น้ำท่วมใหญ่ในไทยครั้งแรกที่พบในบันทึก ขุนนาง-พระบรมวงศานุวงศ์ต้องลอยเรือเข้าเฝ้า

น้ำท่วม กรุงเทพมหานคร ฝน ฝนตกหนัก น้ำท่วมใหญ่
น้ำท่วมกรุงเทพฯ พ.ศ. 2485

น้ำท่วมใหญ่ในไทยครั้งแรกที่พบในบันทึก ขุนนาง-พระบรมวงศานุวงศ์ต้องลอยเรือเข้าเฝ้า

เรื่องเกี่ยวกับน้ำเป็นเรื่องสำคัญในวิถีชีวิตของมนุษย์ทุกยุคสมัย เมื่อน้ำสามารถให้คุณได้ มันก็ให้โทษได้เช่นเดียวกัน เมื่อครั้งโบราณ คนกรุงในช่วงเวลานั้นก็ยังต้องรับมือกับ “น้ำท่วมใหญ่” หรืออุทกภัยครั้งใหญ่ ใกล้เคียงกับวิถีชีวิตคนกรุงที่เป็นอยู่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์น้ำท่วมในเมืองไทยในสมัยอดีตไม่ปรากฏในพงศาวดารแบบชัดเจน ส. พลายน้อย เล่าว่า มีปรากฏในจดหมายเหตุแบบประปรายหลายครั้งด้วยกัน นับตั้งแต่ครั้งแรกที่พบหลักฐานคือเมื่อพ.ศ. 2328 ช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ไปจนถึงปี พ.ศ. 2485 เลยทีเดียว

Advertisement

สำหรับเหตุการณ์ “น้ำท่วมใหญ่” ครั้งแรก ซึ่งมีปรากฏอยู่ในบันทึกนั้น เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2328 อันเป็นปีมะเส็ง หลังจากสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เสร็จไม่นานนัก พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 บันทึกว่า

“ลุจุลศักราช 1147 ปีมะเส็ง สัปตศก การสร้างพระนครการสร้างพระนคร และ พระมหาปราสาทราชนิเวศน์สำเร็จดังพระราชประสงค์ จึงทรงพระราชดำริว่าเมื่อปีขาลจัตวาศก ได้ทำการพระราชพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขป ยังไม่พร้อมมูลเต็มตามตำรา และบัดนี้ก็ได้ทรงสร้างพระนครและพระราชมนเทียรสถานขึ้นใหม่ ควรจะทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้เต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณี จะได้เป็นพระเกียรติยศและเป็นศรีสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง เป็นที่เจริญสุขแก่ไพร่ฟ้าประชาราษฎรทั่วไปในพระราชอาณาเขต

จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ และเสนาพฤฒามาตย์กระวีชาติราชบัณฑิตยาจารย์ ชีพ่อพราหมณ์ปรึกษาพร้อมกันเห็นสมควรแล้ว จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

อย่างไรก็ตาม พระราชพงศาวดารไม่ได้บรรยายถึงเหตุการณ์น้ำท่วมแบบชัดเจนนัก สมบัติ พลายน้อย บรรยายว่า ในจดหมายเหตุที่ค้นพบเล่าอุทกภัยครั้งนั้น (พ.ศ. 2328) ทำให้ระดับน้ำที่สนามหลวงลึกถึง 8 ศอก 10 นิ้ว นักวิชาการและนักเขียนด้านประวัติศาสตร์สันนิษฐานสาเหตุที่น้ำลึกขนาดนั้นว่า อาจเป็นเพราะสนามหลวงในช่วงเวลานั้นยังเป็นที่ลุ่ม

ขณะที่สภาพของพระบรมมหาราชวังก็มีสภาพน้ำท่วมท้องพระโรง ระดับน้ำที่ท่วมพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานวัดได้ 4 ศอก 8 นิ้ว สภาพแบบนี้ย่อมทำให้เสด็จออกขุนนางไม่ได้แล้ว และย้ายไปว่าราชการบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทที่พื้นพระที่นั่งสูงกว่าระดับน้ำ

สมบัติ พลายน้อย บรรยายในหนังสือ “เล่าเรื่องบางกอก” ว่า

“การประชุมขุนนางครั้งนั้นลำบากไม่น้อย เพราะบรรดาข้าราชการแลพระบรมวงศานุวงศ์ต้องลอยเรือเข้าเฝ้า จอดเรือเทียบถึงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเลยทีเดียว”

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ยังบันทึกว่า เดือน 12 ปีนั้นเอง น้ำมากลึกถึง 8 ศอก 10 นิ้ว และยังบรรยายว่า ภัยที่เกิดขึ้นเป็นผลให้ข้าวกล้าในท้องนาเสียหาย “บังเกิดทุพภิกขภัย ข้าวแพงถึงเกวียนละชั่ง ประชาราษฎรทั้งหลายได้ความขัดสนด้วยอาหารกันดารนัก จึงมีพระราชโองการให้กรมนาจำหน่ายข้าวเปลือกในฉางหลวงออกแจกจ่ายราษฎรเป็นอันมาก” ซึ่งเหตุการณ์ข้าวแพงนี้ดำเนินต่อไปจนถึงปีมะเมีย พ.ศ. 2329

“น้ำท่วมใหญ่” ครั้งต่อมาเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2362 ปีเถาะ น้ำท่วมพระนคร ระดับน้ำที่ท่วมสนามหลวง น้ำลึก 6 ศอก 8 นิ้ว และยังท่วมพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานจนเสด็จออกว่าราชการไม่ได้อีกด้วย และย้ายไปว่าราชการที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สมบัติ พลายน้อย บรรยายว่า น้ำท่วมครั้งนี้ยังตามมาด้วยปัญหาข้าวแพงจนประชาชนอดอยากกันด้วย

ขณะที่น้ำท่วมเมื่อ พ.ศ. 2485 เป็นอีกครั้งที่หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง สถิติส่วนหนึ่งจากระดับน้ำหน้ากองรังวัดที่ดินธนบุรี ระดับน้ำสูง 2.27 เมตร

ปี 2485 น้ำท่วมไปเกือบทั่วกรุงเทพฯ
หัวลำโพงปี 2485 มีทั้งรถไฟ และเรือพาย (ภาพจาก “ประมวลภาพเหตุการน์น้ำท่วม พุทธสักราช 2485”)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียง; สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจชำระและทรงพระนิพนธ์อธิบาย. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ, กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2531

ส. พลายน้อย. เล่าเรื่องบางกอก (ฉบับสมบูรณ์). พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ, 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤษภาคม 2563