ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“นามสกุล” เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงรากเหง้าว่าเราเป็นใคร มาจากไหน บรรพบุรุษคือใคร ในต่างประเทศใช้นามสกุลกันมานานแล้ว ส่วนในไทยเริ่มในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เนื่องจากต้องการจัดระเบียบชื่อให้ง่ายต่อการทำงานของรัฐ รวมถึงปรากฏที่มาว่าแต่ละคนมาจากไหน บรรพบุรุษเป็นใคร
นามสกุล สมัยรัชกาลที่ 6
เมื่อมีการใช้นามสกุล รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานนามสกุลแก่เหล่าเจ้านาย จะเห็นว่าปรากฏการใช้ ณ อยุธยา กันในช่วงนี้ รวมไปถึง ณ จังหวัดต่าง ๆ ที่เป็นหัวเมืองสำคัญของประเทศ
นอกจากนี้ก็ยังมีนามสกุลสำหรับเหล่าข้าราชการ พ่อค้า และอาชีพอื่น ๆ มากมาย ซึ่งพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานให้ โดยแต่ละนามสกุลจะมีคำที่บ่งบอกชัดเจนถึงต้นตอตระกูลนั้น ๆ
หากเป็นทหารเก่า จะมีคำว่า “โยธิน” หรือ “เสนีณรงค์” ฯลฯ อยู่ในนามสกุล หากเคยรับราชการเกี่ยวกับกรมม้าหรือทหารม้า จะต้องมีคำว่า “อัศว” ถ้าทำงานเกี่ยวกับช้างต้องมี “คช, คชา, หัสดิ” ส่วนผู้มีอาชีพทางแพทย์ก็จะมีคำว่า “วิทย์, เวช หรือแพทย์” เหมือนกับคุณครู ที่มีคำว่า บัณฑิตย์ หรือคุรุ
ถ้าเป็นพ่อค้ามีคำว่า วานิช อยู่ด้วยเสมอ เช่นเดียวกับคนที่ทำด้านการเงินที่มีคำว่า ธน ประกอบ ทหารเรือก็มีคำว่า นาวี นาวิน ชล ชลา ส่วนข้าราชการสำนักก็จะมีคำว่า เสวี เสวก
ส่วนใครที่ไม่ได้มีอาชีพเกี่ยวข้องดังนี้ ก็จะนำชื่อเดิมของบรรพบุรุษผสมกับความสำคัญของแต่ละบุคคลตั้งขึ้นพระราชทาน ในหนังสือ “นามสกุลพระราชทานในกรุงสยาม” อธิบายไว้ว่า…
“อนึ่งสกุลใดไม่ใช่สกุลเก่าแก่ แต่ได้มีความดีเด่นอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ก็จะทรงใช้ชื่อเดิมของบรรพบุรุษผสมกับความสำคัญของแต่ละบุคคลตั้งขึ้นพระราชทาน โดยแปลงเอามาจากภาษาเดิม เช่น บัว เป็น ‘โกมุท’ ‘กมล’ แดง เป็น ‘โรหิต’ ขาว เป็น ‘เศวตร์’ ดำ เป็น ‘นิล’ อ้วน เป็น ‘ภีมะ’ ยิ้ม เป็น ‘สมิต’ เล็ก เป็น ‘จุล’ ศรี เป็น ‘ศิริ’ ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีคำที่ทรงใช้เลียนให้สำเนียงใกล้คำเดิมอีกเช่น สุ่น ใช้ประกอบด้วยคำว่า ‘สุนทร’ เส็ง เป็น ‘แสง’ ตี่ เป็น ‘ตีระ’ ใช้ เป็น ‘ชัย’ ฯลฯ บางทีก็ใช้ชื่อบรรพบุรุษของต้นตระกูลโดยตรง เช่น บุนนาก เป็นต้น”
ส่วนใครที่นามสกุล แซ่… คนจีนเป็นบรรพบุรุษ พระองค์ก็พระราชทานนามสกุลเป็นไทยให้ด้วยเช่นกัน เช่น แซ่เลา คือ เลาหะ, แซ่เบ๊ เป็น อัศว, แซ่ตัน เป็น ตัณฑะ, กิม เป็น กาญจนหรือสุวรรณ
ขณะเดียวกัน ชาวต่างชาติประเทศอื่นก็มีการแผลงเป็นคำไทย เข่น มิสเตอร์ เจมซ์ วิลเลียมเฮนดริกซ์ แผลงเป็น อหันทริก หรือ มิสเตอร์ อีริก เซนต์เยลอซัน ก็เป็น สวสันธ์ เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มา “นามสกุล” ชาว “โคราช” หลักฐานสำคัญบ่งชี้ภูมิประเทศถิ่นกำเนิด
- 10 ขุนนางไฮโซกลุ่มแรกของไทย ที่ใช้ “ราชทินนาม” เป็น “นามสกุล” มีใครบ้าง?
- เส้นทางนามสกุลพระราชทาน “ณ อยุธยา” ถึงประวัติราชสกุล “กุญชร” แห่ง “วังบ้านหม้อ”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
อมรดรุณารักษ์ (แจ่ม), จมื่น, 2442-2524. นามสกุลพระราชทานในกรุงสยาม. [ม.ป.ท.]:โรงพิมพ์ หจก. สยามสเตชั่นเนอรี่ซัพลายส์, 2524. สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:3659.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ตุลาคม 2567