ย้อนดูเหตุ “ฟ้าผ่า” พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ไฟไหม้หนักจนต้องรื้อสร้างใหม่

“ไฟไหม้พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ในพุทธศักราช 2332” จิตรกรรมจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร วาดในสมัยรัชกาลที่ 5

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) แจ้งข่าวว่า เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ปีระกา จุลศักราช 1151 (พ.ศ. 2332 ตรงกับ วันที่ 24 พฤษภาคม ตามปฏิทินสุริยคติ) เวลาบ่าย 3 โมง 36 นาที ขณะบังเกิดฝนฟ้าคะนองในกรุงเทพมหานคร อสนีบาตได้ตกต้องหน้าบันพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท แล้วติดเป็นเพลิงขึ้น ไฟไหม้เครื่องบนพระมหาปราสาทกับทั้งหลังคามุขทั้ง 4 ทำลายลงสิ้นแล้วยังลามไปติดไหม้พระปรัศว์ซ้ายด้วยอีกหลังหนึ่ง

ขณะเมื่อเพลิงกำลังเริ่มลุกไหม้นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ตลอดจนพระราชวงศานุวงศ์ทั้งปวง กับทั้งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย และพระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมทุกๆ พระอารามหลวงได้เข้ามาช่วยกันดับเพลิงพร้อมกันทั้งสิ้น พระบาทสมเด็จพระพระเจ้าอยู่หัวดำรัสให้ข้าราชการช่วยกันยกราชบัลลังก์และพระมหาเศวตฉัตรที่กั้นอยู่ออกมาทันก่อนเพลิงจะไหม้ ข้าราชการช่วยกันสาดน้ำบ้าง ช่วยกันขนถุงเงินพระราชทรัพย์ลงทิ้งในสระในพระอุทยานบ้างจนเพลิงสงบ

“ไฟไหม้พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ในพุทธศักราช 2332” จิตรกรรมจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร วาดในสมัยรัชกาลที่ 5

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อปราสาทเก่าเสียแล้วสร้างขึ้นใหม่ โดยทรงให้แก้ไขลักษณะกับทั้งให้ลดขนาดลงเหลือเพียงเท่าพระที่นั่งสุริยามรินทร์ของกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น เมื่อแล้วเสร็จพระราชทานนามว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 เมษายน 2562