เปิดไทม์ไลน์ “ฝนตก“ ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของเมืองไทย เกิดขึ้นตอนไหนบ้าง?

ฝนตก ฟ้าผ่า
(ภาพโดย Keli Black ใน Pixabay)

เปิดไทม์ไลน์ “ฝนตก” “ไฟไหม้” ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของเมืองไทย เกิดขึ้นตอนไหนบ้าง?

เมื่อเกิด ฝนตก หนักทั่วไปในประเทศ สำหรับคนเมืองในกรุงเทพฯ และอีกหลายเมือง คงออกอาการเบื่อไปตามๆ กัน เพราะผลที่ตามมาเมื่อฝนตกคือ รถที่ติดอยู่แล้วติดหนักกว่าเดิม, น้ำรอระบายอยู่บนถนนนานหลายชั่วโมง, การเดินทางไม่สะดวก ฯลฯ

เมื่อพิจารณาภูมิประเทศของไทย ฝนจึงเป็นของคู่กันกับคนที่ปฏิเสธไม่ได้ แม้หลายคนจะพูดว่า “เกิดใต้ฟ้าจะกลัวอะไรกับฝน” แต่หลายครั้ง “ฝนตก” น่ากลัว, แปลก ฯลฯ กว่าที่คิดจริงๆ ซึ่งขอรวบรวมบางส่วนที่ เทพชู ทับทอง เขียนไว้ใน “กรุงเทพฯ ในอดีต” มาเล่าสู่กันฟังดังนี้

พ.ศ. 2069 ฝนตกเป็น “สีแดง” หลังสมเด็จพระชัยราชาธิราชทรงตีได้เมืองเชียงใหม่ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกว่า “ณ วันศุกร เดือน 4 ขึ้น 13 ค่ำ บังเกิดอุบาทว์ มีนิมิต เห็นโลหิต ตกอยู่ ณ ประตูบ้านแลเรือนชนทั้งปวงในเมืองนอกเมืองทุกตำบล” สาเหตุที่ฝนตกเป็นสีแดงนั้น ก็เนื่องจากลมหอบเอาฝุ่นละอองดินแดงขึ้นไปลอยในอากาศนั่นเอง ครั้นเมื่อนฝนตกลงมา จึงได้พาเอาละอองดินแดงติดลงมาด้วย

พ.ศ. 2179 ในเช้าวันปัณณรสีเพ็ญเดือน 8 ขณะที่ฝนกำลังตกพรำๆ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขณะมีพระชนม์ได้ 5 พรรษา เสด็จออกไปทรงเล่นที่เกย พระสนมพี่เลี้ยงทูลห้ามก็ไม่ทรงฟัง จึงจำใจต้องเล่นอยู่ด้วย ก็เกิดอสนีตกลงที่เสาหลักชัยที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงยืนอยู่แตกตลอดลงไปจนถึงพื้นดิน ไม่ทรงได้รับอันตราย ส่วนพระสนมพี่เลี้ยงต่างสลบไปตามๆ กัน

ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จไปทรงปฏิบัติพระสงฆ์ที่วัดชัยวัฒนาราม เมื่อทราบข่าวเสด็จกลับพระราชวัง ทรงรับสั่งให้หมอเข้าไปแก้ไขพระสนมพี่เลี้ยงทั้งหลาย ครั้นทอดพระเนตรรอยอสนีประจักษ์ จึงโปรดฯ ให้สมโภชพระกุมารเป็นเวลา 3 วัน

พ.ศ. 2186 พระโหราธิบดีถวายฎีกาว่า ภายใน 3 วันจะเกิดเพลิงไหม้ในพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงรับฟังก็ทรงตกพระทัย โปรดให้ขนข้าวของในพระราชวังไปไว้ที่วัดชัยวัฒนาราม สำหรับในพระราชวังก็ได้มีการกวดขันเรื่องฟืนไฟอย่างเต็มที่ทั้งเกณฑ์ไพร่จำนวน 3,000 คน อยู่เฝ้ารักษาตลอดเวลา กับให้เรือตำรวจคอยบอกเหตุทุกโมงยามจนครบ 3 วัน

ในวันที่ 3 พอถึงเวลา 4 โมงเช้า เรือตำรวจได้ลงไปกราบทูลว่า เหตุการณ์ยังเป็นปกติอยู่ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงได้มีพระราชดำรัสว่า ครั้งนี้พระโหราธิบดีคงทำนายผิด จึงมีพระราชดำรัสสั่งเรือเพื่อเสด็จกลับพระราชวัง ครั้นเสด็จมาถึงฉนวนประจำท่า พระโหราธิบดีซึ่งนั่งอยู่ท้ายเรือพระที่นั่งได้กราบทูลขอให้พระองค์งดเสด็จเข้าไปในพระราชวังจนกว่าจะย่ำฆ้องค่ำแล้วจึงจะสิ้นพระเคราะห์

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงให้ลอยเรือพระที่นั่งอยู่ ครั้นถึงเวลา 5 โมงเย็น เกิดพยับเมฆคลุ้มขึ้นทางทิศประจิม ฝนก็ตกพรำๆ ไม่นานจากนั้น อสนีก็ฟาดเปรี้ยงลงมาต้องเหมพระมหาปราสาท พระที่นั่งมังคลาภิเศก (ปราสาททอง) เกิดติดไฟพวยพลุ่งอย่างรวดเร็ว จนดีบุกหลังคาพระที่นั่งไหลลงมาเหมือนน้ำฝน ทำให้พวกที่อยู่ในพระราชวังซึ่งเตรียมที่จะดับไฟ ไม่สามารถดับไปได้เต็มที่ ไฟจึงไหม้ติดต่อกันไปจนถึงห้องคลัง เรือนหน้า เรือหลังเป็นจำนวน 110 หลังเพลิงจึงสงบลง

นอกจากนี้ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 เรียบเรียงโดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) บันทึกเกี่ยวกับฝนตกฟ้าคะนอง สรุปความได้ดังนี้

พ.ศ. 2332 เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ปีระกา จุลศักราช 1151 (พ.ศ. 2332 ตรงกับวันที่ 24 พฤษภาคม ตามปฏิทินสุริยคติ) เวลาบ่าย 3 โมง 36 นาที ขณะบังเกิดฝนฟ้าคะนองในกรุงเทพมหานคร อสนีบาตได้ตกต้องหน้าบัน “พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท” แล้วติดเป็นเพลิงขึ้น ไฟไหม้ เครื่องบนพระมหาปราสาทกับทั้งหลังคามุขทั้ง 4 ทำลายลงสิ้นแล้วยังลามไปติดไหม้พระปรัศว์ซ้ายด้วยอีกหลังหนึ่ง

“ไฟไหม้พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ในพุทธศักราช 2332” จิตรกรรมจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร วาดในสมัยรัชกาลที่ 5

ภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อปราสาทเก่าที่เพลิงไหม้เสียหายออก แล้วให้สร้างขึ้นใหม่ เมื่อเสร็จแล้วพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท”

ที่ยกมานี้เป็นเพียงบางส่วนของ ฝนตกครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ส่วนฝนที่ตกอยู่ขณะนี้คงต้องระวังเรื่องสุขภาพ และตรวจสอบเส้นทางการเดินทาง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤษภาคม 2562