ความนัยของการสร้างกรุงเทพฯ ตามคติพระอินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1

ภาพวาดพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

การล่มสลายของอาณาจักรอยุธยาได้สร้างความตระหนกแก่ชนชั้นนำสยามเป็นอย่างมาก เพราะมิใช่เป็นแค่การสูญเสียทางวัตถุ แต่เป็นการล่มสลายในแง่อุดมการณ์รัฐ เป็นความล้มเหลวของระบบการปกครอง ระบบการเมือง ระบบความเชื่อ ตลอดจนค่านิยมต่างๆ

เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ แม้ในด้านหนึ่งดูจะเป็นการรื้อฟื้นอยุธยาขึ้นมาอีกครั้ง แต่หากพิจารณาในอุดมการณ์รัฐ รวมถึงรูปธรรมทางกายภาพของเมืองและสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) ก็อาจพูดได้ว่า แก่นแท้ของกรุงรัตนโกสินทร์คือการปรุงอุดมการณ์ขึ้นใหม่ มิใช่การลอกเลียนของเก่าแต่อย่างใด

เป็นที่ทราบกันดีว่า อุดมคติของรัฐจารีตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือการพยายามสร้างรูปกายภาพของรัฐให้เป็นภาพจำลองของจักรวาลตามความเชื่อทางศาสนาแบบฮินดู-พุทธ ความมั่นคงของรัฐตลอดจนความชอบธรรมของชนชั้นปกครองขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการอธิบายอำนาจตนเองและอำนาจรัฐเข้ากับเทพปกรณัมต่างๆ ตลอดจนการสร้างความกลมกลืนระหว่างโครงสร้างรัฐกับโครงสร้างจักรวาลตามความเชื่อทางศาสนา การสร้างรูปกายภาพที่สะท้อนคติจักรวาลอย่างถูกต้องสมบูรณ์จะนำมาซึ่งความเชื่อว่ารัฐจะมีปกติสุขตลอดไป เพราะได้ดำเนินไปตามครรลองของโครงสร้างแห่งจักรวาลอันเป็นสัจธรรมสูงสุด

ดังนั้น คำถามที่สำคัญคือ เมื่อจักรวาลของอยุธยาได้สูญสิ้นไปแล้ว กรุงรัตนโกสินทร์ที่ถูกสถาปนาขึ้นแทนนั้น ได้ถูกสร้างขึ้นภายใต้ความพยายามที่จะสะท้อนหรือจำลองโครงสร้างจักรวาลวิทยาในแบบใด

คำตอบคือ กรุงรัตนโกสินทร์สร้างขึ้นภายใต้โครงสร้างทางคติจักรวาลทางพุทธศาสนา ที่เน้นการอธิบายผ่านบทบาทพระอินทร์มากขึ้นอย่างน่าสังเกต การเน้นบทบาทพระอินทร์ที่เพิ่มมากขึ้น ตอบสนองต่อบริบททางสังคมยุคต้นรัตนโกสินทร์ 2 ประการคือ 1. คติพระอินทร์สามารถสร้างความชอบธรรมทางการเมืองในแง่ของสิทธิธรรมการขึ้นครองราชย์ ที่คตินิยมของอยุธยาให้ไม่ได้ 2. คติพระอินทร์เป็นภาพตัวแทนในเชิงสัญลักษณ์ที่สอดคล้องที่สุดกับการเน้นพุทธศาสนาและคติธรรมราชาให้ขึ้นมาเป็นอุดมการณ์หลักอย่างใหม่ของรัฐ

คติพระอินทร์กับความชอบธรรมทางการเมือง

ประวัติพระอินทร์ในคติพุทธศาสนา พระอินทร์องค์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในสังคมไทยคือ มฆมาณพ เนื้อหาใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” กล่าวว่า มฆมาณพเป็นมนุษย์อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอจลคาม เป็นผู้ตั้งอยู่ในศีลธรรม มีเพื่อนที่เกื้อหนุนจุนเจือกัน 32 คน (รวมมฆมาณพก็เป็น 33 คน) ในคราวหนึ่ง มฆมาณพมีจิตกุศลต้องการสร้างศาลาบนทาง 4 แพร่ง สำหรับคนเดินทางไกลมาพัก จึงชวนเพื่อนและภรรยามาร่วมกันสร้างศาลาจนแล้วเสร็จ

ด้วยบุญกุศลดังกล่าว เมื่อมฆมาณพตายจึงไปเกิดเป็นพระอินทร์ปกครองสวรรค์ดาวดึงส์ พร้อมๆ กับเพื่อน 32 คนและภรรยาก็ตามกันไปเกิดเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เช่นกัน และเมื่อพระอินทร์สิ้นบุญก็ต้องออกจากการเป็นพระอินทร์ โดยจะมีมนุษย์ผู้มีบุญคนอื่นขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน

มฆมาณพพร้อมเพื่อนและภรรยา กำลังสร้างศาลาที่พักริมทาง ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในหอไตรวัดระฆังโฆษิตาราม ฝีมือพระอาจารย์นาค จิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 1

จากลักษณะของพระอินทร์ข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ใครก็ตามไม่ว่าจะเป็นสามัญชนหรือเจ้านายสูงศักดิ์ หากประกอบบุญบารมีมากก็มีสิทธิขึ้นเป็นพระอินทร์ได้เท่าเทียมกัน (ในขณะที่คติที่พระรามหรือพระนารายณ์ แบบอยุธยาไม่สามารถให้ความหมายเช่นนี้ได้) ซึ่งแง่มุมในเชิงความหมายแบบนี้ สถานะของกษัตริย์เปรียบกับพระอินทร์ ก็ย่อมช่วยเสริมความชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 1 ได้เป็นอย่างดี

สัญลักษณ์พระอินทร์ในพระบรมมหาราชวัง

หลักฐานทางศิลปะและสถาปัตยกรรมหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า รัชกาลที่ 1 น่าจะเปรียบพระองค์เองเป็นดั่งพระอินทร์ ที่ชัดเจนคือ การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2 ในปี 2328 พระองค์ได้ประกอบพระราชพิธีนี้ภายในพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาทที่เพิ่งสร้างเสร็จ พระราชพิธีดังกล่าว เมื่อมาประกอบพิธีภายในพระที่นั่งที่มีชื่อแสดงความหมายตรงตัวถึงการอภิเษกขึ้นเป็นพระอินทร์เช่นนี้ ก็หนีไม่พ้นการสื่อความหมายให้กับรัชกาลที่ 1 ว่าพระองค์ทรงเป็นพระอินทร์

หน้าบันรูปพระอินทร์ประทับในพระวิมานปราสาทสามยอดของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระบรมมหาราชวัง

นอกจากนี้ ที่ประทับของพระองค์ ยังสร้างขึ้นให้มีความหมายเป็นเสมือนที่ประทับของพระอินทร์อีกด้วย สัญลักษณ์ที่สื่อนัยดังกล่าวคือ ลวดลายหน้าบันบนหมู่พระวิมานที่ประทับทั้ง 3 องค์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำเป็นลายพระอินทร์ประทับอยู่เหนือบัลลังก์ภายในปราสาท

สัญลักษณ์ดังกล่าวถูกย้ำความหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยพระองค์ได้พระราชทานนามพระที่นั่งทั้ง 3 ขึ้นใหม่ ให้มีความเกี่ยวพันกับพระอินทร์โดยตรงคือ จักรพรรดิพิมาน, ไพศาลทักษิณ และอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน

อีกทั้งรัชกาลที่ 3 ยังโปรดเกล้าฯ ให้ช่างเขียนภาพภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ (ซึ่งเป็นพระที่นั่งในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ทุกพระองค์นับตั้งแต่รัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา) โดยเขียนเป็นเรื่องประวัติพระอินทร์ตอนเป็นมฆมาณพ ภาพสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และการจุติเป็นพระอินทร์ของมฆมาณพ ซึ่งภาพทั้งหมด เมื่อพิจารณาประกอบกับหน้าที่ใช้สอยและบทบาทเชิงสัญลักษณ์แล้ว ก็คือการย้ำให้เห็นถึงสถานภาพของกษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ว่าเป็นพระอินทร์

หลักฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ รัชกาลที่ 1 ทรงถวายเรือนที่ประทับในสมัยยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาจักรีให้เป็นหอไตรของวัดระฆังโฆษิตาราม ความน่าสนใจอยู่ตรงที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ พระอาจารย์นาค จิตรกรเอกในรัชสมัย เขียนจิตรกรรมฝาผนังขึ้น เป็นเรื่องประวัติของมฆมาณพ โดยมีฉากสำคัญคือการทำบุญด้วยการสร้างศาลาจนมฆมาณพได้ไปเกิดเป็นพระอินทร์ ซึ่งนัยทางสัญลักษณ์ของภาพจิตรกรรมนี้ เมื่อผนวกเข้ากับการถวายเรือนของพระองค์ ทำให้มองเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากว่า ทรงกำลังเปรียบพระองค์เป็นดั่งมฆมาณพที่สร้างศาลาจนได้เป็นพระอินทร์

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 1 เอง ทรงแสดงความสนพระทัยมากต่อประวัติของมฆมาณพ สถานะของพระอินทร์ และสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นอย่างยิ่ง พระองค์มีพระราชปุจฉาหลายคราวต่อคณะสงฆ์เพื่อถามไถ่เกี่ยวกับเรื่องราวของพระอินทร์ตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนา

ใน “ไตรภูมิโลกยวินิจฉยกถา” วรรณกรรมชิ้นสำคัญที่สะท้อนโลกทรรศน์ของชนชั้นนำสมัยรัชกาลที่ 1 ได้เป็นอย่างดี พบการเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระอินทร์มากเป็นพิเศษ  โดยเฉพาะหากพิจารณาเทียบกับคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับโลกยสัณฐานฉบับอื่นๆ ที่เขียนขึ้นก่อนหน้านี้ อาทิ ไตรภูมิพระร่วง หรือคัมภีร์โลกสัณฐานโชตรตนคัณฐี เป็นต้น และมิใช่เพียงรัชกาลที่ 1 เท่านั้น แต่ชนชั้นนำอื่นๆ ในรัชสมัยของพระองค์ก็ดูจะให้ความสนใจต่อเรื่องราวพระอินทร์มากเช่นกัน อาทิ วรรณกรรมเรื่อง “สมบัติอมรินทร์คำกลอน” ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่เรื่องราวทั้งหมดอุทิศให้กับประวัติพระอินทร์และดาวดึงส์

พระอินทร์และสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในสมุดภาพไตรภูมิ (ภาพจาก สมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวงสมัยกรุงธนบุรี เลขที่ 10 ปัจจุบันเก็บรักษาภายในหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ)

กรุงเทพฯ เมืองพระอินทร์

หลายท่านอาจสงสัยว่า ที่ผ่านมางานเขียนส่วนใหญ่มักอธิบายว่า กษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์เป็นพระนารายณ์อวตาร โดยใช้หลักฐานคือ ลายหน้าบันของพระอุโบสถต่างๆ ที่นิยมสร้างขึ้นด้วยรูปนารายณ์ทรงครุฑ หรือความนิยมในวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ที่ถูกถ่ายถอดออกมาเป็นภาพจิตรกรรมต่างๆ

แน่นอน เราไม่อาจปฏิเสธความจริงดังกล่าวได้ แต่สิ่งที่ควรทำความเข้าใจก็คือ ไม่แปลกแต่อย่างใดที่กษัตริย์จะอ้างการเป็นเทพหลายองค์ในเวลาเดียวกัน เพราะคติความเชื่อทั้งหมดล้วนผสมผสานกันมายาวนานจนยากจะแยกออกจากกันได้ แต่จากหลักฐานแวดล้อมหลายอย่างได้ทำให้เชื่อได้ว่า คติพระอินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นความเชื่อที่ถูกยกขึ้นให้เป็นหลักสำคัญของรัฐมากกว่าคติอื่น

สิ่งที่ยืนยันความคิดนี้คือ การยกพระแก้วมรกตขึ้นเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่สุดของรัฐ

ในตำนานพระแก้วมรกตที่ปรากฏอยู่ในชินกาลมาลีปกรณ์ได้กล่าวไว้ว่า การสร้างพระแก้วมรกตนั้น พระอินทร์ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นอย่างมาก ทั้งอาสาไปขอ “แก้วมณีโชติ” มาจากพวกกุมภัณฑ์เพื่อนำมาสร้างองค์พระ (แม้จะไม่สำเร็จแต่พระอินทร์ก็ได้ “แก้วอมรกต” มาแทน) และยังมีส่วนร่วมในการสร้างโดยให้พระวิสสุกรรมลงมาเป็นนายช่าง จนอาจกล่าวได้ว่า พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นโดยการสนับสนุนอย่างแข็งขันของพระอินทร์

ดังนั้น การที่รัชกาลที่ 1 ยกพระแก้วมรกตขึ้นเป็นหลักประธานของรัฐจึงมีนัยที่เน้นความสำคัญของคติพระอินทร์ไปพร้อมกัน ดังจะเห็นได้จากลายหน้าบันพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต (วัดพระแก้ว) ในสมัยรัชกาลที่ 1 ทำขึ้นเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งสอดรับกับประวัติพระแก้วมรกต

นอกจากพระอุโบสถวัดพระแก้วแล้ว หอมณเฑียรธรรมภายในวัดก็ยังทำหน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณเช่นกัน ในขณะที่องค์พระศรีสรรเพ็ชดาญาณ พระประธานของวัดพระศรีสรรเพ็ชร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหลักประธานของรัฐอยุธยา กลับมิได้มีตำนานที่เกี่ยวข้องใดๆ เลยกับพระอินทร์ ทำให้เห็นว่า แม้วัดพระแก้วจะสร้างขึ้นบนคติการสร้างวัดประจำวังเลียนแบบวัดพระศรีสรรเพ็ชรในสมัยอยุธยา แต่ในแง่ความหมายทางสัญลักษณ์แล้วมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน

เหนืออื่นใด รัชกาลที่ 1 ยังได้ทรงเปลี่ยนชื่อราชธานีใหม่ (หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ของพระองค์) จากชื่อเดิมที่พระราชทานเมื่อคราวปราบดาภิเษกไว้ว่า “กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ ราชธานีบูรีรมย์อุดมนิเวศน์มหาสถาน” มาเป็นชื่อที่มีนัยสอดคล้องกับองค์พระแก้วมรกตและพระอินทร์ว่า “กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร มหินทราอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมาน เอาวตารสฐิตย์สักะทัตติยวิศณุกรรมประสิทธิ์”

คำว่า “รัตนโกสินทร์” และ “สักะทัตติยวิศณุกรรมประสิทธิ์” นั้น สะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนนามของราชธานีใหม่นี้ ตั้งใจที่จะเน้นความสำคัญของพระอินทร์โดยตรง หรือกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ กรุงเทพฯ ราชธานีศูนย์กลางของรัฐ ได้ถูกสร้างขึ้นให้เป็นเมืองพระอินทร์ ซึ่งแตกต่างจากอยุธยาซึ่งถูกสร้างขึ้นให้เป็นเมืองของพระราม

การเปรียบกรุงเทพฯ เป็นเมืองพระอินทร์ยังได้รับการตอกย้ำให้มิติทางสัญลักษณ์นี้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างวัดมหาสุทธาวาส (เริ่มสร้างสมัยรัชกาลที่ 1) ซึ่งตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางพระนครให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ (จากที่สร้างค้างมาตั้งแต่รัชกาลก่อน) โดยพระราชทานนามวัดใหม่จากวัดมหาสุทธาวาสเปลี่ยนมาเป็นวัดสุทัศนเทพวราราม อันมีความหมายว่า เมืองของพระอินทร์ (สุทัสสนมหานคร) ตลอดจนการสร้างวัดอรุณราชวรารามจนแล้วเสร็จ ด้วยการสถาปนาพระปรางค์ขนาดใหญ่เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเทพฯ โดยออกแบบให้เป็นภาพจำลองของเขาพระสุเมรุ และมีรูปสัญลักษณ์พระอินทร์ปรากฏอยู่ในซุ้มจระนำตรงบริเวณเรือนธาตุของพระปรางค์

อุดมการณ์รัฐ : ธรรมราชา พุทธศาสนา และ พระอินทร์

นอกเหนือจากการใช้เป็นกรอบอ้างอิงเชิงอุดมคติที่ช่วยสร้างความชอบธรรมแก่รัชกาลที่ 1 ในการเป็นกษัตริย์แล้ว การเน้นคติพระอินทร์ยังมีความสอดคล้องกับอุดมการณ์รัฐของรัชกาลที่ 1 ที่ต้องการยกพุทธศาสนาและความเป็นธรรมราชาให้ขึ้นมามีบทบาทสำคัญ

สาเหตุแห่งการล่มสลายของอยุธยา ได้ถูกชนชั้นนำสยามสมัยรัชกาลที่ 1 อธิบายภายใต้มาตรฐานของศีลธรรมในพุทธศาสนา พระราชพงศาวดารที่ชำระขึ้นในยุคสมัยนั้น แสดงภาพให้เราเห็นว่า ปลายสมัยอยุธยา กษัตริย์ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม อาทิ ได้ราชสมบัติโดยมิชอบ เป็นกษัตริย์ที่โหดร้าย ปราศจากความเพียร มิได้มีหิริโอตตัปปะ เต็มไปด้วยอกุศลลามก ฯลฯ ทั้งหมดนี้ทำให้บ้านเมืองเกิดกลียุค และต้องแพ้ศึกพม่าในที่สุด

การเน้นพุทธศาสนาขึ้นเป็นอุดมการณ์รัฐ ทำให้กษัตริย์ต้นกรุงรัตนโกสินทร์เลือกที่จะวางบทบาทของกษัตริย์ในฐานะ “ธรรมราชา” อันมีความหมายว่า ราชาที่ปกครองด้วยธรรม อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา และนำพาชนทั้งหลายให้ยินดีด้วยธรรมะประหนึ่งเป็นพระโพธิสัตว์

ลักษณะของการแสดงตนเป็นธรรมราชาและให้ความสำคัญกับพุทธศาสนาเป็นอย่างมากเช่นนี้ ย่อมไม่มีตัวแบบในเชิงสัญลักษณ์ใดที่จะสอดคล้องทั้งในแง่บทบาทและความหมายได้มากไปกว่าพระอินทร์

พระอินทร์ในพุทธศาสนามีบทบาทที่รับรู้กันทั่วไปว่า เป็นเทพที่อุปถัมภ์ผู้ประพฤติธรรมและอุปถัมภ์พุทธศาสนามากที่สุด จะเห็นได้ชัดจากคัมภีร์ทางศาสนาต่างๆ เมื่อใดที่คนประพฤติชั่วหรือกษัตริย์ไม่มีทศพิธราชธรรม พระอินทร์จะเสด็จมากระทำให้คนเหล่านั้นละเว้นความชั่ว อีกทั้งจะคอยสอดส่องช่วยเหลือผู้ประพฤติธรรมเสมอ ที่สำคัญคือ ในพุทธประวัติตอนต่างๆ พระอินทร์จะรับบทบาทหน้าที่ในการช่วยเหลือสนับสนุนพระพุทธเจ้าตลอด นับตั้งแต่เป็นผู้ทูลเชิญพระโพธิสัตว์ให้มาประสูติยังโลกมนุษย์ ช่วยขณะเมื่อเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ มาดีดพิณเพื่อเตือนสติพระพุทธเจ้าในการปฏิบัติธรรมที่เคร่งครัดมากเกินไป ฯลฯ

ด้วยบทบาทที่โดดเด่นที่สุดในการเป็นเทพอุปถัมภ์พุทธศาสนา ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ของรัชกาลที่ 1 น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พระองค์ทรงเลือกคติพระอินทร์ขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ของรัฐและของสถาบันกษัตริย์

มีสิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตต่อไปคือ โดยทั่วไปแล้ว พระอินทร์ในพุทธศาสนา จะมีบทบาท 2 ด้าน คือ ผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนา (ดังที่พูดถึงไปแล้ว) และหัวหน้านักรบบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่ต้องคอยทำสงครามกับเหล่าอสูรอยู่เสมอ แต่พระอินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 จากการศึกษาเอกสารร่วมสมัยกลับพบว่า ถูกปรุงใหม่โดยเน้นบทบาทเฉพาะที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาเท่านั้น ส่วนภาพของการเป็นหัวหน้านักรบจะไม่ได้รับการกล่าวถึงเท่าที่ควร

ในกฎหมายตราสามดวงอันเป็นหลักกฎหมายที่สำคัญที่สุดของรัฐ (รวบรวมขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1) เป็นเอกสารอีกชิ้นที่แสดงความสำคัญของพระอินทร์ในบทบาทธรรมราชา โดยปรากฏในส่วนที่เรียกว่า “หลักอินทภาษ”  ซึ่งกฎหมายตราสามดวงกล่าวไว้ว่า หลักอินทภาษเกิดขึ้นจากโอวาทและคำสั่งสอนของพระอินทร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นหลักมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณสำหรับตุลาการและผู้พิพากษาในการตัดสินคดีความเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม จะเห็นได้ว่า พระอินทร์ในกฎหมายตราสามดวงนี้ก็เน้นแสดงบทบาทไปในเชิงศีลธรรมทางศาสนาอีกเช่นเดียวกัน

ทั้งหมดที่กล่าวมา แม้จะเป็นการอธิบายอย่างสังเขป แต่ผู้เขียนก็หวังว่า ได้แสดงภาพที่ชัดเจนพอสมควรต่อข้อเสนอที่ว่า คติพระอินทร์คือคติที่สำคัญยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยการเน้นเป็นพิเศษนี้เกิดขึ้นภายใต้เหตุปัจจัย 2 ประการ คือ หนึ่ง คติพระอินทร์เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับรัชกาลที่ 1 ในเชิงสิทธิธรรมของการครองราชย์ และสอง คติพระอินทร์เป็นภาพตัวแทนในเชิงสัญลักษณ์ที่ดีที่สุดของการเสนอนโยบายที่เน้นพระพุทธศาสนาและความเป็นธรรมราชาให้ขึ้นมาเป็นอุดมการณ์แห่งรัฐของกรุงรัตนโกสินทร์

การจำลองดาวดึงส์สวรรค์ ในงานสถาปัตยกรรม

รูปธรรมอีกประการที่สะท้อนคติพระอินทร์สมัยรัชกาลที่ 1 ได้อย่างชัดเจน คือ สถาปัตยกรรมทางศาสนา วัดในสมัยรัชกาลที่ 1 มีลักษณะเฉพาะบางประการที่แตกต่างออกมาจากวัดในสมัยอยุธยาตอนปลาย คือ การออกแบบให้พระอุโบสถหรือพระวิหารเป็นประธานของวัด โดยมีระเบียงคดล้อมรอบ ภายในระเบียงคดนิยมสร้างสถูปเจดีย์ประดิษฐานไว้ที่มุมทั้งสี่ ผังที่มีลักษณะนี้มีหลายแห่ง อาทิ วัดพระเชตุพน วัดสระเกศ วัดราชบุรณะ วัดมหาธาตุ วัดปทุมคงคา และวัดดุสิดาราม เป็นต้น

การสร้างวัดที่มีระเบียงคดล้อมอาคารปรากฏเฉพาะในสมัยต้นอยุธยา แต่สถาปัตยกรรมประธานของวัดที่ระเบียงคดล้อมนั้นก็นิยมสร้างเป็นพระปรางค์ มิใช่พระอุโบสถแบบสมัยรัชกาลที่ 1 และเมื่อเข้าสู่อยุธยาตอนปลาย แม้จะมีคตินิยมในการสร้างพระอุโบสถเป็นประธานของวัด แต่ก็กลับไม่มีคตินิยมในการสร้างระเบียงคดล้อมแต่อย่างใด

รูปแบบแผนผังดังกล่าว งานวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นพ้องต้องกันว่า คือการพยายามจำลองโครงสร้างจักรวาลในอุดมคติทางพุทธศาสนาลงในงานสถาปัตยกรรม แต่การกล่าวในลักษณะภาพรวมแบบนี้ ก็ทำให้มองไม่เห็นความแตกต่างอย่างไรจากงานสถาปัตยกรรมอยุธยาอีกเช่นกัน เพราะการออกแบบสถาปัตยกรรมทางศาสนาในคติจารีตก็ล้วนมีกรอบอ้างอิงมาจากความเชื่อในเรื่องจักรวาลทางพุทธศาสนาเช่นเดียวกันทั้งนั้น

ประเด็นที่บทความนี้จะนำเสนอก็คือ รายละเอียดของจุดเน้นทางคติความเชื่อในการสร้างสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็คือ การให้ความสำคัญแก่บทบาทพระอินทร์และการจำลองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ศูนย์กลางของผังวัดในสมัยรัชกาลที่ 1 คือ พระอุโบสถ (บางแห่งเป็นพระวิหาร) มิใช่สถูปเจดีย์ในแบบสมัยอยุธยาตอนต้น ความเปลี่ยนแปลงนี้หากไม่มองในแง่ประโยชน์ใช้สอย แต่มองในแง่ของการเป็นสัญลักษณ์ในคติจักรวาลแล้วย่อมมีความแตกต่างกันอยู่ไม่มากก็น้อย สถูปเจดีย์ประธานของผังสมัยอยุธยาย่อมมีความหมายคือเขาพระสุเมรุอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นพระอุโบสถ รูปทรงทางกายภาพดูจะไม่เอื้อให้สื่อสารความหมายเป็นเขาพระสุเมรุได้ชัดเจนนัก (หากมองเทียบกับคุณลักษณะทางกายภาพของสถูปเจดีย์)

การออกแบบผังพุทธาวาสสมัยรัชกาลที่ 1 (เฉพาะวัดที่มีระเบียงคดล้อม) เป็นการตั้งใจที่จะจำลองเพียงส่วนหนึ่งของเขาพระสุเมรุ อันเป็นส่วนสำคัญและได้รับการเน้นมากในสมัยรัชกาลที่ 1 นั่นก็คือ ดาวดึงส์สวรรค์ของพระอินทร์

หากเราตีความให้ตัวพระอุโบสถเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ องค์ประกอบอื่นๆ ก็อาจตีความแบบกว้างๆ ได้ดังนี้ สถูปเจดีย์สี่มุมในพระระเบียงที่นิยมสร้างในต้นรัตนโกสินทร์ คือวิมานของจตุมหาราชทั้ง 4 องค์ บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกหรืออาจมีความหมายเป็นทวีปทั้งสี่ ส่วนระเบียงคดอาจทำหน้าที่ทางสัญลักษณ์แทนเขาสัตบริภัณฑ์หรือกำแพงจักรวาล (ในกรณีที่สถูปเจดีย์สี่มุมเป็นทวีปทั้งสี่) เป็นต้น

วัดสุทัศนเทพวราราม ตั้งอยู่ศูนย์กลางพระนคร ทั้งชื่อและการออกแบบล้วนสื่อความหมายถึงพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ภาพจาก สถาปัตยกรรมวัดสุทัศนเทพวราราม)

รายละเอียดของวัดแต่ละแห่งย่อมแตกต่างกัน บางแห่งมีวิหารทิศเพิ่มเข้ามา มีกลุ่มสถูปเจดีย์เพิ่ม ฯลฯ ซึ่งความแตกต่างย่อมทำให้การตีความในลักษณะนี้ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นข้อสรุปที่ตายตัว อีกทั้งการออกแบบวัดโดยส่วนใหญ่ของสังคมไทย ก็มิได้มุ่งจำลองโครงสร้างจักรวาลอย่างเถรตรงและเข้มงวดในรายละเอียดมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม การตีความให้พระอุโบสถประธานในสมัยรัชกาลที่ 1 มีความหมายเป็นดาวดึงส์สวรรค์ของพระอินทร์ ก็มีความเป็นไปได้อยู่พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าพิจารณาร่วมกับเนื้อหาจิตรกรรมฝาผนังภายในประกอบด้วย

ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถสมัยรัชกาลที่ 1 มีโครงสร้างภาพที่เป็นมาตรฐานร่วมกัน คือ ผนังด้านสกัดตรงข้ามพระประธานนิยมเขียนเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังด้านยาวเหนือบานหน้าต่างทั้งสองข้างเขียนเป็นภาพเทพชุมนุม ผนังระหว่างหน้าต่างเขียนภาพพุทธประวัติ และผนังด้านสกัดหลังพระประธานเขียนเป็นภาพจักรวาลแบบตัดขวาง

จากการพิจารณาเฉพาะภาพจักรวาลหลังพระประธานจะเห็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งคือ เขาพระสุเมรุที่ถูกเขียนจะเน้นจุดเด่นที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยจะมีขนาดใหญ่และมีรายละเอียดมาก เช่น การปรากฏภาพของจุฬามณีเจติยสถาน หรือต้นกัลปพฤษ์ เป็นต้น ที่สำคัญ จะไม่นิยมเขียนสวรรค์ชั้นที่อยู่เหนือดาวดึงส์ขึ้นไปอีกด้วย ในขณะที่จิตรกรรมฝาผนังบางแห่งที่เชื่อว่าเขียนในสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่น วัดเกาะแก้วสุทธาราม กลับปรากฏให้เห็นการเขียนภาพเขาพระสุเมรุที่อยู่เหนือดาวดึงส์ขึ้นไปด้วย และในภาพก็มิได้เน้นส่วนที่เป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ให้มีความพิเศษแต่อย่างใด

นอกจากนี้ จากการศึกษาของนักวิชาการบางท่านยังพบว่า ภาพจิตรกรรมจักรวาลยุคต้นรัตนโกสินทร์นอกจากจะเป็นการเขียนประกอบเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธประวัติแล้ว ยังปรากฏภาพพระอินทร์อยู่ในองค์ประกอบที่สำคัญของภาพ ซึ่งพบได้หลายแห่ง อาทิ วัดดุสิดาราม วัดสระเกศ วัดโบสถ์สามเสน เป็นต้น

จากรายละเอียดภาพดังกล่าว ทำให้มีการตีความภาพจักรวาลหลังพระประธานในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เอาไว้ว่า เป็นการแสดงเหตุการณ์พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และการเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อมๆ กับเหตุการณ์ตอนมหาปาฏิหาริย์เปิดโลกให้สัตว์โลกสามารถมองเห็นกันได้พร้อมกันทั้งสามโลก

จากทั้งหมดที่กล่าวมา เมื่อพิจารณาร่วมกับองค์ประกอบในการออกแบบผัง ทำให้เห็นว่า การออกแบบวัดในสมัยรัชกาลที่ 1 (รวมไปถึงตลอดยุคต้นรัตนโกสินทร์) คือความต้องการที่จะจำลองจักรวาลตามคติพุทธศาสนา แต่เป็นการจำลองโดยเน้นความสำคัญไปที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่มีพระอินทร์เป็นประธาน ซึ่งหากเชื่อในการตีความแบบนี้ เก็จะเห็นถึงความสอดคล้องเป็นอย่างดีกับการเน้นคติพระอินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ได้อธิบายมาทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากสมัยปลายอยุธยา

 


ข้อมูลจาก

ชาตรี ประกิตนนทการ. “คติพระอินทร์สมัยรัชกาลที่ 1 อุดมการณ์รัฐ พุทธศาสนา และสถาปัตยกรรม”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2552.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ธันวาคม 2561