ฝนตกหนัก-น้ำท่วมใหญ่ ในเมืองหลวง ที่คนกทม. แต่ละรุ่นต้องเผชิญมา

ฝนตก น้ำท่วม สี่แยกบางพลัด
น้ำท่วมสี่แยกบางพลัด ต้นเดือนพฤศจิกายน 2554 (ภาพจากห้องสมุดภาพมติชน)

ฝนตกน้ำท่วม ดูจะกลายเป็นคำและส่วนขยายที่อยู่คู่กันจนคุ้นเคย เพราะ “ฝนตก” เมื่อใด ก็มักมี “น้ำท่วม” ตามมาบ่อยครั้ง แต่ประสบการณ์ฝนตกน้ำท่วมของคนกรุงเทพฯ แต่ละรุ่น แต่ละยุค ย่อมจดจำต่างกันไป

คนหนุ่มสาวอายุ 20 ปีขึ้นไปในปัจจุบัน คงทันและพอจะจดจำได้ว่า ปี 2554 น้ำท่วม หนักขนาดไหน, ผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ก็อาจเล่าย้อนถึงประสบการณ์ปี 2526 ปี 2537 ปี 2538, ผู้ที่อายุ 90 ปีขึ้นไป คงเล่าได้ว่าปี 2485 สถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ ที่ใดบางที่น้ำท่วม ฯลฯ

หากประวัติ ฝนตก น้ำท่วม กรุงเทพฯ เกิดในทุกรัชกาล มีการบันทึกหลักฐานมาเรื่อยมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ซึ่งอธิกาณร์ ปุ๊ดตัน, ภัทรมน แจ่มทุ่ง ค้นคว้าและเรียบรียงในบทความชื่อ “จดหมายเหตุมหาอุทกภัย 2554 กู้แหล่งโบราณสถานหลังน้ำลด” (ศิลปวัฒนธรรม, ธันวาคม 2554) ขอสรุปความเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ แต่ละรัชกาลดังนี้

รัชกาลที่ 1 ปีมะเส็ง พ.ศ. 2328 ปีที่สร้างกำแพงพระนครและพระราชวังกรุงรัตนโกสินทร์เสร็จ ได้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมกรุง ระดับน้ำที่ท้องสนามหลวงสูงถึง 8 ศอก 10 นิ้ว วัดปริมาณน้ำภายในพระบรมมหาราชวัง บริเวณพื้นท้องพระโรงพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานได้ถึง 4 ศอก 8 นิ้ว

รัชกาลที่ 2 วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2362 ส่งผลให้เกิดปัญหาข้าวยากหมากแพงเหมือนครั้งแรก

รัชกาลที่ 3 วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2374 น้ำท่วมทั่วพระราชอาณาจักรและมากกว่าปีมะเส็ง พ.ศ. 2328

รัชกาลที่ 4 เกิดน้ำท่วมใหญ่ 2 ครั้ง วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2402 และวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2410

รัชกาลที่ 5 วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 น้ำท่วมสูงถึงขอบประตูพิมานไชยศรี (ประตูทิศเหนือ พระบรมมหาราชวัง)

รัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2460 น้ำท่วมไปถึงลานพระบรมรูปทรงม้า จนมีกิจกรรมการแข่งเรือ

รัชกาลที่ 8 เกิดน้ำท่วมนานถึง 2 เดือน ปริมาณน้ำมากกว่าเมื่อ พ.ศ. 2460 เกือบเท่าตัว

.ศ. 2485 เริ่มท่วมตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึง 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 น้ำท่วมกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่น บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า สูงถึง 1.50 ม. และท่วมนานถึง 3 เดือน รวมถึงพื้นที่สำคัญๆ อีกหลายแห่ง เช่น สถานีรถไฟหัวลำโพง ถนนเยาวราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภูเขาทอง ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น

นับเป็นเหตุการณ์ “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อมากักเก็บน้ำ

น้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2485

รัชกาลที่ 9 ฝนตกน้ำท่วม ยังคงเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งสร้างความเดือนร้อนแก่ชาวกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องดังเช่น

พ.ศ. 2518 พายุดีเปรสชันได้พาดผ่านตอนบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำสูงทางภาคกลางตอนบน จนเป็นเหตุให้น้ำป่าสักไหลทะลักเข้าท่วมกรุงเทพฯ

พ.ศ. 2521 มีพายุลูกใหญ่ 2 ลูก คือเบส” และ “คิทได้พาดผ่านพื้นที่ตอนบนลุ่มแม่น้ำปริมาณสูง รวมไปถึงปริมาณน้ำจากแม่น้ำป่าสักไหลบ่าเข้าท่วมเป็นจำนวนมาก ทำให้ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ถูกน้ำท่วมโดยปริยาย

พ.ศ. 2526 ฝนตก น้ำท่วม รุนแรงมาก เนื่องจากมีพายุพัดผ่านภาคเหนือและภาคกลางช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ประกอบกับมีพายุหลายลูกพัดผ่านกรุงเทพฯ ช่วงเดือนตุลาคมวัดปริมาณฝนทั้งปี 2,119 มม. มีปัญหาจราจรที่รถกับเรือใช้เส้นทางเดียวกัน

เรือวิ่งแข่งกับรถเมล์ เมื่อน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี พ.ศ. 2526 (ภาพจากบทความ “กรุงเทพฯ คืนสู่ทะเล มหานครใต้บาดาล”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน กันยายน 2536)

พ.ศ. 2533 เดือนตุลาคม พายุโซนร้อน “อีรา” และ “โลล่า” ได้พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคกลางทำให้ฝนตกหนักที่พื้นที่กรุงเทพฯ ถึง 617 มม. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังสูงประมาณ 30-60 ซม. ในหลายพื้นที่ ทั้งบริเวณเขตมีนบุรี หนองจอก บางเขน ดอนเมือง บางกะปิ พระโขนง ลาดกระบัง ลาดพร้าว บึงกุ่ม และปริมณฑล โดยน้ำท่วมขังเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน

.ศ. 2537 เกิดพายุฝนร้อนถล่มกรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อ 7-8 พฤษภาคม วัดปริมาณฝนมากที่สุดที่เขตยานนาวา 457.6 มม. เฉลี่ยทั่วเขตกรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำฝน 200 มม. มากที่สุดในประวัติการณ์ เรียกกันว่า “ฝนพันปี” เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่สร้างความเดือดร้อนทั่วกรุงเทพฯ

.ศ. 2538 ฝนตกในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน เนื่องจากพายุหลายลูกผ่าน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และมีฝนตกหนักช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เนื่องจากพายุ “โอลิส” ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูง วัดที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ สูงถึง 2.27 เมตร สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (เท่าน้ำท่วม พ.ศ. 2485) ทำให้น้ำล้นคันป้องกันริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำสูงถึง 50-100 ซม. น้ำเหนือหลากท่วมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี หมู่บ้านไวท์เฮ้าส์ ตอนเหนือของกรุงเทพฯ นาน 2 เดือน

.ศ. 2539  ฝนตกเกิดน้ำท่วมขังตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม ตั้งแต่หลังปี 2539 เป็นต้นมา ยังไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงในเขตกรุงเทพฯ มีเพียงน้ำท่วมขังไม่นานก็ระบายออกได้สู่ภาวะปกติ

.ศ. 2549 เกิดอุทกภัยใน 47 จังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลให้หลายพื้นที่มีสภาพน้ำท่วมขัง ประกอบกับมีการผันน้ำเข้าเก็บกักเอาไว้ในพื้นที่ว่างเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำ ท่วมโดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรในหลายจังหวัดภาคกลาง แต่เมื่อจังหวัดนั้นๆ ไม่สามารถรับน้ำได้ไหว น้ำจึงไหลเข้าท่วมขังที่กรุงเทพฯ เกือบ 1 เมตร นานกว่าสัปดาห์

.ศ. 2554 เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็น มหาอุทกภัย ครั้งใหญ่ที่สุด นับแต่การเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมมาในอดีตเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนไทยมีฝนตกชุกจนมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้น เดือนกรกฎาคม ได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “นกเตน” (NOCK TEN) ส่งผลทำให้มีฝนตกชุกขึ้นมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา นำมาสู่การเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในหลายๆ พื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศนับตั้งแต่ จังหวัดสุโขทัย ตาก พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และกำแพงเพชร

เดือนสิงหาคม-กันยายน ประเทศไทยมีพายุเข้ามาอย่างต่อเนื่องถึง 4 ลูก เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์จึงจำเป็นต้องกักเก็บน้ำเอาไว้เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งอยู่ทางตอนล่างของเขื่อน และได้มีการเร่งระบายน้ำจากเขื่อนออกในเดือนตุลาคม เมื่อปริมาณน้ำเกินความจุของเขื่อนแล้ว ซึ่งมวลน้ำมหาศาลที่ได้ถูกปล่อยมานั้นได้เข้าท่วมตั้งแต่ จังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก (อีกครั้ง) รวมถึงที่จังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และที่หนักที่สุดก็คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เดือนตุลาคม ปริมาณน้ำจากทางจังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี อ่างทองพระนครศรีอยุธยา ได้ไหลหลากเป็นวงกว้างออกจากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงทำให้น้ำไหลเข้าท่วมในเขตจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม จนกระทั่งในช่วงปลายๆ ของเดือนตุลาคมน้ำได้ไหลเข้าท่วมในพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ

วันที่ 22 ตุลาคม น้ำได้หลากเข้าท่วมพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) และตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม ได้ไหลเข้าท่วมสนามบินดอนเมือง ท่วมมหาลัยวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และขยายวงกว้างไปทั่วเขตดอนเมือง เขตจตุจักร และได้ขยายบริเวณท่วมกระจายไปทั่วในเกือบทุกๆ เขตพื้นที่ทั้งทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ

น้ำท่วมรันเวย์สนามบินดอนเมือง มหาอุทกภัยปี 2554 (ภาพจาก www.matichon.co.th)

ต้นเดือนพฤศจิกายนได้ไหลเข้ามาถึงบริเวณห้าแยกลาดพร้าว เขตจตุจักร ระดับน้ำสูงโดยเฉลี่ย 50-80 ซ.ม. ประมาณกลางเดือนธันวาคมน้ำในบางพื้นที่เริ่มลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ แต่เฉพาะพื้นที่ฝั่งธนบุรี น่าจะข้ามพ้นไปสู่ปีใหม่ พ.ศ. 2555 น้ำจึงจะลด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤษภาคม 2565