ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“ราชทินนาม” คือ ชื่อที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้พระสงฆ์และขุนนาง เพื่อกำกับสมณศักดิ์สำหรับพระสงฆ์, กำกับยศและบรรดาศักดิ์สำหรับขุนนางตั้งแต่ชั้น “ขุน” ขึ้นไป เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 การแต่งตั้งบรรดาศักดิ์สำหรับขุนนางก็เป็นอันยุติลง
แต่บรรดา “ขุนนาง” หรือ ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหารในระบอบใหม่ จำนวนหนึ่งต้องการใช้ ราชทินนามที่เคยได้รับพระราชทานมาเป็นนามสกุล ด้วยเห็นว่าถือเป็นเกียรติยศแก่ตนเองและครอบครัว
ต่อมาเมื่อมี พระราชบัญญัติชื่อบุคคลพุทธศักราช 2484 มาตรา 18 ระบุว่า “ผู้ใดประสงค์จะขอใช้ราชทินนามของตนทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นชื่อสกุล ให้ยื่นเรื่องราวต่อรัฐมนตรีเพื่อถวายต่อพระมหากษัตริย์ ถ้าได้รับพระบรมราชานุญาตและได้นำหลักฐานไปจดทะเบียนต่อกรมการอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ซึ่งผู้ยื่นเรื่องราวมีภูมิลำเนาแล้ว จึงถือว่าเป็นชื่อสกุลอันชอบด้วยกฎหมาย”
10 ขุนนางกลุ่มแรก ที่ใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล
ผู้ที่เคยรับพระราชทานราชทินนาม และต้องการใช้เป็นนามสกุล จึงทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ซึ่งข้าราชพลเรือนและทหารกลุ่มแรกที่มาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นกลุ่มแรก ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน ปี 2484 ได้แก่
- จอมพล หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ใช้ชื่อสกุลว่า “พิบูลสงคราม”
- นายพลตำรวจตรี หลวงอดุลเดชจรัส (อดุล พึ่งพระคุณ) ใช้ชื่อสกุลว่า “อดุลเดชจรัส”
- นายนาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) ใช้ชื่อสกุลว่า “ธำรงนาวาสวัสดิ์”
- นายพันตรี หลวงเชวงศักดิ์สงคราม (ช่วง ขวัญเชิด) ใช้ชื่อสกุลว่า “เชวงศักดิ์สงคราม”
- นายพลโท หลวงมังกรพรหมโยธี (มังกร ผลโยธิน) ใช้ชื่อสกุลว่า “พรหมโยธี”
- นายพลอากาศตรี พระเวชยันตรังสฤษฏ์ (มุนี มหาลันทนะ) ใช้ชื่อสกุลว่า “เวชยันตรังสฤษฏ์”
- นายพันเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ (เภา เพียรเลิศ) ใช้ชื่อสกุลว่า “บริภัณฑ์ยุทธกิจ”
- นายพลตรี หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล) ใช้ชื่อสกุลว่า “เสรีเริงฤทธิ์”
- หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วัฒนปฤดา) ใช้ชื่อสกุลว่า “วิจิตรวาทการ”
- ขุนสมาหารหิตะคดี (โป-ระ โปรคุปต์) ใช้ชื่อสกุลว่า “สมาหาร”
จากนั้นก็มีข้าราชการกลุ่มอื่นๆ มาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตต่อๆ กันมา
อ่านเพิ่มเติม :
- ยุคคณะราษฎร เสนอซื้อน้ำมันราคาถูกจากบ.รัสเซีย “เบ็นซิล” 35 สตางค์ จากเดิม 1.10 บ./แกลลอน
- ที่มา “นามสกุล” ชาว “โคราช” หลักฐานสำคัญบ่งชี้ภูมิประเทศถิ่นกำเนิด
- เล่นพิเรนทร์ คำศัพท์ที่มาจากราชทินนามของ พระพิเรนทร์ คนไหน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ณิชชา จริยเศรษฐการ, บุศยารัตน์ คู่เทียม บรรณาธิการ. อาไคฟ ขอให้เก็บให้จงดี. กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2567.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มิถุนายน 2567