสังคมนิยมเต็มรูป กระทั่งภาคภูมิใจว่าอาจก้าวไปถึงสังคมคอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำ ซึ่งไม่เพียงฝ่าฝืนกฎภววิสัยโดยเน้นอัตวิริยภาพมากเกินไปเท่านั้น หากยังขัดกับกฎการพัฒนาของสรรพสิ่งหมายจะตัดทอนขั้นตอนการผันแปรทางปริมาณ เร่งรัดให้เข้าสู่ขั้นตอนการผันแปรทางคุณภาพก่อนที่เงื่อนไขจะอำนวย ผู้นำรุ่นต่อจากท่านจึงต้องมีการถอยกลับไปอนุญาตให้ฟื้นคืนและพัฒนาระบอบกรรมสิทธิ์ทุกรูปแบบในนามของเศรษฐกิจการตลาดเป็นการชดเชย โดยประกาศว่าจีนยังอยู่ในขั้นตอนสังคมนิยมขั้นต้น

การที่ท่านประกาศถล่มกองบัญชาการของท่านเองในการปฏิวัติใหญ่วัฒนธรรม ก็เพราะว่าท่านเชื่อในกฎ 1 แยกเป็น 2 ที่ถือว่าเป็นหลักมูลฐานของทฤษฎีว่าด้วยความขัดแย้ง โดยสำคัญว่าในศูนย์กลาง พคจ. เองได้เกิดมีกลุ่มลัทธิแก้ที่เป็นตัวแทนชนชั้นกระฎุมพีขึ้นมา แล้วจึงได้ข้อสรุปว่าการต่อสู้ทางชนชั้นยังดำรงอยู่ภายใต้เผด็จอำนาจโดยชนชั้นกรรมาชีพ ดังนั้น ความขัดแย้งที่ท่านประเมินมาแต่แรกว่าเป็นการแยกตัวภายในหมู่ประชาชนนั้นก็กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างเรากับศัตรู

เพราะฉะนั้น การก่อความรุนแรงของเรดการ์ดก็เลยเป็นที่ยอมรับของท่านว่า “ก่อกบฏมีเหตุผล” โดยคิดจะอาศัยพวกเด็กวัยรุ่น “สั่งสอนพวกผู้นำรุ่นแก่เฒ่าที่ติดลัทธิขุนนาง (แปลเป็นไทยก็ว่าติดนิสัยเจ้านาย) สักหน่อย ไม่นึกว่าจะเกิดไหม้เกรียมไปเลย” เพราะไฟแรงไปหน่อย ทั้งนี้ ก็เพราะท่านละเลยหลักทฤษฎีว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมวลชนกับวีรชน พอมวลชนที่เป็นวัยรุ่นยังขาดประสบการณ์ทางการเมืองลุกฮือขึ้นมาเป็นสิบ ๆ ล้านชั่วพริบตาเดียว ในจำนวนนี้มีทั้งคนดีและคนชั่ว

เมื่อท่านควบคุมขบวนการที่สลับซับซ้อนนี้ไม่อยู่ กระแสอนาธิปไตยและความปั่นป่วนก็เกิดขึ้น มิตรสหายที่ร่วมเป็นร่วมตายกันมาหลายสิบปีที่มิได้ล้มลงในสนามเพลาะด้วยลูกกระสุนและดาบปลายปืนของข้าศึก กลับถูกพวกก่อกบฏทรมานล้มลงไปทีละคน ๆ จนท่านรู้สึกว่าตนเองอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายหาทางออกไม่พบ

และแล้วจุดอ่อนเหล่านี้มาจากไหน อธิบายได้อย่างไรว่านักทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้กลับสะดุดเท้าตัวเองล้มอย่างจั๋งหนับนี้ จากข้อมูลที่รวบรวมมาทั้งหมด เราจะพบว่าสิ่งที่หลายท่านระบุว่าท่านเป็นเผด็จการนั้น น่าจะเป็นท่วงทำนองเหลือเดนที่ตกค้างมาจากระบบหัวหน้าครอบครัววงศ์ตระกูล Patriarchal Clan System ที่สืบทอดกันมาหลายพันปีโดยที่ท่านคิดว่าตัวเองมีทั้งสิทธิและหน้าที่ที่จะสั่งสอน กระทั่งลงโทษลูกหลานและน้อง ๆ ที่ไม่อยู่ในโอวาท ดุจเดียวกันกับที่คุณพ่อทำกับท่าน และท่านเคยต่อต้านมาแล้วในวัยเยาว์และวัยหนุ่มประการหนึ่ง

ประการที่สอง ระบบจัดตั้งของ พคจ. ก็มีจุดอ่อนอันเนื่องจากเพิ่งผ่านสงคราม 27 ปีมาหยก ๆ เคยชินกับระบบทหารที่เน้นการรวมศูนย์มากกว่าประชาธิปไตย นั่นแหละคือเหตุผลที่ผู้นำระดับรอง ๆ ทั้งหลายไม่สามารถยับยั้งสิ่งที่ท่านทำผิดเพี้ยนจากระบอบประชาธิปไตยรวมศูนย์อันเป็นหลักการจัดตั้งของ พคจ. ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเองโดนกันและเจ็บตัวกันแทบทุกคน กระทั่งบางคนต้องถึงแก่ชีวิต

ประการที่สาม มวลชนชาวจีนบูชาศรัทธาท่านสูงมาก โดยที่มีความซาบซึ้งในคุณงามความดีของท่านจึงสนับสนุนการกระทำทุกอย่างของท่านทั้งที่ถูกและที่ผิด

สุดท้ายสุขภาพและอายุของท่านก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ท่านตัดสินใจผิด ๆ หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยปฏิวัติใหญ่วัฒนธรรม ช่วงบั้นปลายชีวิตของท่าน

นี่ก็คือโศกนาฏกรรมของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่กอบกู้ประเทศชาติจากภยันตรายที่ใกล้จะถูกลบชื่อออกจากแผนที่โลก โดยถูกฝูงแร้งแห่งจักรวรรดินิยมรุมทึ้งนานนับร้อยปี และนำพาประชาชนจีนไปต่อสู้จนรอดพ้นจากภาวะที่ถูกเหล่าขุนศึกทั้งหลายทำลายจนบ้านแตกสาแหรกขาด ให้ลืมตาอ้าปากกับเขาได้ ท่านทำทุกอย่างเพื่อให้ปิตุภูมิยืนตระหง่านในสากลโลก เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสุข แต่ผลกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม โดยท่านเองก็ไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร จนหมดลมหายใจไปพร้อมความห่วงกังวลในอนาคตของประเทศชาติและประชาชนที่ท่านรักยิ่งชีวิต

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562