
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เปิดรายชื่อ 102 นามสกุลพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 กลุ่มตระกูลชุดแรกในไทยที่ได้ใช้นามสกุล
ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุลขึ้น เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2455 (นับศักราชอย่างเก่า) ซึ่งชุดแรกมี 102 นามสกุลพระราชทาน ตามประกาศ พระราชทานนามสกุล เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2456
โดย 102 นามสกุลพระราชทาน ล้วนเป็นบุคคลใกล้ชิดรัชกาลที่ 6 อย่างขุนนางชั้นผู้ใหญ่ มหาดเล็ก และข้าราชบริพาร ทั้ง 102 นามสกุลพระราชทาน ตามประกาศ พระราชทานนามสกุล พ.ศ. 2456 เรียงลำดับดังต่อไปนี้
สุขุม – พระราชทานแก่ เจ้าพระยายมราช (ปั้น)

มาลากุล – พระราชทานแก่ พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เปีย) ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี และพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม) ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี โดยเป็นนามสกุลสำหรับผู้สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (เจ้าฟ้ามหามาลา) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2
พึ่งบุญ – พระราชทานแก่ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ) ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยารามราฆพ โดยสืบเชื้อสายมาจากหม่อมไกรสร

ณมหาไชย [ณ มหาไชย] – พระราชทานแก่ พระยาเทพทวาราวดี (สาย) ต่อมาได้เป็นพระยาบำเรอบริรักษ์ เป็นชาวตำบลมหาไชย (มหาชัย) เมืองสมุทรสาคร
ไกรฤกษ์ – พระราชทานแก่ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ) และพระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (ลออ) ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยามหิธร โดยสืบเชื้อสายมาจากพระยาไกรโกษา (ฤกษ์)
กัลยาณมิตร – พระราชทานแก่ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย)
สิงห์เสนี [สิงหเสนี] – พระราชทานแก่ พระยาบุรีนวราษฐ์ (ชวน) โดยสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์)

อัศวรักษ์ – พระราชทานแก่ พระยาอัศวบดีศรีสุรพาหน (เทียบ) อธิบดีกรมพระอัศวราช ต่อมาได้เป็นพระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง
พัลลภ – พระราชทานแก่ นายจ่าเรศ (ช่วง) มหาดเล็กห้องพระบรรทม
โกมารภัจ – พระราชทานแก่ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เล็ก)
จิตรกร – พระราชทานแก่ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์) จางวางกรมช่างมหาดเล็ก
อัศวเสนา – พระราชทานแก่ พระยาราชมานู (ถั่ว)
จุลกะ – พระราชทานแก่ พระอภัยวานิช (หลุย) โดยสืบเชื้อสายมาจากพระภาษีสมบัติสมบูรณ์ (เล็ก)
ศิลปี – พระราชทานแก่ พระยาวิศุกรรมประสิทธิ์ศิลป์ (น้อย) จางวางกรมโยธาวังและกรมมหรสพ
สุเสวี – พระราชทานแก่ พระยาวรสิทธิ์เสวีวัตร์ (เข่ง) จางวางมหาดเล็ก
ไชยาคำ – พระราชทานแก่ พระราชโกษา (อุ่น) โดยสืบเชื้อสายมาจากพระยาไชยา (คำ)
ศรีเสวก – พระราชทานแก่ พระไพศาลนวกรณ์ (เลียบ) ปลัดกรมโยธาวัง
ยันตรกร – พระราชทานแก่ หลวงบรรจงสารอรรถ (บัว) กรมพระอัศวราช กองยานยนต์
โกสุม – พระราชทานแก่ จมื่นมหาสนิท (กุหลาบ) กรมมหาดเล็ก กองตั้งเครื่อง ต่อมาได้เป็นพระราชวรินทร์
ศุภมิตร – พระราชทานแก่ พระราชวัลภานุสิษฐ์ (อ๊อด) ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาราชศุภมิตร
ภาพล้อเจ้าพระยาราชศุภมิตร ฝีพระหัตถ์ รัชกาลที่ 6

สาคริก – พระราชทานแก่ นายเสนองานประพาศ (เนียร หรือเนียน) ต่อมาได้เป็นพระยาบริหารราชมานพ เป็นชาวสมุทรสาคร
ยุวะเสวี [ยุวเสวี] – พระราชทานแก่ นายพลพัน หุ้มแพร (อยู่) กรมมหาดเล็ก
สุนทรเสวี – พระราชทานแก่ นายจ่ารง (แช่ม) กรมมหาดเล็ก ต่อมาได้เป็นจมื่นจิตรเสน่ห์
ศาตมัย – พระราชทานแก่ พระพินิศเทพาหาร (สาตร์) มหาดเล็กกองคลังเครื่องโต๊ะ
วรรณบุตร – พระราชทานแก่ จมื่นมหาดเล็ก (สอน) โดยสืบเชื้อสายมาจากปู่และพ่อที่เป็นหลวงวรรณกรรม
บุณย์เกียรติ [บุณยเกียรติ] – พระราชทานแก่ พระบรรหารภัตรกร (แฉ่ง) ต่อมาได้เป็นพระยาบรรหารภัตรกร
วัชรเสวี – พระราชทานแก่ นายฉัน หุ้มแพร (พ่วง) มหาดเล็กห้องพระบรรทม ต่อมาเป็นพระยาดำรงวิธีรำ เป็นชาวเมืองเพชรบุรี
นาคเสวี – พระราชทานแก่ นายขัน หุ้มแพร (เจน) มหาดเล็กห้องพระบรรทม ต่อมาเป็นพระยาเทพสมบัติ เป็นชาวเมืองสมุทรสงคราม
จิตตะเสวี [จิตตเสวี] – พระราชทานแก่ นายกวด หุ้มแพร (จิตต์) มหาดเล็กห้องพระบรรทม ต่อมาได้เป็นพระยาภูมีเสวิน
วัลยะเสวี [วัลยเสวี] – พระราชทานแก่ นายรองฉัน (เถา) มหาดเล็กห้องพระบรรทม ต่อมาเป็นพระยาสุรินทรเสวี
สันติเสวี – พระราชทานแก่ นายสัน มหาดเล็กห้องพระบรรทม ต่อมาได้เป็นนายรองศัลยวิไชย
ภัทรเสวี – พระราชทานแก่ นายตี๋ กรมมหาดเล็ก กองตั้งเครื่อง ต่อมาได้เป็นนายรองไชยขรรค์ มหาดเล็กห้องพระบรรทม
อมาตยกุล – พระราชทานแก่ พระอินทรเทพ (เกษียร) ต่อมาได้เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ โดยสืบเชื้อสายมาจากพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม)
อินทรทัต – พระราชทานแก่ หลวงสรจักรานุกิจ (ผ่าน) กรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ในรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้เป็นพระยาพิชัยภูเบนทร์ โดยสืบเชื้อสายมาจากพระอินทรประสิทธิศร ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่
นรพัลลภ – พระราชทานแก่ พระยานรฤทธิราชหัช (อ้น) จางวางมหาดเล็ก
อุทัยกร – พระราชทานแก่ ขุนขยันอักษรกิจ (โส) โดยมีฉายาทางธรรมว่า “อุทโย” ต่อมาได้เป็นพระขยันอักษรกิจ
วิเศษศิริ – พระราชทานแก่ พระยาวิเศษฦาไชย (สวัสดิ์) ต่อมาได้เป็น พระยาพิทักษ์ภูบาล
สุนทรเวช – พระราชทานแก่ หลวงวิรัชเวชกิจ (สุ่น) เป็นแพทย์ในกรมมหาดเล็ก ต่อมาได้เป็นพระยาแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี
ปัทมเสวี – พระราชทานแก่ นายศัลยวิไชย หุ้มแพร (ทิม) มหาดเล็ก กองตั้งเครื่อง
ทังสุเสวี – พระราชทานแก่ นายรองบำเรอบรมบาท (ทั่ง) มหาดเล็ก กองตั้งเครื่อง แต่ต่อมาโปรดให้เปลี่ยนไปใช้นามสกุลว่า วาทิน
ผลารักษ์ – พระราชทานแก่ นายรองสนิท (เงิน) มหาดเล็ก กองตั้งเครื่อง ต่อมาได้เป็นหลวงชาญเชิงระนาด โดยสืบเชื้อสายมาจากตระกูลชาวสวน
สุจฉายา – พระราชทานแก่ นายสุจินดา หุ้มแพร (สุดใจ) มหาดเล็ก กองตั้งเครื่อง
สุนทรศิริ – พระราชทานแก่ มหาดเล็กวิเศษสุ่น มหาดเล็ก กองตั้งเครื่อง ต่อมาได้เป็นนายรองสุจินดา
กสิกร – พระราชทานแก่ นายรองวิไชยดุรงคฤทธิ์ (ยม) นายม้าต้น กรมพระอัศวราช โดยสืบเชื้อสายมาจากตระกูลชาวนา
โกมุท – พระราชทานแก่ นายรองขัน (บัว) มหาดเล็ก กองตั้งเครื่อง
สุเดชะ – พระราชทานแก่ หลวงเดช นายเวร (ดี) หัวหน้ากองคลังเครื่องโต๊ะ กรมมหาดเล็ก ต่อมาได้เป็นจมื่นเทพดรุณาทร
อุณหวิรยะ [อุณหวีรยะ] – พระราชทานแก่ นายวรกิจบรรหาร หุ้มแพร (อุ่น) มหาดเล็ก กองตั้งเครื่อง
ฤทธิเสน – พระราชทานแก่ ขุนวรฤทธิ์พิเศษ (ปาน) มหาดเล็ก กองเชิญเครื่อง
วรโภค – พระราชทานแก่ หลวงประสานสุรภักษ์ (วอน) มหาดเล็ก กองครัวเข้าต้น ต่อมาได้เป็นพระยาประสารสุรภักดิ์
สิทธิเสน – พระราชทานแก่ ขุนวรสิทธิ์พิเนต (โต) มหาดเล็ก กองเชิญเครื่อง
จันทรเสน – พระราชทานแก่ ขุนประจิตร์ธัญญาหาร (หรั่ง) มหาดเล็ก กองครัวเข้าต้น โดยสืบเชื้อสายมาจากเจ๊สัวติ๊ด แซ่จัน
ประโมทก [ประโมทกะ] – พระราชทานแก่ หลวงประโมทย์กระยานุกิจ (ชื่น)มหาดเล็ก กองเชิญเครื่อง ต่อมาได้เป็นหลวงชาญภูเบศร
ภมรบุตร – พระราชทานแก่ หลวงอุดมภัณฑาภิรักษ์ (อรุณ) มหาดเล็ก กองพระราชพิธี โดยสืบเชื้อสายมาจากปู่ชื่อภู่
เพ็ญพิมล – พระราชทานแก่ ขุนวรภาคภัณฑรัตน์ (เพ่ง) มหาดเล็ก กองพระราชพิธี ต่อมาได้เป็นพระวรภาคภัณฑรัตน์
สุจริตกุล – พระราชทานแก่ เจ้าพระยาสิริรัตนมนตรี (หงส์) โดยสืบเชื้อสายมาจากหลวงอาสาสำแดง (แตง) ซึ่งมีศักดิ์เป็นพ่อ และท้าวสุจริตธำรง (นาค) ซึ่งมีศักดิ์เป็นแม่
สาลักษณ [สาลักษณ์] – พระราชทานแก่ พระยาศรีสุนทรโวหาร (กมล) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ต่อมาได้เป็นพระยาศรีภูริปรีชา
บุนนาค – พระราชทานแก่ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร) โดยเป็นนามสกุลสำหรับผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค)

เศรษฐบุตร – พระราชทานแก่ พระยานรเนติบัญชากิจ (ลัด) และนายภักดีนารถ หุ้มแพร (เลิศ) กรมมหาดเล็ก ต่อมาได้เป็นพระยาภักดีนรเศรษฐ ซึ่งทั้งสองคนเป็นพี่น้องกัน โดยสืบเชื้อสายมาจากทวดและปู่ที่เป็นพระประเสริฐวานิช
สารคุณ – พระราชทานแก่ ขุนนิเวศน์บำรุง (เยื่อ) กรมพระอัศวราช
ไชยนันท์ [ไชยนันทน์] – พระราชทานแก่ พระยาบริหารราชมานพ (เชย) ต่อมาได้เป็นพระยาไชยนันทน์นิพัทธพงศ์ และพระสมรรคบริพาร (ชม) โดยสืบเชื้อสายมาจากพระยาไชยนาท (โนรี)
พิไชยแพทย์ – พระราชทานแก่ หลวงวิวิธเวชการ (เวช) เป็นแพทย์ในกรมมหาดเล็ก โดยสืบเชื้อสายมาจากพระยาพิไชย (กระต่าย)
พลธร – พระราชทานแก่ พระทรงพลภาพ (เผื่อน) ต่อมาได้เป็นพระยาทรงพลภาพ
อัคนิทัต – พระราชทานแก่ นายร้อยโทสิน กรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ในรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้เป็นพระยาเทพสงคราม โดยสืบเชื้อสายมาจากพระยาอัคคีพินาศ (อ่ำ)
ฤทธาคนี – พระราชทานแก่ นายร้อยตรีแฉล้ม กรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ในรัชกาลที่ 5 ต่อมาได้เป็นพระวิชิตพลหาญ โดยสืบเชื้อสายมาจากขุนอาจอัคนิกร (ทองห่อ)
สุริโยดร – พระราชทานแก่ นักเรียนนายร้อยอินทอง หรือเจ้าทองอิน กรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ในรัชกาลที่ 5 โดยสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์แห่งเชียงใหม่
พราหมณยน [พราหมณายน] – พระราชทานแก่ ขุนสุภัตรการกำหนด (กิ่ง) มหาดเล็ก กองครัวเข้าต้น โดยสืบเชื้อสายมาจากตระกูลพราหมณ์
รัตนเสน – พระราชทานแก่ พระยามหามนตรี (หรุ่น) เจ้ากรมพระตำรวจในขวา ต่อมาได้เป็นพระยาโยธาเขื่อนขันธ์ โดยสืบเชื้อสายมาจากหลวงรัตนาญัปติ (พุ่ม)
ประสานศัพท์ – พระราชทานแก่ พระประสานดุริยศัพท์ (แปลก) กรมมหรสพ ต่อมาได้เป็นพระยาประสานดุริยศัพท์
สุวาทิต – พระราชทานแก่ หลวงเพลงไพเราะ (โสม) กรมพิณพาทย์หลวง
ศุขะวาที [ศุขวาที] – พระราชทานแก่ หลวงเพราะสำเนียง (ศุข) กรมพิณพาทย์หลวง
นนทวาที – พระราชทานแก่ หลวงเสียงเสนาะกรรณ (หวัง) กรมพิณพาทย์หลวง
วีณิน – พระราชทานแก่ หลวงพิณบรรเลงราช (แหยม) กรมพิณพาทย์หลวง ต่อมาได้เป็นพระประดับดุริยกิจ
วาทิน – พระราชทานแก่ หลวงพาทยบรรเลงรมย์ (พิมพ์) กรมพิณพาทย์หลวง ต่อมาได้เป็นพระพาทย์บรรเลงรมย์
วามะรูป – พระราชทานแก่ นายรองวิชิตดุรงคศักดิ์ (ชื่น) นายม้าต้น
ปัทมาศวิน – พระราชทานแก่ หลวงพิไชยพาชี (ทิม) กรมพระอัศวราช
ภาณุทัต – พระราชทานแก่ พระยาอัพภันตริกามาตย์ (จ่าง) จางวางกรมสนมพลเรือน
ศิริวิสูตร – พระราชทานแก่ หลวงบำราศอรินทรพ่าย (โชติ) ต่อมาได้เป็นพระยาสุรชาติโยธี โดยสืบเชื้อสายมาจากพระยาศิริไอสวรรย์ (ฟัก) ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ และพระยาวิสูตรโกษา (ทองอิน) ซึ่งมีศักดิ์เป็นพ่อ
อัคนิบุตร – พระราชทานแก่ พระสิทธิศรสงคราม (ชุ่ม) ต่อมาได้เป็นพระยาอัคนีสราภัย โดยสืบเชื้อสายมาจากพระยาอัคนีสราภัย (ศรี) ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่
วัชโรทัย – พระราชทานแก่ พระยาอุไทยธรรม (หรุ่น) และพระยาเทพาภรณ์ (รื่น) ต่อมาได้เป็นพระยาวงศาภรณ์ภูษิต โดยพระยาอุไทยธรรม (หรุ่น) เป็นบุตรของพระยาราชโกษา (จัน) ส่วนพระยาวงศาภรณ์ภูษิต (รื่น) เป็นบุตรของพระยาวงศาภรณ์ภูษิต (สุ่น) ซึ่งพระยาราชโกษา (จัน) และพระยาวงศาภรณ์ภูษิต (สุ่น) เป็นบุตรของพระยาอุไทยธรรม (เพ็ชร์)
เกตุทัต – พระราชทานแก่ พระยาเวียงไนยนฤบาล (เจ๊ก) โดยสืบเชื้อสายมาจากพระยาเพ็ชรพิไชย (เกตุ หรือเกศ) ผู้สร้างวัดโปรดเกศเชษฐาราม
วรภัฏ – พระราชทานแก่ พระราชวรินทร์ (เจียม) เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา
สุรภัฏ – พระราชทานแก่ จมื่นทิพเสนา (เปลี่ยน) กรมพระตำรวจ
สุวรรณภัฏ – พระราชทานแก่ จ่าห้าวยุทธการ (ทอง) ต่อมาได้เป็นขุนอินทรรักษา
กงเกษตร – พระราชทานแก่ ว่าที่นายตำรวจตรีมูล มหาดเล็ก ต่อมาได้เป็นนายตำรวจตรีมูล เป็นชาวเมืองพิจิตร โดยสืบเชื้อสายมาจากพระกงไกรลาศ (คง) ซึ่งมีศักดิ์เป็นทวด, พระมหาดไทย (แสง) ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ และหลวงเกษตรเสนา (ลมุด) ซึ่งมีศักดิ์เป็นพ่อ
พลภัฏ – พระราชทานแก่ ขุนพรหมรักษา (เวก) กรมพระตำรวจ ต่อมาได้เป็นพระอภัยสุรินทร์
กุมภิล – พระราชทานแก่ ว่าที่นายตำรวจตรีจือ ต่อมาได้เป็นจ่าห้าวยุทธการ โดยสืบเชื้อสายมาจากตระกูลชาวประมง (ทำโป๊ะที่สมุทรสาคร)
ศรนันทน์ – พระราชทานแก่ ขุนชาติวิชา (สอน) กรมพระตำรวจ
จิตราคนี – พระราชทานแก่ หลวงฉายาสาทิศกร (สอาด หรือสะอาด) ต่อมาได้เป็นขุนฉายาสาทิศกร ช่างถ่ายรูปในกรมมหาดเล็ก โดยสืบเชื้อสายมาจากหลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร) หรือฟรานซิศจิตร ช่างภาพชื่อดังของสยาม ซึ่งมีศักดิ์เป็นพ่อ
ภัทรเสน – พระราชทานแก่ หลวงสุนทรสาทิศลักษณ์ (เพิ่ม) ช่างถ่ายรูปในกรมมหาดเล็ก
สุจิตระกะ – พระราชทานแก่ หลวงอนุกรมจิตรายน (พุ่ม) ช่างเขียนในกรมมหาดเล็ก
บุณยะเสน – พระราชทานแก่ ขุนเจนจิตรยง (บุญ หรือสมบุณ) ช่างเขียนในกรมมหาดเล็ก ต่อมาได้เป็นหลวงเจนจิตรยง
ภัทรานนท์ – พระราชทานแก่ นายร้อยโททองดี มหาดเล็ก ผู้บังคับกองตำรวจภูธรเมืองชลบุรี โดยสืบเชื้อสายมาจากพระยาภักดีภัทรากร
โชติมูล – พระราชทานแก่ ขุนพรายประทีปช่วง (มูล) เจ้าพนักงานไฟฟ้า กรมมหรสพ
สุทัศน์ – พระราชทานแก่ เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (หม่อมราชวงศ์ลพ) โดยเป็นนามสกุลสำหรับผู้สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไกรสรวิชิต (พระองค์เจ้าสุทัศน์) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1
แสง-ชูโต – พระราชทานแก่ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม) โดยสืบเชื้อสายมาจากพระยาสุรเสนา (สวัสดิ์ ชูโต) ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ และพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง ชูโต) ซึ่งมีศักดิ์เป็นพ่อ

เทพาคำ – พระราชทานแก่ พระยาอภิบาลบุบผา (สมบุญ) โดยสืบเชื้อสายมาจากพระยาเทพาธิบดี (คำ)
ศิริธร – พระราชทานแก่ พระยาศิรินธรเทพสัมพันธ์ (โต) เป็นชาวเมืองพัทลุง
ศศิบุตร – พระราชทานแก่ พระวิมานวัชรี (พิน) กรมชาวที่ โดยสืบเชื้อสายมาจากพ่อชื่อกระต่าย
พีชะเสน [พีชเสน] – พระราชทานแก่ ขุนจิตร์จำนงการ (เชื้อ) กรมมหาดเล็ก ต่อมาได้เป็นหลวงจิตร์จำนงการ
จุลเสน – พระราชทานแก่ ขุนนรินทร์รักษา (จิ๋ว) กรมชาวที่ ต่อมาได้เป็นหลวงสูรกานต์ประทีปแก้ว
นุตะเสน – พระราชทานแก่ ขุนผดุงสีตลอาศน์ (นุต) กรมชาวที่ ต่อมาได้เป็นหลวงผดุงสีตลอาศน์
มกรเสน – พระราชทานแก่ นายเหลง หรือนายเหล็ง มหาดเล็ก
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า นามสกุลพระราชทานจะมีความเกี่ยวข้องกับคนคนนั้น เช่น
เกี่ยวข้องกับงานที่ทำ เช่น นายบัว ทำงานอยู่กองยานยนต์ จึงได้นามสกุล ยันตรกร [ยนต์ > ยันตร – ยนตร์] และนายวอน ทำงานอยู่ครัวเข้าต้น จึงได้นามสกุล วรโภค [วร แปลว่ายอดเยี่ยม, ประเสริฐ โภคแปลว่าสมบัติ, กิน, ใช้สอย]
เกี่ยวข้องกับบ้านเกิด เช่น นายเนียร หรือเนียน เป็นชาวเมืองสมุทรสาคร จึงได้นามสกุล สาคริก [สาคร > สาคริก] และนายพ่วง เป็นชาวเมืองเพชรบุรี จึงได้นามสกุล วัชรเสวี [เพชร > พัชร > วัชร]
เกี่ยวข้องกับบรรดาศักดิ์ของบรรพบุรุษ เช่น นายสอน มีบรรพบุรุษเป็นหลวงวรรณกรรม จึงได้นามสกุล วรรณบุตร, นายสิน มีบรรพบุรุษเป็นพระยาอัคคีพินาศ จึงได้นามสกุล อัคนิทัต [อัคคี – อัคนี แปลว่า ไฟ] และนายมูล มีทวดเป็นพระกงไกรลาศ และพ่อเป็นหลวงเกษตรเสนา จึงได้นามสกุล กงเกษตร
เกี่ยวข้องกับชื่อของบรรพบุรุษ เช่น นายหรั่ง มีบรรพบุรุษเป็นชาวจีนแซ่จัน จึงได้นามสกุล จันทรเสน, นายอรุณ มีปู่ชื่อภู่ จึงได้นามสกุล ภมรบุตร [ภู่ > ภมร], นายเจ๊ก มีปู่ชื่อเกตุ จึงได้นามสกุล เกตุทัต, นายสอาด มีพ่อชื่อจิตร จึงได้นามสกุล จิตราคนี, นายพิน มีพ่อชื่อกระต่าย จึงได้นามสกุล ศศิบุตร [ศศิ, ศศิน, ศศี แปลว่า “ซึ่งมีกระต่าย” คือ ดวงจันทร์] และนายหลุย มีบรรพบุรุษชื่อเล็ก จึงได้นามสกุล จุลกะ [จุล แปลว่าเล็ก]
เกี่ยวข้องกับชื่อของตนเอง เช่น นายโส มีฉายาทางธรรมว่า อุทโย จึงได้นามสกุล อุทัยกร, นายบัว ได้นามสกุล โกมุท เพราะโกมุท แปลว่าบัวแดง, นายดี ได้นามสกุล สุเดชะ เพราะสุ แปลว่าดี และนายจิ๋ว ได้นามสกุล จุลเสน เพราะจุล แปลว่าเล็ก ส่วนจิ๋ว แปลว่าเล็กมาก
เกี่ยวข้องกับอาชีพของบรรพบุรุษ เช่น นายเงิน สืบเชื้อสายมาจากตระกูลชาวสวน จึงได้นามสกุล ผลารักษ์ เกี่ยวข้องกับผลผลิต หรือไม้ผล, นายยม สืบเชื้อสายมาจากตระกูลชาวนา จึงได้นามสกุล กสิกร เกี่ยวข้องกับการทำไร่ไถนา และนายกิ่ง สืบเชื้อสายมาจากตระกูลพราหมณ์ จึงได้นามสกุล พราหมณยน หรือพราหมณายน
นามสกุลพระราชทานจึงบ่งบอกรากเหง้าและตัวตนของคนคนนั้น หรือวงศ์ตระกูลนั้น ๆ ว่าเป็นใครมาจากไหน ทำหรือเคยทำอะไร ซึ่งนอกเหนือจาก 102 นามสกุลพระราชทานเหล่านี้แล้ว รัชกาลที่ 6 ยังพระราชทานนามสกุลให้กับคนไทยอีกมากกว่า 6,000 นามสกุล
อ่านเพิ่มเติม :
- “นามสกุล” สมัยรัชกาลที่ 6 แต่ละนามสกุลเป็นมาอย่างไร บ่งบอกถึงอาชีพ?
- “นามสกุลพระราชทาน” สมัยรัชกาลที่ 7 มีนามสกุลใดบ้าง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567